ช่อง 3 และช่อง 9 ประกาศปรับแผนครั้งใหญ่ในช่วงกำลังจะพ้นครึ่งปีแรก
ช่อง 3 ปรับเพื่อ ‘รักษาสภาพ’ และรักษาระดับรายได้ที่มีแนวโน้มลดลงเรื่อยๆ
ส่วนช่อง 9 ปรับเพื่อ ‘หนีตาย’ เพราะปีที่แล้ว (2559) ขาดทุนหนัก เป็นการขาดทุนครั้งแรกในรอบ 39 ปี รายได้ติดลบ 758 ล้านบาท
แม้เหตุผลการปรับแผนจะต่างกัน แต่ทั้งสองช่องต่างปรับแผนเพื่อรับมือกับสิ่งเดียวกัน
นั่นคือสายลมแห่งความเปลี่ยนแปลงที่รุนแรงเกินคาดเดา
พ.ศ. 2560 ภูมิทัศน์สื่อจะเปลี่ยนไปอีกแค่ไหน ยังไม่มีใครกล้าฟันธง แต่ทุกคนล้วนตระหนักว่า เวลาของการปรับตัวเหลือไม่มากแล้ว
ช่อง 9 MCOT HD ปรับผัง หวังดึงเรตติ้ง เพิ่มรายได้
ตั้งแต่ 1 กรกฎาคมนี้ ช่อง 9 MCOT HD ปรับผังและวางคอนเซปต์ใหม่ โดยวางตำแหน่งตัวเองเป็น ‘ช่องวาไรตี้’ มาในคอนเซปต์ ‘Wisdom TV’ ที่ดูสนุก มีสาระ เพิ่มพูนสติปัญญา เท่าทันโลก
สัดส่วนรายการเน้นบันเทิงเป็นหลัก คือ
38% – บันเทิง
35% – ข่าวและรายงานสถานการณ์
13% – สาระบันเทิง
11% – สาระความรู้
3% – กีฬา
ทำไมต้องเน้นบันเทิง?
“คนรุ่นใหม่สนใจรายการบันเทิงที่มีความแตกต่างและดูได้อย่างเพลิดเพลิน” เขมทัตต์ พลเดช กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ. อสมท (MCOT) กล่าว
รายการกลุ่มข่าวที่เน้นเป็นอันดับสอง จะสร้างความแตกต่างด้วยคอนเซปต์ ‘รู้ก่อน ลึกกว่า’
ขณะที่กลุ่มรายการประเภท light entertainment ช่วงเฟสแรก จะนำซีรีส์จีน-เกาหลี และสารคดีระดับโลก ‘The Wonderful Animals’ ที่นำเสนอชีวิตสุดแปลกของสัตว์ทั่วโลกเข้ามาฉาย
ด้านการผลิตรายการ ทางช่องต้องการกำหนดทิศทางของช่องให้ชัด จึงเลือกตัดรายการย่อยๆ ที่เช่าเวลาออกไป เพื่อเพิ่มสัดส่วนรายการที่สถานีผลิตเอง
ส่งผลให้สัดส่วนรายการที่ผลิตเองมีมากถึง 84.12%
จะเห็นว่าการปรับผังของช่อง 9 ครั้งนี้ เน้นไปที่กลุ่มผู้ชมที่เป็น ‘คนรุ่นใหม่’ และวางตัวเองเป็น ‘ช่องวาไรตี้’
ซึ่ง เขมทัตต์ พลเดช ในฐานะหัวเรือใหญ่มองว่า จะตรงใจกลุ่มผู้ชมช่อง 9 และจะช่วยดึงเรตติ้งช่วงครึ่งปีหลังดีขึ้น
นอกจากนี้ยังมีแผนนำคอนเทนต์บนวิทยุและทีวีมาต่อยอดบนแพลตฟอร์มออนไลน์ เพื่อ ‘หลอมรวมสื่อ’ ให้เข้าถึงคนมากขึ้น
หากดูจากข้อมูลการปรับแผนของช่อง 9 ข้างต้น ไม่ว่าจะเป็น การปรับผัง ปรับสัดส่วนคอนเทนต์ โกออนไลน์ หรือหลอมรวมสื่อ ดูเหมือนจะไม่มีอะไรใหม่
ครั้งหนึ่ง สุวิทย์ มิ่งมล ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) พูดถึงการแต่งตั้ง เขมทัตต์ พลเดช (ซึ่งก่อนหน้านี้เป็นผู้บริหารช่อง PPTV และเป็นอดีตลูกหม้อ อสมท) เมื่อวันที่ 7 มีนาคมที่ผ่านมาว่า การเข้ามารับงานใหญ่ของเขมทัตต์ครั้งนี้จะนำความหวังใหม่มาสู่พนักงาน อสมท
ซึ่งคงต้องดูกันต่อไปว่า ตัวเลขผลกำไรที่ร่วงลงอย่างต่อเนื่องตลอด 5 ปีที่ผ่านมา
2555 : 1,768,449,640
2556 : 1,527,833,603
2557 : 480,854,219
2558 : 43,665,395
2559 : -757,787,580
2560 : ?
จบสิ้นปีนี้ ตัวเลขในบรรทัดสุดท้ายจะกระเตื้องขึ้นหรือไม่ และเขมทัตต์คือความหวังใหม่ของ อสมท หรือเปล่า?
ตัวเลขกำไร-ขาดทุนสิ้นปี 2560 น่าจะตอบข้อสงสัยนี้ได้ดีที่สุด
ช่อง 3 ปรับทัพ-แผน รักษาสภาพ ขอแค่รายได้เท่าปีที่แล้ว
ขณะที่ช่อง 3 ปรับทัพใหญ่ เมื่อ 27 มิถุนายนที่ผ่านมา ในวันครบรอบ 47 ปี ช่อง 3 โดยตั้ง ประชุม มาลีนนท์ เป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัท หรือ G-CEO
ในวันนั้น ประชุม มาลีนนท์ ไม่ได้พูดว่า การรับหน้าที่ครั้งนี้เป็นงานยาก แต่บางคำพูดของเขาสื่อความหมายเช่นนั้น
คำพูดแรก ประชุมพูดถึงภาพรวมอุตสาหกรรมสื่อโฆษณา (ซึ่งเป็นรายได้หลักของทีวี) ครึ่งปีแรกติดลบ 10% เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจและกำลังซื้อของคนยังไม่กลับสู่ปกติ ส่งผลให้ยอดขายสินค้าลด ยอดขายและงบโฆษณาจึงลดตาม
คำพูดที่สอง ประชุมบอกว่า การแข่งขันในอุตสาหกรรมสื่อวันนี้สูงมาก เนื่องจากจำนวนช่องเยอะขึ้น ผู้ชมและเม็ดเงินโฆษณาจึงกระจายตัว ส่งผลให้สถานีส่วนใหญ่มีรายได้ลดลง
เมื่อช่อง 3 เผชิญหน้ากับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ จึงปรับทัพด้วยการดึง ‘มืออาชีพ’ เข้ามาทำงาน เพื่อร่วมขบคิดกับผู้บริหารตระกูลมาลีนนท์รุ่นที่ 2 และ 3 ในการปรับองค์กรใหม่ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย
ซึ่งส่วนใหญ่เป็นอดีตผู้บริหารของเอไอเอสที่คุ้นเคยกับธุรกิจในยุคดิจิทัล อาทิ สมประสงค์ บุญยะชัย มาเป็นประธานคณะกรรมการบริหาร, อาภัทรา ศฤงคารินกุล เป็นหัวหน้าคณะผู้บริหารด้านเทคโนโลยีและสื่อใหม่ และ วรุณเทพ วัชราภรณ์ มานั่งตำแหน่งที่ปรึกษา กรุ๊ป ซีอีโอด้านการตลาด
อีกทั้งปรับโครงสร้างองค์กรใหม่ ให้ทุกบริษัทบริหารงานและแชร์ทรัพย์สินต่างๆ โดยเน้นด้าน ‘การบริหารลิขสิทธิ์-เทคโนโลยีและสื่อใหม่’ เพื่อให้เกิดประโยชน์ร่วมกัน ดังนี้
– เพิ่มช่องทางหารายได้ ซึ่งปัจจุบันรายได้หลักมาจากสื่อทีวี 80-90% ด้วยการพัฒนาช่องทางออนไลน์
– สร้างโมเดลการบริหารศิลปินในสังกัดที่มีกว่า 140 คน (แม้จะเป็นวิธีหนึ่งในการแก้ปัญหารายได้โฆษณาที่หายไป แต่ปัญหาของวิธีนี้คือ การกำหนดไม่ให้ดารารับงานเอง ทำให้เกิดคำถามในกลุ่มของผู้จัดการดาราและตัวนักแสดง อ่านเพิ่มเติม
– ปรับคอนเทนต์และทิศทางช่อง SD 28 และช่อง Family 13 ในครึ่งปีหลังให้ชัด เพื่อให้ต่างจากช่อง 3
– พัฒนาเว็บ CH3Thailand ในการชมรายการสดทีวีทั้งหมดในกลุ่มบีอีซี
– เปิดตัว ‘เมลโล่’ (mello) แอปฯ ดูรายการย้อนหลังทั้ง 3 ช่อง และมีคอนเทนต์เอ็กซ์คลูซีฟ เช่น ซีรีส์ มีกำหนดเปิดตัวไตรมาส 3-4 ของปีนี้
ซึ่งทั้งหมดนี้จะสื่อสารผสานกันทุกช่องทางทั้งออฟไลน์ ออนไลน์ และอีเวนต์ เพื่อตอบโจทย์เอเจนซีและแบรนด์
เป้าในการปรับแผนครั้งนี้คืออะไร?
ประชุม มาลีนนท์ บอกว่า คือรักษาระดับรายได้รวมของกลุ่มบีอีซีปีนี้ให้ ‘ทรงตัว’ เท่าปีก่อน
ถ้าดูกำไรจากงบการเงินของ บริษัท บีอีซี เวิลด์ จำกัด (มหาชน) ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา
2555 : 4,937,138,669
2556 : 5,754,212,436
2557 : 4,514,433,678
2558 : 3,032,214,114
2559 : 1,230,861,768
2560 : ?
จะพบว่ากำไรปี 2559 เทียบกับปี 2558 ลดลงถึง 59%
เป้าหมายปีนี้ที่ต้องการรักษาระดับรายได้ให้ ‘เท่า’ กับปีก่อน จึงเป็นเรื่องที่ ‘หิน’ ไม่เบา
พ.ศ. 2560 ภูมิทัศน์สื่อจะเปลี่ยนไปอีกแค่ไหน ยังไม่มีใครกล้าฟันธง แต่ตัวเลขผลกำไรตอนสิ้นปีนี้ก็น่าจะพอบอกได้ว่า การปรับแผนของสองช่องใหญ่ครั้งนี้
เวิร์กหรือไม่เวิร์ก?
*หมายเหตุ: ตัวเลขผลกำไร-ขาดทุนอ้างอิงจาก https://corpus.bol.co.th
อ้างอิง:
- www.bangkokbiznews.com/news/detail/761584
- IQ สำนักข่าวอินโฟเควสท์
- www.bbc.com/thai/thailand-39265083
- www.bangkokbiznews.com/news/detail/750055
- www.becworld.com/download/th_report20170427.pdf
- mcot-th.listedcompany.com/misc/shareholderMTG/agm2016/20160503-mcot-agm2016-minutes-th.pdf
- www.manager.co.th/Entertainment/ViewNews.aspx?NewsID=9600000065599