×

รู้ไหมผมลูกใคร? ชำแหละ ‘ตระกูลการเมือง’ สืบทอด-ผูกขาด-สูญพันธุ์ ในวัฏจักรประชาธิปไตยไทย

05.06.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

17 Mins. Read
  • ตระกูลการเมืองไทย เมื่อศึกษาจากการเลือกตั้งปี พ.ศ. 2554 พบว่าตัวเลขจำนวน ส.ส. เกือบครึ่งจากทั้งสภามาจากคนสกุลเดียวกันหรือเกี่ยวข้องกัน
  • ยุคหลังการเลือกตั้งปี พ.ศ. 2548 เป็นต้นมา การเมืองจึงมีจุดเปลี่ยน ตัวตระกูลเริ่มหมดความสำคัญลง ในแง่การชนะเลือกตั้งแบบเดิมต้องพึ่งพิงพรรคมากกว่านามสกุลตัวเอง
  • ปรากฏการณ์ที่น่าสนใจของ ‘ตระกูลการเมืองไทย’ คือมีการสูญพันธุ์ของตัวแทนตระกูลในการเมืองระดับประเทศ แล้วหันกลับไปเล่นการเมืองท้องถิ่นแทน
  • ตระกูลการเมืองไม่ใช่ของเสียในระบอบประชาธิปไตย เพราะว่าในโลกนี้ที่ไหนก็มีตระกูล โจทย์สำคัญคือจะทำอย่างไรให้ตระกูลอยู่ในกติกาประชาธิปไตย ทำประโยชน์ตามที่ประชาธิปไตยคาดหวัง คือทำให้อำนาจเป็นของประชาชน

     ปี พ.ศ. 2560 เป็นปีที่ 85 ของอายุประชาธิปไตยไทย นับตั้งแต่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร ประวัติศาสตร์บันทึกเอาไว้ว่าเริ่มต้นในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475

     ในห้วงเวลาที่อายุของประชาธิปไตยผันผ่านมานี้ มีเหตุการณ์เกิดขึ้นมากมาย ท้าทายความเปลี่ยนแปลงอยู่ทุกขณะ โดยเฉพาะรูปแบบประชาธิปไตยแบบตัวแทนของไทย ที่ให้ประชาชนเลือก ผู้แทน หรือ ส.ส. เข้าไปเป็นปากเสียงแทน มีความน่าสนใจไม่น้อย หรือ คนในตระกูลการเมือง หลายคนมักมีภาพจำ ที่เคยปรากฏตามหน้าสื่อ ว่าบางกรณี ‘นามสกุล’ ยังถูกใช้อวดอ้าง เพื่อแสดงอิทธิพลด้วย

     ปรากฏการณ์หนึ่งที่น่าสนใจก็คือ ผู้แทนในระบอบประชาธิปไตยมีการสืบทอดอำนาจทางการเมืองจากรุ่นสู่รุ่นในวงศ์ผู้นำตระกูลทางการเมืองที่เรียกว่า ตระกูลการเมือง (Political Dynasty) และเกิดขึ้นแทบจะเรียกว่าทุกสังคมในโลก แม้ในประเทศไทยก็ยังเห็นบทบาทของตระกูลการเมืองอย่างชัดเจน หลายนามสกุลที่ได้ยินบ่อยๆ จนคุ้นหูมาเป็นเวลานานก็ยังคงมีตัวละครของคนในตระกูลตนเองโลดแล่นอยู่ไม่ว่าในระดับประเทศหรือท้องถิ่น

     น่าค้นหาคำตอบว่าเหตุใดตระกูลการเมืองเหล่านี้จึงสามารถมีตำแหน่งแห่งที่อยู่ได้อย่างยาวนาน เครือข่ายสายสัมพันธ์ระหว่างตัวตนของผู้แทนกับประชาชนในพื้นที่ก่อรูปขึ้นได้อย่างไร และตระกูลการเมืองเหล่านี้ปรับตัวต่อประชาธิปไตยของไทยอย่างไร

     ดร. สติธร ธนานิธิโชติ นักวิชาการจากสำนักวิจัยและพัฒนา สถาบันพระปกเกล้า ที่ได้ทำการศึกษาเกี่ยวกับบทบาทและพัฒนาการของตระกูลการเมืองในการเมืองและการเลือกตั้งของประเทศไทย จะเป็นผู้อธิบายและตอบคำถามถึงความน่าสนใจในการศึกษาเรื่องนี้

 

 

จุดเริ่มต้นการศึกษา ‘ตระกูลการเมืองไทย’ จากจุดเริ่มต้นการเลือกตั้ง ‘ยุครัฐบาลปู’

     ดร. สติธร เริ่มต้นอธิบายว่า ได้ศึกษาเรื่องนี้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2554 ที่มีการเลือกตั้ง ในสมัยรัฐบาลอดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เพราะว่าช่วงนั้นเริ่มเห็นภาพอะไรบางอย่างของตระกูลการเมือง มีนักวิชาการหลายคนที่ออกมาวิเคราะห์ เช่น อาจารย์ประจักษ์ ก้องกีรติ และ รศ. ดร. สิริพรรณ นกสวน สวัสดี บอกว่า เรื่องตระกูลของนักการเมืองไม่ศักดิ์สิทธิ์เหมือนของเก่าอีกแล้ว

     “เมื่อสังเกตความพ่ายแพ้ของหลายตระกูล และความยากลำบากในการสืบทอดอำนาจ เช่น กรณี เสธ.หนั่น หรือ พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ ที่จะดันลูกชายขึ้นมา ครั้งแรกสอบตก ครั้งที่สองสอบซ่อมเข้ามาได้ เสธ.หนั่นต้องลงพื้นที่ไปเคาะประตูบ้านเอง

     “สรุปได้ว่า แค่นามสกุลมันไม่เพียงพอแล้วแต่ต้องลงไปคลุกเองด้วย ตระกูลคุณปลื้ม ก็แพ้ยกจังหวัด ทุกคนก็ตั้งข้อสังเกตว่าสงสัยทุนใหญ่จะครอบไว้หมดแล้ว เป็นเรื่องของตระกูลใหญ่คุมไว้หมดแล้ว ตระกูลอื่นไม่น่าจะมีความหมายอะไรอีกต่อไป อาจจะเป็นยุคตกต่ำ”

     “บางงานมีการศึกษาว่าเป็นยุคตกต่ำของเจ้าพ่อ ซึ่งเป็นการผูกโยงเรื่องตระกูล จึงคิดว่าหากมีการตั้งข้อสังเกตแบบนี้ มันน่าจะมีการศึกษาเชิงประจักษ์มากขึ้น”

     ดร. สติธร ได้ยกตัวอย่างเพื่ออธิบายให้เห็นภาพที่ชัดเจนอีกว่า ความน่าสนใจของตระกูลเทียนทอง ในปี พ.ศ. 2554 มีปรากฏการณ์น่าสนใจคือ ตระกูลเทียนทองซึ่งมีฐานอยู่ที่จังหวัดสระแก้ว ส่งลูกชายมาลงกรุงเทพฯ ก็ชนะการเลือกตั้ง ตระกูลบรรทัดฐานอยู่ภาคใต้ มาลงประชาธิปัตย์ในกรุงเทพฯ ก็ชนะเลือกตั้ง ปรากฏการณ์อย่างนี้จะอธิบายอย่างไรว่าตระกูลอยู่ในช่วงขาลง เพราะนี่คือตระกูลข้ามถิ่นก็ยังชนะ

     ดร. สติธร อธิบายอีกว่า ผลการเลือกตั้งปี พ.ศ. 2554 เป็นจุดเริ่มต้นว่า มีคนที่นามสกุลซ้ำกันอยู่จำนวนมากในการเลือกตั้งเพียงครั้งเดียว เป็นอีกจุดหนึ่งที่ทำให้น่าสนใจว่าในวงการวิชาการต่างประเทศ สำหรับตระกูลการเมืองเขาศึกษาอะไรกันบ้าง จึงไปเจอกับคำว่า Political Dynasty

     “สำหรับประเทศไทย ความน่าสนใจจากผลการเลือกตั้งในปี พ.ศ. 2554 อยู่ตรงที่เรามี ส.ส. ที่ได้รับเลือกตั้งจำนวน 210 คน จาก 500 คน ที่มีลักษณะเป็นตระกูลการเมืองและนามสกุลซ้ำกัน ซึ่งตัวเลขนี้มีจำนวนเกือบครึ่ง คิดเป็น 42 เปอร์เซ็นต์ เมื่อไปดูข้อมูลที่ต่างประเทศ เขามีการเก็บข้อมูลและนำมาเปรียบเทียบกันจึงพบว่า

     ปรากฏการณ์การเลือกตั้งปี พ.ศ. 2554 เป็นเรื่องสำคัญ นอกจากจำนวน ส.ส. ที่มีนามสกุลเยอะ ยังมีปรากฏการณ์หนึ่งคือ การสืบทอดทายาทการเมือง เช่น ตระกูลชินวัตร จากคุณทักษิณ จะให้คุณสมชายเป็นนายกฯ ก็ได้ พอต่อมาจะให้น้องสาวเป็นนายกฯ ก็ได้ และยังมีคนอื่นๆ ในตระกูลอีก ทำให้เห็นว่าเรื่องนี้มันมีสองมิติคือ ตัวผู้แทน และตัวผู้นำระดับสูงสุดของประเทศ”

 

กลุ่มสามัญชนนักธุรกิจ การสืบทอด-ส่งต่อ ‘ตระกูลการเมือง’ ก่อน พ.ศ. 2540

     คำถามสำคัญต่อมาก็คือ ตำแหน่งแห่งที่ของตระกูลการเมืองที่ยังสามารถยืนอยู่ได้ในสภาพประชาธิปไตยแบบไทยๆ มีกระบวนการสืบทอด และส่งต่อกันมาอย่างไร

     ดร. สติธร อธิบายโดยแบ่งตามห้วงเวลาออกเป็น 2 ยุคคือ ยุคก่อนหน้าปี พ.ศ. 2540 เกิดสิ่งที่เรียกว่าตระกูลนักธุรกิจผันตัวเองมาเล่นการเมืองโดยตรง จากเดิมการเมืองระดับชาติที่เป็นเรื่องของขุนนาง ขุนนาย ถ้าเป็น ส.ส. ต่างจังหวัดก็เป็นอดีตครู หรือทนายความ ส่วนนักธุรกิจก็จะเป็นนักธุรกิจอย่างเดียว แล้วอาศัยการเอื้อประโยชน์ หรือการไปขอผลประโยชน์จากนักการเมืองในพื้นที่ เพื่อให้ได้โครงการจากรัฐไปทำ

     “ช่วงปลายหลังเหตุการณ์เดือนตุลาคม บรรดานักธุรกิจก็ผันตัวมาเป็นนักการเมืองเอง แต่แทนที่จะคอยนักการเมือง ก็ไปจับมือกับข้าราชการ ไปจับมือกับนักการเมือง เพื่อให้ตนเองรักษาผลประโยชน์ทางธุรกิจ ในเมื่อตนเองก็มีทรัพยากร การทำธุรกิจมันมีลูกจ้าง มันมีเครือข่ายของคนที่มาอุปถัมภ์ในเชิงธุรกิจของเขา ซึ่งอย่างนี้เขาก็สามารถสร้างฐานเสียงเองได้”

     “ตระกูลเทียนทอง จะเป็นตัวแบบของความสำเร็จของรูปแบบแรก คุณเสนาะ เทียนทอง เป็นลูกของพ่อที่เป็นกำนันมาก่อน และยุคของคุณเสนาะเป็นยุคของการทำธุรกิจมาก่อน พอคุณเสนาะผันตัวเองเข้าสู่การเมืองโดยตรง ก็มีการวางคนของตนเองเอาไว้ ความสำเร็จของตระกูลเทียนทองคือการวางตำแหน่งคนในตระกูล มีการแบ่งงานกันทำภายในครอบครัว คือคุณเสนาะ น้องชาย ส่วนลูกๆ จะลง ส.ส. ระดับชาติไว้ ในขณะเดียวกันก็วางคนของตนไว้ระดับท้องถิ่นในตำแหน่งสำคัญๆ รวมไปถึงการเมืองท้องถิ่นบางตำแหน่ง เช่น กำนันบางตำบล ก็ต้องสืบทอดเอาไว้ หรือบางคนไม่มาเล่นการเมืองเลย แต่ไปดูแลธุรกิจของครอบครัว แบ่งหน้าที่กันชัดเจน เพื่อทำให้เทียนทองครองได้ทั้งจังหวัด”

     “ถ้าย้อนไปดูจะพบว่า สมัยแรกๆ จังหวัดสระแก้วไม่ได้มีตระกูลเทียนทองทั้งทีม จะมีนามสกุลอื่นผสมอยู่ หลังๆ ก็ดองกัน พอยุคหลังๆ ต่อมาระบบลงตัว ก็หมดทายาทไปกลายเป็นเทียนทองล้วนๆ แต่จริงๆ ก็มีความเกี่ยวดองข้ามตระกูลกันอยู่ ยุคแรกที่เกิดขึ้นได้เพราะระบบเลือกตั้งเอื้อ ระบบเลือกตั้งสมัยนั้นตั้งแต่รัฐธรรมนูญ ปี พ.ศ. 2522 ขึ้นมาเป็นระบบเขตใหญ่ เลือกได้ 3 คน เวลาที่จะดันนักการเมืองรุ่นใหม่ที่เป็นทายาทเข้ามาก็คือ ตัวพ่อจะเป็นเบอร์หนึ่ง นักการเมืองเก่าก็จะเป็นเบอร์สามไป คนที่ดันมาใหม่ก็จะใส่ไว้ตรงกลาง เวลาประชาชนเลือกได้ 3 เบอร์ก็จะพ่วงเข้าไป ใช้ยุทธวิธีแบบนี้” ดร. สติธร กล่าว

 

 

‘ทุนท้องถิ่น’ การสร้าง รักษา และผูกขาดอำนาจทางการเมือง

     อีกปัจจัยหนึ่งที่มีผู้ให้ความสนใจในการขับเคลื่อนงานด้านการเมือง คงหนีไม่พ้นเรื่อง ‘ทุน’ โดยเฉพาะ ‘ทุนท้องถิ่น’ ที่รวบรวมขึ้นมา เพื่อให้ตระกูลเหล่านี้ดำรงคงอยู่ได้ มีการตั้งคำถามว่า หากมีการปฏิรูปการปกครองท้องถิ่น ซึ่งอาจไปกระทบต่อระบบเครือข่ายที่มาจากทุนนั้น หรือพูดให้ชัดคือ ไปทำลายหัวคะแนน จะทำให้ภาพตระกูลเหล่านี้ยังอยู่ยากขึ้นมาไหม

     ดร. สติธร ตอบคำถามที่มีผู้ตั้งข้อสังเกตนี้ว่า “มันอาจจะอยู่ยากหรืออยู่ง่ายขึ้นก็ได้ เช่น ตราบใดที่มีการเลือกตั้งท้องถิ่นที่การเข้าสู่อำนาจของเขาคือการเลือกตั้ง วิธีการเข้าสู่อำนาจการเลือกตั้งคือ การมีฐานเสียง คะแนนนิยม อย่างที่บอกเขามีทรัพยากรในแง่บารมีก็ดี ในแง่การพึ่งพาทางเศรษฐกิจ เขาจ้างงานคนได้จำนวนมากๆ อย่างเช่น ยุคของการรับเหมา คนที่รับสัมปทานเดินรถ เลยทำให้คนเหล่านี้ประสบความสำเร็จ แล้วฐานของเขาคือลูกจ้าง ต้องพึ่งพากันเป็นเครือข่าย ครอบครัวลูกจ้าง ยิ่งธุรกิจของครอบครัวใหญ่โตมากก็จะสามารถแผ่อิทธิพลได้มากในทางการเมือง สุดท้ายก็ผันตัวเองจากการเมืองใหญ่ในจังหวัดมาสู่ระดับประเทศ นายทุนย่อยๆ ก็ไปคุมตำบลในการเลือกตั้งการเมืองท้องถิ่น ซึ่งทำให้เขากระชับความสัมพันธ์กันมากขึ้น เช่น ตระกูลคุณปลื้ม ในยุคที่บ้านใหญ่เขามีพลังสูงสุด ทุกครั้งที่มีการเลือกตั้งเขาก็จะเชิญเครือข่าย ซึ่งก็จะมีตำแหน่งใน อบต. ท้องถิ่น แล้วเขากำชับอย่างที่ว่า เช่น ประชุมว่ายังรักกันดีอยู่ไหม ใครไม่มาก็เริ่มแปลกแล้วว่าแปรพักตร์หรือเปล่า”

     ปรากฏการณ์ที่ต้องหาคำตอบอีกอย่างในภาพสะท้อนของตระกูลการเมืองก็คือ ทำไมประชาชนยังไว้ใจ เขาเห็นอะไรจากตระกูลเหล่านี้ ทำไมประชาชนยังเลือกซ้ำๆ

     ดร. สติธร อธิบายปรากฏการณ์นี้ทันทีว่า ยุคเก่าเป็นยุคที่พึ่งพิงด้วยประโยชน์ส่วนตัว เช่น สระแก้วโมเดล หรือสุพรรณบุรีโมเดล ยิ่งพึ่งพิง ก็ยิ่งได้เยอะขนาดว่า ตระกูลนี้เป็นนายกรัฐมนตรี สามารถดึงงบลงจังหวัดได้ มันเห็นความเจริญชัดเจน ยิ่งอยู่ได้นาน และมีชื่อผลงานเป็นที่ประจักษ์ด้วย

     ในเชิงประวัติศาสตร์ สมัยก่อน ส.ส. มีงบประมาณพัฒนาของตนเอง ทุนเดิม จากฐานที่มีอยู่ก็จะเพิ่มขึ้นมาอีกทาง กล่าวคือ งบประมาณที่รัฐจัดให้ในสมัยก่อนเราจะเห็นศาลารอรถตามถนนที่เป็นชื่อ ส.ส. ต่างจังหวัด หรือโครงการพัฒนาสร้างสะพาน สร้างถนนต่างๆ ก็จะมีชื่อของเขา เป็นการสร้างภาพจำให้กับผู้ลงเลือกตั้ง สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นเพราะคนเหล่านี้นำเข้ามา เป็นโมเดลที่ประสบความสำเร็จอย่างชัดเจน

     แต่ก็มีบางจังหวัดที่ตระกูลการเมืองไม่มีการพัฒนาเลย เสื่อม โทรมๆ แต่ก็ได้รับเลือก และสุดท้ายตระกูลเหล่านี้มักจะเสื่อมไป ยกตัวย่างเช่นจังหวัดปราจีนบุรี แต่ก่อนสู้กันอยู่ 3 ตระกูลคือ วิลาวัลย์ ภุมมะกาญจนะ และสมใจ ส่วนใหญ่ตระกูลวิลาวัลย์ทำกิจการรับเหมา ตระกูลสมใจทำกิจการเดินรถ แล้วคนก็บ่นว่าจังหวัดปราจีนบุรีไม่เห็นเจริญเลย แต่ในความเป็นจริตระกูลเหล่านี้ก็ได้รับเลือกตั้งมาตลอด

     โมเดลลักษณะแบบนี้อธิบายได้ว่า เกิดขึ้นในกลุ่มจังหวัดภาคกลาง มักเป็นเครือข่ายผู้มีอิทธิพล กลุ่มนี้อยู่ได้เพราะการอุปถัมภ์ส่วนตัว เช่น กิจการเดินรถ ใครจะมาทำกิจการแข่งไม่ได้ เพราะเขาผูกขาด อะไรที่อยู่ในเครือข่ายธุรกิจแบบนี้ก็ต้องพึ่งพาเขา หรือพวกกิจการก่อสร้างก็จะไปกันคนอื่นไม่ให้มาแข่งหมด ประมูลโครงการการระดับท้องถิ่น ตำบล ก็จะให้อิทธิพลของเขาไปแทรกแซงหมด จะไม่ให้ผู้เล่นหน้าใหม่เข้ามา

     กลายเป็นด้านมืดการเมืองแบบตระกูล

 

 

ทักษิณรุกคืบกระดานการเมือง เมื่อชื่อ ‘พรรค’ ขายได้มากกว่า ‘นามสกุล’      

     ยุคที่สองคือตอนหลังรัฐธรรมนูญ ปี พ.ศ. 2540 เป็นจังหวะที่คุณทักษิณ ชินวัตร เข้ามา ในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจ ซึ่งทุนทักษิณเป็นทุนที่เหลือรอดอยู่ และเป็นทุนขาขึ้น เพราะเป็นธุรกิจโทรคมนาคม

     ทุนภูมิภาคได้รับผลกระทบน้อยกว่าตอนมีวิกฤติต้มยำกุ้ง ขณะที่ทุนชาติที่เป็นทุนแบงก์อสังหาริมทรัพย์ต้องการที่พึ่ง สุดท้ายต้องไม่ลืมว่าผลประโยชน์หลักของทุนภูมิภาคคือ งบประมาณแผ่นดิน หมายถึงเป็นทุนภูมิภาคที่รอสัมปทานหรือการประมูลโครงการจากรัฐ เพราะฉะนั้นใครเป็นรัฐบาลก็ได้ ผู้แทนที่มาจากตระกูลการเมืองก็สามารถเข้าไปเกาะ ดึงงบประมาณ เข้าบริษัทในพื้นที่เพื่อหล่อเลี้ยงธุรกิจของเขา

     ยุคนี้จึงเป็นจังหวะที่ทุนทักษิณเป็นผู้นำในทุนชาติ เมื่อลงมาเล่นการเมือง ทำให้เกิดจุดเปลี่ยน ไปดูดเอาทุนภูมิภาคเป็นพันธมิตร ซึ่งเป็นจุดเปลี่ยนจุดหนึ่งที่ทำให้พรรคไทยรักไทยโต เพราะฉะนั้นภาพ ส.ส. ไทยรักไทยยุคแรก มันก็เลยมีภาพตระกูลการเมืองเป็นเรื่องปกติ คือเป็นเหล้าเก่าในขวดใหม่

     เมื่อคุณทักษิณเข้ามาคุม ผลของการบริหารผ่านนโยบายที่เรียกว่า ‘ประชานิยม’ ได้เข้าไปตัดตอนความสัมพันธ์เดิม จากที่นักการเมืองระดับชาติเดิมผูกกับนักการเมืองภูมิภาค ด้วยการให้นักการเมืองภูมิภาคเป็นผู้คอยประสานกับหัวคะแนน

     คุณทักษิณทำให้เกิดการตัดตอนด้วยการลงไปดีลกับประชาชนเลย พอยิงตรงผ่านประชาชน ประชาชนไม่ต้องผ่านนายหน้า และหัวคะแนน ทำให้ ส.ส. ในจังหวัดไม่สำคัญ ถ้าดีลโดยตรงกับคุณทักษิณได้ กลายเป็นว่าทุนภูมิภาคลดลง ทุนใหญ่คือ รัฐบาล และนโยบายของคุณทักษิณที่ออกมาจริง และเห็นผลประโยชน์จริง การพึ่งพาเลยกลายเป็นการพึ่งพาที่ตัวพรรคในฐานะที่เป็นแบรนด์ใหม่

     ยุคหลังการเลือกตั้งปี พ.ศ. 2548 เป็นต้นมา การเมืองจึงมีจุดเปลี่ยน คือตัวตระกูลเริ่มหมดความสำคัญลงในแง่ของการชนะเลือกตั้งแบบเดิม กล่าวคือ เมื่อก่อนถ้าพรรคอยากชนะการเลือกตั้ง อยากได้คะแนนเสียง พรรคจะต้องไปซื้อตัว ส.ส. เข้าพรรค กลายเป็นสลับกันว่าถ้าคุณอยากลงเลือกตั้งในพื้นที่ คุณอาจจะต้องสนับสนุนเงินให้พรรคมากกว่า ไม่ใช่เรื่องของชื่อเสียงในตระกูลอีกต่อไปแล้ว หากเป็นชื่อเสียงของพรรคมากกว่า จะเห็นได้ชัดเมื่อปี พ.ศ. 2548 ที่ ส.ส. ตระกูลจำนวนหนึ่งเริ่มแพ้ คืออาจะดีลกับพรรคไม่ลงตัว และรู้สึกว่าตัวเองยังมีฐานเสียงอยู่ ก็ลงสมัครรับเลือกตั้ง แต่บทเรียนที่เจอก็คือ แพ้การเลือกตั้ง พอปี พ.ศ. 2550 ก็ยังแพ้อีก แพ้ซ้ำซาก

 

 

ตระกูลดังสูญพันธุ์ ไม่ป็อปปูลาร์ ทายาทการเมืองไม่มีที่ยืนในสภา

     ภาพปรากฏการณ์ทางการเมืองที่น่าสนใจของตระกูลการเมืองไทยก็คือ มีการสูญพันธุ์ของตัวแทนตระกูลในการเมืองระดับประเทศ แล้วหันกลับไปเล่นการเมืองท้องถิ่นแทน

     ดร. สติธร ยกตัวอย่าง ตระกูลอัศวเหม ในจังหวัดสมุทรปราการว่า เป็นเพราะพัฒนาการของจุดเปลี่ยนเรื่องตระกูล คนในตระกูลอัศวเหมที่แพ้ เพราะไม่ได้อยู่พรรคไทยรักไทยก็ส่วนหนึ่ง เนื่องจากความสำเร็จของพรรค นโยบาย และแบรนด์คุณทักษิณ มันทำให้เป็นบทสรุปหนึ่งที่พบว่า ช่วงหลังตระกูลที่ต่อสู้ว่าคุณเป็น ส.ส. แล้วคุณสังกัดพรรคนั้นไม่ถูก คือถือว่าตัวเองเป็นตระกูลดังอย่างเดียว ยิ่งใหญ่ในจังหวัดนี้ โอกาสแพ้ก็มี แต่ถ้าคุณเป็นตระกูลดัง แล้วอยู่พรรคที่ใช่ โอกาสชนะแทบจะ 100 เปอร์เซ็นต์

     ตระกูลการเมืองบางตระกูลค่อนข้างที่จะมีชื่อเสียงในพื้นที่ มีการส่งคนในตระกูลลงการเมืองระดับประเทศในพื้นที่ของตนเอง ก็ไม่เคยประสบความสำเร็จบนเวทีนี้เหมือนกัน

     ดร. สติธร อธิบายว่า ยุคหลังปี พ.ศ. 2540 มา สิ่งที่ค้นพบคือ ปัจจัยเรื่องพรรคสำคัญที่สุด เมื่ออดีตนายกฯ ชวน หลีกภัย ขึ้นมานำพรรค ภาคใต้ก็กลายเป็นฝั่งประชาธิปัตย์ พออดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร ขึ้นมา ภาคอีสาน และภาคเหนือก็กลายเป็นพรรคที่มีคุณทักษิณให้การสนับสนุน แล้วมันชัดขึ้นเรื่อยๆ

     เพราะฉะนั้นเรื่องตระกูลจึงไปผูกกับการเป็นพรรค หากตระกูลการเมืองส่งคนในตระกูลลงในพื้นที่ ในพรรคที่เขาสังกัด และมีความนิยมของคนในพื้นที่ เช่น คุณเป็นตระกูลอะไรก็ได้ ลงในภาคใต้ สังกัดประชาธิปัตย์ คุณชนะแน่ คุณเป็นตระกูลอะไรก็ได้ แล้วสวมเสื้อเพื่อไทย ลงในภาคอีสานหรือภาคเหนือตอนบน คุณชนะแน่ แต่ถ้าคุณเป็นตระกูล แล้วลงรับสมัครในพื้นที่ที่พรรคสังกัดไม่ได้รับความนิยม ก็อาจไม่ได้รับเลือกตั้ง

     ความเป็นตระกูลมันหมดความหมายในแง่ของพื้นที่โดยตรง มันดีลผ่านพรรค มันเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ชนะการเลือกตั้ง ความเป็นตระกูลมันเป็นเพียงแค่ฐานเท่านั้นในการที่จะเอาตัวเองเข้าไปอยู่กับพรรคที่มีศักยภาพได้ง่ายกว่า ทำให้เข้าสู่การเมืองได้ง่ายกว่า คือไม่ใช่ว่าจะรับเอาคนโนเนมไปอยู่กับพรรคแล้วขอไปลงในจังหวัดนั้นได้ แต่ความเป็นคนในตระกูลการเมือยังได้รับความน่าสนใจให้ลงสมัครในนามพรรคมากกว่า มันเป็นบวกกันทั้งฝ่าย กล่าวคือ ตระกูลในพื้นที่มีอยู่แล้ว ความนิยมมีอยู่แล้วอีก ก็มีโอกาสชนะสูง

 

ภาพ ‘เจ้าพ่อ’ เลือนราง มุ่งสร้างทายาท โปรไฟล์หรูเลิศ

     ตระกูลการเมืองมีการสั่งสมบารมี สร้างเครือข่ายจนไปสู่ภาวะผูกขาดอำนาจ ภาพง่ายๆ ที่คนส่วนใหญ่นึกออกเมื่อเห็นท่าทีของนักการเมืองก็คือ เจ้าพ่อยังคงมีให้เห็นมาจนถึงยุคปัจจุบันหรือไม่

     คำถามนี้ ดร. สติธร อธิบายว่า ปัจจุบันภาพเหล่านั้นมันจางลง เพราะเจเนอเรชันต่อมาของตระกูลการเมืองเหล่านั้นมีพัฒนาการที่น่าสนใจคือ แต่เดิมนักการเมืองบางตระกูลเติบโตมาบนพื้นฐานแบบเจ้าพ่อ นักธุรกิจท้องถิ่นก็จะมีภาพสีเทา-สีดำ อยู่ในโลกมืดมาก่อน หรือไม่ก็คอร์รัปชัน จ่ายเงินสินบนจนร่ำรวย มีอิทธิพล จะเป็นภาพแบบนี้ออกมา ทายาทในรุ่นต่อมาจะไปหยุดภาพลักษณ์แบบรุ่นพ่อ รุ่นปู่ ก็ยาก มันมีภาพแบบนี้ติดตัว แต่มันมีข้อดีในแง่ของการคุมเครือข่ายของเขา มีลักษณะอำนาจที่ส่งต่อทายาทในรุ่นต่อๆ มา เช่น ภูมิหลังด้านการศึกษาที่ดีขึ้นกว่าคนรุ่นก่อน มีความพยายามสร้างโปรไฟล์นักการเมืองรุ่นที่ 2 รุ่นที่ 3 ขึ้นมา ส่งลูกไปเรียนเมืองนอกเยอะมาก รุ่นลูกเขาสร้างได้ “จุดแข็งของพวกนี้คือ เขาใส่ความปรารถนาในรุ่นลูกที่ชนชั้นกลางอยากได้ เป็นการปรับตัวเองให้เข้ากับยุคหลังมา ไม่ใช่ยุคบ้านๆ ท้องถิ่นอีกแล้ว”

     การปรับภาพลักษณ์ยิ่งเป็นการเพิ่มจุดแข็งเข้าไปอีก โดยเฉพาะตระกูลที่วางตัวที่จะสืบทอดกัน มีลักษณะที่เอาคนรุ่นใหม่ไปเรียนรู้การเมืองโดยตรง เช่น เดินตามพ่อหาเสียง เดินตามพ่อไปหาหัวคะแนน พาไปอยู่ในบรรยากาศ วางแผนเพื่อให้ซึมซับกับคนรุ่นเก่า แล้วเพิ่มเติมด้วยการเสริมภาพลักษณ์ บางทีเอาไปเพิ่มเสริมประสบการณ์ในเชิงธุรกิจมาก่อน เป็นนักบริหารธุรกิจได้ การศึกษาต้องดี ประสบการณ์ต้องผ่านอะไรมาบ้างในภาคธุรกิจ บางคนอาจจะมีสูตรสำเร็จก่อนว่า ต้องลงท้องถิ่นก่อนแล้วค่อยมาเล่นในระดับชาติ แต่สำหรับตระกูลแล้วข้ามระดับท้องถิ่นมาก็มี วางตัวมาเล่นการเมืองระดับชาติโดยเฉพาะก็มี

 

 

ตระกูลการเมืองไม่ใช่ ‘ของเสีย’ แต่คือ ‘ภาพสะท้อน’ การเมืองที่เปลี่ยนไป

     ดร. สติธร อธิบายให้เห็นภาพของตระกูลการเมืองไทยกับระบอบประชาธิปไตยว่า ทำให้เรามองเห็นพัฒนาการของประชาธิปไตย หากตระกูลการเมือง ไม่มีการปรับตัว แล้วกลายเป็นตระกูลแบบเดิมๆ แนวโน้มที่จะสูญพันธุ์ก็เกิดขึ้นได้ ตระกูลที่อยู่ได้ส่วนใหญ่คือตระกูลที่ปรับตัว ตระกูลที่ไม่ปรับตัวอย่างมากที่สุดก็ต้องไปเล่นการเมืองท้องถิ่น ตราบใดที่ผลประโยชน์ของประเทศยังเป็นอยู่อย่างนี้ กล่าวคือ 70 เปอร์เซ็นต์ อยู่ในระดับชาติ อีก 30 เปอร์เซ็นต์ อยู่ในระดับท้องถิ่น ตระกูลที่ปรับตัวช้าหรือปรับตัวไม่ทันจะมีที่ยืนเพียงที่เดียวคือ ท้องถิ่น

     อีกแบบหนึ่งก็คือ ถ้าผลประโยชน์เปลี่ยน เช่น ในท้องถิ่นมีผลประโยชน์มากขึ้น ระดับชาติลดลง สมมติว่ารัฐธรรมนูญนี้ขลังมาก นโยบายประชานิยมก็ทำอะไรไม่ได้ อย่างที่เขาวางแนวเอาไว้ ผลประโยชน์ระดับชาติที่ทำให้ ส.ส. เหมือนกับว่าได้แต่เงินเดือนอย่างเดียว ผลประโยชน์อื่นๆ แทบจะไม่ได้กลับมา โมเดลอาจจะพลิกได้ ซึ่งเริ่มเกิดขึ้นในหลายพื้นที่คือ ผู้เล่นตัวหลักในระดับชาติเปลี่ยนไปยึดพื้นที่ท้องถิ่นแทน เพราะอย่างน้อยท้องถิ่นมีงบประมาณการบริหารอย่างชัดเจน อย่างน้อยในกลุ่มของ ส.ส. ฝ่ายค้านที่ไม่มีโอกาสที่จะผันงบประมาณแบบฝ่ายรัฐบาลเท่าไรนัก ก็ใช้วิธีให้ลูกลงระดับชาติไว้ เช่น ลูกจะอยู่โมเดลระดับชาติ ส่วนรุ่นใหญ่ไปอยู่ในระดับท้องถิ่น ไปเป็นนายก อบจ. ไปเป็นนายกเทศมนตรี เพราะอย่างน้อยมันก็ยังมีฐานทางการเงินได้ และยังไปช่วยฐานอำนาจทางการเมืองในพื้นที่

     ดร. สติธร กล่าวย้ำอีกว่า ประชาธิปไตยไทยปฏิเสธตระกูลการเมืองไม่ได้ มันมีรากฐานวางกันมาพอสมควร มีความสัมพันธ์ทางสังคม หากเราจะบอกว่าไม่เอาตระกูลการเมืองเป็นนักการเมืองไปทั้งหมดเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ ไม่ใช่ทางที่ถูกในการพัฒนาประชาธิปไตย ตระกูลการเมืองไม่ใช่ของเสียในระบอบประชาธิปไตย เพราะในโลกนี้ที่ไหนก็มีตระกูล เพียงแต่ว่าเราจะทำอย่างไรให้ตระกูลมันอยู่ในกติกาประชาธิปไตย และทำตามที่ประชาธิปไตยคาดหวัง คือการทำให้อำนาจเป็นของประชาชน เรามาหาประโยชน์จากพวกตระกูลการเมืองดีกว่า เพราะว่าตระกูลการเมืองมีศักยภาพ ทั้งแง่ฐานทรัพยากรทางเศรษฐกิจ ฐานนิยมจากคน บารมีเก่า เป็นศูนย์รวมการดึงความร่วมมือของประชาชนได้ พวกนี้เป็นประโยชน์ต่อประชาธิปไตย

     ท้ายสุดนี้ ดร. สติธร ได้แสดงความคิดเห็นว่า ประชาชนต้องรู้เท่าทันทางการเมือง และเอาใจใส่ต่อตระกูลทางการเมือง ที่ต้องโฟกัสนักการเมืองกลุ่มนี้ เพราะเรา ต้องการหาคำตอบว่า ตระกูลการเมืองเหล่านี้ทำประโยชน์ให้กับประชาชนได้ไหม และอยากให้ประชาชนเข้าใจและศึกษาไปพร้อมกัน ไม่ใช่แค่ไปตัดสินว่าต้องยี้ หรือตัดสินเลยว่าไม่เอา ลองดูว่าการเป็นตระกูลการเมืองมันมีด้านบวกไหม มันมีอะไรสนับสนุนไหม อยากให้ประชาชนคิดถึงตรงนั้นด้วย

     การรู้เท่าทันตระกูลการเมืองก็จำเป็น เพื่อให้รู้ว่าเขาเป็นกลุ่มการเมืองที่มุ่งแต่จะแสวงหาประโยชน์ แล้วสิ่งที่เขาเป็นเป็นแค่การสร้างภาพหรือเปล่า ให้พิจารณา ตั้งคำถามกับเขาให้ลึกซึ้ง เป็นข้อเสนอในภาพกว้างๆ มันเป็น political choice ของประชาชนในฐานะของผู้เลือกตั้ง การที่เราจะเลือก choice ไหน มันต้องมีข้อมูลที่เพียงพอ คืออย่าใช้ข้อมูลแบบฉาบฉวยในการตัดสินใจ

     เพราะส่วนหนึ่งต้องยอมรับว่าการเมืองที่เป็นอยู่ไม่เป็นไปตามที่อยากได้ อาจเป็นเพราะว่าบางทีเราใส่ใจกันน้อยไปหรือเปล่า

 

     สามารถติดตามอ่านบทสัมภาษณ์ ซึ่งเป็นรายงานพิเศษชุด ‘ตระกูลการเมืองในระบอบประชาธิปไตยไทย’ ได้ในบทสัมภาษณ์ ผ่านทายาทของตระกูลการเมืองไทย เร็วๆ นี้

FYI

มองหาทายาทตระกูลชิน คนต่อไป เมื่อยิ่งลักษณ์ตกเก้าอี้นายกฯ

     เมื่อโยนคำถามว่า ทายาทคนต่อไปของตระกูลชินวัตรคือใครไปยัง ดร. สติธร  ในฐานะนักวิชาการที่ศึกษาเกี่ยวกับบทบาทของตระกูลการเมืองไทย คำตอบที่ได้คือ

     “ต่อให้รอบนี้หยุดตระกูลชินวัตรไปสักสิบปี ไม่ต้องให้มาแตะการเมืองเลย วันหนึ่งลูกของคุณทักษิณอยากมาเล่นการเมือง คนใดคนหนึ่งก็ได้ อาจจะโนเนมเลย หายจากวงการทางการเมืองไปเลย แล้วไปปลุกเอาชินวัตรกลับคืนมา ก็ยังสามารถที่จะเกิดทายาทใหม่ได้อยู่

     “ตัวอย่างในต่างประเทศ เช่น เกาหลีใต้ อดีตประธานาธิบดีปาร์กกึนเฮ ลูกสาว ปาร์กจุงฮี เป็นลูกของผู้นำเผด็จการที่ถูกโค่นล้มไปตั้งแต่ยุค 1980 ยังกลับเข้ามาได้ และยังได้รับคำนิยมจนขึ้นมาเป็นประธานาธิบดี ภาพแบบนี้อาจอธิบายได้เหมือนกันว่า ตำนานก็คือตำนาน การเมืองโลกมันก็เป็นเช่นนี้ ช่วงเว้นวรรค ภาพโกงอาจจะถูกลบเลือนไปด้วยซ้ำ ประวัติศาสตร์อาจจะถูกเขียนใหม่ก็ได้ อาจจะยังเป็นบุคคลที่สามารถทำให้ดึงอะไรออกมาเล่นได้ หรือมันเป็นเรื่องราวที่ยังขายได้ในการตลาดทางการเมือง ถ้าในวันหนึ่งสถานการณ์มันเอื้ออำนวย มันก็ขุดขึ้นมาใช้อีกได้ เช่นเดียวกับ ตระกูลชินวัตร”

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X