×

นักวิจัยอังกฤษชี้มลภาวะทางอากาศ คือ ‘บุหรี่ในศตวรรษที่ 21’

20.07.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

3 Mins. Read
  • ดาร์เรน แบกซ์เตอร์ (Darren Baxter) ผู้ร่วมวิจัยเปรียบเทียบความร้ายแรงของมลภาวะทางอากาศในสมัยนี้เสมือน ‘บุหรี่ในศตวรรษที่ 21’
  • ในอังกฤษมีผู้เสียชีวิตเนื่องจากมลภาวะทางอากาศประมาณ 40,000 คนต่อปี ส่วนใหญ่เป็นเด็ก ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีปัญหาระบบทางเดินหายใจ
  • มลภาวะทางอากาศในประเทศไทยคร่าชีวิตประชาชนมากกว่า 50,000 คนต่อปี นอกจากนี้ ข้อมูลของธนาคารโลก (World Bank) เผยให้เห็นตัวเลขผู้เสียชีวิตในประเทศที่เพิ่มขึ้นเกือบ 20,000 คนนับตั้งแต่ปี 1990
  • 11 จังหวัดที่มีการสำรวจในไทยไม่ผ่านเกณฑ์คุณภาพอากาศขององค์การอนามัยโลก หรือ World Health Organization (WHO)

     Royal Institute of Public Policy Research North หรือ IPPRN เปิดเผยงานศึกษาจากพื้นที่ทางตอนเหนือของสหราชอาณาจักรว่า มลภาวะทางอากาศสูงเกินกำหนด 150% หลายแห่ง เป็นภัยต่อสุขภาวะผู้อยู่อาศัย

     ดาร์เรน แบกซ์เตอร์ (Darren Baxter) ผู้ร่วมวิจัยกับ IPPRN กล่าวเปรียบเทียบความร้ายแรงของมลภาวะทางอากาศในสมัยนี้เสมือน ‘บุหรี่ในศตวรรษที่ 21’ และย้ำว่า การเสียชีวิตของประชาชนที่สามารถช่วยเหลือได้ถือเป็นความผิดของรัฐบาล

     นักวิจัยรายนี้เปรียบเทียบสถานการณ์มลภาวะนี้กับข้อถกเถียงเมื่อสมัย 50 ปีก่อน หลังผู้คนเริ่มตระหนักถึงผลเสียต่อสุขภาพจากการสูบบุหรี่

     คณะวิจัยชี้ว่า จากพื้นที่ศึกษา 2 แห่งจากทั้งหมด 11 แห่ง มีระดับไนโตรเจนไดออกไซด์ (NO2) ที่มากกว่ากฎหมายกำหนด โดยก๊าซชนิดนี้ส่งผลให้ผู้สูดอากาศเข้าไปมีอาการเยื่อหุ้มปอดอักเสบ ซ้ำยังลดภูมิต้านทานต่อโรคหลอดลมอักเสบด้วย

ในอังกฤษมีผู้เสียชีวิตเนื่องจากมลภาวะทางอากาศประมาณ 40,000 คนต่อปี 

ในประเทศไทย มลภาวะทางอากาศคร่าชีวิตประชาชนมากกว่า 50,000 คนต่อปี

Photo: Isabel INFANTES/AFP

 

     “เรื่องนี้ถือเป็นเรื่องร้ายแรงที่สามารถป้องกันได้ หากเราให้ความสำคัญกับมันและดำเนินการอย่างจริงจังอย่างที่รัฐบาลเคยจัดการกับบุหรี่ในปี 1960 หลังประเด็นผลกระทบทางสุขภาวะมีความชัดเจน” แบกซ์เตอร์กล่าว

     ไนโตรเจนไดออกไซด์ถือเป็นก๊าซที่พบได้ในชีวิตประจำวันของมนุษย์ในยุคปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงในครัวเรือน เชื้อเพลิงเครื่องยนต์ของรถยนต์ โรงไฟฟ้า โรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ โดยเฉพาะเมืองขนาดใหญ่หลายแห่งที่มีการคมนาคมโดยรถยนต์ ที่จำเป็นต้องตระหนักถึงความอันตรายจากก๊าซนี้ เนื่องจาก NO2 กว่า 55% เกิดจากการใช้งานรถยนต์

     ในอังกฤษมีผู้เสียชีวิตเนื่องจากมลภาวะทางอากาศประมาณ 40,000 คนต่อปี ส่วนใหญ่เป็นเด็ก ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีปัญหาระบบทางเดินหายใจ

     ขณะเดียวกันในประเทศไทย มลภาวะทางอากาศคร่าชีวิตประชาชนมากกว่า 50,000 คนต่อปี นอกจากนี้ ข้อมูลของธนาคารโลก (World Bank) เผยให้เห็นตัวเลขผู้เสียชีวิตในประเทศที่เพิ่มขึ้นเกือบ 20,000 คนนับตั้งแต่ปี 1990

 

Photo: Nicolas ASFOURI/AFP

 

     Greenpeace Southeast Asia ตีพิมพ์อันดับในปีที่ผ่านมา ระบุว่า ระหว่างช่วงมกราคม-กรกฎาคม ปี 2016 เชียงใหม่, ขอนแก่น, ลำปาง, ราชบุรี และกรุงเทพฯ มีค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน (PM2.5) เฉลี่ยสูงที่สุด และทั้ง 11 จังหวัดที่มีการสำรวจในไทยไม่ผ่านเกณฑ์คุณภาพอากาศขององค์การอนามัยโลก หรือ World Health Organization (WHO)

     พรรคแรงงานในอังกฤษเปิดเผยตัวเลขว่า ประชากรมากกว่า 38 ล้านคน หรือคิดเป็น 59.3% ของประชากรสหราชอาณาจักรทั้งหมด อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่ NO2 ในอากาศสูงกว่าระดับที่กฎหมายกำหนดไว้

     นอกจากนี้ คณะวิจัยได้ยื่นข้อเสนอต่อหน่วยงานรัฐบาลต่างๆ เพื่อเร่งแก้ไขปัญหามลภาวะทางอากาศด้วยมาตรการ 3 ข้อ

  • เพิ่มจุดเชื่อมต่อคมนาคมสาธารณะที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะเส้นทางรางและให้ความสำคัญต่อรถไฟฟ้าพลังไฮโดรเจน
  • ให้คำมั่นที่จะเริ่มยกเลิกการใช้งานรถยนต์ดีเซลไปอย่างต่อเนื่องในอนาคต เพื่อช่วยกระตุ้นตลาดรถยนต์ไฟฟ้า
  • วางแผนโละรถยนต์เพื่อสนับสนุนให้ประชาชนเปลี่ยนมาซื้อรถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น

     เพราะในโลกยุคศตวรรษที่ 21 แม้อัตราคนสูบบุหรี่จะลดลง แต่อากาศกลับกลายเป็น ‘บุหรี่’ ที่ร้ายแรงมากขึ้นทุกวัน

 

Cover Photo: LIONEL BONAVENTURE/AFP

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE



Latest Stories

Close Advertising
X