×

จับตางบประมาณรายจ่าย ปี 2561 หลังวาระแรกผ่านฉลุย ‘กลาโหม’ ได้เพิ่มขึ้น

09.06.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

10 Mins. Read
  • ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 ผ่านการพิจารณาในวาระแรกโดยไร้เสียงค้าน แบ่งเป็น 6 ยุทธศาสตร์ กระทรวงศึกษาธิการ ได้งบประมาณมากที่สุด

ส่องงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2561 หลัง สนช. ผ่านวาระแรกฉลุย

     เมื่อวันที่ 8 มิ.ย. ที่ผ่านมา ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ลงมติด้วยคะแนนเอกฉันท์ 216 เสียง งดออกเสียง 3 เสียง รับหลักการร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 ในวาระแรกขั้นรับหลักการ โดยมีวงเงิน 2.9 ล้านล้านบาท

     หลัง พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้นำคณะรัฐมนตรีเข้าชี้แจงหลักการและเหตุผลต่อที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ โดยมีสมาชิก สนช. ลุกขึ้นอภิปรายจำนวน 20 คน และคณะรัฐมนตรีทยอยลุกขึ้นตอบคำถามเป็นเวลากว่า 3 ชั่วโมง ขณะเดียวกันที่ประชุม สนช. ได้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ 50 คน เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ. นี้ภายใน 90 วัน และแปรญัตติ 15 วัน

     โดย พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา แถลงต่อที่ประชุมตอนหนึ่งว่า ร่าง พ.ร.บ.นี้ เป็นการตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2561 เพื่อให้ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจและหน่วยงานอื่นมีงบประมาณในการจ่ายเงินของแผ่นดิน เป็นความพยายามของรัฐบาลในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศให้สอดคล้องกับสภาวการณ์ทางเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบัน ให้งบประมาณแผ่นดินเป็นเครื่องมือภาครัฐขับเคลื่อนยุทธศาสตร์และนโยบายสำคัญเร่งด่วนของรัฐบาลให้เกิดประโยชน์และความคุ้มค่าสูงสุดแก่ประชาชน

     ขณะที่ร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ เป็นการดำเนินนโยบายงบประมาณแบบขาดดุล โดยประมาณการว่า จะจัดเก็บรายได้สุทธิ 2.45 ล้านล้านบาท และเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ 4.5 แสนล้านบาท และปัจจุบันฐานะเงินคงคลัง ณ วันที่ 26 พ.ค. 2560 มีจำนวนทั้งสิ้น 182,515 ล้านบาท และมูลค่าเงินสำรองระหว่างประเทศ ณ วันที่ 30 เมษายน 2560 มีจำนวน 184,469.9 ล้านเหรียญสหรัฐ

 

 

กระทรวงศึกษาธิการ แชมป์งบประมาณสูงสุด 5.1 แสนล้านบาท

     ร่าง พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 ที่คณะรัฐมนตรีนำเสนอต่อ สนช. มีวงเงินงบประมาณทั้งสิ้น 2,900,000 ล้านบาท จำแนกเป็นรายจ่ายประจำ จำนวน 2,153,133.7 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 74.2 ของวงเงินงบประมาณ รายจ่ายลงทุน จำนวน 659,924 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 22.8 ของวงเงินงบประมาณ และรายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้ จำนวน 86,942.3 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 3 ของวงเงินงบประมาณ

     ขณะที่การจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 นี้ ลดลงจากงบประมาณปี 2560 ที่จัดสรรไว้ 2,923,000 ล้านบาท จำนวน 2.3 หมื่นล้านบาท

 

     ซึ่งแยกยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณได้เป็น 6 ยุทธศาสตร์ คือ

     1. ด้านความมั่นคง 273,954 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 9.5

     2. ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศ 476,596.6 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 16.4

     3. ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพคน 575,709.8 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 19.9

     4. ด้านการแก้ไขปัญหาความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำ 332,584.8 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 11.5

     5. ด้านการจัดการน้ำและสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน 125,459.4 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 4.3

     6. ด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบบริหารจัดการภาครัฐ 784,210.1 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 27.0

 

     เมื่อตรวจสอบข้อมูลจากร่าง พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 พบว่า มีหน่วยงานที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณสูงสุดใน 5 ลำดับแรก ได้แก่

     1. กระทรวงศึกษาธิการ จำนวน 510,961 ล้านบาท

     2. กระทรวงมหาดไทย จำนวน 355,995 ล้านบาท

     3. กระทรวงการคลัง จำนวน 238,356 ล้านบาท

     4. กระทรวงกลาโหม จำนวน 222,436 ล้านบาท

     5. กระทรวงคมนาคม จำนวน 172,876 ล้านบาท

 

     สำหรับงบประมาณด้านงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติประจำปี 2561 ได้รับการจัดสรรกว่า 187,500 ล้านบาท ประกอบด้วย งบกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จำนวนกว่า 185,744 ล้านบาท และงบบริหารจัดการสปสช. กว่า 1,853 ล้านบาท

 

นายกฯ ย้ำจัดงบโปร่งใส – กลาโหมได้มากขึ้น ประชาชนต้องจับตาแปรญัตติ

     พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา กล่าวในการแถลงตอนหนึ่งย้ำว่า การจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 เป็นสิ่งยืนยันในความตั้งใจและความพยายามของรัฐบาลในการวางแผน และจัดทำงบประมาณอย่างรอบคอบและโปร่งใส รวมทั้งให้ความสำคัญกับการบูรณาการในระดับพื้นที่ระหว่างส่วนราชการ จังหวัด กลุ่มจังหวัด และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยให้ความสำคัญกับความต้องการของประชาชนในพื้นที่ เพื่อให้สามารถแก้ไขปัญหาของประเทศและประชาชน ส่งเสริมการพัฒนาให้เกิดการกระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาคอย่างต่อเนื่อง

     ขณะที่ช่วงหนึ่ง พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้กล่าวต่อที่ประชุมว่า ที่ผ่านมามีการเร่งรัดการใช้งบประมาณที่ไม่สอดคล้องกับหลักการ เรื่องหนี้สาธารณะ งบค้างท่อ เพื่อนำงบไปทำภารกิจเร่งด่วน โดยต้องมีเหตุผลเพียงพอ ส่วนโครงการขนาดใหญ่ที่ติดปัญหาประชาพิจารณ์ก็ให้ซอยโครงการขนาดเล็ก เพื่อให้เริ่มโครงการได้  ซึ่งรัฐบาลจำเป็นต้องจัดงบให้กรอบยุทธศาสตร์ชาติ โดยเฉพาะยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคงที่เราจำเป็นต้องมีอาวุธยุทโธปกรณ์เพื่อป้องปราบการคุกคามที่อาจเกิดขึ้น

     ด้าน ฐานเศรษฐกิจ รายงานว่า พลเอก อุดมเดช สีตบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม ชี้แจงถึงงบประมานปี 2561 ของกระทรวงกลาโหมว่า มีจำนวน 222,436 ล้านบาทเศษ ซึ่งเพิ่มขึ้นกว่าปีที่แล้วร้อยละ 4.16 โดยกระทรวงกลาโหมได้ทำแผนงานใหม่เพื่อรองรับการปรับโครงสร้างใหม่ของร่าง พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 โดยเป็นแผนงานจัดการด้านบุคลากรภาครัฐ ซึ่งใช้งบประมาณร้อยละ 47 นอกจากนั้นเป็นแผนงานพื้นฐานด้านความมั่นคง ด้านยุทธศาสตร์

     “ผมยืนยันว่ากระทรวงกลาโหมจะใช้งบประมาณให้มีประสิทธิภาพอย่างเต็มที่ ส่วนเรื่องการจัดหาอาวุธยุทโธปกรณ์ กระทรวงกลาโหมจะจัดหาตามความจำเป็น ตามแผนพัฒนากองทัพ ทดแทนของเดิมที่หมดอายุการใช้งาน และจำเป็นต้องใช้เพื่อให้กองทัพมีศักยภาพที่ทัดเทียมมิตรประเทศได้” พลเอก อุดมเดช ระบุ

     ร่าง พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 ผ่านการพิจารณาขั้นรับหลักการในวาระแรก ต้องรอการพิจารณาในวาระสองและสามของที่ประชุม สนช. ต่อไปว่าจะมีการแปรญัตติปรับเพิ่มขึ้นหรือลดลงของกรอบงบประมาณในแต่ละส่วนมากหรือน้อยเท่าไร เพราะการจัดสรรงบประมาณย่อมมีผลต่อคุณภาพชีวิตในด้านต่างๆ ของประชาชน

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising