×

สุรชาติ เทียนทอง ก้าวข้ามสถานะลูกนักการเมือง ขอทำงานให้ประชาชนแบบโนเนม

05.06.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

15 Mins. Read
  • สุรชาติ เทียนทอง ฝันอยากเป็นนักการเมืองมาตั้งแต่เด็ก แต่ต้องถูกพ่อต่อต้านความคิดนี้ กระทั่งวันหนึ่งโอกาสก็มาถึงและได้เป็นส.ส. สมัยแรกที่กรุงเทพฯ ซึ่งหาใช่ฐานที่มั่นของ ‘ตระกูลเทียนทอง’ ไม่
  • สุรชาติย้ำว่าสิ่งที่นักการเมืองกำลังเผชิญคือ ‘วิกฤติศรัทธาของประชาชน’ ต้องเริ่มต้นจากการปฏิรูปตัวเอง ให้สถาบันการเมืองกลับมาเป็นที่พึ่งประชาชน และไม่ทำตัวเองให้เป็นเงื่อนไขความขัดแย้ง
  • ก่อนมีการเลือกตั้ง สุรชาติชี้ว่าพรรคการเมืองต้องประกาศจุดยืนว่าจะแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น เช่น ความขัดแย้ง เศรษฐกิจ และปากท้องให้เป็นรูปธรรมได้อย่างไร เพราะการเมืองไม่ใช่จะเอาแต่อุดมการณ์ประชาธิปไตย แต่ต้องเป็นประชาธิปไตยที่กินได้ด้วย

     สุรชาติ เทียนทอง เกิดมาในครอบครัวซึ่งมีพ่อชื่อ เสนาะ เทียนทอง นักการเมืองบิ๊กเนมของประเทศไทย หากมองด้วยสายตาคนนอก ไม่มีอะไรน่าแปลกใจที่ปัจจุบันเขากลายมาเป็นนักการเมืองเต็มตัว เพราะน่าจะมีฐานของครอบครัวเป็นแรงส่งให้เดินมาอย่างไม่ยากเย็น

    แต่สุรชาติสะท้อนฐานะคนในซึ่งเกิดและเติบโตมาในครอบครัวนักการเมืองว่า สกุล ‘เทียนทอง’ ถือว่าไม่โนเนม ใครๆ ก็รู้จัก แต่ชื่อของเขานั้นดูเหมือนจะโนเนมมากๆ หากเทียบกับนักการเมืองอีกหลายๆ คน

     กว่าจะได้มาลงสนามการเมืองก็ต้องใช้เวลาอยู่นาน เพราะพ่อไม่สนับสนุนให้เขาเดินทางนี้ตั้งแต่ต้น เขาพิสูจน์ตัวเองด้วยการลงไปหาประชาชน เคาะประตูบ้าน ลุยงานในพื้นที่ แล้ววันหนึ่งโอกาสทางการเมืองก็มาถึง เมื่อพ่อไฟเขียวให้ลงสนามสู้ศึกส.ส. เขาพ่ายในหนแรกพร้อมคำปรามาสที่ตามมา ถึงขั้นมีคนไล่ให้ไปลงพื้นที่ของพ่อ เหตุเพราะฐานเสียงอันเหนียวแน่นของ ‘เทียนทอง’ อยู่ในภูมิภาค แต่สุรชาติอาสามาเป็นผู้แทนเขตในกทม. ที่มีพรรคใหญ่ครองเก้าอี้อยู่ เขาลบคำสบประมาทเหล่านั้น ด้วยการลุยพื้นที่อย่างหนัก ในที่สุดก็ได้รับเลือกให้เป็นส.ส. สมัยแรกเมื่อปี 2554

     และต่อไปนี้คือตัวตนในวัย 38 ปีของนักการเมืองที่ชื่อสุรชาติ เทียนทอง อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กรุงเทพมหานคร จากพรรคเพื่อไทย

สิ่งที่ผมพยายามมากที่สุดคือพยายามก้าวข้ามความเป็นลูกนักการเมือง ใช่ ผมเกิดและลืมตาขึ้นมาเป็นลูกชายส.ส. โตมาอีกหน่อยเป็นลูกรัฐมนตรี แต่ความฝันของผมคือเป็นนักการเมือง ไม่ใช่ลูกนักการเมือง

 

จุดเริ่มต้นความสนใจงานการเมือง

     ต้องบอกว่าจุดเริ่มต้นมาจากครอบครัวอยู่แล้ว ผมเองเกิดมากับครอบครัวนักการเมือง ตอนที่ผมเกิด คุณพ่อเป็นส.ส. แล้ว ผมก็เลยกลายเป็นลูกชายส.ส. และเป็นเด็กที่รู้เรื่องการเมืองมากกว่าคนอื่น ในวัยที่ไม่ค่อยมีใครจะรู้เรื่องทางการเมือง เราก็รู้ ตอนป.5 จำได้ว่าท่องชื่อส.ส. ได้เกือบทั้งสภา จำชื่อรัฐมนตรีได้ทุกคน ด้วยความที่อยากเป็นนักการเมือง เราก็เลือกทางนี้ด้วยตัวเองโดยที่บ้านไม่ได้สนับสนุนด้วยซ้ำ

 

ซึมซับอะไรทางการเมืองจาก ‘พ่อ’ มาบ้าง

     ก็มีโอกาสได้ลงพื้นที่กับคุณพ่อตอนเป็นเด็กบ้าง แล้วพอคุณพ่อเป็นรัฐมนตรีก็ไม่ใช่จะอยู่เฉพาะจังหวัดตัวเอง แต่ต้องเดินทางไปดูแลทั่วประเทศ ทำให้ไม่ค่อยได้เจอกัน เพราะฉะนั้นตอนเด็กๆ ถ้าเราอยากเจอคุณพ่อก็ต้องดูทีวี เพราะท่านเป็นรัฐมนตรี ท่านจะออกทีวีบ่อย มันก็ซึมซับเข้ามาเรื่อยๆ บางครั้งคุณพ่อเดินทางไปจังหวัดต่างๆ เราก็มีโอกาสติดตามไปบ้าง ก็เลยซึมซับตรงนั้นมา

 

สนาะ เทียนทอง ในมุมของสุรชาติ เทียนทอง

     ครอบครัวเราเป็นครอบครัวคนต่างจังหวัด ตระกูลเราไม่ใช่ตระกูลร่ำรวยหรือใหญ่โตมาก่อน สิ่งที่เราเห็นมาโดยตลอดคือการที่คุณพ่อได้มาเป็นตัวแทนของประชาชน ได้มาเป็นส.ส. เป็นรัฐมนตรี ก็เพราะความที่เรามีพื้นฐานของสิ่งเหล่านี้ เราเข้าถึงคน และคนเข้าถึงเราได้

     เพราะฉะนั้นถามว่าคุณพ่อเป็นคนยังไง ถ้าในมุมการเมือง ผมก็ต้องบอกว่า  เป็นคนตรง พูดคำไหนคำนั้น เรื่องของวาจาก็มีสัจจะ เป็นคนที่มีความเอื้ออาทรต่อประชาชนและพวกพ้อง สิ่งที่ผมมองเห็น ผมไม่ได้มองคุณพ่อเป็นคนยิ่งใหญ่ในฐานะตำแหน่ง แต่ผมมองว่าท่านมีความเป็นคนสูง สิ่งนี้ต่างหากที่ผมมองว่าท่านยิ่งใหญ่

 

จุดแข็งของตระกูล ‘เทียนทอง’ จนมาถึงวันนี้คืออะไร

     การเมืองมาหลังความผูกพัน ถ้าไปดูประวัติคุณพ่อผมตั้งแต่เริ่มต้น ท่านไม่ได้ตั้งใจเป็นนักการเมืองด้วยซ้ำ ท่านได้รับการเชิญชวนแกมบังคับจากผู้ใหญ่ให้มาเป็นนักการเมือง เพราะท่านเป็นผู้กว้างขวางมาแต่เดิม ไปไหนก็มีคนรัก พรรคพวกเยอะ ช่วยเหลือคนไว้เยอะ การเมืองนี่มาทีหลัง หลังจากคุณพ่อมาเล่นการเมือง ผมก็มาสานต่อคุณพ่อ คุณอา รวมไปถึงรุ่นพี่ๆ ผมที่อยู่ในจังหวัดปราจีนบุรี จังหวัดสระแก้ว ก็คือทำต่อๆ กันมาโดยที่การเมืองมาหลังความผูกพัน

     เราไม่ได้สร้างความผูกพันมาจากการเมือง เรามีความผูกพันมาก่อน การเมืองค่อยตามมาทีหลัง แล้วพอเราทำงานลงไปก็ยิ่งผูกพัน 30-40 ปีที่ผ่านมา ทุกวันนี้เราก็ยังทำอยู่ ไม่ว่าสถานการณ์บ้านเมืองจะเป็นอย่างไร มีการเลือกตั้งหรือไม่ เราก็ยังทำงานอยู่ เพราะสิ่งเหล่านี้เรียกว่าความผูกพันมากกว่า

 

ตระกูล ‘เทียนทอง’ มีสมาชิกครอบครัวเป็นนักการเมืองระดับชาติและระดับท้องถิ่น ถือว่าเป็นยุทธศาสตร์ทางการเมืองหรือไม่

     ผมว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องการเมืองไทยที่มันแปลกกว่าการเมืองประเทศอื่น โดยเฉพาะวัฒนธรรมของคนไทย การอยู่ร่วมกัน การเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ การดูแลกัน และความคาดหวังที่ประชาชนมีต่อภาคราชการ ภาคการเมืองก็แตกต่างจากบริบทของการเมืองต่างประเทศ โดยเฉพาะเครือข่ายของผู้คน  

     เราต้องเข้าใจว่าประชาชนคนไทยยังหวังพึ่งราชการ ยังหวังพึ่งตัวแทนของเขาอยู่เยอะ มันก็เหมือนกับการดูแลซึ่งกันและกัน ผมว่าผลประโยชน์ทางการเมืองมันเป็นเรื่องรอง ถามว่าเป็นยุทธศาสตร์หรือเปล่า ผมว่าไม่มีใครไปนั่งคิดอะไรขนาดนั้น ผมเองก็คิดแต่เพียงว่าคุณพ่อ คุณอาก็ทำงานการเมือง แล้วทุกวันนี้สิ่งที่เรามีมากที่สุดคือ ‘ความรับผิดชอบ’

     ลูกหลานตระกูลเทียนทองทุกคนต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความรับผิดชอบต่อประชาชนที่เราต้องดูแล ผมเรียกว่า ‘สามัญสำนึก’ เราต้องมีสำนึกในการดูแลพวกเขา ส่วนเรื่องการเมืองมาทีหลัง เมื่อเรามีสำนึกที่จะรับผิดชอบและดูแลเขา มันก็ตอบกลับมาในรูปแบบของการเลือกตั้ง

     ผมว่าจริงๆ แล้วไม่ใช่แค่ตระกูลผม ประเทศไทยเป็นแบบนี้เกือบทุกจังหวัด เขาถึงเรียกกันว่าสภาครอบครัว สภาผัวเมีย เราต้องเข้าใจตรงนี้ว่าไม่มีใครบังคับให้ใครลงคะแนนได้ มีตัวอย่างเยอะแยะนะครับ คุณพ่อคุณแม่เป็นคนดี ประชาชนก็เลือกคุณพ่อคุณแม่ พอลูกมาลง ลูกเป็นคนไม่ดี เขาก็ไม่เลือกลูก อย่าคิดว่าสภาครอบครัว สภาผัวสภาเมีย  สภาพี่สภาน้อง คือความผูกขาดทางอำนาจ ความผูกขาดทางอิทธิพล หรือจะอะไรก็แล้วแต่ พูดแบบนั้นแปลว่าเราดูถูกประชาชน ต้องเข้าใจว่าประชาชนเขาฉลาดครับ เขารู้ว่าจะเลือกอะไร เลือกใคร ไม่ใช่ว่าพ่อแม่ดีก็หลับหูหลับตาเลือกลูก ลูกเป็นคนไม่ดี เขาจะเลือกก็ไม่ใช่

     หลายคน ขอโทษนะครับที่ต้องพูด คุณพ่อคุณแม่มีประวัติไม่ดี แต่พอมาเป็นรุ่นลูก ลูกเป็นคนดี เป็นคนที่ทำอะไรให้กับสังคม เขาก็เลือก ผมจึงบอกว่าการเมืองไม่มีผูกขาด สืบทอดไม่ได้ ทรัพย์สินเงินทองมันสืบทอดได้ แต่ไม่สามารถสืบทอดบารมีได้ ผมไม่เคยเชื่อว่าบารมีจะสืบทอดได้

 

 

เห็นบอกว่าคุณพ่อไม่ได้สนับสนุนให้เข้ามาทำงานการเมืองตั้งแต่ต้น เพราะอะไร

     มันก็เหมือนเป็นความรับผิดชอบที่ถูกส่งต่อ นั่นคือมาจากภายใน แต่ภายนอกประชาชนจะเห็นยังไงก็อีกเรื่อง ผมเป็นคนที่ผ่าเหล่าผ่ากอ ใครไม่รู้ก็คิดว่าผมเป็นลูกนักการเมืองระดับชาติ ลูกนักการเมืองใหญ่ แล้วก็พูดกันว่าคนตระกูลนี้มันทำอาชีพอะไรไม่ได้ นอกจากเป็นนักการเมือง แต่ในความเป็นจริงแล้วมันไม่ใช่แบบนั้น

     ผมอยากเป็นนักการเมืองเพราะมีความใฝ่ฝัน ความฝันที่สุดในชีวิตคืออยากเป็นส.ส. อย่างที่บอกว่ามีฝันมาตั้งแต่เด็กเลย แต่คุณพ่อไม่เห็นด้วย ไม่สนับสนุน แล้วก็ต่อต้านผม ผมก็ต่อต้านความคิดของท่าน คือต้องบอกอย่างนี้ว่าเราเป็นคน เกิดมามีความกดดันกันทุกคน ไม่ว่าจะรวยหรือจน หลายคนคิดว่าเขาเกิดเป็นลูกเศรษฐี ลูกเจ้าสัว ลูกคนมีอำนาจ ลูกทหารใหญ่ ลูกตำรวจใหญ่แล้วชีวิตสุขสบาย ไม่สุขสบายหรอก ทุกคนเกิดมาเป็นคน มันมีความกดดันทั้งนั้น แต่กดดันคนละมิติกัน อย่างเกิดมาในครอบครัวที่พ่อแม่ประสบความสำเร็จในชีวิต มีชื่อเสียงเงินทอง ส่วนใหญ่จะเกิดความคาดหวัง ซึ่งผมอยากถูกคาดหวังแบบนี้

     ผมก็ถูกกดดันจากการไม่มีความคาดหวังของคุณพ่อ คุณพ่อผมไม่เคยคาดหวังในตัวลูกๆ เลย พ่อเป็นคนธรรมชาติ ท่านเน้นเสมอเลยว่า เกิดเป็นคน ต้องหาวิถีความเป็นคนด้วยตนเอง ไม่ใช่ว่าพ่อแม่เป็นแบบนี้แล้วลูกจะต้องเป็นแบบนี้ คุณพ่อผมท่านเป็นนักธุรกิจ เป็นพ่อค้าอยู่ในพื้นที่ วันหนึ่งจับพลัดจับผลูมา ถูกบังคับด้วยซ้ำให้มาเป็นนักการเมือง จนท่านมาถึงจุดที่สูงที่สุด เป็นดาวค้างฟ้าของสังคมได้

     คุณพ่อจะสอนผมเสมอว่า ลูกจงใช้ชีวิตให้เป็นธรรมชาติ พอเราโตมาถึงจุดๆหนึ่ง ผมก็อยากเป็นนักการเมืองโดยที่คุณพ่อไม่ได้สนับสนุน ตอนนั้นผมเรียนจบจากสหรัฐอเมริกา ผมโชคดีที่ผมจบปริญญาโทตอนอายุ 21 ปี เพราะว่ามีความใฝ่ฝันตั้งแต่เด็กว่าอยากเป็นส.ส. ที่อายุน้อยที่สุด ตอนนั้นคิดว่าอยากเรียนจบเร็วๆ แล้วทำงานให้มีประสบการณ์สัก 4-5 ปี ถ้ามีการเลือกตั้งแล้วจะขอพ่อลง ผมไปบอกคุณพ่อเรื่องนี้ คุณพ่อต่อว่าผมอยู่สัก 2 ชั่วโมง เพราะตอนนั้นเรายังเด็ก และท่านก็ยังมองว่าเราเป็นเด็ก ท่านก็บอกว่า จะเป็นส.ส. ดูแลตัวเองได้แล้วหรือยัง เอาแค่ว่าจบปริญญาโทจากเมืองนอกมา ค่ารถ ค่าน้ำมันรถ หาได้ไหม ดูแลตัวเองได้แล้วหรือยัง ก่อนที่จะไปดูแลคนอื่น การเป็นผู้แทนคนต้องดูแลคนเป็นหมื่นเป็นแสน ถ้าดูแลตัวเองยังไม่ได้ก็ยังไม่ต้องคิด

     วันนั้นผมก็ยังไม่เข้าใจ รู้สึกว่าทำไมคุณพ่อต้องว่าเรา แล้วเราก็ไม่ได้ทำอาชีพอื่นที่แปลกแหวกแนว ก็ทำอย่างที่พ่อทำ ผมอยากเป็นเหมือนพ่อ ทำไมผมจะเป็นไม่ได้ มันก็เกิดความกดดันไปหมด มันค้างอยู่ในอารมณ์และความคิดผม

     คุณพ่อจะใช้คำโบราณสอนลูก ไม่ใช่ขีดเส้นว่าต้องทำแบบนั้นแบบนี้ อย่างเช่น ท่านสอนให้ลูกๆ เป็นคนอ่อนน้อมถ่อมตน ไปไหนก็แล้วแต่ ถ้าผมไปบอกว่าเป็นอะไร เป็นลูกใคร หรือไปทะเลาะกับใคร จะถูกจะผิดอย่างไรไม่รู้ คนที่โดนก่อนคือเรา ท่านสอนเรื่องถ่อมตัวโดยให้เราลองเขย่งเท้าแล้วกระโดดดู ท่านถามว่ามันกระโดดได้สูงไหม มันไม่สูง แต่ถ้าลองย่อตัวให้ต่ำลงมาแล้วกระโดด มันกระโดดได้สูงขึ้นไหม ท่านชอบจะใช้คำเปรียบเปรยแบบโบราณ

     เวลาพูดเรื่องการเมืองกับคุณพ่อ ท่านมักจะสอน อย่างคำว่าเห็นช้างขี้ อย่าขี้ตามช้าง คือเห็นคนที่สำเร็จแล้วไม่ใช่ว่าเราจะอยากเป็นแบบเขาทั้งหมด แต่เราก็เป็นแบบเขาได้ คือเลือกเรียนรู้ ผมก็บอกคุณพ่อว่าใช่ พ่อเป็นช้างตัวโต ผมเป็นลูกพ่อ เป็นช้างตัวเล็ก แต่ไม่ใช่หมาแน่นอน ผมอยากเป็นช้างที่ตัวใหญ่เหมือนพ่อ หมายความว่า ต้องเรียนรู้วิธีของเขา การที่คนคนหนึ่งจากที่เป็นคนต่างจังหวัด เป็นคนธรรมดา แล้วเขามาถึงจุดที่ประสบความสำเร็จได้ เขาทำอย่างไร ผมก็เรียนรู้จากพ่อตรงนี้ พยายามสังเกตคุณพ่อ หรือไปทำงานเราก็ไปเก็บเกี่ยวจากผู้ใหญ่ที่ทำงานด้วยบ้าง ไปดูว่าคนเขาประสบความสำเร็จอย่างไร แล้วเราก็เอามาพัฒนาตนเอง

 

หลังจากนั้นเข้ามาทำงานการเมืองได้อย่างไร แล้วทำไมถึงมาลงสมัครที่กทม.

     จำได้ว่าคุยกับคุณพ่อครั้งนั้น แล้วต่อมาก็ไม่พูดเรื่องการเมืองกับพ่ออีกเลย เป็นเวลา 5 ปี ผมก็ไปทำงานที่บริษัทเครื่องดื่มแห่งหนึ่ง จนวันหนึ่งพี่ชายผม (บอย-สรวงศ์ เทียนทอง) ก็โทรมาบอกว่า คุณพ่อตั้งพรรคประชาราช พี่บอยเป็นพี่คนโต ผมเป็นน้องคนเล็ก พี่บอยจะรู้ว่าผมเป็นคนบ้าการเมือง ไม่รู้ว่าไปพูดกับคุณพ่อแบบไหน คุณพ่อบอกว่าจะให้ลงการเมือง แต่มีข้อแม้คือให้ลงที่กรุงเทพฯ เอาไหม ผมบอกที่ไหนก็ได้

     ผมไม่เคยขออะไรพ่อผมเลย ผมขออย่างเดียวและขอครั้งเดียว คือผมขอโอกาส หลังจากวางสายโทรศัพท์ วางปากกา อีกวันหนึ่งผมก็ออกไปเดิน เดินไหว้ประชาชนก่อน พี่บอยถามผมว่าจะลงเขตไหน ตอนนั้นผมไม่รู้จักการเมืองในกรุงเทพฯ รู้แต่ว่าบ้านเก่าของผมที่อยู่ตั้งแต่เด็กจนโตอยู่หลังการบินไทย ที่ทำงานผมตอนนั้นก็ตั้งอยู่ที่จตุจักร ผมก็รู้แค่จตุจักร รู้แค่ว่าเราต้องไปเดิน ผมไปเดินกับเลขาฯ อยู่สองคน เดินอยู่สัก 6 เดือน ยกมือไหว้ประชาชนหลายพันคน มีน้อยคนที่จะรับไหว้ผม มีคนมาถามผมว่ามาทำอะไร ผมก็แนะนำตัวว่า “ผมสุรชาติ เทียนทอง ขอโอกาสมาลงส.ส.” สิ่งที่ได้ตอบกลับมาก็คือ ไม่ได้หรอกลูก ผู้หลักผู้ใหญ่ในวันนั้นพูดกับผม บอกผมว่าเทียนทองไม่ได้หรอก มันต้องไปลงบ้านนอก กรุงเทพฯ ไม่มีทางได้เกิด แต่เราไม่คิดอะไร เราคิดแค่ว่าโอกาสมาถึงแล้ว เราก็เดิน ผมจำได้ว่าตอนนั้นปี 2548 เพิ่งเริ่มหาทีมงานแล้วก็ลงพื้นที่ ตอนนั้นผมยิ่งกว่าโนเนมอีก

 

อะไรที่ทำให้ในที่สุดได้รับเลือกตั้งเป็นส.ส. กรุงเทพฯ

     เราเดินไหว้คนเป็นพันเป็นหมื่น งานศพ งานแต่ง งานบวช ไปทุกงานครับ ไม่มีใครเชิญก็ไป แต่ผมก็ไม่ใช่คนหน้าด้านไปนะครับ คือเราไปก่อน ไปด้วยความจริงใจ เราไปแสดงความเสียใจหรือแสดงความยินดี ก็เลยได้แนะนำตัว ส่วนใหญ่ไปเป็นเจ้าภาพทั้งที่เราไม่รู้จัก เราไปด้วยความมีมารยาท ไปนั่งในงานสังคมต่างๆ ในพื้นที่เขาก็จะมีนักการเมืองที่เป็นเจ้าของพื้นที่อยู่แล้ว เวลาเราไปเราก็นั่งข้างหลัง

     อย่างที่บอก ผมเริ่มเดินตั้งแต่ปี 2548 จนถึงกันยายน ปี 2549 มีการรัฐประหาร ผมก็ยังเดินจนมาถึงเลือกตั้งปี 2550 ผมยืนยันว่าผมไปทุกวัน ตอนนั้นต้องบอกก่อนเลยว่าทีมงานก็ไม่พร้อม จะลงสมัครพรรคอะไรยังไม่รู้เลย แต่ลงพื้นที่ก่อน คือมันเป็นความฝันของเรา เราไม่จำเป็นต้องเห็นว่าฝันมันจะเป็นจริง แต่เราจะเดินตามความฝันแล้วนะ มีโอกาสจะได้ทำตามความฝัน เราก็ไขว่คว้าแล้ว คิดแล้วว่ามันเป็นโอกาสครั้งเดียวในชีวิตเรา เพราะฉะนั้นเราต้องทำ

     การที่เราชอบการเมือง ต้องขอบอกทุกคนว่ามันจะมีสองด้าน คือความตั้งใจที่จะทำให้ส่วนรวมและการทำให้กับส่วนตัว ตอนที่เริ่มต้นเรายังโฟกัสกับตัวเอง อยู่ในช่วงวัยหนุ่ม อยากทำอะไร อยากเป็นอะไร เราก็ทำตามความฝัน เราก็เดินไปเรื่อยๆ ตอนนั้นปี 2550 ถึงตอนนั้นก็งงไปใหญ่ เพราะเราคิดว่าพื้นที่คือเขตจตุจักรเขตเดียว แต่พอการเลือกตั้งปี 2550 กลายเป็นเขตใหญ่ คือผู้สมัคร 3 คนกับพื้นที่ 4 เขต ตอนนั้นเราเดินอยู่เขตเดียว ก็บอกกับทีมงานว่าไม่เป็นไร เราก็เดินแนะนำตัวเองตั้งแต่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เข้าเขตพญาไท เดินเลาะไปเรื่อยจนไปโผล่อีกทีสุดเขตหลักสี่ที่เจ๊เล้ง ผมไม่รู้ว่ากี่กิโลเมตร

     เรามีความตั้งใจสูง ผลการเลือกตั้งออกมา ผมได้หมื่นคะแนน คนชนะได้แสนสามหมื่น ต่างกันเกือบสามเท่า อย่าเรียกว่าไปแข่งกับเขาเลย เขาไม่ได้มองว่าเราเป็นคู่แข่งด้วยซ้ำ กลับมานอนหนึ่งคืน ถามตัวเองกลับว่าจะทำยังไงต่อ เพราะแพ้คู่แข่งแบบสูสีก็ยังพอจะไปไหว อันนี้เรียกว่าไม่ใช่คู่แข่ง มันเหมือนกับว่าไม่มีตัวตน เลยกลับมาถามตัวเองว่าเราจะทำยังไงกับอนาคต กับความหวังของเรา สิ่งที่ผมได้คำตอบก็คือ รู้อยู่อย่างหนึ่งว่าความฝันเรายังไม่สิ้นสุด ในเมื่อเราไม่รู้ อนาคตจะเป็นอย่างไรก็ทำต่อไปเรื่อยๆ ผมนอนพักที่บ้านหนึ่งวันหลังจากการเลือกตั้ง แล้วผมก็เดินลงพื้นที่ต่อ ทำเหมือนเดิม คนส่วนใหญ่ก็จะถามว่า ยังไม่เลิกอีกเหรอ ไม่เข็ดเหรอ บอกแล้วว่าไม่ได้หรอก ไปขอพ่อลงที่สระแก้วเถอะ

     สิบกว่าปีที่ลงสนามการเมือง ผมได้รับคำปรามาส คำดูถูก มากกว่าคำสรรเสริญเยินยอ แต่นี่คือชีวิตจิตใจ เราเลือกที่จะก้าวข้ามออกจากพื้นที่ที่เป็นพื้นที่สุขสบายของเรา เราต้องการเป็นหนึ่งคนที่เผชิญกับโลกแห่งความเป็นจริง และผมก็ก้าวข้ามตรงนั้น บางคนก็ดูถูกว่าที่มาลงที่กรุงเทพฯ เพราะพ่อไม่รัก พ่อไม่เอา ถึงให้มาลงตรงนี้ ผมก็เดินมาเรื่อยๆ เราเป็นคนแพ้ เราต้องยอมรับ แล้วเราก็ต้องทำตัวเป็นผู้แพ้ที่ดี

ผมเป็นหนี้บุญคุณพี่น้องประชาชนทั้งชีวิต สิ่งที่อยู่ทุกวันนี้อยู่ด้วยความสำนึก ต้องการตอบแทนบุญคุณ อย่างน้อยที่สุด ได้ดูแลประชนในเขตเลือกตั้งของเรา เราจะต้องพยายามที่สุด

 

การได้รับเลือกตั้งในพื้นที่ที่ไม่ใช่ฐานที่มั่นของเทียนทองอย่างกรุงเทพฯ เป็นการสะท้อนให้เห็นว่า ‘นามสกุล’ ไม่มีผลหรือเปล่า

     นามสกุลก็มีส่วนในการทำให้คนรู้จักนะครับ แต่ความรักกับความศรัทธาเป็นอีกเรื่อง เพราะบางอย่างไม่สามารถถ่ายทอดกันได้ บางคนที่เป็นเพื่อนคุณพ่อ เป็นคนที่รักและเคารพคุณพ่อก็มาบอกว่าท่านไม่ได้เลือกผมนะ เพราะว่าเด็กเกินไป บางคนก็มองว่าลูกผู้ใหญ่ กลัวจะเหยียบขี้ไก่ไม่ฝ่อ จะทำงานได้เหรอ จะเอาจริงเอาจังเหรอ

     ผมเดินมาจนถึงปี 2553 จนผมได้พบกับคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ แต่เวลานั้นไม่ได้อยู่พรรคเดียวกับท่าน ท่านก็เห็นเราเป็นคนขยัน ท่านเป็นคนให้โอกาส ชวนเรามาอยู่ด้วย แล้วก็ให้โอกาสลงเลือกตั้งในนามพรรค

 

กลับกัน แสดงว่า ‘พรรค’​ มีข้อได้เปรียบที่ทำให้ได้รับเลือกมากกว่า ‘นามสกุล’

     การเมืองทุกวันนี้เปลี่ยนไป เรื่องพรรคมีส่วนอยู่มาก แต่ก็อย่าลืมว่าผมสังกัดพรรคเพื่อไทยในกรุงเทพมหานคร หากมองตามความนิยมของคนกรุงเทพฯ จะเห็นว่าพรรคเพื่อไทยเป็นรอง สิ่งที่เราเอาชนะได้คือการทำงาน

     ผมมองว่าต้องเป็นพรรคบวกกับการทำงาน นามสกุลเป็นเรื่องรอง เป็นเรื่องเล็กที่สุด เราไม่สามารถจะไปจับมือใครกาเพื่อให้คะแนนเราได้

     สิ่งที่ผมพยายามมากที่สุดคือพยายามก้าวข้ามความเป็นลูกนักการเมือง ใช่ ผมเกิดและลืมตาขึ้นมาเป็นลูกชายส.ส. โตมาอีกหน่อยเป็นลูกรัฐมนตรี แต่ความฝันของผมคือเป็นนักการเมือง ไม่ใช่ลูกนักการเมือง เพราะฉะนั้นต้องก้าวข้ามลูกนักการเมืองไปก่อน ความมีพ่อ มีแม่ มีชาติตระกูลเป็นเรื่องดี เป็นเรื่องที่น่าภูมิใจ แต่เราต้องไม่ยึดติด ถ้าเรายึดติดตรงนั้น ชีวิตเราก็ไม่สามารถเป็นเราได้ ผมเชื่อเรื่องพวกนี้นะ

 

คิดอย่างไรที่คนมองว่าลูกนักการเมืองมักจะมาพร้อมกับคำว่าอิทธิพล

     ต้องมีคนคิดแบบนี้อยู่แล้ว และบางคนก็ใช้มันด้วย แต่พวกผมไม่มี เพราะพ่อผมเลี้ยงลูกให้เป็นคนธรรมดา เดินไปไหนมาไหนไม่เคยมีลูกน้องเดินตาม ไม่เคยมีบริวารจะต้องมาดูแล ใช้ชีวิตเหมือนคนปกติทั่วไป เราทำทุกอย่างเหมือนเดิมตั้งแต่เล็กจนโต ถูกบ้าง ผิดบ้าง ทุกคนเคยทำเรื่องที่ดีและเรื่องที่ไม่ดี

     ถ้าเราทำในสิ่งที่ดี คนเขาจะชื่นชมเรา ชื่นชมพ่อแม่เรา แต่ถ้าเราทำไม่ดีก็คือตัวเรา ไม่เกี่ยวกับพ่อแม่ ส่วนคำว่าบารมีก็คือบารมีของพ่อกับแม่ เราเป็นลูกที่ดี จะไม่เอาบารมีของพ่อแม่มาใช้ แต่ถ้าเราทำตัวดี บารมีพ่อแม่ก็ยิ่งมีแต่เติบใหญ่ขึ้น

 

ถ้าวันนี้สุรชาติ เทียนทอง ไม่ได้รับโอกาสทางการเมืองจากพ่อ จะไปทำอะไร

     ผมพูดจริงๆ นะ ตั้งแต่เด็กจนโตผมมองอนาคตตัวเองไม่ออกเลย ผมคิดไม่ออกว่าบั้นปลายชีวิตผมจะทำอะไรนอกจากการเป็นส.ส. แล้วผมได้รับโอกาส ความฝันของผมเป็นจริง ทุกวันนี้ผมมองอนาคตตัวเองเหมือนไม่ได้มอง

     อย่างที่บอกว่าเริ่มต้นเข้ามาบนถนนการเมืองครั้งแรกโดยความใฝ่ฝันส่วนตัว แต่ทุกวันนี้ สิบกว่าปีที่ผ่านมาเราได้รับโอกาสจากพี่น้องประชาชน ซึ่งทำให้คนอย่างเราได้มีความฝันที่เป็นจริง ผมถือว่าผมเป็นหนี้บุญคุณพี่น้องประชาชนทั้งชีวิต สิ่งที่อยู่ทุกวันนี้อยู่ด้วยความสำนึก ต้องการตอบแทนบุญคุณ อย่างน้อยที่สุด ได้ดูแลประชนในเขตเลือกตั้งของเรา เราจะต้องพยายามที่สุด

     ทุกวันนี้ไม่มีสภามา 3 ปี ผมก็ยังลงพื้นที่ ทีมงานก็ยังทำงานทุกวันเหมือนเดิมไม่มีเปลี่ยน มันเป็นความสำนึกมากกว่า เรามีความใฝ่ฝันส่วนตัว ตอนนี้เราเห็นความผูกพัน คนที่เราไม่เคยคิดว่าตอนที่เราไปไหว้เขา เขาจะรับไหว้ เราขอเข้ามาดูแล อยากให้เขาให้โอกาสเรา พอเขาให้โอกาสเรามาแล้ว เราต้องทำเต็มที่

 

การเมืองที่ผ่านมามีแต่ความขัดแย้ง รุนแรง ไม่เบื่อเหรอ

     ไม่ครับ มีแต่มองว่าเราจะเป็นอย่างไร จะทำอย่างไร มองสภาพของสังคม โดยเฉพาะความขัดแย้งทางการเมือง ความขัดแย้งทางสังคมที่เกิดมาจากการเมือง ในเมื่อเลือกมาเป็นนักการเมืองแล้ว ต้องไม่ปฏิเสธความรับผิดชอบนี้

     ต้องยอมรับว่านักการเมืองเป็นคนส่วนใหญ่ที่ทำให้เกิดปัญหาเหล่านี้ ดังนั้นเราจะไปเบื่อหน่ายไม่ได้ จะไปท้อถอยไม่ได้ จะต้องคิดว่าอย่างน้อยที่สุดเราจะทำตัวเราอย่างไรไม่ให้เป็นเงื่อนไขความขัดแย้งทางสังคม เงื่อนไขที่ทำให้ประชาชนหมดศรัทธากับตัวเรา

     ผมมีหลักการทำงานทางการเมืองอย่างชัดเจน ผมชอบทำงานการเมือง แต่ผมไม่ชอบเล่นการเมือง แล้วผมก็ไม่เคยเล่นด้วย อะไรที่เป็นกลยุทธ์ แท็กติกทางการเมือง ผมไม่ค่อยสนใจ แค่ทำงานทุกวันให้เต็มที่ที่สุดโดยที่บางครั้งมันไม่ต้องมีแผน การทำงานในพื้นที่นั้นง่ายมากเลย ไปทุกงาน ร่วมทุกงาน แล้วก็ไม่มีข้อแม้ ไม่ใช่ว่าจะต้องไปงานที่เขาเชิญเป็นประธานถึงจะไป งานนี้เชิญใครเป็นประธาน เราไม่ไป หรือไปเลือกว่าประชาชน พี่น้อง พี่ป้าน้าอาคนไหนเขาชอบพรรคนี้ เขาไม่ชอบพรรคเรา เราก็ไม่ต้องไปยุ่งกับเขา ไปรังแกเขา ทำแบบนี้ไม่ได้  

     ผมถือว่าถ้าประชนเลือกมาเป็นตัวแทนของเขาแล้ว เราก็เป็นตัวแทนของคนทุกคน ไม่มีขัดแย้ง ไม่มีเลือกปฏิบัติ แม้กระทั่งทีมงานการเมืองด้วยกัน ถ้าเป็นพรรคอื่นก็มีแต่ยิ้ม ยกมือไหว้ทักทายกัน

 

 

ตลอด 85 ปีของประชาธิปไตยไทย คิดว่านักการเมืองมีพัฒนาการอะไรบ้าง

     สิ่งที่เผชิญอยู่ทุกวันนี้คือ ‘วิกฤติศรัทธาของภาคประชาชน’ จะหลีกเลี่ยงความรับผิดชอบไม่ได้ ต้องคิดว่าจะทำอย่างไรให้สามารถทำให้องค์กรทางการเมืองอยู่คู่กับการบริหารบ้านเมือง ในอนาคตต้องมีการเลือกตั้ง สถาบันทางการเมืองจะกลับมา ใครจะปฏิรูปอะไรก็แล้วแต่ แต่พวกเราต้องปฏิรูปตัวเอง

     10 ปีมานี้บ้านเมืองเดินหน้าไปไหนไม่ได้ ยึดติดอยู่ในความขัดแย้ง พอมีสถาบันทางการเมืองก็มีบางส่วนช่วยกันทำลาย เราทำลายกันเองไม่พอ ทะเลาะกันเองไม่พอ ประชาชนก็มาทะเลาะกันเองอีก นักการเมืองในยุคต่อไปต้องปฏิวัติตัวเอง ปฏิรูปตัวเอง ต้องแสดงให้เห็นว่าเราจะเรียกศรัทธาประชาชนคืนมา ต้องพิสูจน์ให้ประชาชนเห็นว่าเราเป็นสถาบันทางการเมืองยังเป็นที่พึ่งพิงของประชาชนได้

     การเมืองยุคต่อไปจะต้องเป็นการเมืองที่มีคำตอบให้กับประชาชน โดยเฉพาะเรื่องปากท้อง เรื่องเศรษฐกิจ จะมาเป็นการเมืองแบบอุดมการณ์อย่างเดียวไม่ได้ เพราะทุกวันนี้โลกมันเปลี่ยนไป สภาพเศรษฐกิจ สังคม โดยเฉพาะเศรษฐกิจหลายปีที่ผ่านมา

หากมีการเลือกตั้งครั้งหน้า ทุกพรรคที่เสนอตัวเข้ามาให้กับประชาชนจะต้องบอกประชาชนได้ว่าเลือกตั้งมาแล้วสังคมจะไม่มีความขัดแย้งอย่างไร และเศรษฐกิจ ปากท้องประชาชนจะต้องเป็นอย่างไร ไม่ใช่จะมาประชาธิปไตยอย่างเดียว  อุดมการณ์อย่างเดียว ผมว่าตอนนี้ประชาชนรอความหวังเรื่องเศรษฐกิจ ต้องเป็นการเมืองที่ตอบโจทย์ ต้องเป็นประชาธิปไตยที่มันกินได้จริง

     การเมืองไม่ใช่การสมประโยชน์ทางการเมือง อย่างน้อยที่สุดเราไม่ได้ต้องการที่จะให้มาเห็นตรงกันทุกเรื่อง แต่ต้องหาจุดที่เราอยู่ร่วมกันได้ โดยเฉพาะถ้านักการเมืองอยู่ร่วมกันได้ ประชาชนก็อยู่ร่วมกันได้ เราต้องไม่เอาตัวเองไปสร้างเงื่อนไขในความแตกแยก

     ผมเป็นน้องใหม่ คงไม่กล้าที่จะไปสอนหรือแนะนำผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองนี้หรอก เพียงแต่ว่าเราคิดอย่างนั้น เราก็เริ่มทำด้วยตัวเราเองก่อน ผมก็เริ่มทำ และทำกับตัวเองมาโดยตลอด ในพื้นที่ก็พยายามสร้างบรรยากาศให้ทุกคนมีความเป็นธรรมชาติ ซึ่งเริ่มจากตัวเราก่อน พยายามเท่าที่เราจะทำได้ ปฏิรูปตัวเอง ไปเจอพี่น้องประชาชนที่ไหนก็ไม่พูดให้ขัดแย้ง ต้องบอกว่าผมเป็นนักการเมืองที่ไม่พูดเรื่องการเมืองนะ ไปลงพื้นที่ที่ไหนก็จะไม่พูดเรื่องการเมือง

 

คาดหวังอะไรกับการทำงานการเมือง

     งานการเมืองของผมคือการบำบัดทุกข์ บำรุงสุข ชาวบ้านทุกข์อะไร เราช่วยได้ก็ช่วย บำรุงสุขคือวันนี้เราอยู่ในภาคการเมือง อะไรเป็นเรื่องของการพัฒนาก็ช่วยประชาชนพัฒนา

     ในวันที่เราไม่มีตำแหน่งก็ทำหน้าที่ของเราให้ดีที่สุด ในอนาคตทางการเมืองตอบจากใจจริง ผมไม่ได้คาดหวังอะไร ผมเคยแพ้มาแล้ว ผมเคยชนะมาแล้ว เพราะฉะนั้นการเลือกตั้งครั้งต่อไป ผมจะชนะอีกครั้งหรือจะแพ้อีกครั้ง ไม่ใช่เรื่องใหญ่

     ผมมองว่าผมเป็นฟันเฟืองตัวเล็กๆ ตัวเดียวในระบอบประชาธิปไตย อนาคตจะเป็นอย่างไร ผมก็เป็นผมคนเดิม ยังทำงานอย่างนี้ต่อไป อย่างน้อยที่สุดก็ทำงานเพื่อสังคม ถ้าอนาคตไม่ได้ไปไกลกว่านี้ก็อยู่ในสังคม ในพื้นที่ของเรา แต่ที่สำคัญ เราอยากเห็นบ้านเมืองมันยังไปได้ เครื่องจักรใหญ่มันยังเดินไปได้

 

อยากเป็นนายกรัฐมนตรีไหม

     โอ้ มันยากครับ ถ้าเราเอาคนอื่นมาเป็นตัวตั้ง ผมพูดอยู่เสมอว่าเราเป็นคน ความอยากได้ อยากมี อยากเป็น มันเป็นคุณสมบัติขั้นต้นของความเป็นคน ถ้าทุกคนไม่มีความอยากมี อยากได้ อยากเป็น ชีวิตมันก็อาจจะไม่เดินหน้า เรามีความอยากในเรื่องพวกนี้ได้ รักดีได้ พยายามใฝ่ดีได้ แต่สิ่งหนึ่งที่ผมไม่มีคือความทะเยอทะยานขนาดนั้น

     ถ้าอยากมี อยากได้จนเกินไป ความทะเยอทะยานมันมากไป อาจจะมีผลกระทบ ส่งผลเสียกับคนอื่น อย่างที่บอก เราทำหน้าที่ให้ดีที่สุดแล้วให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสิน เพราะว่าตำแหน่งนี้ไม่ใช่ใครจะอยากเป็น อยากได้ หรือพยายามแล้วจะได้เป็นกันง่ายๆ

     แค่ทำหน้าที่ของเราให้ดีที่สุด ผมไม่เชื่อเรื่องดวงนะ แต่ผมเชื่อว่าเราทำถึงจุดๆหนึ่ง เราทำให้ดีที่สุด บางครั้งเราก็ปล่อยให้วาสนามันพาเราไปเอง

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X