ถ้า 3-4 ปีที่ผ่านมาเป็นปีที่ธนาคารพาณิชย์ในไทยตื่นตัวเรื่อง Mobile Banking และ e-Payment กันมากขึ้น ปีนี้คงหนีไม่พ้นเรื่องบล็อกเชน (Blockchain) ที่เรียกได้ว่าเป็นหนึ่งใน ‘เทคโนโลยีเปลี่ยนโลก’ (Key Revolution Technologies) ของยุคนี้
ล่าสุด วันที่ 19 กรกฎาคม 2560 ธนาคารกสิกรไทยประกาศเปิดบริการหนังสือค้ำประกันบนบล็อกเชนแล้ว พร้อมอ้างว่าเป็นเจ้าแรกในไทยและในโลก! โดยใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนในโครงการ Hyperledger จาก IBM พร้อมหนุนพันธมิตรจากรัฐวิสาหกิจและเอกชนทั้ง 4 รายมาร่วมทดสอบบริการร่วมกันบน Regulatory Sandbox หรือสนามทดลองนวัตกรรมของธนาคารแห่งประเทศไทย
ที่ผ่านมากระแสบล็อกเชนเริ่มเป็นที่พูดถึงอย่างแพร่หลาย แต่เราก็ยังไม่เห็นสถาบันการเงินไทยขยับตัวหรือลุกขึ้นมาพัฒนาบริการที่รองรับเทคโนโลยีนี้อย่างเป็นรูปธรรมเสียที อาจเพราะเป็นเรื่องใหม่ที่ซับซ้อน เข้าใจยาก ต้องอาศัยความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง จนกระทั่งปี 2560 กสิกรไทยเริ่มประกาศนำเทคโนโลยีบล็อกเชนมาใช้รับรองเอกสารต้นฉบับ โดยร่วมกับ IBM ตามมาด้วยธนาคารไทยพาณิชย์ โดยบริษัท ดิจิทัล เวนเจอร์ส ได้ดึงบล็อกเชนของ Ripple บริษัทผู้ให้บริการด้านการชำระเงินชั้นนำของสหรัฐฯ มารองรับระบบโอนเงินระหว่างประเทศไทยกับญี่ปุ่น เมื่อปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา
ด้าน พิพิธ เอนกนิธิ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย ชี้ว่าเทคโนโลยีนี้จะเข้ามาช่วยขับเคลื่อนธุรกิจไทย โดยคาดว่าจะมีสัดส่วนการทำหนังสือค้ำประกันผ่านระบบธนาคารพาณิชย์สูงถึง 5 แสนฉบับ คิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 1.35 ล้านล้านบาทภายในปีนี้
ทำไมต้องเป็นหนังสือค้ำประกัน เป้าหมายของกสิกรไทยคืออะไร บล็อกเชนจะเข้ามาพลิกโฉมของการทำธุรกรรม และเอื้อประโยชน์กับการขับเคลื่อนธุรกิจอย่างไร ติดตามในบทความนี้กันได้เลย!
อุดช่องโหว่ของหนังสือค้ำประกัน ลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพ สร้างความน่าเชื่อถือ
พิพิธ เอนกนิธิ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย เผยถึงสาเหตุที่เลือกนำเทคโนโลยีนี้มาแก้ปัญหาเรื่องการออกหนังสือค้ำประกัน เพราะธุรกิจขนาดใหญ่และหน่วยงานรัฐมักประสบปัญหาในการจัดการเอกสาร รวมทั้งยังมีเป็นช่องโหว่ที่ก่อให้เกิดต้นทุนแฝงซึ่งคนทั่วไปอาจมองไม่เห็น
ตามปกติแล้วเวลาคู่ค้าทำสัญญาธุรกิจจะทำหนังสือค้ำประกันผ่านธนาคาร เพื่อสร้างความมั่นใจ (และเป็นหลักฐาน) ในการประกอบธุรกิจร่วมกัน ประเทศไทยมีหนังสือค้ำประกันที่ออกโดยธนาคารมากถึงร้อยละ 80 ซึ่งบ่อยครั้งใช้เวลาดำเนินการนาน ผ่านกระบวนการหลายขั้นตอน และอาจสูญหายระหว่างทาง ขณะที่การออกหนังสือค้ำประกันออนไลน์ในปัจจุบันยังเสี่ยงถูกปลอมแปลง ทางกสิกรไทยจึงพัฒนา ‘OriginCert ’ บริการหนังสือค้ำประกันบนระบบบล็อกเชนครั้งแรกของโลก ที่เปิดให้ภาคธุรกิจ ธนาคาร และหน่วยงานอื่นๆ เข้ามาใช้ได้อย่างสะดวก รวดเร็ว โดยไม่จำเป็นต้องมีความรู้ความเชี่ยวชาญเชิงเทคนิคของบล็อกเชนโดยตรง
กสิกรไทยจะนำร่องใช้กับการรับรองเอกสารหนังสือค้ำประกัน (Letter of Guarantee: LG) เป็นบริการแรก ซึ่งธุรกิจขนาดใหญ่และหน่วยงานรัฐมักประสบปัญหาในการจัดการเอกสาร โดยได้พันธมิตรทางธุรกิจมาเข้าร่วมด้วย คือ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค การไฟฟ้านครหลวง บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) และบริษัท พีทีที โพลีเมอร์ มาร์เก็ตติ้ง จำกัด
ถามว่าทำไมต้องเป็นเทคโนโลยีบล็อกเชน ในเมื่อปัจจุบันเราสามารถขอหนังสือค้ำประกันผ่านระบบออนไลน์ได้แล้ว สมคิด จิรานันตรัตน์ รองประธาน กสิกร บิซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป ชี้ว่าบล็อกเชนจะเข้ามาช่วยแก้ Pain Point คือ
1. มีความปลอดภัยสูง (Security) ด้วยระบบข้อมูลที่น่าเชื่อถือ (Trust) สามารถยืนยันความถูกต้องได้ ที่สำคัญปลอมแปลงยาก เพราะข้อมูลที่อยู่ในบล็อกเชนจะแก้ไขไม่ได้
2. ประหยัดต้นทุน (Cost Saving) ค่าเสียโอกาสและค่าใช้จ่ายด้านเอกสารมากถึง 2 เท่า
3. ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินการ (Efficiency) ทำได้ทุกที่ ทุกเวลาตลอด 24 ชั่วโมง และกำหนดเงื่อนไขเองได้ เช่น ต่อสัญญาอัตโนมัติหรืออนุมัติหลังจ่ายเงินเท่านั้น
4. ลดขั้นตอนการจัดการเอกสารที่ยุ่งยาก ใช้เวลานานเป็นสัปดาห์ให้เหลือภายใน 1 วัน
5. ใช้ระบบข้อมูลแบบรวมศูนย์ (Consolidated Information) ทุกข้อมูลธุรกรรมจะอยู่บนบล็อกเชน ทำให้ติดตามและตรวจสอบข้อมูลได้ง่าย (Traceability)
6. สร้างโอกาสทางธุรกิจ (Business Opportunity) ทำให้ขับเคลื่อนธุรกิจได้เร็ว เพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันภายในประเทศและต่างประเทศ
หมดยุคกระดาษ เพราะเศรษฐกิจดิจิทัลจะมุ่งสู่สังคมไร้เงินสดและเอกสาร (Cashless and Paperless Society)
นอกจากนี้ กสิกรไทยยังมองว่าบล็อกเชนจะตอบโจทย์แนวทางเศรษฐกิจดิจิทัลภายใต้นโยบายไทยแลนด์ 4.0 ของรัฐบาล ทุกวันนี้สังคมไทยมีภาระต้นทุนการหมุนเวียนเงินสดในประเทศสูง การทำธุรกรรมส่วนใหญ่ยังใช้เอกสารกระดาษเพื่อเป็นหลักฐาน เช่น สเตทเมนต์ธนาคาร สัญญา และโฉนดที่ดิน ทั้งที่มีต้นทุนสูง สูญหายง่าย และตรวจสอบยาก แม้ว่าบริษัทองค์กรและหน่วยงานจะเริ่มใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์กันเพิ่มมากขึ้นแล้วก็ตาม
บริการออกหนังสือค้ำประกันบนบล็อกเชนจึงน่าจะช่วยลดปริมาณการใช้กระดาษและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม โดยคาดว่ามูลค่าของ LG จะสูงถึง 1.3 ล้านล้านบาทในปีนี้ โดยร้อยละ 35 เป็นสัดส่วนหนังสือค้ำประกันที่ออกโดยกสิกรไทย ประมาณ 3.3 แสนล้านบาท ผ่านสาขาร้อยละ 80 และผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ร้อยละ 20 และคาดว่าในสิ้นปี สัดส่วนการใช้บริการ LG ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์จะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 35 โดยผ่านบล็อกเชนร้อยละ 5
พิพิธ เอนกนิธิ กล่าวว่าเทคโนโลยีนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นของภาครัฐและภาคเอกชนหันมาสนใจการใช้นวัตกรรม เพื่อยกระดับธุรกิจไทยและปูทางไปสู่สังคมไร้เงินสดและเอกสารในอนาคต
รัฐและเอกชนตื่นตัว มองบล็อกเชนเป็นอนาคต ไม่ปรับก็ยากจะอยู่รอด
การเปิดตัวบริการใหม่ครั้งนี้ยังเป็นหนึ่งในพันธกิจของกสิกรไทยที่พยายามปรับตัวให้ทันเทคโนโลยีดิจิทัลสู่ยุค Digitization และยังสะท้อนให้เห็นถึงการตื่นตัวของภาคธุรกิจเอกชน ธนาคารกลาง รวมทั้งรัฐวิสาหกิจที่ถูกมองว่าล้าสมัยได้อย่างน่าสนใจ
บนเวทีเสวนาในหัวข้อ ‘Blockchain เทคโนโลยีเปลี่ยนโลก’ ตัวแทนของแต่ละภาคส่วนได้ร่วมแสดงทัศนะต่อการเข้าร่วมบริการ OriginCert บนบล็อกเชนกันอย่างคึกคัก พร้อมชี้ว่าระบบธุรกรรมในปัจจุบันยังมีปัญหาอีกมาก ทำให้ธุรกิจทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ
สิริธิดา พนมวัน ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายระบบการชำระเงินและ เทคโนโลยีทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ชี้ว่าทุกฝ่ายควรจับตา 6 เทคโนโลยีสำคัญที่จะเข้ามาพลิกโฉมอนาคตทางการเงิน ได้แก่
- บล็อกเชน ซึ่งปัจจุบันมีธนาคารพาณิชย์ 2 รายที่เข้ามาร่วมพัฒนาบน Regulatory SandBox ของ ธปท.
- QR Payment เพิ่มประสิทธิภาพของระบบการชำระเงินผ่านคิวอาร์โค้ด เช่น Alipay
- เทคโนโลยีไบโอเมตริกส์ (Biometrics) ที่ใช้ยืนยันตรวจสอบตัวตนในการทำธุรกรรม
- การวิเคราะห์ประมวลผลคลังข้อมูลด้วย Big Data และ Data Analytics
- Machine Learning และ AI
- Standard Open APIs การแชร์โครงสร้างพื้นฐานบนแพลตฟอร์มร่วมกันจะช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจไทยไปสู่ Sharing Economy
ทั้งนี้ ธปท. มองว่าบทบาทใหม่ของ ธปท. ที่เปิดสนามทดลองนวัตกรรมขึ้นมาจะช่วยดูแลความเสี่ยงของสถาบันการเงินที่นำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ พร้อมช่วยสนับสนุนให้เกิดนวัตกรรมใหม่ที่มีประสิทธิภาพอย่างแท้จริง ย้ำ ‘ถ้ามัวแต่กลัวความเสี่ยง นวัตกรรมก็ไม่เกิด’
ทางด้าน สารนิต อังศุสิงห์ รองผู้ว่าการเทคโนโลยีสารสนเทศและระบบสื่อสาร การไฟฟ้านครหลวง อธิบายว่าปัญหาสำคัญของหน่วยงานคือการค้ำประกันค่าไฟ รวมทั้งค่าลงทุนซื้อและติดตั้งอุปกรณ์ซึ่งคิดเป็นเงินหลายหมื่นล้านบาท/ปี ขณะที่ ชิณเสณี อุ่นจิตติ ผู้ช่วยผู้ว่าการ บัญชีและการเงิน การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ชี้ว่าไฟฟ้าเป็นสินค้าใช้ก่อน จ่ายทีหลัง จึงต้องทำหนังสือค้ำประกันการใช้ไฟเช่นกัน แต่การตรวจสอบเอกสารชำระเงินในต่างจังหวัดทำได้ล่าช้า เพราะข้อมูลกระจัดกระจาย ทั้งสองจึงมองว่าบล็อกเชนจะช่วยลดขั้นตอนการทำงานและต้นทุน ทำให้มีเวลาพัฒนาบุคลากรมากขึ้น
ขณะที่ ดวงกมล เศรษฐธนัง รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานการเงินและบัญชี บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) ชี้ว่าการซื้อขายผลิตภัณฑ์เคมีของบริษัทต้องมีหนังสือค้ำประกันหรือ LG การันตีโดยธนาคารเช่นกัน ซึ่งใช้เวลาดำเนินการล่าช้าอย่างน้อย 2-3 สัปดาห์ ขณะที่บล็อกเชนทำได้ภายในวันเดียว เมื่อระบบธุรกรรมมีประสิทธิภาพก็จะช่วยประหยัดเวลาและเพิ่มความสามารถเรื่องการแข่งขันทางธุรกิจในที่สุด
อนาคตของบล็อกเชนที่ไม่จำกัดแค่เรื่องของการเงิน
สมคิด จิรานันตรัตน์ ชี้ว่าในอนาคตยังสนใจบล็อกเชนทั้งในแง่
1. การยืนยันตัวตน (Identity) ที่เชื่อมโยงกับระบบทุกธนาคาร โดยที่ลูกค้าไม่ต้องคอยยื่นเอกสารหรือสำเนาบัตรประชาชนให้กับธนาคารแต่ละแห่ง
2. การแลกเปลี่ยนความเป็นเจ้าของสินทรัพย์ (Asset Ownership) ซึ่งบล็อกเชนจะบันทึกข้อมูลทันทีที่มีการโอนย้าย/แลกเปลี่ยนสินทรัพย์ เช่น โฉนดที่ดิน
3. การทำประกันและเคลมประกัน (Insurance & Claim) เช่น การเคลมประกันสุขภาพที่สามารถติดตามผลหรือตรวจสอบข้อมูลได้อย่างรวดเร็ว
ที่สำคัญโอกาสของบล็อกเชนไม่ได้จำกัดแค่ในกลุ่มธุรกิจการเงินเท่านั้น แต่ยังเป็นไปได้ในทุกอุตสาหกรรม พร้อมยกกรณีตัวอย่างของ Walmart ที่ได้บล็อกเชนควบคู่กับระบบสมาร์ตฟาร์ม ติดตามข้อมูลของเนื้อสัตว์จากฟาร์มในแต่ละเมืองเพื่อตรวจสอบคุณภาพและป้องกันโรคระบาด โดยชี้แนะว่าธุรกิจจะใช้นวัตกรรมได้สำเร็จจะต้องศึกษาและใช้กรณีตัวอย่างที่น่าสนใจและสอดรับกับโมเดลของตัวเอง พร้อมย้ำว่าทุกฝ่ายต้องช่วยกันสนับสนุนเพื่อสร้างระบบนิเวศ แทนที่จะแยกตัวออกมาพัฒนาแพลตฟอร์มแข่งกันเอง เพื่อประโยชน์สูงสุดของทุกคน