×

ย้อนรอย ‘สี่ทหารเสือ’ มิตรภาพ อำนาจ ชะตากรรม ตำนานการเมืองไทย พ.ศ. 2475

23.06.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

20 Mins. Read
  • เส้นทางสี่ทหารเสือ ที่มีบทบาทต่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ประเทศไทยมาสู่ระบอบประชาธิปไตย มีแง่มุมประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจ เพราะใต้เส้นสัมพันธ์แห่งมิตรภาพ มี ‘อำนาจ’ สั่นคลอนอยู่
  • แม้ว่าการก่อการในวันที่ 24 มิถุนายน 2475 จะเรียบร้อยด้วยดี แต่หนทางต่อๆ มาก็ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ จวบจนปัจจุบันซึ่งเราทุกคนต้องเป็นผู้ตอบคำถามของการเปลี่ยนแปลงนี้เอง

     บทเกริ่นนำของสโมสรศิลปวัฒนธรรม ในแง่มุมประวัติศาสตร์ ได้อรรถาธิบายต่อเรื่องนี้ไว้อย่างน่าสนใจว่า ก่อนจะถึงยุค ‘สิงห์หนุ่มแห่งกองทัพบก’ – ป.พิบูลสงคราม คือสมัยของ ‘สี่ทหารเสือ’ ผู้นำการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 อันได้แก่ นายพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา นายพันเอก พระยาทรงสุรเดช นายพันเอก พระยาฤทธิอัคเนย์ และนายพันโท พระประศาสน์พิทยายุทธ

     แต่เมื่อวิถีแห่งอำนาจและการเมืองผันแปรไป สี่ทหารเสือก็ได้แยกกันเดินคนละเส้นทาง สร้างดาวกันคนละดวง เปิดโอกาสให้ ‘สิงห์หนุ่ม’ พาชาติไปสู่ยุค ‘เชื่อผู้นำชาติพ้นภัย’

     สโมสรศิลปวัฒนธรรม ในเครือมติชน พาเราเปิดประตูไปสู่โลกของทหารที่มีประสบการณ์ ภูมิหลัง และเรื่องราว อันส่งผลต่อทิศทางของประเทศนี้ ในกิจกรรมเสวนา ‘เส้นทางสี่ทหารเสือ ตำนานการเมืองไทยสมัยแห่งการเปลี่ยนแปลง’ ถ่ายทอดโดย พลเอก บัญชร ชวาลศิลป์ อดีตนายทหารแห่งกองทัพบก และนักเขียนผู้สนใจเรื่องราวประวัติศาสตร์  และ ศรัณย์ ทองปาน แห่งนิตยสาร สารคดี รับหน้าที่ชวนพูดคุย เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน  ที่ผ่านมา

ทหารในยุคการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 นับถือกันที่ความรู้ ความสามารถ

เขาจึงเรียกกันเป็นอาจารย์ เป็นศิษย์ ปัจจุบันนี้ไม่มีแล้ว

พลเอก บัญชร ชวาลศิลป์

 

เริ่มต้นเส้นทางสี่ทหารเสือบวกหนึ่ง

     รายชื่อและรุ่นของสี่ทหารเสือซึ่งได้เพิ่มเติมเข้ามาอีกหนึ่งนายคือ พันเอก พระยาศรีสิทธิสงคราม หากเรียงตามลำดับรุ่นของการเข้าเป็นนักเรียนนายร้อย (นนร.) จะเป็นดังนี้ นนร. พจน์ พหลโยธิน (พระยาพหลพลพยุหเสนา) รุ่น พ.ศ. 2444 นนร. เทพ พันธุมเสน (พระยาทรงสุรเดช) รุ่น พ.ศ. 2446 นนร. ดิ่น ท่าราบ (พระยาศรีสิทธิสงคราม) รุ่น พ.ศ. 2446 นนร. สละ เอมะศิริ (พระยาฤทธิอัคเนย์) รุ่น พ.ศ. 2446 และ นนร. วัน ชูถิ่น (พระประศาสน์พิทยายุทธ) รุ่น พ.ศ. 2451 สี่ทหารเสือจึงเป็นนักเรียนนายร้อยรุ่นใกล้เคียงกัน

     พลเอก บัญชร เล่าว่า ทุกคนเรียนหนังสือเก่ง และพระยาพหลพลพยุหเสนาเป็นท่านแรกที่ได้รับคัดเลือกไปเรียนเยอรมนี ตามมาด้วย พระยาทรงสุรเดช พระยาศรีสิทธิสงคราม และคนสุดท้ายคือ พระประศาสน์พิทยายุทธ  ส่วนพระยาฤทธิอัคเนย์ เป็นนายทหารคนเดียวที่ไม่ใช่นักเรียนทหารนอก

     ในทางความสัมพันธ์นั้น พลเอก บัญชร เล่าว่า พระยาทรงสุรเดช มีความสนิทสนมกับพระประศาสน์พิทยายุทธ นับถือกันเป็นอาจารย์ เพราะอยู่ด้วยกันที่ประเทศเยอรมนีมานาน มีความเคารพนับถือแก่กันอย่างมาก

     นายทหารที่มีชีวิตแปลกกว่าเพื่อนคือ พระประศาสน์พิทยายุทธ ขณะที่เรียนเกิดสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง และรัฐบาลไทยประกาศสงครามกับเยอรมนี ทำให้ท่านต้องไปเรียนที่สวิตเซอร์แลนด์ แต่เรียนไม่ทันจบ ท่านก็สมัครไปรบด้วย ทำหน้าที่ด้านฝ่ายบริการที่ฝรั่งเศส และเดินทางกลับเมืองไทย

     พลเอก บัญชร อธิบายว่า ช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง มหาอำนาจทางการทหารล้วนเป็นประเทศในยุโรป เยอรมนี รัสเซีย อังกฤษ และฝรั่งเศส ขณะที่เยอรมนีโดดเด่นที่สุด สยามส่งคนไปเรียนในประเทศเหล่านี้ โดยเฉพาะเยอรมนี นำโดยทูลกระหม่อมบริพัตร และต่อมาก็มีนายทหารที่มาจากสามัญชนอีกหลายท่าน และเหตุผลสำคัญคือรัชกาลที่ 5 ทรงพัฒนากองทัพเพื่อป้องกันประเทศอย่างขนานใหญ่ด้วย และนี่คือการตอบคำถามที่ว่า ทำไมการศึกษาด้านทหารจึงต้องเป็นประเทศเยอรมนี

     พลเอก บัญชร ได้คลี่คลายข้อสงสัยเรื่องการนับรุ่นของทหาร ว่า ‘รุ่น’ สมัยนั้น เป็นลักษณะการรวมตัวเพื่อมาดูแลกัน ความเป็นรุ่นของทหารน่าจะเริ่มเป็นที่รู้จักเมื่อมี จปร.7 (กลุ่มยังเติร์ก) ซึ่งเบ่งบานออกไปนอกกองทัพ

     สำหรับการรวมรุ่นที่มีพลังเกิดขึ้นหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 โดยก่อนหน้านั้นอำนาจถูกรวมศูนย์อยู่ที่ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) แต่พอศูนย์กลางอำนาจถูกทำลาย เอกภาพที่เคยเกิดก็หายไป ไม่มีคนคุม ความเป็นปึกแผ่นของรุ่นจึงเริ่มเกิดขึ้น

     กล่าวคือ ทหารได้รวมตัวกันอันเนื่องมาจากความรู้สึกขมขื่นที่เชื่อว่า ทำทุกอย่างเพื่อชาติ แต่สังคมกลับรังเกียจพวกเขา เกียรติภูมิทหารตกต่ำหนัก จึงมีความคิดที่จะกอบกู้ พร้อมกับสร้างความเหนียวแน่นให้มากขึ้น ด้วยการสร้างระบบรุ่นขึ้นมา

 

พระยาพหลพลพยุหเสนา ขณะศึกษาวิชาทหาร ณ ประเทศเยอรมนี

 

ชีวิตราชการ ‘สี่ทหารเสือ’ ในประเทศไทย

     พระยาทรงสุรเดช เริ่มต้นรับราชการที่พระนคร 2 ปี แล้วย้ายไปอยู่โคราช (นครราชสีมา) และได้รับความไว้วางใจจากเจ้านายในการควบคุมการสร้างรางรถไฟ จากรางแรกขยายรวมเป็น 3 เส้นทาง และใช้วิธีแบบทหารในการจัดการ เช่น มีการตั้งหน่วยเฉพาะกิจ อาทิ หน่วยวางราง หน่วยตอกหมุด ใช้ระบบแบบอุตสาหกรรม

     จากนั้นพระยาทรงสุรเดชได้ย้ายเข้ากรุงเทพฯ มาเป็นครูใหญ่ฝ่ายวิชาการ กรมยุทธศึกษาทหารบก ช่วงนี้ทำให้มีชื่อเสียงมาก เนื่องจากได้เริ่มแปลและ เรียบเรียงตำรารบให้กับทหารใช้ ซึ่งก่อนหน้านี้ประเทศไทยยังไม่มี มีเพียงเล่มเดียวเป็นตำรายุทธศาสตร์สมัยก่อน และได้นายทหารที่ช่วยเหลือในการเขียนคือ พระประศาสน์พิทยายุทธ จึงยิ่งทำให้สนิทสนมกันมากขึ้นไปอีก ในยุคที่ทหารกระหายความรู้ พระยาทรงสุรเดช จึงยิ่งโดดเด่น

     หลังจากเป็นอาจารย์อยู่ระยะหนึ่งก็ได้รับมอบหมายให้ไปดูงานด้านทหารที่ประเทศอเมริกา ฝรั่งเศส และในยุโรป ไปพร้อมกับพระยาศรีสิทธิสงคราม ไปดูประเทศที่เกรียงไกรด้านการทหาร จึงมีความสนิทสนมกันด้วย

     ขณะเดียวกันก็มีดาวรุ่งที่จบฝรั่งเศสแปลตำราปืนใหญ่คือ หลวงพิบูลสงคราม ทำให้มีศิษย์หลวงพิบูลสงครามเกิดขึ้น

     นายหนหวย (ศิลปชัย ชาญเฉลิม) เขียนไว้ว่า ทหารในยุคการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 นับถือกันที่ความรู้ ความสามารถ เขาจึงเรียกกันเป็นอาจารย์ เป็นศิษย์ ปัจจุบันนี้ไม่มีแล้ว ยุคนี้การนับถือผู้มีความรู้ของทหารยังมีอยู่ก็แต่อาจารย์โรงเรียนนายร้อย อาจารย์โรงเรียนเสนาธิการทหารบก เป็นต้น

 

พระยาทรงสุรเดช (เทพ พันธุมเสน)

 

     สำหรับพระยาพหลพลพยุหเสนาที่ไปเรียนเยอรมนี เมื่อจบก็มารับราชการในกองทัพระยะหนึ่ง แล้วไปเรียนต่อที่เดนมาร์ก ในสาขาวิชาคลังแสงและการประดิษฐ์อาวุธ ระหว่างนั้นเจ้านายได้มีหนังสือเรียก พระยาพหลพลพยุหเสนากลับ จึงกลายเป็นนักเรียนนอกคนเดียวที่ไม่ได้รับราชการในพระนคร เพราะถูกส่งไปเป็นผู้หมวดหน่วยปืนใหญ่ ที่จังหวัดราชบุรี ไม่มีผลงานโดดเด่น แต่มีเกร็ดที่น่าสนใจคือ เมื่อพระยาทรงสุรเดชต้องไปดูงานที่ต่างประเทศจึงได้ไปขอเจ้านาย ให้พระยาพหลพลพยุหเสนามารักษาการอาจารย์ใหญ่ฝ่ายวิชาการแทนถึง 3 ปี ทั้งสองท่านนี้จึงมีความสัมพันธ์อันดีต่อกัน ตำแหน่งหลังจากนั้นก็ขึ้นมาเป็นรองจเรทหารบก ไม่มีหน่วยบังคับบัญชา ไม่มีลูกน้อง ไม่มีกำลัง จะเห็นว่าทั้งพระยาพหลพลพยุหเสนาและพระยาทรงสุรเดช ไม่ได้เป็นนายทหารที่คุมกำลังเช่นเดียวกัน

     เมื่อพระยาทรงสุรเดชกับพระยาศรีสิทธิสงครามไปดูงานต่างประเทศด้วยกัน จึงได้พบตัวละครสำคัญ คือ ร้อยโท ประยูร ภมรมนตรี 1 ใน 7 คณะบุคคลที่คิดก่อการ ได้ชักชวนให้ทั้งสองท่านมาเข้าร่วมขบวนการ แต่พวกท่านไม่ได้ตอบรับ และตอนหลังก็กลับมาเมืองไทย

     พระยาฤทธิอัคเนย์ ในบรรดาสี่เสือที่ทำการยึดอำนาจ เป็นท่านเดียวที่มีกำลัง เป็นผู้บังคับการกรมทหารปืนใหญ่ที่ 1 รักษาพระองค์ (ปตอ.เกียกกาย) ไม่ได้ไปเรียนเมืองนอก มีฐานะครอบครัวดี เป็นกำลังหลักในการก่อการ ความสัมพันธ์ระหว่างพระยาทรงสุรเดช พระยาศรีสิทธิสงคราม และพระยาฤทธิอัคเนย์ น่าจะเพราะเป็นเพื่อนนายทหารรุ่นเดียวกัน แต่ไม่แน่ใจว่าจะเป็นเหตุผลนี้หรือไม่ที่ทำให้ตัดสินใจเข้าร่วมก่อการ

     พระประศาสน์พิทยายุทธ เป็นอีกท่านหนึ่งที่ไปเรียนเยอรมนี เมื่อเกิดสงคราม ก็ย้ายไปเรียนต่อที่สวิตเซอร์แลนด์ สมัครร่วมเป็นทหารอาสา แล้วกลับมาเมืองไทย ท่านอยู่ในสายการศึกษามาตลอด อยู่โรงเรียนนายร้อย และมาเป็นอาจารย์กรมยุทธศึกษาทหารบก ระหว่างก่อการปี 2475 ท่านเป็นผู้อำนวยการโรงเรียนเสนาธิการทหารบก

     และนี่คือเส้นทางของสี่ทหารเสือที่เริ่มต้นจากการเป็นนักเรียนนายร้อย ไปเรียนต่อที่ประเทศเยอรมนี กลับมารับราชการ และในวันที่ 24 มิถุนายน 2475 ก็ได้ร่วมกันก่อการ

 

พระยาศรีสิทธิสงคราม (ดิ่น ท่าราบ)

 

เจาะลึกนายทหารบวกหนี่ง ‘พระยาศรีสิทธิสงคราม’  

     เส้นทางรับราชการของพระยาศรีสิทธิสงคราม หรือ ดิ่น ท่าราบ เป็นนายทหารปืนใหญ่ที่ พลเอก บัญชร ถือให้เป็นฮีโร่อีกคนหนึ่ง หลังพ่ายแพ้ในเหตุการณ์กบฏบวรเดช และถูกถอดบรรดาศักดิ์ให้เป็นสามัญชน

     พระยาศรีสิทธิสงครามเป็นคุณตาของ พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ (องคมนตรี และ อดีตผู้บัญชาการทหารบก) และบิดาของ พลเอก สุรยุทธ์ เป็นหนึ่งในคณะผู้ก่อการ รู้จักกันในนาม พันโท พโยม จุลานนท์ หรือ ลุงคำตัน เสนาธิการกองทัพปลดแอกประชาชน พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย

     สองปีก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง พระยาศรีสิทธิสงคราม ได้รับมอบหมายจากกองทัพให้ไปดูงานกิจการทหารที่ต่างประเทศกับพระยาทรงสุรเดช ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการยอมรับของผู้ใหญ่ในกองทัพต่อพระยาศรีสิทธิสงคราม เช่นเดียวกัน

     ในปี 2475 พระยาศรีสิทธิสงครามดำรงตำแหน่งเป็นเสนาธิการกองทัพที่ 1 ปัจจุบันคือ กองทัพภาคที่ 1 เป็นแม่ทัพฝ่ายเสธ. ในการปฏิบัติงานหน้าที่ของเสนาธิการนั้นจะคิดเหมือนผู้บังคับบัญชา สะท้อนให้เห็นความสำคัญของตำแแหน่งนี้ และนี่คือเส้นทางของพระยาศรีสิทธิสงคราม

คณะราษฎรไม่ปฏิเสธสถาบันกษัตริย์ และมีความพยายามที่ประคับประคอง

และในฐานะทหารที่ถูกปลูกฝังมาและอยู่ในจิตสำนึกคือ หน้าที่ที่มีต่อราชบัลลังก์

“ทะแกล้วทหารสามเกลอ”

พระยาทรงสุรเดช พระยาพหลพลพยุหเสนา และพระยาศรีสิทธิสงคราม

 

เริ่มต้นก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง

     ย้อนไปเมื่อพระยาศรีสิทธิสงครามและพระยาทรงสุรเดชไปดูงานด้านการทหารที่ประเทศฝรั่งเศส ร้อยโท ประยูร ภมรมนตรี ได้เชิญเข้าร่วมก่อการ แต่ทั้งสองท่านปฏิเสธ เมื่อร้อยโท ประยูร กลับมายังเมืองไทยในปี 2474 และในต้นปี 2475 ก็ได้ทำการชักชวนอีกครั้ง เริ่มจากท่านแรก พระยาทรงสุรเดช ต่อด้วยพระยาพหลพลพยุหเสนา และพระประศาสน์พิทยายุทธตามลำดับ

     พระยาศรีสิทธิสงครามก็ได้รับคำเชิญ จึงไปถามพระยาทรงสุรเดช ถึงรายละเอียดของแผนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ในเช้ามืดวันที่ 24 มิ.ย. แต่พระยาทรงสุรเดชไม่ตอบ ใครถามก็ไม่บอก และไม่ทำลายลักษณ์อักษรอะไรทั้งสิ้น อาจจะเรียกว่าเป็นการรักษาความลับก็ได้ และนี่จึงเป็นเหตุผลให้พระยาศรีสิทธิสงครามขอตัวไม่ร่วม แต่ก็ทำสัญญา ว่าจะไม่เล่าแผนการให้ใครฟัง

     ก่อนการก่อการ เกิดความขัดแย้งระหว่างพระยาทรงสุรเดชกับพระยาฤทธิอัคเนย์ ถึงกับทำให้ พระยาฤทธิอัคเนย์จะขอถอนตัว เนื่องจากพระยาทรงสุรเดชเสนอว่า วันก่อการ ให้ทำวันที่รัชกาลที่ 7 ประทับอยู่กรุงเทพฯ แต่พระยาฤทธิอัคเนย์ ไม่เห็นด้วย บอกว่าถ้าทำแบบนั้นรบกันแน่ เพราะผมเป็นทหารรักษาพระองค์ ผมอาจต้องทำหน้าที่ของผม อาจารย์ปรีดี พนมยงค์ เป็นผู้ไกล่เกลี่ย และท่านเห็นด้วยกับพระยาฤทธิอัคเนย์ว่า ต้องทำเมื่อในหลวงไม่อยู่ โดยเฉพาะ เมื่อเกิดเหตุการณ์จริงก็คือ เสด็จแปรพระราชฐานไปหัวหิน และอีกคนหนึ่งที่เห็นด้วยกับพระยาฤทธิอัคเนย์คือ หลวงพิบูลสงคราม

     กำลังหลักของทหารที่มาเข้าร่วมมาจาก 2 กองพันของพระยาฤทธิอัคเนย์ และทหารม้าจำนวนหนึ่ง กำลังที่เป็นปึกแผ่นจากนักเรียนโรงเรียนนายร้อย รุ่นจอมพลประภาส จารุเสถียร

     พระยาพหลพลพยุหเสนาเป็นคนแรกที่อ่านประกาศหลังการก่อการ พระยาฤทธิอัคเนย์คุมเชิงภายนอก ป้องกันเหตุการณ์ลุกฮือ พระประศาสน์พิทยายุทธ มีบทบาทมาก ตอนที่เคลื่อนพลทหารม้าออกจากเกียกกาย พระยาทรงสุรเดชสั่งให้ พระประศาสน์พิทยายุทธไปจับทูลกระหม่อมบริพัตร ถือว่ารับบทหนักมาก ทูลกระหม่อมบริพัตรเคยเป็นเสนาบดีทหารเรือ และเสนาบดีมหาดไทย ถือเป็นเรื่องใหญ่มากที่สั่งแบบไม่ได้เตรียมตัว เอากำลังนักเรียนนายร้อยไปจับกุมตัว ซึ่งเป็นที่รู้กันว่าพระประศาสน์พิทยายุทธสนิทกับทูลกระหม่อมบริพัตรมาก จึงอาจเป็นเหตุผลที่พระยาทรงสุรเดชสั่งให้ไปทำการครั้งนี้ และดูเหมือนหลวงพิบูลสงครามจะไปด้วย

     ทูลกระหม่อมบริพัตรก็ตรัสถามว่า พระประศาสน์พิทยายุทธเอากับเขาด้วยหรือ จากนั้นก็ไปจับพระยาสีหราชเดโชชัย ผู้บัญชาการทหารบก จับมาทั้งที่ยังนุ่งผ้าขาวม้า เพราะท่านกำลังจะอาบน้ำพอดี

     สำหรับมิตรภาพระหว่างพระยาทรงสุรเดช พระยาพหลพลพยุหเสนา  พระยาศรีสิทธิสงคราม กล่าวคือ พอกลับมารับราชการก็เป็นที่รับรู้กัน 2 เรื่อง เรื่องแรก คือ ความเก่งกาจ เรื่องที่สองที่จะเป็นจุดสะเทือนใจในอนาคตคือ ความเป็นเพื่อนรัก ไปอยู่เยอรมนีด้วยกัน เป็นนักเรียนนายร้อยด้วยกัน สนิทกัน จนกระทั่ง กรมหมื่นอดิศรอุดมศักดิ์ ผู้รั้งตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงกลาโหม เมื่อพ.ศ. 2474 ทรงประทานฉายาให้ว่า ‘ทะแกล้วทหารสามเกลอ’

     ก็เป็นอันว่าในวันที่ 24 มิถุนายน 2475 ก็สามารถก่อการลุล่วงไปด้วยดี

 

พระยาฤทธิอัคเนย์ (สละ เอมะศิริ)

 

ความเปลี่ยนแปลงของสี่ทหารเสือหลังก่อการสำเร็จ

     พระยาทรงสุรเดชมีบทบาทสูงสุดในคณะทหาร มีการปรับโครงสร้างกองทัพบกใหม่ มอบหมายให้พระยาพหลพลพยุหเสนา  รับตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกส่วนตัว พระยาทรงสุรเดชรับตำแหน่ง ผู้ช่วยเสนาธิการทหารบก ฝ่ายยุทธการ แปลว่า รองผู้บัญชาการทหารบก ในทางปฏิบัติ พระยาพหลพลพยุหเสนาก็เหมือนพระธรรม คำสั่งสอน เอาเชิดไว้ (จริงหรือไม่ไม่รู้) แต่พระยาทรงสุรเดชเป็นผู้มีอำนาจจัดการอย่างแท้จริง และนี่จะกลายเป็นต้นเหตุแห่งความบาดหมางต่อไป

     ภายใต้โครงสร้างใหม่ พระยาทรงสุรเดชก็รวบอำนาจ แต่อาจจะด้วยความตั้งใจดี เพราะคิดว่าเป็นหนทางที่ดีที่สุด ขณะเดียวกัน พระยาพหลพลพยุหเสนาก็มีท่าทีไม่ค่อยจะชอบการรวบรัดอำนาจแบบนี้ พยายามแสดงอำนาจ และใช้ความคิดของตนเอง แต่พระยาทรงสุรเดชมักยกเลิกสิ่งที่พระยาพหลพลพยุหเสนาเสนอไป ความรู้สึกเหล่านี้ก็กลายเป็นข้อบาดหมาง

     หลังก่อการเสร็จ พระยาศรีสิทธิสงคราม (คุณตาของ พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์)  ถูกย้ายจากกระทรวงกลาโหมไปยังกระทรวงธรรมการ เป็นผู้ตรวจการลูกเสือ อยู่แบบเงียบๆ

     และนี่เป็นความแตกร้าวในคณะราษฎรสายทหาร ขณะเดียวกันก็เกิดความแตกร้าวในคณะราษฎรสายพลเรือน เพราะหลังก่อการยึดอำนาจเรียบร้อย ก็มีการคิดหาว่าจะเอาใครเป็นผู้นำ (นายกรัฐมนตรี) มีบันทึกว่าผู้เสนอพระยามโนปกรณ์นิติธาดา คืออาจารย์ปรีดี พนมยงค์ เหตุผลเพราะมีความใกล้ชิดกับรัชกาลที่ 7 เพื่อจะได้เป็นตัวเชื่อม

     พลเอก บัญชร เชื่อและยืนยันด้วยความบริสุทธิ์ใจว่า คณะราษฎรไม่ปฏิเสธสถาบันกษัตริย์ และมีความพยายามที่ประคับประคอง และในฐานะทหารที่ถูกปลูกฝังมาและอยู่ในจิตสำนึกคือ หน้าที่ที่มีต่อราชบัลลังก์ ทหารไม่มีวันคิดเป็นอย่างอื่น

 

หลวงพิบูลสงคราม (แปลก พิบูลสงคราม)

 

จุดแตกหักของสี่ทหารเสือ จุดเริ่มต้นสิงห์หนุ่มกองทัพบก

     จุดเริ่มต้นความขัดแย้งในสภามาจากเค้าโครงเศรษฐกิจของอาจารย์ปรีดี ที่ถูกมองว่าเป็นคอมมิวนิสต์ จนกระทั่งพระยามโนปกรณ์นิติธาดาไม่ยอมเอาเค้าโครงนี้เข้าสภา เหตุการณ์ครั้งนั้น มีการประชุมสภาเกิดขึ้น ความขัดแย้งในสภา คุกรุ่นมาก มีการอาศัยเส้นสายของพระยาทรงสุรเดช เอาทหารมาหมู่หนึ่งค้นอาวุธสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ที่เข้าประชุม เนื่องจากในสภา มี ส.ส. คนหนึ่งเอาปืนออกมาเช็ก ส่องปากกระบอกปืนไปยังประธาน ทำให้พระยาทรงสุรเดชต้องตรวจอาวุธ ซึ่งสร้างความไม่พอใจให้กับสมาชิกอย่างมาก รุ่งขึ้นอีกวันก็มีการสั่งปิดสภา ออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ปิดสมัยประชุมสภาผู้แทนราษฎรไม่มีกำหนด และนี่เป็นเสมือนการยึดอำนาจของพระยามโนปกรณ์นิติธาดา หลังจากนั้นก็มีการประกาศ พ.ร.บ.คอมมิวนิสต์

     อาจารย์ปรีดีถูกบังคับให้ไปต่างประเทศ ไปดูงานต่างประเทศ ในเดือนเมษายนปีนั้น มีความไม่พอใจเกิดขึ้นมากมาย พระยาพหลพลพยุหเสนาไปเข้าร่วมกับหลวงพิบูลสงคราม ส่วนพระยามโนปกรณ์นิติธาดาหาฐานกำลังโดยเข้าร่วมกับพระยาทรงสุรเดช เรื่องจึงเกิดความวุ่นวายมาตามลำดับ

 

พระยามโนปกรณ์นิติธาดา (ก้อน หุตะสิงห์)

 

     ความเคลื่อนไหวของฝ่ายพระยามโนปกรณ์นิติธาดาที่มีอำนาจในฐานะนายกรัฐมนตรีอย่างเต็มที่ ก็หันไปพึ่งพระยาทรงสุรเดช ซึ่งตอนนั้นลูกศิษย์ของพระยาทรงสุรเดชที่คิดว่าภักดี แต่แท้จริงไม่เป็นเช่นนั้นแล้ว ขณะที่กลุ่มของทหารหนุ่มนำโดยหลวงพิบูลสงคราม ซึ่งมีความเข้มแข็งขึ้นตามลำดับ ไปรวมกับสายพลเรือนของอาจารย์ปรีดี

     สายทหารมีความขัดแย้งอย่างหนัก พระยาทรงสุรเดชเสนอความคิดต่อสี่ทหารเสือว่า ให้ทุกคนวางมือลาออก ทุกคนก็ตกลงใจว่าลาออก และมีการยื่นใบลาออกในวันที่ 10 มิถุนายน 2476 เหตุผลเบื้องหลังที่พระยาทรงสุรเดชวางไว้ก็คือ เมื่อยื่นใบลาออกผ่านพระยามโนปกรณ์นิติธาดา และรายชื่อไปถึง จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ออกหมด ยกเว้นพระยาทรงสุรเดชไว้คนเดียว มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่าเป็นแผนกำจัดพระยาพหลพลพยุหเสนา และในกาลต่อมา ก็มีการเปิดเผยว่าเป็นการลาออกเฉพาะตำแหน่งทางการเมือง ขณะที่ตำแหน่งทางการทหารยังอยู่ ด้านกรมโฆษณาการมีการประกาศออกมาว่า ทั้งสี่คนลาออกจากทุกตำแหน่ง แต่พออีกวันก็กลับออกประกาศใหม่ ว่าลาออกเฉพาะตำแหน่งทางการเมือง จากนั้นมีประกาศเฉพาะของทหาร ปลดพระยาพหลพลพยุหเสนาและพระยาทรงสุรเดชออกจากตำแหน่งทหาร และใส่ชื่อ ของพระยาศรีสิทธิสงครามกับนายทหารอีกคนเข้ามาแทนตำแหน่งที่ปลดทั้งสองคนออก และมีการเตรียมร่างคำสั่งปลดหลวงพิบูลสงคราม ทำให้ข่าวนี้ไปถึงหูหลวงพิบูลสงคราม จนกระทั่งนำมาสู่การยึดอำนาจ

     20 มิถุนายน 2476 หลวงพิบูลสงครามยึดอำนาจพระยามโนปกรณ์นิติธาดา ให้ พระยาพหลพลพยุหเสนาขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี และเป็นผู้บัญชาการทหารบก ส่วนหลวงพิบูลสงครามขึ้นเป็นรองผู้บัญชาการทหารบก มีการประกาศคำสั่งทหารให้ พระยาฤทธิอัคเนย์พ้นจากตำแหน่งผู้บังคับทหารปืนใหญ่ไปเป็นปลัดกระทรวง ตำแหน่งนี้จึงว่าง หลวงพิบูลสงครามก็รักษาการแทน

     เส้นทางของสี่ทหารเสือหลังวันที่ 20 มิถุนายน 2476 ก็คือ เสือตัวที่ 1 พระยาพหลพลพยุหเสนา ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี เสือตัวที่ 2 พระยาทรงสุรเดชไม่มีอำนาจ เสือตัวที่ 3 พระยาฤทธิอัคเนย์ ไปเป็นปลัด ไม่มีกำลัง และเสือตัวที่ 4 พระประศาสน์พิทยายุทธ อยู่กรมยุทธการทหารบก พระยาศรีสิทธิสงครามพ้นจากตำแหน่งรองผู้บัญชาการทหารบกไปอยู่กระทรวงธรรมการ เป็นผู้ตรวจการลูกเสือตามเดิม ส่วนหลวงพิบูลสงครามขึ้นมามีบทบาทนำ

นี่คือเส้นทางของสี่ทหารเสือ ถึงที่สุดทุกคนก็ต้องไปด้วยกันทั้งนั้น

พระประศาสน์พิทยายุทธ (วัน ชูถิ่น)

 

ชะตากรรมสี่ทหารเสือในบั้นปลายชีวิต

     พระยาศรีสิทธิสงคราม – เมื่อหลวงพิบูลสงครามยึดอำนาจพระยามโนปกรณ์นิติธาดา พระยาศรีสิทธิสงคราม เป็นคนวางแผนแต่แรก และพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช เข้ามาทีหลัง เกิดเป็นกบฏบวรเดช เมื่อพระยาศรีสิทธิสงครามนำกำลังเข้ามาในเดือนตุลาคม ยิงกันอยู่บนทางรถไฟในสมัยก่อน ยิงไล่ตั้งแต่สถานีบางซื่อไปจนถึงสถานีดอนเมือง ฝ่ายกบฏถอยร่นไป อีกฝ่ายมีหลวงพิบูลสงครามเป็นผู้บังคับกองกำลังผสม พระยาศรีสิทธิสงครามถูกมอบหมายจากพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช ให้เป็นกองระวังหลังที่สถานีรถไฟบ้านหินลับ มีการยิงปะทะกันกับฝ่ายรัฐบาลที่ตามมาทัน และพระยาศรีสิทธิสงครามก็ได้เสียชีวิตที่นั่น เมื่อ 23 ตุลาคม 2476

    พระยาฤทธิอัคเนย์ – เมื่อหลวงพิบูลสงครามขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี เคราะห์กรรมก็มาถึง โดยเหตุเกิดที่วังปารุสก์ เมื่อพระยาฤทธิอัคเนย์ถูกเชิญไปพบ ที่ประชุมขณะนั้นมีพระยาพหลพลพยุหเสนา อาจารย์ปรีดีก็มอบหมายให้หลวงพิบูลสงครามเจรจาโดยยื่นข้อเสนอ ให้ออกนอกประเทศกับขึ้นศาลเป็นศาลพิเศษ พระยาฤทธิอัคเนย์ไม่ขึ้นศาล ขอไปต่างประเทศ โดยนั่งรถไฟไปสองคนกับหลานออกไปอยู่ที่ปีนัง เมื่อใกล้สงครามโลกครั้งที่สอง อังกฤษก็ให้ไปอยู่สิงคโปร์ เนื่องจากฐานะทางบ้านดี ก็ไปทำการค้าขาย เมื่อญี่ปุ่นบุกสิงคโปร์ อังกฤษมาจับพระยาฤทธิอัคเนย์ไปขังไว้ ญี่ปุ่นบุกสิงคโปร์สำเร็จจึงปล่อยตัวท่าน หลังจากนั้นมี พระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษจึงได้กลับมาเมืองไทย ในบั้นปลายท่านได้ไปปฏิบัติธรรมอยู่ที่วัดอโศการาม

     พระยาทรงสุรเดช – เมื่อพระยาพหลพลพยุหเสนาขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี ก็ได้ขอทุนจากพระยาพหลพลพยุหเสนาไปดูงานต่างประเทศกับ พระประศาสน์พิทยายุทธ หลังจากนั้นท่านกลับมา การเมืองระส่ำระสาย มีเสียงเรียกร้องให้ท่านกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรี หลวงพิบูลสงครามก็เฝ้ามองอยู่ เมื่อ พระยาทรงสรุเดชกลับมาอยู่ในกองทัพ ก็เสนอให้ตั้งโรงเรียนรบขึ้น ซึ่งมาจากระบบของทหารเยอรมนี พระยาทรงสุรเดชได้รับอนุมัติให้ไปตั้งโรงเรียนอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ ต่อมาเมื่อหลวงพิบูลสงครามยึดอำนาจสำเร็จ พระยาทรงสุรเดชเลือกไปอยู่พนมเปญ แล้วฝรั่งเศสก็ให้ไปอยู่ไซ่ง่อน ประเทศเวียดนาม เนื่องจากสงครามอินโดจีน ทำให้ชีวิตมีความยากลำบาก จนเมื่อได้กลับมาพนมเปญ ชีวิตก็ดีขึ้นเนื่องจากทำขนมกล้วยขาย และเสียชีวิตด้วยโรคโลหิตเป็นพิษในเวลาต่อมา

     พระประศาสน์พิทยายุทธ – ถูกจอมพล ป. (หลวงพิบูลสงคราม) ส่งไปเป็นทูต ที่เยอรมนี แต่ไปอยู่ได้ไม่นานก็มีสงครามโลกครั้งที่สอง และจบลงตรงที่เยอรมนีแพ้ รัสเซียเข้ามายึดเบอร์ลิน ประเทศไทยประกาศอยู่ข้างเยอรมนี ทูตจึงถูกจับไปอยู่กรุงมอสโกอยู่หลายปีกว่าจะได้กลับ โดยที่ไม่รู้ชะตากรรมภรรยาและลูกของท่าน เมื่อฝ่ายสัมพันธมิตรเข้ามาก็นำครอบครัวย้ายไปอยู่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. สุดท้ายก็ได้กลับมาไทยด้วยกัน ในบั้นปลายชีวิตได้เป็นอธิบดีกรมไปรษณีย์โทรเลข และเสียชีวิตในระหว่างที่ยังรับราชการเมื่ออายุ 55 ปี

     “และนี่คือเส้นทางของสี่ทหารเสือ ถึงที่สุดทุกคนก็ต้องไปด้วยกันทั้งนั้น ส่วนเหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงการปกครองของสี่ทหารเสือให้อะไรกับเรา คำตอบก็คือ ท่านต้องไปสรุปเอาเองจากข้อมูลที่มี” พลเอก บัญชร กล่าวทิ้งท้าย

 

Cover Photo: สี่ทหารเสือ – (จากซ้ายไปขวา) นายพันเอก พระยาทรงสุรเดช นายพันโท พระประศาสน์พิทยายุทธ นายพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา และนายพันเอก พระยาฤทธิอัคเนย์

ภาพจากสโมสรศิลปวัฒนธรรม ในเครือมติชน

FYI

     พลเอก บัญชร ได้เพิ่มเติมตัวละครในประวัติศาสตร์อีกหนึ่งคนก็คือ พันเอก พระยาศรีสิทธิสงคราม (ดิ่น ท่าราบ) อาจกล่าวได้ว่าเป็นการพูดถึงตัวละครทหารในประวัติศาสตร์แบบสี่บวกหนึ่ง ซึ่งเป็นร่องรอยประวัติศาสตร์ที่นำชาติมาสู่ยุคปัจจุบัน

     พลเอก บัญชร เริ่มต้นเรื่องด้วยการออกตัวว่า ไม่ขอเรียกตัวเองว่าเป็นนักประวัติศาสตร์ แต่ตนเองเป็นคนที่สนใจอ่านหนังสือเกี่ยวกับประวัติศาสตร์​ทั้งในและนอกประเทศ จึงขอเรียกตัวเองว่าเป็น ‘นักเล่าเรื่อง’ เท่านั้น พร้อมทั้งเปิดกว้างแด่ผู้อ่านผู้ฟัง หากมีความคิดเห็นที่แตกต่างก็ยินดีแลกเปลี่ยนระหว่างกัน

     พลเอก บัญชร มีเงื่อนไขและหมายเหตุสำหรับเรื่องที่เล่าว่า “ไม่มีพระเอก ไม่มีผู้ร้าย มีแต่ตัวละครในประวัติศาสตร์” เรื่องราวเกี่ยวกับเหตุการณ์อภิวัฒน์สยาม ในปี 2475 และหลังจากนั้น “มีหลายมิติ หลายหัวข้อ ที่จะนำมาคุยกัน” จึงไม่ได้ผูกติดอยู่กับข้อมูลใดข้อมูลหนึ่งเท่านั้น

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising