×

สินค้าหลากหลาย ดีไซน์ร้านดี มีมุมถ่ายรูป เปิดกล่องความสำเร็จฉบับ Matchbox มัลติแบรนด์สโตร์ชื่อดัง

05.06.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

7 Mins. Read
  • Matchbox คือมัลติแบรนด์สโตร์ที่ก่อตั้งเมื่อพ.ศ. 2559 หลังบี-สราลี ชายสมสกุล เจ้าของแบรนด์ขายเสื้อผ้าออนไลน์ อยากมีหน้าร้านเป็นของตัวเองให้ลูกค้าได้เลือกลองก่อนตัดสินใจซื้อ แต่ติดปัญหาเรื่องค่าเช่าสถานที่ แนวคิดการชักชวนกลุ่มเจ้าของแบรนด์ออนไลน์ต่างๆ มาร่วมลงขันทำมัลติแบรนด์สโตร์จึงเกิดขึ้น
  • การขยายสาขาแต่ละแห่งจะเน้นการตกแต่งร้านด้วยสไตล์ที่ไม่ซ้ำกัน เน้นการจัดมุมให้คนมาถ่ายรูปกับสถานที่เพื่อช่วยโปรโมตตัวร้านผ่านช่องทางต่างๆ บนโลกออนไลน์
  • มีการใช้พื้นที่ชั้น 3 ของสาขา Pink Planter ดัดแปลงเป็นคาเฟ่ และทำธุรกิจแบบ collaborative store ร่วมกับ Bonca Cookie Ice Cream แบรนด์ไอศกรีมที่โดดเด่นด้านการตกแต่งหน้าตาขนมเป็นคาแรกเตอร์ตัวการ์ตูน

     หากคุณเป็นคนหนึ่งที่เดินผ่านไปมาย่านแหล่งช้อปปิ้งยอดฮิตอย่างสยามสแควร์เป็นประจำ หรือมีโอกาสแวะเวียนไปยังละแวกดังกล่าวในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา เราเชื่อว่าคุณคงจะเคยเห็นอาคารสีชมพูที่ตั้งตระหง่านบริเวณลานหน้า Hard Rock Cafe เพราะนอกจากจะโดดเด่นด้วยสีชมพูโทนเดียวกับตัวการ์ตูนพิงก์แพนเตอร์แล้ว ยังมีผู้คนจำนวนมากมายืนออบริเวณหน้าร้านให้เห็นเป็นประจำทุกวัน

     ภายหลังการสืบค้นข้อมูลเราจึงทราบว่า ครั้งหนึ่งอาคารหลังนี้เคยเป็นสถานที่ตั้งของร้านไอศกรีมชื่อดังมาก่อน ทั้งยังได้รับการกล่าวขวัญในแง่ของสถาปัตยกรรมที่มีรูปทรงสวยงามในย่านสยามสแควร์เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว โดยปัจจุบันอาคาร 3 ชั้นแห่งนี้ได้ถูกเนรมิตให้กลายเป็น Matchbox มัลติแบรนด์สโตร์ยอดนิยมในชื่อเก๋ๆ อย่าง Pink Planter สาขาที่ 2 ถัดจาก White Corner

     ในวันที่ธุรกิจมัลติแบรนด์สโตร์กำลังโตวันโตคืนสอดคล้องไปกับทิศทางและจำนวนแบรนด์สินค้าออนไลน์ที่กำลังพุ่งทะยานขึ้นบนกราฟอย่างต่อเนื่อง เราชวน บี-สราลี ชายสมสกุล หนึ่งในทีมผู้ก่อตั้งร้าน Matchbox มาร่วมพูดคุยถึงแรงผลักดันในการตัดสินใจทำธุรกิจมัลติแบรนด์สโตร์ พร้อมถอดเคล็ดลับความสำเร็จในแบบของเธอ

ค่าเช่าออกบูทตามตลาด flea market ระยะสั้นๆ 2-3 วันก็เริ่มต้นเฉลี่ยไล่เลี่ยกับค่าเช่าที่เขามาอยู่ภายในร้านเราทั้งเดือนแล้ว

 

มัลติแบรนด์สโตร์ จาก Online สู่ On Ground ร่วมแชร์ค่าที่ เพิ่มโอกาสการขาย

     ย้อนกลับไป พ.ศ. 2558 สราลีเริ่มขายเสื้อผ้าออนไลน์ภายใต้แบรนด์ของตัวเองชื่อ Saralee Boutique เมื่อดำเนินธุรกิจมาสักระยะจนพบว่าลูกค้าให้การตอบรับดี เธอจึงมองข้ามสเต็ปไปถึงการมีหน้าร้านเป็นของตัวเองเพื่อให้ลูกค้าได้มาเลือกลองสินค้าก่อนตัดสินใจซื้อ เนื่องจากหนึ่งในปัญหาสำคัญที่เธอมักพบในช่วงดำเนินธุรกิจคือความลังเลเรื่องไซส์และสีที่นำไปสู่การไม่กล้าตัดสินใจซื้อสินค้าบนโลกออนไลน์

     “ตอนนั้นเราอยากได้หน้าร้านที่สยามสแควร์มาก แต่พอมาลองคำนวณค่าเช่าก็พบว่าราคาค่อนข้างสูงเลยทีเดียว แค่พื้นที่ห้องเล็กๆ ก็เริ่มต้นประมาณ 2 แสนบาทต่อเดือนแล้ว รู้สึกว่าถ้าทำแบรนด์เดียวในร้านเล็กๆ ก็คงไม่เวิร์ก ฉะนั้นก็เปิดเป็นมัลติแบรนด์สโตร์ไปเลยดีกว่า เพราะคงมีเจ้าของแบรนด์สินค้าออนไลน์อีกหลายแบรนด์ที่อยากมีหน้าร้านเป็นของตัวเอง เรามองว่ามัลติแบรนด์สโตร์คือโมเดลธุรกิจที่วิน-วินทั้งเจ้าของสถานที่และเจ้าของแบรนด์ เพราะค่าเช่าออกบูทตามตลาด flea market ระยะสั้นๆ 2-3 วันก็เริ่มต้นเฉลี่ยไล่เลี่ยกับค่าเช่าที่เขามาอยู่ภายในร้านเราทั้งเดือนแล้ว ที่สำคัญสิ่งที่แบรนด์ต้องทำก็มีแค่การอัพเดตสต็อกเข้ามา ฝั่งเราจะบริการด้านงานขายและจัดการระบบสต็อกให้ทุกอาทิตย์”

     กระทั่งเดือนมีนาคม พ.ศ. 2559 สราลีก็เปิดตัวมัลติแบรนด์สโตร์ Matchbox สาขาแรกอย่างเป็นทางการบริเวณสยามสแควร์ ซอย 11 ในชื่อสาขา White Corner ซึ่งได้รับการตอบรับดีมาก ก่อนที่ความท้าทายครั้งใหญ่จะมาเยือน หลังทราบว่าสถานที่ตั้งของร้านติดปัญหาสัญญาที่สยามสแควร์มีแพลนจะทำการรีโนเวตตึกใหม่

     “เราตัดสินใจเริ่มต้นหาสถานที่ขยายร้านสาขาที่สอง ก่อนจะมาได้อาคารบริเวณ Hard Rock Cafe โดยเปิดตัวไปเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมาในชื่อ Pink Planter เพราะเรามองว่าถ้าตัวร้าน White Corner ต้องปิดตัวลง ยังไง Matchbox ก็จะต้องมีสาขาที่สยามสแควร์ เพราะเป็นแหล่งช้อปปิ้งยอดนิยม และเป็นโอกาสที่ดีที่เราจะได้ขยายพื้นที่ร้านไปในตัว”

 

 

ทำธุรกิจเน้นกลุ่มเป้าหมายคนรุ่นใหม่ ดีไซน์ร้านต้องเลิศ! มุมถ่ายภาพเก๋ๆ ต้องมา!

     หนึ่งในกิจกรรมยอดฮิตของคนไทยในยุคที่กล้องโทรศัพท์มือถือทรงประสิทธิภาพไม่ต่างจากกล้องถ่ายรูปดิจิทัลคือ การถ่ายรูปพร้อมตกแต่งก่อนอัพโหลดลงบนโซเชียลมีเดีย ซึ่งกลายมาเป็นแรงบันดาลใจที่ทำให้สราลีผุดแนวคิดทำการตลาดด้วยการตกแต่งร้าน Matchbox ในแต่ละสาขาให้เก๋ไก๋ด้วยรูปลักษณ์ที่ต่างกัน โดยมีจุดประสงค์หลักเพื่อดึงดูดลูกค้าและผู้คนให้เข้ามาถ่ายรูปที่ร้าน ก่อนจะอาศัยรูปภาพเหล่านั้นเป็นตัวช่วยโปรโมตร้านบนโลกออนไลน์ เช่น White Corner ที่เน้นการตกแต่งด้วยโทนสีขาวและดำในสไตล์คลีนและลอฟต์ ขณะที่ Pink Planter จะเน้นโทนสีชมพูกลางๆ พร้อมประดับตกแต่งด้วยกระถางต้นไม้นานาพรรณ เราจึงมีโอกาสได้เห็นผู้คนจำนวนไม่น้อยทั้งในและหน้าร้าน Matchbox โพสท่าถ่ายรูปในหลากมุมและหลายอิริยาบถ

     “โซเชียลมีเดียมีอิทธิพลมากๆ แค่คนคนเดียวมาถ่ายรูปที่ตัวร้านก็อาจจะกลายเป็นกระแสส่งต่อให้คนอื่นๆ อยากแวะเข้ามาในร้านของคุณมากขึ้นได้แล้ว การที่ร้านค้าต่างๆ มีมุมถ่ายรูปให้คนได้นำไปโพสต์ลงโซเชียลมีเดียถือเป็นเรื่องสำคัญ เพราะมีผลในการสร้าง awareness กับคนทั่วๆ ไปให้ได้รู้จักตัวร้านและธุรกิจของคุณมากขึ้น ไม่จำเป็นว่าเขาจะได้ถ่ายรูปต่อเมื่อเป็นลูกค้าที่ร้าน แต่ถ้าเขาได้ถ่ายรูปกลับไปแล้วรู้สึกดี ครั้งต่อไปเขาอาจจะอยากกลับมาอุดหนุนเราก็ได้ อย่างตอนนี้เราตั้งใจไว้ว่าถ้าจะขยายสาขาในอนาคต การออกแบบร้านก็จะต้องไม่ซ้ำกับ 2 สาขาแรกแน่นอน”

การที่ร้านค้าต่างๆ มีมุมถ่ายรูปให้คนได้นำไปโพสต์ลงโซเชียลมีเดียถือเป็นเรื่องสำคัญ เพราะมีผลในการสร้าง awareness 

 

‘มาที่เดียวต้องได้ครบ’ มีสินค้าให้เลือกจับจ่ายหลากหลาย ไม่จำกัดแค่เสื้อผ้าหรือเครื่องประดับ

     มัลติแบรนด์สโตร์อย่าง Matchbox เน้นจับกลุ่มเป้าหมายเพศหญิงในช่วงวัยรุ่นไปจนถึงวัยทำงานเป็นหลัก แต่ก็มีสินค้าบางชิ้นที่เป็นยูนิเซ็กซ์ โดยเฉลี่ยราคาของสินค้าทั่วๆ ไปจะเริ่มต้นอยู่ที่ประมาณ 500 บาท

     และเมื่อกวาดสายตาคร่าวๆ ไปทั่วร้านก็จะพบกับสินค้ามากมายหลากหลายประเภทถูกจัดวางอย่างเป็นระเบียบบนเชลเตอร์และราวแขวนสินค้า ทั้งเสื้อผ้าหลากสไตล์, นาฬิกา, เครื่องประดับ, กระเป๋า, เครื่องสำอาง หรือแม้แต่อาหารเสริม โดยสาเหตุที่สราลีเลือกนำสินค้าเข้ามาวางขายในร้านหลากประเภท เพราะเธอต้องการให้ลูกค้ามาที่ Matchbox ที่เดียวแล้วได้สินค้ากลับออกไปครบทุกชิ้นที่ต้องการ

     “เราเลือกสินค้าเข้ามาวางขายหลายประเภท ซึ่งส่วนใหญ่ก็ค่อนข้างขายดีเลยนะ เพราะลูกค้ามาที่เดียวแล้วจบ อย่างก่อนหน้านี้ก็เคยรับเฟอร์นิเจอร์ตกแต่งบ้านเข้ามาวางขายอยู่บ้าง แต่ติดปัญหาเรื่องพื้นที่ไม่เพียงพอ ส่วนสินค้าแนวเสื้อผ้า เราจะรับแบรนด์สตรีทที่เข้าถึง everyday look ของคนทั่วไปและราคาไม่สูงเข้ามาวางขายเป็นหลัก เพราะกลุ่มเป้าหมายของเราจะไม่เน้นกลุ่มที่โตมาก”

 

เลือกใช้ Influencer โปรโมตร้านถูกคน ผลลัพธ์ยิ่งทวีคูณ!

     เราพบว่า Matchbox มักจะจัดกิจกรรมโปรโมตตัวร้านและสินค้าต่างๆ โดยให้เน็ตไอดอลหรืออินฟลูเอนเซอร์บนโลกออนไลน์มาทำวิดีโอไลฟ์บนเฟซบุ๊กให้เห็นอยู่เป็นประจำ โดยเบื้องหลังกลยุทธ์นี้มาจากการสังเกตของสราลีที่เธอมองว่าคนไทยชอบดูวิดีโอไลฟ์กันเป็นจำนวนมาก ซึ่งก็เป็นหนึ่งเทคนิคที่ช่วยเรียกยอดไลก์และผู้ติดตามบนโซเชียลมีเดีย

     “เรามีการโปรโมตผ่านทั้งการทำวิดีโอไลฟ์และการถ่ายแบบลงบนโซเชียลมีเดีย อย่างวิดีโอไลฟ์ เราพบว่ามันมีผลในแง่การสร้าง awareness กับตัวคนดูมากๆ เลยทีเดียว เวลาที่คนทำไลฟ์วิดีโอนำเสนอสินค้าภายในร้านชิ้นไหน สินค้าชิ้นนั้นก็จะขายดีขึ้นมาทันตา ส่วนใหญ่จะพยายามใช้เน็ตไอดอลมาไลฟ์ เพราะเขาชำนาญในการทำวิดีโอไลฟ์ ส่วนการถ่ายแบบก็จะเลือกใช้นางแบบที่เป็นคนทั่วๆ ไป ไม่เน้นใช้งานคนที่หน้าตาดีมากหรือเป็นดารา เพราะต้องการให้คนทั่วไปรู้สึกอินกับสินค้าที่ตัวแบบสวมใส่มากที่สุด”

 

 

ใช้พื้นที่ภายในร้านให้เกิดประโยชน์ด้วยการทำธุรกิจรูปแบบ Collaborative Store

     ปัจจุบัน Matchbox สาขา Pink Planter ใช้พื้นที่ในการวางขายสินค้าในชั้น 1 และ 2 เป็นหลัก ส่วนพื้นที่บริเวณชั้น 3 ถูกตกแต่งเป็นคาเฟ่และจะเปิดให้บริการในเดือนมิถุนายน ซึ่งความพิเศษของคาเฟ่อยู่ที่การเป็นพาร์ตเนอร์กันระหว่าง Matchbox เจ้าของสถานที่ และ Bonca Cookie Ice Cream แบรนด์ไอศกรีมที่มีจุดเด่นด้านการตกแต่งหน้าตาขนมเป็นคาแรกเตอร์ตัวการ์ตูนได้อย่างน่ารักน่าชัง

     “เราพอแล้วกับร้านเสื้อผ้าจำนวน 2 ชั้น และคนก็คงเดินช้อปเสื้อผ้าจนเหนื่อยแล้ว เลยรู้สึกว่าต้องมีพื้นที่ให้เขาได้ขึ้นไปนั่งพักกินขนม เครื่องดื่ม หรือถ่ายรูป เราจับมือกับ Bonca Cookie Ice Cream ที่ในระยะหลังๆ เริ่มเป็นที่รู้จักของกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวจีนมากขึ้น ซึ่งก็จะทำให้ Matchbox ได้กลุ่มลูกค้าชาวจีนเพิ่มขึ้นเช่นกัน โดยเขาจะครีเอตเมนูใหม่ๆ สำหรับร้านเราขึ้นมาโดยเฉพาะ

     “สุดท้ายเราก็ไม่รู้เหมือนกันนะว่ามัลติแบรนด์สโตร์มันจะกลายเป็นแค่ธุรกิจที่อิงกับกระแสในช่วงเวลาหนึ่งหรือเปล่า แต่เรามองว่าคนรุ่นใหม่อยากมีธุรกิจเป็นของตัวเองกันมากขึ้น มีแบรนด์ใหม่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา ซึ่งแม้ว่าโมเดลธุรกิจของเราจะคล้ายกับห้างสรรพสินค้า แต่แบรนด์ที่จะเข้าไปวางขายในห้างสรรพสินค้าได้ส่วนใหญ่จะต้องดูดีและดูแพง กระบวนการเข้าไปวางขายก็ทำได้ยากกว่า ขณะที่มัลติแบรนด์อย่างเราจะเข้าถึงกลุ่ม SMEs หรือเจ้าของแบรนด์ที่มีความเป็น local ได้ดีกว่า”

FYI
  • ปัจจุบัน Matchbox สาขา Pink Planter มีแบรนด์มาวางขายเป็นจำนวนกว่า 100 แบรนด์ โดยในช่วงเริ่มต้นที่สาขา White Corner พวกเขามีแบรนด์มาร่วมวางขายเพียง 40 แบรนด์เท่านั้น
  • ปัจจุบันมีการเก็บค่าเช่าพื้นที่ในรูปแบบ fix rate เริ่มต้นตั้งแต่ 10,000 บาท ไปจนถึงสูงสุดที่ประมาณ 20,000 บาท
  • ในระยะแรกๆ ของการทำธุรกิจ Matchbox ดำเนินการเก็บค่าเช่าพื้นที่ในรูปแบบ GP หรือแบ่งเปอร์เซ็นต์จากยอดขายสินค้า 30 เปอร์เซ็นต์ในช่วงแรก
  • ชื่อร้าน Matchbox นั้น คำว่า match มีที่มาจากคำว่า mix & match ที่ตั้งใจจะให้คนได้มาเลือกซื้อสินค้าที่มีหลากหลายแนว ขณะที่คำว่า box มีที่มาจากลักษณะราวแขวนเสื้อผ้าที่มีรูปทรงคล้ายกล่อง
  • เราพบจุดเชื่อมโยงเล็กๆ ที่น่าสนใจไม่น้อย คือการที่หุ้นส่วนจำนวนหนึ่งของมัลติแบรนด์สโตร์ทั้ง 3 ร้าน ได้แก่ Matchbox, SOS และ Camp ล้วนแล้วแต่สำเร็จการศึกษามาจากคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แทบทั้งสิ้น
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising