×

‘ความเป็นส่วนตัว-ป้องกันเงินไหลออกนอกประเทศ’ กสทช. ดึงรัสเซียพัฒนาโซเชียลมีเดียและความมั่นคงทางไซเบอร์

06.06.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

6 Mins. Read
  • การลงนามความตกลงระหว่าง กสทช. กับกระทรวงโทรคมนาคมและการสื่อสารมวลชนสหพันธรัฐรัสเซีย มีสาระสำคัญ 3 เรื่องคือ การลดค่าบริการ data roaming ระหว่างไทยกับรัสเซีย การแลกเปลี่ยนความรู้ด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ (Cybersecurity) และความร่วมมือด้านทีวีดิจิทัล ส่วนการพัฒนาโซเชียลมีเดีย เป็นข้อเสนอจากทางรัสเซีย
  • รัฐบาลต้องตอบให้ได้ว่าถ้าพัฒนาโซเชียลมีเดียขึ้นเองแล้วจะมีประสิทธิภาพดีกว่าเจ้าอื่นหรือไม่ และจะมีผู้ใช้งานมากพอที่จะดึงให้ภาคธุรกิจกลับมาลงทุนบนแพลตฟอร์มของรัฐ เพื่อป้องกันไม่ให้งบประมาณโฆษณาไหลออกนอกประเทศหรือไม่
  • ภาครัฐควรสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานและช่องทางการโฆษณาที่มีอยู่ในประเทศให้แข็งแรง แทนที่จะลงมาแข่งขันเอง
  • ไทยอาจได้ประโยชน์จากรัสเซียในแง่การศึกษาความรู้และเทคโนโลยีด้าน cybersecurity แต่ไม่มีอะไรรับประกันเรื่องความมั่นคงปลอดภัยทางข้อมูลและความเป็นส่วนตัวของประเทศเช่นกัน

     เป็นประเด็นที่น่าจับตาอยู่ไม่น้อยเมื่อมีข่าวว่า กสทช. เตรียมเสนอนายกรัฐมนตรีว่าจะพัฒนาโซเชียลมีเดียร่วมกับรัสเซีย หลังจาก กสทช. ได้ลงนามความตกลงระหว่าง กสทช. กับกระทรวงโทรคมนาคมและการสื่อสารมวลชนสหพันธรัฐรัสเซีย เมื่อวันที่ 30 พ.ค. 2560 ที่ผ่านมา

     ฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. เปิดเผยว่าการลงนามดังกล่าวจะมุ่งเน้น 3 เรื่องสำคัญด้วยกันคือ การลดค่าบริการ data roaming ระหว่างไทยกับรัสเซีย การแลกเปลี่ยนความรู้ด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ (Cybersecurity) ซึ่ง กสทช. อ้างว่ามีความเชี่ยวชาญ และความร่วมมือด้านทีวีดิจิทัล

     นิโคลัย นิกิโฟรอฟ (Nikolay Nikiforov) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงโทรคมนาคมและการสื่อสาร และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมและการสื่อสารมวลชนแห่งสหพันธรัฐรัสเซีย ยังเสนอการจัดตั้ง holding company ร่วมกัน โดยให้รัสเซียถือหุ้นร้อยละ 49 ส่วนไทยถือร้อยละ 51 เพื่อพัฒนาแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย เสิร์ชเอ็นจิน และแอปพลิเคชันแชตของไทย ตามการรายงานจากสำนักข่าว TNN

     พลเมืองออนไลน์จึงตั้งคำถามว่าการลงทุนดังกล่าวจะคุ้มเสี่ยง หรือผู้ใช้งานจะสูญเสียความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัวบนโลกออนไลน์ในท้ายที่สุด

     เศรษฐกิจดิจิทัลของไทยจะผงาดภายใต้ความร่วมมือนี้หรือไม่

     หรือรัสเซียกันแน่ที่จะเป็นฝ่ายได้เปรียบ

ไม่ใช่แค่คิดจะทำหรือคิดเข้าข้างตัวเอง แต่ต้องคิดด้วยว่าจะทำอย่างไรให้คนใช้งาน เพราะถ้าคิดไม่ออก อย่าทำ

 

สร้างโซเชียลมีเดียสัญชาติไทย อุดรูรั่วงบโฆษณาไหลออกนอกประเทศ?

     เป็นไปได้ที่ กสทช. จะมองว่าเม็ดเงินโฆษณาที่เพิ่มพูนตามการขยายตัวของตลาดและสื่อออนไลน์ กลับไหลไปหาเจ้าใหญ่อย่าง Facebook กับ Google อีกทั้งยังมีช่องโหว่เรื่องการรับมือกับภัยคุกคามในโลกไซเบอร์ จึงจำเป็นต้องมีมาตรการรับมือ โดยเฉพาะความปลอดภัยด้านธุรกรรมทางการเงินและโทรคมนาคมของประเทศ
     จากผลสำรวจมูลค่าเม็ดเงินผ่านสื่อดิจิทัลปี 2559-2560 จาก 25 เอเจนซีชั้นนำ จัดทำโดยสมาคมโฆษณาดิจิทัล (ประเทศไทย) ร่วมกับ กันตาร์ ทีเอ็นเอส (ไทยแลนด์) พบว่างบโฆษณาผ่านสื่อดิจิทัลปี 2559 นั้นมีมูลค่ารวมกว่า 9,477 ล้านบาท เติบโตขึ้นจากปี 2559 ร้อยละ 17 และคาดว่าจะเติบโตต่อเนื่องไม่ต่ำกว่าร้อยละ 24 ในปี 2560 นี้ นอกจากนี้กลุ่มสื่อสารเป็นอุตสาหกรรมที่ใช้งบโฆษณาทางสื่อดิจิทัลมากที่สุดในปีที่ผ่านมาราว 1 พันล้านบาท

     ก่อนหน้านี้ ป้อม-ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ นายกสมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทย (Thai e-Commerce Association) เคยให้สัมภาษณ์กับ The Standard ว่าเม็ดเงินส่วนใหญ่ที่บริษัทสื่อและธุรกิจค้าปลีกทุ่มซื้อสปอนเซอร์โฆษณานั้นออกไปยังเจ้าของแพลตฟอร์มยักษ์ใหญ่ อาทิ Facebook, Google คาดว่ามีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 1.25 หมื่นล้านบาท (ไม่นับยอดรวมดาวน์โหลดเกมและแอปพลิเคชันออนไลน์ต่างๆ) ซึ่งเป็นเรื่องที่ภาครัฐควรพิจารณาการจัดเก็บภาษี

     ภาวุธมองว่าแนวทางดังกล่าวเป็นแค่ทางเลือกหนึ่ง แต่ทำแล้วจะมีผู้ใช้งานหรือไม่ เป็นการลงทุนที่มีประสิทธิภาพหรือไม่ เป็นคำถามที่ภาครัฐจะต้องตอบให้ได้ก่อน

     “จริงๆ มีหลายคนที่คิดจะสร้างโซเชียลมีเดียเองในไทยนะครับ คำถามแรกคือทำออกมาแล้วมีคนใช้หรือเปล่า ทำได้ดีเท่ากับโซเชียลมีเดียที่มีอยู่แล้วหรือเปล่า ข้อที่สองคือ ทำอย่างไรให้คนเข้ามาใช้ ซึ่งตรงนี้มันมีค่าใช้จ่ายมหาศาล

     “แต่ภาครัฐมักจะมองว่ามีเงินสร้าง แต่คำถามคือเราจะทำยังไงให้มีคนใช้บริการด้วย และทำอย่างไรให้มันดี นี่เป็นจุดหลักที่ต้องมองมากกว่า เมื่อก่อนภาครัฐอยากทำระบบอีเมลกลางของตัวเอง แต่ตอนนี้อีเมลมันไม่ได้รับความนิยมมากขนาดนั้นแล้ว ถูกไหม สุดท้ายลงทุนไปแล้วไม่มีคนใช้ ฉะนั้นถ้าจะทำก็ควรจะทำผลสำรวจดีๆ ก่อน ไม่ใช่แค่คิดจะทำหรือคิดเข้าข้างตัวเอง แต่ต้องคิดด้วยว่าจะทำอย่างไรให้คนใช้งาน เพราะถ้าคิดไม่ออก อย่าทำ เพราะคนเขารู้ว่ามันมีการติดตามตรวจสอบได้ง่ายมากขึ้น แล้วใครจะใช้ คือผมว่ามันทำไม่ยาก ตั้งคำถามใหม่ดีกว่าว่าทำอย่างไรให้คนใช้”

     ภาวุธยังมองว่าปัจจุบันหลายประเทศทั่วโลกกำลังประสบปัญหาการรั่วไหลของงบประมาณโฆษณาไปสู่บริษัทไอทีชั้นนำของโลกเช่นเดียวกัน แทนที่จะลงทุนสร้างเอง ภาครัฐควรคิดหาทางดึงรายได้กลับเข้าประเทศมากกว่า

     “ผมว่ามันกลายเป็นกระแสทั่วโลกที่ตอนนี้ทุกคนจะต้องเจอ ยังไงมันก็ไหล แต่คำถามคือไหลออกไปแล้วจะทำให้เม็ดเงินมันกลับเข้าประเทศอย่างไร รัฐควรจะโน้มน้าวให้ภาคธุรกิจใช้เม็ดเงินให้เกิดประโยชน์ และกระตุ้นให้เกิดการใช้สื่อโฆษณาในประเทศ ขณะเดียวกันสื่อต่างๆ ของไทยก็ต้องปรับตัวมากขึ้น โดยภาครัฐเองจะต้องสนับสนุนในแง่ระบบนิเวศทั้งหมด เช่น เรื่องการลงโฆษณา ดูว่าโครงสร้างเดิมที่มีอยู่ในประเทศนี่มันมีใครบ้าง ใครกำลังจะตายบ้าง แล้วรัฐจะเข้าไปช่วยกระตุ้นให้สื่อต่างๆ รวมตัวกันได้ไหม ไม่ใช่ไปทำแข่งนะครับ แต่ช่วยให้สื่อพัฒนาขีดความสามารถของตัวเองเพื่อให้คนอยากจะเทเม็ดเงินมาลงโฆษณา ทำให้เม็ดเงินทั้งหมดยังกระจายอยู่ในประเทศ”

 เรื่องที่รัสเซียขึ้นชื่อเรื่องการเจาะข้อมูล เขาสามารถโชว์ให้เห็นได้เลยว่าธนาคารไหนในโลกมีทรานแซกชันทางการเงินอย่างไรบ้างแบบเรียลไทม์ คนรัสเซียจะคิดว่าถ้าเขาสามารถเจาะเข้าไปได้ แสดงว่าเขาสามารถป้องกันได้          

 

รัสเซียกับความเชี่ยวชาญด้าน Cybersecurity ระดับโลก ความร่วมมือที่ต้องตั้งคำถามถึงความมั่นคงของชาติ

     เมื่อ กสทช. หารือกับรัสเซียเรื่องการแลกเปลี่ยนความรู้ด้านความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ หลายฝ่ายจึงกังวลว่าสุดท้ายแล้วฝ่ายที่ได้ผลประโยชน์สูงสุด อาจเป็นรัสเซียซึ่งขึ้นชื่อเรื่องการสอดแนมข้อมูลและถูกโจมตีว่าเป็นตัวการแทรกแซงการเลือกตั้งของสหรัฐฯ

     อาจารย์พงศ์พันธุ์ จันทร์สุกรี ที่ปรึกษาศูนย์รัสเซียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คาดว่า กสทช. น่าจะร่วมมือกับรัสเซียในด้านการแลกเปลี่ยนความรู้มากกว่า เพราะรัสเซียเป็นประเทศชั้นนำที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญและเทคโนโลยีด้าน cybersecurity สูง

     “จริงๆ แล้วผมยังไม่ได้เห็นข้อตกลงชัดเจนนะครับว่ามีกรอบด้านไหนบ้าง แต่เรากับรัสเซียยังห่างกันเยอะในเรื่องของบุคลากรและเทคโนโลยีที่มีอยู่ เพราะฉะนั้นผมเข้าใจว่าหากภาครัฐไปทำ ภาครัฐน่าจะทำเรื่องของการแลกเปลี่ยนข้อมูล หรือไม่ก็เรื่องของการแลกเปลี่ยนนักวิชาการ บุคลากรในเชิงการศึกษามากกว่า เพราะว่าถ้าไปใช้กับเขาทั้งหมด มันก็มีความเสี่ยง เพราะว่าจริงๆ แล้วประเทศไทยเราก็ไม่ได้มีอิสระในการตัดสินใจใช้ระบบต่างๆ เสียทีเดียว เราเป็นประเทศที่มีกลไกทางธุรกิจที่ไม่ได้เป็นเอกภาพ

     “รัสเซียมีความเชี่ยวชาญทางด้าน cybersecurity ค่อนข้างสูงนะครับ เพราะว่าตามธรรมชาติของคนรัสเซียแล้ว เขาชอบเรื่องการจัดเก็บฐานข้อมูลเป็นนิสัย ทุกวันนี้ถ้าไปรัสเซีย คุณสามารถเข้าไปหาข้อมูลได้ถึงสมัยที่ยังปกครองระบบกษัตริย์อยู่เลย เป็นประเทศที่คนเก็บข้อมูลเก่งโดยธรรมชาติ อีกประเด็นหนึ่งคือ รัสเซียมีโครงการพัฒนาเรื่องคอมพิวเตอร์มานานแล้ว เขามีการพัฒนาระบบ big computer ตั้งแต่ช่วงปี 1960 ก็เลยสะสมประสบการณ์เกี่ยวกับการใช้คอมพิวเตอร์ ตั้งแต่ระบบแอนะล็อกขึ้นมาเรื่อยๆ จนถึงทุกวันนี้ ที่สำคัญรัสเซียมีคณะที่สอนด้าน cybersecurity อย่างเป็นระบบโดยตรง ไม่ใช่แค่ภาควิชา แล้วถ้าเกิดเราสังเกตในภาพข่าวตามสื่อต่างๆ เราจะเห็นว่าพวกแฮกเกอร์ในโลกส่วนใหญ่มาจากรัสเซียและสหภาพโซเวียตเดิมนะครับ พวกนี้มีความเชี่ยวชาญสูง จึงน่าจะเป็นเหตุที่ทาง กสทช. สนใจจะเข้าไปทำ

     “เรื่องที่รัสเซียขึ้นชื่อเรื่องการเจาะข้อมูล เขาสามารถโชว์ให้เห็นได้เลยว่าธนาคารไหนในโลกมีทรานแซกชันทางการเงินอย่างไรบ้างแบบเรียลไทม์ คนรัสเซียจะคิดว่าถ้าเขาสามารถเจาะเข้าไปได้ แสดงว่าเขาสามารถป้องกันได้ นี่คือคอนเซปต์ที่เขาใช้พัฒนาความรู้และเทคโนโลยี แต่ในมุมมองของคนไทยเราอาจจะมองว่าถ้าเขาเจาะเราได้ เราจะไม่มีความมั่นคงปลอดภัย ซึ่งจริงๆ แล้วมันก็น่ากลัวเหมือนกันนะครับ”

     อย่างไรก็ดี อาจารย์พงศ์พันธุ์ชี้ว่าหากมองในแง่อนาคตทางการศึกษาและยุทธศาสตร์การค้าโลก ก็ถือเป็นความร่วมมือที่น่าจับตาอยู่ไม่น้อย

     “จริงๆ แล้วบ้านเราระบบการศึกษายังไม่ค่อยเอื้อให้มีเจ้าหน้าที่พนักงานหรือบุคลากรที่เก่งด้านนี้นะครับ ผมสนับสนุนให้มีการแลกเปลี่ยนความรู้ ให้นักศึกษาไทยไปเรียนเรื่องนี้ที่รัสเซีย เพราะเขามีความเข้มแข็งในด้านนี้สูง

     “ทุกวันนี้เรามีความสัมพันธ์ด้านการศึกษากับรัสเซียแค่เฉพาะเรื่องของศิลปศาสตร์คือ ภาษาและวัฒนธรรม ด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีเราน้อยมาก ถ้าเราเปิดประเด็นนี้ ต่อไปเราก็จะสามารถมีเทคโนโลยีทางเลือกให้ใช้ได้ แล้วทุกวันนี้แนวโน้มเศรษฐกิจโลกมันก็ไปทางยูโรเอเชีย ทางรัสเซีย และเอเชียบ้านเรา มันไม่ได้ไปทางยุโรป หรืออเมริกา ดังนั้นถ้ามองในมุมยุทธศาสตร์ ถ้าไทยให้ความสำคัญกับรัสเซียในฐานะที่เขาเป็นหนึ่งในประเทศที่มีต้นแบบเทคโนโลยีอีกกลุ่ม มันก็เป็นข้อที่น่าคิดนะครับ

     “จริงๆ แล้วรัสเซียมีความพร้อมในการเจรจากับเราเยอะ แต่ว่าเราไม่มีความพร้อมที่จะคุยกับเขาแบบเต็มที่ เพราะประเทศเราก็อยู่ในสภาวะที่ไม่ปกติ คือรัฐบาลรัสเซียไม่ได้สนใจว่าเราจะเป็นรัฐบาลทหารหรือไม่ทหาร แต่รัฐบาลเราเองนั่นแหละที่ไม่ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์กับเขา ทำให้เขามองเราไม่เต็มที่เท่าไร ไม่เหมือนกับความสัมพันธ์อินเดีย-รัสเซีย”

     อย่างไรก็ดี เราควรตั้งคำถามกันต่อไปว่าการลงทุนดังกล่าวจะมีประสิทธิภาพภายใต้การทำงานของรัฐบาลปัจจุบันหรือไม่ เพราะยังไม่มีอะไรรับประกันว่าเราจะไม่สูญเสียความเป็นส่วนตัวบนโลกเสมือนที่ภาครัฐลุกขึ้นพัฒนาเอง

     และในยุคปัจจุบันที่เต็มไปด้วยทางเลือกที่หลากหลาย ความต้องการของผู้ใช้งานในโลกออนไลน์จะเป็นตัวตัดสินเองว่าแพลตฟอร์มใดจะได้ไปต่อ

 

ภาพโดย: กสทช.

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X