×

OmiseGo บริการ E-Wallet ระบบบล็อกเชนครั้งแรกในไทย เริ่มต้นสิ้นปีนี้!

11.07.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

5 Mins. Read
  • การซื้อ Paysbuy ซึ่งเป็นบริการ Payment Gateway รายใหญ่จาก DTAC จะทำให้ Omise เข้าถึงฐานกลุ่มธุรกิจใหญ่ของ Paysbuy ในอาเซียน ตั้งแต่เทเลคอม บริษัทประกัน ธุรกิจบริการและท่องเที่ยว
  • สิ้นปีนี้เราน่าจะเห็นบริการใหม่ที่ชื่อ ‘OmiseGo’ ซึ่งเป็น E-Wallet Network ที่ใช้ระบบบล็อกเชนอีเธอเรียมเข้ามาจัดการ transaction ทุกรูปแบบ โดย Omise กล่าวว่า ไม่เคยมีเจ้าไหนทำมาก่อน

     เรียกได้ว่าเป็นดีลที่สะเทือนวงการฟินเทคทั่วทั้งอาเซียน เมื่อ Omise ฟินเทคที่มาแรงสุดๆ ใน 2-3 ปีที่ผ่านมานี้ ประกาศซื้อ Paysbuy ผู้ให้บริการ Payment Gateway จาก DTAC หนึ่งในเทเลคอมยักษ์ใหญ่ของไทย แม้จะยังไม่มีการเปิดเผยตัวเลขของดีลอย่างเป็นทางการก็ตาม แต่ข่าวนี้ก็โด่งดังไปไกลถึงเว็บไซต์ชั้นนำอย่าง TechCrunch และ Tech in Asia เลยทีเดียว

     Paysbuy ถือเป็น Payment Gateway รายแรกในไทย ก่อตั้งขึ้นในปี 2004 โดย Aung Kyaw Moe (ผู้ก่อตั้งและซีอีโอบริษัท 2C2P) ซึ่งขายกิจการต่อให้กับ DTAC
     Tech in Asia รายงานว่า เฉพาะบริการส่วน Payment ของ Paysbuy เท่านั้นที่จะถูกควบรวมเข้ากับบริการของ Omise ส่วนบริการอื่นๆ ยังคงเป็นของ DTAC ต่อไป ขณะที่ตัวแทนของทาง Omise ได้แถลงในเว็บไซต์ของบริษัทว่า การซื้อ Paysbuy จะทำให้ Omise มีโอกาสเติบโตในตลาดอาเซียนได้อีกไกล สามารถเข้าถึงตลาดของอุตสาหกรรมใหญ่ ซึ่ง Paysbuy มีฐานกลุ่มบริษัทลูกค้าอยู่แล้ว เช่น เทลโก (Telco) บริษัทประกัน ธุรกิจท่องเที่ยว ธุรกิจบริการ และค้าปลีกออนไลน์

     และเมื่อทราบข่าวว่า Omise กำลังพัฒนาบริการใหม่ที่ใช้เทคโนโลยีบล็อกเชน ‘อีเธอเรียม (Ethereum)’ อยู่ THE STANDARD จึงรีบต่อสายหา ดอน-อิศราดร หะริณสุต ผู้ร่วมก่อตั้งและซีโอโอ (COO) ของบริษัททันที

 

 

เบื้องหลังการซื้อ Payment Gateway ของฟินเทคชื่อ Omise

     เดิมที จุน ฮาเซกาวะ ผู้ก่อตั้งและซีอีโอ และ ดอน-อิศราดร หะริณสุต ผู้ร่วมก่อตั้งและซีโอโอ สนใจทำธุรกิจอีคอมเมิร์ซในปี 2013 แต่พบว่าระบบบริการชำระเงินออนไลน์หรือ Payment Gateway ในตลาดยังมีปัญหา การใช้งานบนเว็บไซต์และโทรศัพท์มือถือมีช่องโหว่ ทำให้เกิดโอกาสที่ลูกค้าจะ drop off หรือยกเลิกการชำระเงินไประหว่างทาง จึงเปลี่ยนมาทำธุรกิจ Online Payment แทน โดยเน้นการออกแบบ UX/UI ที่ดี และตอบสนองผู้ใช้งานจริง

     Omise เป็นผู้อยู่หลังบ้านของระบบบริการ Payment Gateway ของบริษัททั้งในไทยและต่างประเทศ อาทิ Ookbee บริษัท True Corporation ธุรกิจโรงแรมและร้านอาหารในเครือ Minor International

     ปีที่แล้ว Omise ได้รับเงินจากการระดมทุนรอบ Series-B ไป 17.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (เกือบ 600 ล้านบาท) และสามารถขยายตลาดไปสู่ภูมิภาคอาเซียน ซึ่งเป็นยอดเงินระดมทุนสูงสุดในไทยและในภูมิภาคนี้
อิศราดรอธิบายให้เราฟังว่า การซื้อ Paysbuy นั้นออกไปทาง ‘การร่วมมือกัน’ มากกว่า เพื่อบรรลุเป้าหมายการให้บริการอันดับหนึ่งของประเทศ

     “เราคิดว่าการรวมตัวกันมันจะทำให้มีโอกาสที่จะเติบโตเป็น Payment Gateway อันดับหนึ่งของประเทศไทยได้ แทนที่เราจะต้องมาแข่งขันเอง ก็มารวมตัวกันดีกว่า เพื่อที่จะต่อยอดบริการและเอาฐานลูกค้ามารวมกัน”

OmiseGo: สู่การเป็นเจ้าแรกที่ให้บริการ E-Wallet Network บนระบบบล็อกเชน
     ไม่บ่อยครั้งนักที่ฟินเทคซื้อบริการของกิจการที่มีฐานลูกค้าใหญ่ เป็นไปได้ว่าการเข้าซื้อครั้งนี้จะปูทางไปสู่เป้าหมายที่ยิ่งใหญ่กว่านั้นของ Omise ที่ต้องการขยายกิจการไปสู่ตลาดใหม่หลังบริษัทเปิดมาครบ 4 ปี

     นั่นคือการเปิดตัว OmiseGo บริการ E-Wallet Network ที่จะนำนวัตกรรมบล็อกเชน ‘อีเธอเรียม (Ethereum)’ เข้ามายกระดับการทำธุรกรรมทางการเงินให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับทุกคน และตัดบทบาทของ ‘ตัวกลาง’ ออกไป ทั้งนี้ อิศราดรเผยข่าวดีว่า อาจเริ่มเปิดให้บริการสิ้นปีนี้หรือไตรมาสแรกของปีหน้า

     “นอกจาก Payment Gateway เรากำลังสร้าง Wallet Network ขึ้นมา ชื่อว่า ‘OmiseGo’ เนื่องจากเราต้องการให้ Wallet ต่างๆ ในตลาด ไม่ว่าจะอยู่ในประเทศไทย หรือในต่างประเทศ สามารถส่งข้อมูลหากันได้หมด แลกเปลี่ยน digital value อะไรก็ได้ จะเป็นคะแนนสะสม (loyalty point) หรือไอเท็มเกมก็ได้ โดยเราวางแผนว่า เทคโนโลยีที่อยู่เบื้องหลังก็คือ บล็อกเชน เราใช้ระบบอีเธอเรียม (Ethereum-based blockchain network) เป็น rail ในการส่งฐานข้อมูล เพราะมันเป็นเน็ตเวิร์กที่ไม่ได้ถูกออกแบบให้ส่งแค่ค่าเงินนะครับ ซึ่งจะแตกต่างจากระบบเน็ตเวิร์กของบิตคอยน์ที่ยังไม่สามารถทำ Microfinancing ได้ในปัจจุบัน เวลาจะส่งบิตคอยน์ไปหากัน มันจะต้องใช้เวลาอย่างเร็วที่สุดคือประมาณครึ่งชั่วโมงต่อ 1 transaction

     “จริงๆ ประเด็นใหญ่ของบล็อกเชนก็คือ ความเร็วในการเขียนบล็อกใช่ไหมครับ ปกติแล้ว transaction ที่เกิดขึ้นทั่วโลกในช่วงพีกของ Visa หรือ Mastercard เขาจะใช้ความเร็วประมาณ 5-6 หมื่นธุรกรรมต่อวินาที (Transaction per second: TPS) ปัจจุบันด้วย Know-how ของ Omise เราทำได้ประมาณหนึ่ง 1 แสน TPS แล้วเราตั้งเป้าว่าจะทำให้ได้ 1 ล้าน TPS
     “ถามว่าทำไมเราต้องทำให้ถึง 1 ล้าน TPS เพราะว่าเราต้องการรองรับทุก transaction ได้ ถ้าวันหนึ่งทุกอย่างมันเปลี่ยนมาเป็นระบบดิจิทัลหมด ซึ่งตัวเน็ตเวิร์ก เราตั้งเป้าว่าจะเปิดให้บริการประมาณสิ้นปีนี้หรือไตรมาสแรกปีหน้า”
เมื่อถามว่าปัจจุบันมีบริการแบบนี้แล้วหรือยังในตลาด อิศราดรกล่าวว่า Omise เป็นเจ้าแรก

     “ยังไม่มีใครทำเลยครับแบบนี้ เราเลือกตัว Wallet เพราะเราต้องการให้คนเข้าถึงบริการทางการเงินได้ง่าย เพราะว่าจริงๆ แล้ว ปัจจุบันยังมีประชากรโลกจำนวนมากที่ไม่สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินได้ หรือเป็นกลุ่ม unbank และเราก็มองว่ากลุ่มที่มีโอกาสเข้าถึง เขาก็คงอยากจะมีบริการทางการเงินที่มีความสามารถมากกว่าการโอนชำระเงินภายในประเทศ การโอนไปต่างประเทศส่วนใหญ่ยังต้องผ่านธนาคาร เสียค่าใช้จ่ายสูง เราจึงต้องการแก้ปัญหาตรงนี้ อีกอย่าง เมื่อ Wallet มาอยู่บนเน็ตเวิร์กของเราเยอะๆ แล้ว กลายเป็นว่าอีกหน่อยเวลาคนเดินทางก็ไม่ต้องพกเงินสดกันแล้ว สมมติว่า TrueMoney Wallet อยู่บน OmiseGo ก็มีเน็ตเวิร์กของญี่ปุ่นที่ดูแลให้กับ Suica หรือ Pasmo ทำให้ต่อไปในอนาคต เวลาคนไทยไปญี่ปุ่นก็ใช้ E-Wallet ในการจ่ายเงินได้เลย โดยไม่ต้องเสียเวลาแลกเงิน”

     ฟังดูคล้ายกับว่าบริการนี้จะเข้ามา disrupt ตัวกลางหรือบริการอื่นๆ ที่มีอยู่แล้ว แต่เขามองว่าบริการนี้จะช่วยส่งเสริมโครงสร้างพื้นฐานของบริการทางการเงินในตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ให้แข็งแรงมากขึ้น

     “เรามองตัวเองว่าเป็นบริษัทที่กำลังทำโครงสร้างพื้นฐานมากกว่า ณ ตอนนี้ เราไม่ได้คิดว่าจะทำเป็น Wallet อันดับหนึ่งของตลาด เพราะว่าการทำแบบนั้นมันก็ต้องแข่งขันกันสูง”

     ทั้งนี้ทางเว็บไซต์ของ Omise ยังชี้ว่าบริการนี้จะสอดคล้องกับเทรนด์ในอีก 7 ปีข้างหน้า ที่คาดว่าคนที่ใช้จ่ายเงินผ่านบัตรจะเปลี่ยนมาใช้บริการ Mobile Payment กันมากขึ้น ขณะที่ร้อยละ 40 การโอนชำระเงินออนไลน์ (Online Transcation) จะเกิดขึ้นผ่าน E-Wallet

 

อ้างอิง:

FYI

Ethereum (อีเธอเรียม) คือ ระบบเครือข่ายที่ใช้เทคโนโลยีบล็อกเชน พัฒนาโดย Vitalik Buterin ชายอัจฉริยะชาวรัสเซีย สามารถประมวลผลธุรกรรมทางการเงินได้อย่างรวดเร็ว กระจายข้อมูลจากตัวกลาง (decentralize) และทำได้มากกว่าการรับ-โอนเงิน เป็นสกุลเงินดิจิทัลอีกประเภทหนึ่ง (ETH) เช่นเดียวกับบิตคอยน์

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X