×

มุมกลับประวัติศาสตร์ในทัศนะของ ‘ชาญวิทย์’ เพราะ ‘เกลียด-กลัว’ จึงต้องคุมอดีต เพื่อคุมปัจจุบัน

05.06.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

17 Mins. Read
  • บทสนทนากับ ดร. ชาญวิทย์ เกษตรศิริ พยายามที่จะบอกเล่าและฉายภาพให้เห็นเบื้องหลังของการศึกษาวิชาประวัติศาสตร์ ผ่านตัวตนของนักวิชาการคนนี้ว่ามีตำแหน่งแห่งที่มาถึงปัจจุบันได้อย่างไร
  • ดร. ชาญวิทย์ชี้ให้เห็นลักษณะของประวัติศาสตร์ไทยว่า มีความเป็นอนุรักษ์นิยมสูงมาก และถูกกำกับไว้โดยกรอบของราชการ
  • ดร. ชาญวิทย์อธิบายว่า บทเรียนที่มีความพยายามรื้อสร้างประวัติศาสตร์นั้น เป็นเพราะคนที่คุมปัจจุบันต้องการที่จะเป็นคนคุมอดีตให้ได้ เพื่อที่จะคุมการเดินไปสู่อนาคต
  • ผลลัพธ์ในหลายเหตุการณ์ที่มีความพยายามรื้อทำลายประวัติศาสตร์ มีมุมกลับเช่นกัน ดร. ชาญวิทย์อธิบายว่า เป็นการไปทำให้เหตุการณ์หรือเรื่องราวอะไรหลายอย่างที่คนลืมไปแล้วกลายเป็นกระแสขึ้นมา
  • ประวัติศาสตร์ ไสยศาสตร์ วิทยาศาสตร์ มีความเชื่อมโยงสัมพันธ์ แต่โลกก้าวไปแล้ว การปรับตัวของผู้มีอำนาจก็ต้องไปข้างหน้าด้วยเช่นกัน

     หากเอ่ยถึงคำว่า ‘ประวัติศาสตร์’ หลายคนคงนึกภาพอะไรที่ดูโบราณคร่ำครึ หรือไม่ก็คงเป็นเรื่องราวของเหตุการณ์ในอดีตที่ผ่านมา โดยมีเวลาเป็นเครื่องบ่งชี้ความยาวนาน หรือความเก่าแก่ของสิ่งเหล่านั้น

     อิทธิพลของประวัติศาสตร์ที่มีต่อพัฒนาการของสังคม ความน่าตื่นตาตื่นใจ หรือความน่าหวาดกลัวของสิ่งนี้มีนัยยะที่ซ่อนอยู่ให้น่าสืบสาวเพียงใด และยิ่งอยู่ภายใต้บรรยากาศประเทศยามนี้ ที่การแสดงความคิดเห็นในหลายเรื่องเป็นไปอย่างจำกัดจำเขี่ย ประวัติศาสตร์จึงเป็นอีกหนึ่งความท้าทายเมื่อถูกหยิบยกมาเทียบเคียง และบอกเล่าเส้นทางของปัจจุบันที่อดีตกาลมีสาระให้ต้องนึกถึงและใส่ใจ ทั้งหมดนี้ THE STANDARD จะพาไปหาคำตอบจากกูรูผู้เชี่ยวชาญ

ประวัติศาสตร์ไทยมันผูกอยู่แต่กับความคิดเดิม อนุรักษ์นิยมสูงมาก มันถูกกำกับโดยรัฐราชการ เพราะฉะนั้นมันเป็นประวัติศาสตร์ฉบับราชการ

 

จุดเริ่มต้นของดร. ชาญวิทย์ จากผู้ที่ไม่สนใจประวัติศาสตร์ สู่ปลายทางกูรูประวัติศาสตร์

     ดร. ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์การเมืองไทยและประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อธิบายแบบจำกัดความว่า ประวัติศาสตร์เป็นเรื่องเกี่ยวกับอดีตที่คนปัจจุบันมองและรับรู้ เขาร่ายยาวให้ฟังถึงความสนใจของตนเองที่นำมาสู่การศึกษาในสาขาประวัติศาสตร์

     “ประวัติศาสตร์เป็นเรื่องที่น่าเบื่อมากที่สุดเมื่อผมเรียนในชั้นมัธยมและมหาวิทยาลัย เอาเข้าจริงผมไม่ค่อยชอบประวัติศาสตร์เท่าไร ผมก็เหมือนลูกของคนชนชั้นกลางธรรมดาที่แม่อยากให้เป็นหมอ เมื่อเรียนมัธยมปลาย ผมก็เรียนสายวิทยาศาสตร์ ไม่ได้เรียนสายศิลป์ เมื่อสอบเข้าคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยไม่ติด เป็นโชคดีหรือโชคร้ายก็ไม่รู้ จึงมาเรียนที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผมเรียนคณะรัฐศาสตร์ทั้งปริญญาตรีและปริญญาโท แต่พอเรียนปริญญาเอก ผมเลือกเรียนประวัติศาสตร์ ถามว่าชอบประวัติศาสตร์เป็นทุนมาบ้างไหม ต้องตอบว่ามีบ้าง เพราะว่าผมได้คะแนนดีมากๆ ในวิชาสายสังคม โดยเฉพาะวิชาประวัติศาสตร์”

     ดร. ชาญวิทย์ได้ขยายภาพบรรยากาศของการเรียนประวัติศาสตร์ เมื่อครั้งไปศึกษา ณ สหรัฐอเมริกาว่า เริ่มสนใจการเรียนประวัติศาสตร์ตั้งแต่เรียนปริญญาโท  บ้านเมืองในเวลานั้นเป็นยุค 60s อยู่ในยุคฮิปปี้ บุปผาชน ได้สัมผัสกับขบวนการนักศึกษา คนรุ่นใหม่ ซึ่งเผชิญกับปัญหาการดูถูกเหยียดหยามเรื่องสีผิว และเหตุการณ์การจลาจลที่เกิดขึ้นในลอสแอนเจลิส

     “ผมออกจากเมืองไทยในปี พ.ศ. 2508 ตรงกับปี ค.ศ. 1965 ผมไปเจอยุค 60s ในสหรัฐอเมริกา ผมอยู่อเมริกา 7 ปี อยู่ที่แคลิฟอร์เนีย 2 ปี นิวยอร์ก 5 ปี มีการประท้วงเกี่ยวกับสงครามเวียดนาม ทำให้ซึมซับเกี่ยวกับเรื่องเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ผมจึงตัดสินใจเรียนประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่ถ้าเทียบกันระหว่างการเรียนประวัติศาสตร์กับรัฐศาสตร์ ผมคิดว่าการเรียนประวัติศาสตร์ง่ายกว่า ผมก็เลยเลือกประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มหาวิทยาลัยคอร์เนล ผมเรียนอยู่ที่นี่ 5 ปี”

     จุดพลิกผันสำคัญที่ทำให้ดร. ชาญวิทย์ สนใจเรียนประวัติศาสตร์มากขึ้นอีกคือ เมื่อได้ศึกษาการประท้วงสงครามเวียดนามในสหรัฐอเมริกา ทำให้เริ่มรู้ว่าประเทศไทยเป็นฐานทัพให้สหรัฐอเมริกาและเป็นมาหลายปีมาแล้ว แต่คนไทยสมัยนั้นไม่รับรู้ข้อมูลข่าวสารเรื่องนี้เท่าไรนัก เหมือนกับถูกปิดหูปิดตาประหนึ่งเป็นกบอยู่ในกะลา ณ เวลานั้น

     “หนังสือ สังคมศาสตร์ปริทัศน์ สมัยคุณสุลักษณ์ ศิวรักษ์ ซึ่งต่อด้วยคุณสุชาติ สวัสดิ์ศรี น่าจะเป็นสิ่งที่เริ่มเปิดหูเปิดตาเรา ผมไปอยู่อเมริกา 7 ปีพบว่านั่นไม่ใช่สิ่งที่เราเชื่อมา ในประวัติศาสตร์ก็มีแต่เมียนมาที่มาทำร้ายกรุงศรีอยุธยา เราก็เรียนกันว่าเราเสียกรุงศรีอยุธยากี่ครั้ง มีการสอนว่าเมียนมาเป็นศัตรู คนไทยเป็นคนดี รักสงบ ไม่รุกรานใคร

     “พอมาเรียนเกี่ยวกับประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็ได้รับรู้ว่า มหานครที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกที่เรียกว่า นครวัด นครธม เคยถูกตีโดยกองทัพของอยุธยาโดยเจ้าสามพระยา ข้าศึกอันร้ายกาจของกัมพูชาคือไทยสยาม และได้เรียนรู้ว่าไม่ใช่แค่ไทยไปตีกัมพูชา ไทยยังไปตีลาวอีกด้วย ข้อมูลที่เพิ่มเข้ามาทำให้เราสนุกกับประวัติศาสตร์มากขึ้น อันนี้ก็ของใหม่ ทั้งที่จริงๆ แล้วเป็นของเก่า มันตื่นเต้นและทำให้ผมปรับความคิดว่า การที่ไปดูถูกเขาเราต้องย้อนกลับมาดูประวัติศาสตร์ด้วย”

     เมื่อศึกษาประวัติศาสตร์ลงไปลึกๆ โดยเฉพาะส่วนที่เกี่ยวข้องกับประเทศเพื่อนบ้านผ่านบันทึกภาษาอังกฤษ ผ่านการเรียนรู้จากภาษาของเพื่อนบ้าน ทำให้ดร. ชาญวิทย์ ได้เปิดไปสู่อีกโลกหนึ่งเพื่อทำความเข้าใจต่อปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งล้วนแล้วแต่มีประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจ

     “หลังจากการศึกษาประวัติศาสตร์ลึกๆ ทำให้เรามีข้อมูลเพิ่มมากขึ้น ผ่านการศึกษาจากภาษาอังกฤษ เพราะอังกฤษเป็นภาษาของโลก วิทยาการทั้งหมดเข้าไปอยู่ในบันทึกภาษาอังกฤษเยอะมาก ฉะนั้นเราจึงมีข้อมูลใหม่ๆ และการที่เราเรียนภาษาเพื่อนบ้าน ทำให้เราสัมผัสกับคนรอบบ้านอย่างเข้าใจ ทำให้เราผูกมิตรได้ เข้าใจเขาในมุมมองวัฒนธรรมผ่านภาษา

     “ยกตัวอย่างให้เข้าใจชัดขึ้น คนรุ่นผมเรียนโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ประมาณ 300 คน น่าจะตายไปแล้ว 100 คน เหลือ 200 กว่าคน เล่นอินเทอร์เน็ต 10 กว่าคน คนที่ไม่เล่นเฟซบุ๊ก ไม่มีอีเมล ไม่เล่นไลน์ก็จะหลุดไป รวมทั้งเพื่อนที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์ ก็น่าจะตายไปประมาณเศษหนึ่งส่วนสาม คนที่ไม่เล่นสิ่งที่กล่าวมาก็จะหลุดความเข้าใจกันไป หรือตามไม่ทันยุค ส่วนคนที่เล่นก็ดูจะเข้าใจกัน มันเหมือนมีเครื่องมือที่จะนำมาซึ่งความรู้ แต่บางคนก็บอกว่าไม่จำเป็น เข้าวัดเข้าวาก็ดีไปอีกอย่าง แต่ถ้าเขายังอยู่กับโลกปัจจุบันก็มันดี สิ่งเหล่านี้มันทำให้เราเชื่อว่าเราสามารถสื่อสารกับคนรุ่นปัจจุบันได้อยู่ มันทำให้เห็นว่าเรามีข้อมูลไม่ไกลจากกันเท่าไร” ดร. ชาญวิทย์เปรียบเปรย

คนที่คุมปัจจุบันต้องการเป็นคนที่คุมอดีตให้ได้ เพื่อที่จะคุมการเดินไปสู่อนาคต

 

ประวัติศาสตร์ไทยในมุมมองดร. ชาญวิทย์ อนุรักษ์นิยมสูง รัฐราชการกำกับไว้

     ดร. ชาญวิทย์ได้อธิบายถึงความสนใจในการศึกษาประวัติศาสตร์มาแล้วข้างต้น โดยเฉพาะความสนใจในการศึกษาประวัติศาสตร์ของประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งประเทศไทยก็อยู่ในภูมิศาสตร์เดียวกัน ทำให้ต้องหันกลับมาโฟกัสถึงลักษณะประวัติศาสตร์ของบ้านเกิดเมืองนอนตนเองด้วยว่าเป็นอย่างไร

     “ประวัติศาสตร์ไทยมันผูกอยู่แต่กับความคิดเดิม อนุรักษ์นิยมสูงมาก มันถูกกำกับโดยรัฐราชการ เพราะฉะนั้นมันเป็นประวัติศาสตร์ฉบับราชการ ผมชอบอ่านหนังสือที่เป็นชุดสังคมศึกษา หนังสือชุดที่เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ หนังสือที่ผมอ่านตอนนั้นมาจากกระทรวงศึกษาธิการ ซื้อเยอะมากเป็นร้อยๆ เล่ม อ่านแล้วจึงรู้ว่าทำไมความคิดอ่านประวัติศาสตร์ของคนไทยโดยเฉพาะอย่างยิ่งเยาวชนคนหนุ่มสาวถึงตัน  เพราะว่าถูกประวัติศาสตร์ราชการเป็นตัวตีกรอบ”

     แม้ว่าดร. ชาญวิทย์ จะอธิบายเหมือนปฏิเสธตำราประวัติศาสตร์ที่มาจากกระทรวงศึกษาธิการ แต่ครั้งหนึ่งในชีวิตเขาก็เคยถูกเชิญให้เขียนตำราเรียนเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ ซึ่งเป็นครั้งแรกและครั้งเดียวในชีวิต ด้วยประสบการณ์ตรงที่ต้องพบเจอกับวิธีคิดที่เรียกว่า ‘อยู่ในกรอบ’ ของผู้ตรวจงานเขียนนั่นเอง

     “ผมเคยเขียนหนังสือแบบเรียนสังคมศึกษาให้กับสำนักพิมพ์แห่งหนึ่ง เขียนหนเดียวแล้วเลิก เพราะว่าวิชาสังคมศึกษาเมื่อปี พ.ศ. 2505 ถูกตรวจถูกแก้โดยกระทรวงศึกษาธิการ จนทำให้งานเขียนของผมถูกหั่นและตัดทอนประวัติศาสตร์บางส่วนออกไป ผมคิดว่าคนที่มาตรวจงานเขียนผมเป็นยิ่งกว่าไดโนเสาร์อีก ในตอนนั้นเขาถามผมว่าไปโควตคำมาจากไหน โดยเขียนกำกับด้วยคำว่า ‘code’ คนตรวจงานผมเขาเขียนคำว่า ‘quote’ ยังผิด เราก็เลยเลิกเขียนดีกว่า”

     เมื่อเป็นเช่นนั้นแล้วในมุมมองของดร. ชาญวิทย์ จึงเห็นว่ากระทรวงศึกษาธิการ ต้องปฏิรูปอย่างหนัก เพื่อให้เข้าใจโลก เข้าใจความเป็นไปของประวัติศาสตร์

     “ผมคิดว่ากระทรวงศึกษาธิการต้องปฏิรูปหนักในเรื่องนี้ สมัยที่คุณจาตุรนต์ ฉายแสง เป็นรัฐมนตรี กระทรวงนี้เชิญผมไปพูดเกี่ยวกับแนวทางประวัติศาสตร์สำหรับนักเรียน นักศึกษา มีผู้ฟังประมาณ 500 คน เป็นข้าราชการกระทรวงศึกษาธิการ เรามองไปในกลุ่มที่เหมือนถูกบังคับให้มาฟังเรา เหมือนพวกเขาส่งรังสีอำมหิตมาให้ผม มองผมด้วยสายตาที่เคลือบแคลงสงสัย จึงทำให้รู้ว่ามีคนคิดกับเราอย่างไร มองความคิดใหม่ทางประวัติศาสตร์ว่าเป็นอย่างไร ทำให้รู้เลยว่าตรงนี้ต้องปฏิรูปหนักมาก เขาอาจจะยังเชื่อว่ามนุษย์ยังมาจากเทือกเขาอัลไต หรือตกค้างมาจากอาณาจักรน่านเจ้า ตกค้างมาจากหลักศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง”

     ดร. ชาญวิทย์บอกอีกว่าความคิดเดิมครอบงำการศึกษาอยู่ ไม่ใช่เฉพาะในกระทรวงศึกษาธิการ ในมหาวิทยาลัยก็ยังเป็นแบบนี้อยู่ อาจารย์จำนวนไม่น้อยเลยยังอยู่ในความคิดเดิม ความคิดเก่า และเชื่อในตำรา ในทฤษฎีอะไรของตัวเองอยู่เกือบทุกมหาวิทยาลัย

คนที่นั่งอยู่ข้างบนก็รู้ว่าคนข้างล่างเปลี่ยนไปแล้ว เพียงแต่ว่าอาจทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้ แต่ลึกๆ ผมว่ารู้ หรืออาจจะไม่รู้ตัวก็ได้ว่ามันเปลี่ยนแปลงไปแล้ว

 

ประวัติศาสตร์ไม่เดินหน้าไปไหนด้วย ‘อำนาจ’ ยังรักษากรอบความคิดเดิมไว้

     เมื่อมีคำถามว่าทำไมกรอบความคิดเดิมเหล่านี้ถึงอยู่ยั่งยืนยง ไม่เคยถูกทำลาย และได้รับการปฏิรูปอย่างจริงจัง เหมือนที่มีความพยายามจะหั่นประวัติศาสตร์บางเรื่องออกไป แล้วให้เรียนแต่เรื่องที่รัฐต้องการ คำตอบที่ได้ก็คือ

     “กรอบความคิดเดิมที่อยู่ได้ เพราะอาศัยอำนาจที่รักษากรอบความคิดนี้ไว้ ประเทศไทยปกครองด้วยรูปแบบประชาธิปไตย แต่ดูเหมือนจะถอยหลังไปมาก แสดงให้เห็นว่ามีการทำให้กรอบความคิดเดิมยังคงอยู่ โดยเฉพาะในช่วงประวัติศาสตร์ใกล้ๆตัว ถ้าเป็นยุคหิน ยุคน้ำแข็งก็ไม่เป็นไร เพราะมันไม่มีอำนาจทางการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง แต่พอมาเข้าประวัติศาสตร์ใกล้ตัว เรียงลำดับจากสุโขทัย อยุธยา ธนบุรี รัตนโกสินทร์ พอมาถึงสมัยใหม่ยิ่งใกล้ตัวทุกคนมากขึ้น แต่ประวัติศาสตร์ร่วมสมัยในรอบ 10 ปี 20 ปี ที่ผ่านมาเหมือนผู้นำเขียนสุนทรพจน์มาอ่านให้ชาวบ้าน นักเรียน นักศึกษาฟัง แล้วบอกว่าจงเชื่ออย่างนี้ก็แล้วกัน แต่แล้วมันก็มีคนไม่เชื่อ มีคนพยายามศึกษามากไปกว่านั้น” ดร. ชาญวิทย์กล่าว

 

เพราะว่ากลัวประวัติศาสตร์คนคุมปัจจุบัน จึงต้องการคุมอดีต

     คงเคยได้ยินคำกล่าวที่ว่า ‘ผู้ชนะคือผู้เขียนประวัติศาสตร์’ ถึงแม้ว่าโลกจะมีพัฒนาการผ่านมาหลายชั่วอายุคน ความพยายามรื้อสร้างประวัติศาสตร์ก็มีมาโดยตลอด ทำให้เกิดข้อสงสัยถึงเหตุผลเหล่านั้นว่า ประวัติศาสตร์น่ากลัวด้วยเหตุผลอะไร จึงมีผู้พยายามที่จะควบคุมหรือทำให้คนเชื่อเฉพาะในสิ่งที่ผู้ปกครองต้องการสื่อสารเท่านั้น

     ดร. ชาญวิทย์อธิบายเรื่องนี้ว่า เพราะอดีตเป็นตัวกำหนดปัจจุบัน อดีตทำให้เกิดปัจจุบัน และปัจจุบันนำไปสู่อนาคต ถ้าอดีตมันเป็นความคิดเดิม ไม่ได้รับการปฏิรูป ปัจจุบันก็จะเป็นตัวบ่งบอกว่ามีความก้าวหน้าหรือถอยหลัง

     “มีคนบอกว่าประเทศไทยไม่ใช่ประเทศด้อยพัฒนา แต่เป็นประเทศหยุดพัฒนาแล้ว เพราะฉะนั้นมันแปลว่า คนที่คุมปัจจุบันต้องการเป็นคนที่คุมอดีตให้ได้ เพื่อที่จะคุมการเดินไปสู่อนาคต เพราะฉะนั้นเราก็จะเห็นว่ามีความพยายามที่จะแช่แข็งประเทศ การที่ต้องการควบคุมอดีตและปัจจุบันในเวลาเดียวกัน มันต้องมีการควบคุมการเรียนการสอนทางประวัติศาสตร์ แต่ปัจจุบันนี้มีความเปลี่ยนแปลงเรื่องการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารเยอะ ผมคิดว่าคงเป็นเรื่องยากที่จะมีคนเชื่อในเรื่องภูเขาอัลไต เชื่อในน่านเจ้า และมีคนไม่น้อยเลยที่จะไม่เชื่อเรื่องศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง

     “แต่แน่นอนมีคนที่ยังตกค้างทางประวัติศาสตร์อยู่เยอะ เพราะฉะนั้นมันจึงเกิดปัญหาอย่างที่เราเห็น ความขัดแย้งทางด้านความคิดในสังคมไทย เป็นความขัดแย้งที่ลึกมากในสังคมปัจจุบัน เป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ เป็นช่วงเปลี่ยนผ่านที่สำคัญ ที่ทั้งรุนแรงและเข้มข้นด้วย”

     ดร. ชาญวิทย์ชี้ให้เห็นอีกว่า ในยุคปัจจุบันที่การเข้าถึงข้อมูลมีมากมายหลายช่องทาง ประชาชนสามารถศึกษาหาความรู้นอกเหนือจากตำราได้มากกว่าสมัยก่อน การปิดกั้นประวัติศาสตร์อื่นๆ โดยผู้มีอำนาจพยายามจะทำมันยากมาก

     “คนที่นั่งอยู่ข้างบนก็รู้ว่าคนข้างล่างเปลี่ยนไปแล้ว เพียงแต่ว่าอาจทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้ แต่ลึกๆ ผมว่ารู้ หรืออาจจะไม่รู้ตัวก็ได้ว่ามันเปลี่ยนแปลงไปแล้ว

     “มีตัวอย่างรูปธรรมที่ผมสนใจคือ ในการโหวตประชามติร่างรัฐธรรมนูญเมื่อ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2559 นักศึกษาที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ส่วนใหญ่โหวตไม่รับร่าง แสดงว่าคนหนุ่มคนสาวไม่รับคล้ายๆ กับที่สหราชอาณาจักรมีการโหวตว่าจะอยู่หรือออกจากอียู (EU) คนที่เป็นเชื้อสายอังกฤษและมีอายุมากส่วนใหญ่โหวตให้ออก ในขณะที่จำนวนไม่น้อยเลยที่เป็นสกอตและไอริชต้องการให้อยู่ เพราะฉะนั้นมันมีความขัดแย้งกันแบบนี้ แปลว่าคนที่มีอายุมากกว่าเป็นคนกำหนด ซึ่งแปลว่าคนรุ่นใหม่ไม่ยอมรับ ไม่พอใจ กระแสการเรียกร้องเอกราชในสกอตแลนด์จึงสูงมาก”

วิกฤติประเทศไทย ไม่มีการสูญเสียครั้งไหนยิ่งใหญ่เท่ากับการเสียกรุงศรีอยุธยาเมื่อ พ.ศ. 2310 ซึ่งปีนี้ครบรอบ 250 ปีของการเสียกรุงศรีอยุธยา และการสถาปนากรุงธนบุรี ตัวเลขแบบนี้กับเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์จะช่วยให้เราเห็นอะไรเกี่ยวกับอดีตมากกว่าตำราประวัติศาสตร์แบบราชการ และนี่คือช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญมาก ผมภาวนาให้ตัวเองมีชีวิตอยู่เพื่อเห็นการเปลี่ยนแปลง

 

มุมกลับ ‘อยากลืม กลับจำ’ วนเวียนซ้ำซากรอยประวัติศาสตร์ประชาธิปไตย

     ประโยคหนึ่งที่เคยได้ยินอยู่บ่อยๆ เมื่อกล่าวถึงอัตลักษณ์ส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ที่ถูกสั่นคลอนอยู่ตลอดเวลาก็คือ ‘เรื่องอยากลืมแต่กลับจำ เรื่องอยากจำกลับจะทำให้ลืม’ ประโยคนี้วนเวียนอยู่ซ้ำไปซ้ำมาตลอดเวลาในระบอบประชาธิปไตย 85 ปีที่ผ่านมา สุดท้ายแล้วผลลัพธ์ของประโยคเหล่านี้กำลังบอกอะไรกับเรา

     ดร. ชาญวิทย์ยิ้มก่อนจะตอบว่า มันวนเวียนอยู่อย่างนี้เรื่อยมา ประโยคอยากลืมกลับจำ อยากจำกลับลืม ในหลายเหตุการณ์ที่มีความพยายามรื้อทำลายประวัติศาสตร์ มันมีมุมกลับเช่นกัน ทำให้เหตุการณ์หรือเรื่องราวอะไรหลายอย่างที่คนลืมไปแล้วกลายเป็นกระแส

     “ผมเคยเขียนเรื่องราวเกี่ยวกับเหตุการณ์ ปี พ.ศ. 2475 ตั้งหลายเล่ม แต่ขายไม่ค่อยได้ พอมีเหตุการณ์ล่าสุดเกิดขึ้นหนังสือก็เลยขายดี จนต้องมีการตีพิมพ์ใหม่ เป็นกระแสโต้กลับไปสะกิดต่อมอะไรบางอย่าง ซึ่งเรื่องนี้อาจเป็นเรื่องที่ถูกฝังไปแล้ว แต่สุดท้ายมันก็ได้กลับขึ้นมาอีกครั้ง

     “ไม่ใช่ว่าเมืองไทยของเราย่ำเท้าอยู่กับที่ ก็มีพลวัตอยู่เหมือนกันแต่ว่าอาจช้ากว่าที่อื่น เพราะอาจจะโชคดีหรือโชคร้ายก็ตามที่ไทยไม่ได้เป็นเมืองขึ้นอย่างประเทศเพื่อนบ้าน มันจึงมีความเปลี่ยนแปลงที่ช้า พลังบางอย่างก่อให้เกิดความเฉื่อย การไม่รุดไปข้างหน้ามันจึงสูงมากๆ อย่างเรื่องของรถไฟความเร็วสูงมันชัดเจนมาก พลังเดิมดึงไม่ให้ไป นั่นแปลว่าที่กำลังเข้ามามันเป็นพลังใหม่ที่ดึงกันอยู่ ถ้าไปดูประเทศมาเลเซียที่เขาไปไกลแล้ว ทำให้เห็นชัดเจนว่าพลังใหม่ที่เลยยุคอาณานิคมมาแล้วมันมีพัฒนาการอย่างไร ต้องลองเดินทางไปเยือนประเทศเพื่อนบ้านของเราดูบ้าง ไม่ใช่เอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง แต่ไม่เคยเรียนรู้เพื่อนบ้านเลย”

 

ประวัติศาสตร์ ไสยศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ความเชื่อมโยง ‘พลังเก่า-พลังใหม่’

     “พลังเก่าพลังเดิมมันมีความเชื่อในแง่ของไสยศาสตร์กับโหราศาสตร์สูงมาก มีความเป็นวิทยาศาสตร์น้อยมาก ถึงแม้ว่าจะเรียนหนังสือกันมากมาย ไปเรียนถึงเมืองนอกก็ตาม แต่การที่จะดำรงรักษาสถานะเดิมของอำนาจไว้ได้ มันต้องใช้ความคิดเดิมๆ เยอะ เพราะฉะนั้นไสยศาสตร์และโหราศาสตร์จึงเข้ามามีอิทธิพลต่อหลายเรื่อง รวมทั้งประวัติศาสตร์อย่างที่มีให้เห็น”

     คำอธิบายของดร. ชาญวิทย์ ข้างต้นชี้ให้เห็นว่า ประวัติศาสตร์และไสยศาสตร์ มีความเชื่อมโยงต่อพลังเก่าเพื่อรักษาไว้ซึ่งสถานะอำนาจเดิม มีอิทธิพลต่อความคิด แล้วในแง่นี้จะสามารถเดินหน้าต่อไปได้อย่างไร เมื่อคำอธิบายที่ต้องการ เหตุผลทางวิทยาศาสตร์ได้เข้ามาสู่การเปลี่ยนผ่านของสังคม ดร. ชาญวิทย์แสดงความคิดเห็นในเรื่องนี้ว่า

     “ผมเชื่อว่าในยุคของการเปลี่ยนผ่านในประวัติศาสตร์สากล มีพลังใหม่ ความรู้ใหม่เกิดขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งวิทยาศาสตร์ เวลาผมพูดถึงวิทยาศาสตร์ ผมไม่ได้หมายถึงแค่เซอร์ไอแซก นิวตัน ที่ค้นพบแรงโน้มถ่วงของโลก เมื่อพูดถึงวิทยาศาสตร์ ผมหมายถึงสังคมศาสตร์ที่มีลักษณะเป็นวิทยาศาสตร์มากขึ้นกว่าเดิม ผมพูดถึงมนุษยศาสตร์ที่มีความเป็นวิทยาศาสตร์เข้าไปด้วย ดังนั้นถ้าคนที่มีอำนาจอยู่ตอนนี้ไม่สามารถปรับตัวให้ไปกับความคิดใหม่ที่เป็นวิทยาศาสตร์ สังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ได้ ก็จะหันไปพึ่งไสยศาสตร์ โหราศาสตร์ พิธีกรรม และการดูดวงมากกว่าปกติ”

     ดร. ชาญวิทย์ย้ำว่าโหราศาสตร์กับไสยศาสตร์อาจจะหมดไปได้ยาก ถึงแม้ว่าในโลกที่เปลี่ยนไปแล้วอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็น ยุโรป สหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา ก็มีเรื่องของผี เรื่องของจิตวิญญาณอยู่ เพียงแต่ว่าการดำรงอยู่ของสิ่งเหล่านั้นไม่มากเกินอัตรา แต่ประเทศไทยสิ่งเหล่านี้ยังมีความมากและเกินอัตรา

     “ผมคิดว่าสังคมที่อยู่ในยุคของการเปลี่ยนแปลงมันจะเป็นแบบนี้ ปี พ.ศ. 2560 เท่ากับปี ค.ศ. 2017 ถ้าดูประวัติศาสตร์ไทยต้องดูบริบทประวัติศาสตร์สากลไปด้วย ไม่เช่นนั้นจะไม่เข้าใจว่าทำไมต้องสร้างความเชื่อขึ้นมาใหม่ ผมมองว่าความคิดเก่ากับความคิดใหม่มันปะทะกันอย่างรุนแรงมาก มันเห็นได้จากวิกฤติสองทศวรรษที่ผ่านมา กรณีต้มยำกุ้งในปี พ.ศ. 2540 และจากรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2540 ประเทศผ่านวิกฤติมาแล้ว 20 ปี ซึ่งเราก็พูดกันว่ามีความเป็นประชาธิปไตยสูงมาก พอมาถึง รัฐประหารปี พ.ศ. 2549 ได้รัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2550 พอมาถึงตอนนี้มีรัฐประหารปี พ.ศ. 2557 และได้รัฐธรรมนูญฉบับล่าสุด ถ้าลำดับมาอย่างนี้เราจะเห็นวิกฤติทางการเมืองและการแตกแยกทางความคิดระหว่างความคิดเก่าและความคิดใหม่สูงมาก

     “วิกฤติประเทศไทย ไม่มีการสูญเสียครั้งไหนยิ่งใหญ่เท่ากับการเสียกรุงศรีอยุธยาเมื่อ พ.ศ. 2310 ซึ่งปีนี้ครบรอบ 250 ปีของการเสียกรุงศรีอยุธยา และการสถาปนากรุงธนบุรี ตัวเลขแบบนี้กับเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์จะช่วยให้เราเห็นอะไรเกี่ยวกับอดีตมากกว่าตำราประวัติศาสตร์แบบราชการ และนี่คือช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญมาก ผมภาวนาให้ตัวเองมีชีวิตอยู่เพื่อเห็นการเปลี่ยนแปลง” ดร. ชาญวิทย์ กล่าว

     และเมื่อมองไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ดร. ชาญวิทย์ได้ให้ข้อสังเกตเพิ่มเติมถึง บทเรียนของประเทศในอุษาคเนย์ ที่มีความพยายามจะทำลายสัญญะ หรือภาพแทน ทางประวัติศาสตร์ เช่น ในประเทศเมียนมา มีความพยายามทำลายภาพวีรบุรุษอย่างนายพล อองซาน แต่ลืมไปว่านายพล อองซาน มีลูกสาวชื่ออองซาน ซูจี และเป็นคู่แข่งของรัฐบาลทหาร เพราะฉะนั้นจึงมีความพยายามทำให้ซูจีถูกลดบทบาทในทางการเมือง และมีการสร้างอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ที่กรุงเนปยีดอ ซึ่งเป็นความพยายาม แต่ท้ายที่สุดในปัจจุบันก็เห็นว่าเธอเข้ามามีบทบาทในการบริหารประเทศ เป็นต้น

     ท้ายที่สุดแล้ว ประวัติศาสตร์จะเป็นแค่เรื่องราวในอดีตที่คนมองและรับรู้อย่างเดียวเหมือนที่ดร. ชาญวิทย์ ได้ให้คำจำกัดความไว้ หรือว่าเป็นเรื่องราวที่มนุษย์ต้องเรียนรู้ ศึกษา เพื่อให้เข้าใจอดีตที่นำมาสู่ปัจจุบัน และมุ่งหน้าไปสู่อนาคต

     เป็นคำถามที่เราทุกคนต้องตอบ เพราะคงปฏิเสธไม่ได้ว่าเราทุกคนคือส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X