ครึ่งแรกของปี 2017 ผ่านไปพร้อมกับกระแสตื่นตัวของบริษัทใหญ่ที่หันมาสนับสนุนธุรกิจสตาร์ทอัพกันเต็มที่ ไม่ว่าจะในรูปแบบการจัดตั้งกองทุน โครงการบ่มเพาะ งานสัมมนา และสารพัดอีเวนต์เกี่ยวกับสตาร์ทอัพ รวมไปถึงการซื้อและควบรวมกิจการสตาร์ทอัพ
ในทางกลับกัน กระแสนี้ได้จุดประเด็นคำถามที่ว่า ความนิยมดังกล่าวจะนำไปสู่ภาวะ ‘เฟ้อ’ และลงเอยด้วย ‘ฟองสบู่แตก’ หรือไม่ ดังที่นักลงทุนต่างชาติกังวลกับสถานการณ์ในซิลิคอนแวลลีย์ และหลายประเทศในเอเชีย กระทั่งสตาร์ทอัพที่เติบโตเป็นบริษัทชั้นนำระดับโลกยังเผชิญกับภาวะวิกฤตและไม่ทำกำไร
ระหว่างที่ THE STANDARD เดินทางไปเยือนถิ่นสตาร์ทอัพในซิดนีย์ร่วมกับคณะ AIS The StartUp เราได้พบกับนักลงทุนชื่อดัง ปีเตอร์ ฮุนห์ (Peter Huynh) ผู้ร่วมก่อตั้งและพาร์ตเนอร์ของ Venture Capital ภายใต้ชื่อ Qualgro ที่เปิดตัวเมื่อปี 2015 ปัจจุบัน Qualgro ร่วมลงทุนในธุรกิจสตาร์ทอัพชั้นนำมาแล้ว 14 รายในแถบอาเซียนและเอเชียแปซิฟิก เช่น เมียนมา ไต้หวัน สิงคโปร์ อินโดนีเซีย อินเดีย และออสเตรเลีย
ปีเตอร์มีประสบการณ์การทำงานในแวดวงนี้มานาน โดยให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการซื้อควบรวมกิจการ (M&A) Tech Startup ให้กับ SingTel Group โอเปอเรเตอร์รายใหญ่ในสิงคโปร์ และเคยเป็นหนึ่งในกลุ่มนักลงทุนสำหรับ Singtel Innov8 ที่สนับสนุนการลงทุนกับสตาร์ทอัพระยะเริ่มต้นในประเทศออสเตรเลียอีกด้วย
ปีเตอร์บอกกับเราว่า ทั้งออสเตรเลียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต่างก็มีจุดเด่นที่น่าสนใจและแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง ถ้าหากลองถอดบทเรียนความสำเร็จของแต่ละฝ่ายก็น่าจะช่วยเพิ่มโอกาสสู่การขยายตลาดในอนาคต พร้อมแนะว่าทุกที่ควรมี ‘ฮีโร่’ ที่จะเป็นต้นแบบให้สตาร์ทอัพรายอื่นกล้าเจริญรอยตามบ้าง และย้ำว่าธุรกิจทุกไซส์ควรจับตาและคว้าโอกาสจากเทรนด์ใหม่ ‘DeepTech’
และนี่คือคำแนะนำจาก VC ชื่อดังที่เราไม่อยากให้คุณพลาด
ทำไมคุณจึงลงทุนกับธุรกิจในอาเซียนและออสเตรเลีย ตลาดทั้งสองแห่งนี้มีจุดเด่นจุดด้อยอย่างไร
ผมคิดว่าทั้งสองตลาดมีจุดแข็งที่น่าสนใจและไม่เหมือนกันเลย ออสเตรเลียมีระบบนิเวศที่โดดเด่น มีทุกอย่างครบ เช่น แรงสนับสนุนจากรัฐบาล ภาคเอกชน นักลงทุน โครงการบ่มเพาะธุรกิจ มี Coworking Space เต็มไปหมด แต่หัวใจสำคัญของระบบนิเวศก็คือสตาร์ทอัพ และที่นี่ก็เต็มไปด้วยคนที่มีพรสวรรค์ โดยเฉพาะวิศวกรและผู้ประกอบการ สตาร์ทอัพส่วนใหญ่ผลิตและสร้างสรรค์งานรวดเร็วเมื่อเทียบกับสหราชอาณาจักรและสหรัฐอเมริกา ที่สำคัญ ทุกคนมีสปิริตที่จะก้าวไปสู่ตลาดโลกตั้งแต่วันแรก นี่คือปัจจัยที่สำคัญมาก เพราะออสเตรเลียอยู่ห่างไกลจากประเทศอื่น
สตาร์ทอัพที่ประสบความสำเร็จในออสเตรเลียคือกลุ่มธุรกิจประเภทแอปพลิเคชันสำหรับธุรกิจบนระบบคลาวด์ หรือ Software-as-a-Service (SaaS) และธุรกิจมาร์เก็ตเพลส เช่น Atlassian บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านซอฟต์แวร์ที่มีมูลค่าสูงราว 6 พันล้านเหรียญสหรัฐ ส่วน 99Design เป็นสตาร์ทอัพรายใหญ่ที่เปิดให้นักออกแบบทั่วโลกมาแข่งกันออกแบบตามโจทย์ของลูกค้าบน Crowdsourcing Platform และยังมี Freelancer.com บริการจัดหาฟรีแลนซ์ออนไลน์ผ่านแอปพลิเคชันแบบเรียลไทม์ ทั้ง 3 บริษัทประสบความสำเร็จระดับโลก แต่ไม่ค่อยมีใครรู้ว่ามาจากออสเตรเลีย
ในทางกลับกัน ธุรกิจสตาร์ทอัพส่วนใหญ่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะมีธุรกิจประเภทมาร์เก็ตเพลสเป็นส่วนมาก โดยมุ่งเน้นกลุ่มผู้บริโภคเป็นหลัก แต่ผู้ประกอบการยังมองแค่ตลาดในประเทศหรือระดับภูมิภาคเท่านั้น ถ้าเรามีวิธีคิดแบบชาวออสเตรเลียก็จะสามารถขยายตลาดไปสู่ระดับภูมิภาคได้อย่างแน่นอน
ตอนนี้ระบบนิเวศในอาเซียนยังขาดอะไร
ผมคิดว่าทุกระบบนิเวศควรจะมี ‘ฮีโร่’ บ้าง มีธุรกิจที่พิสูจน์ให้เห็นว่าพวกเขาสามารถประสบความสำเร็จในระดับโลกได้ เช่น TransferWise หนึ่งในฟินเทคยักษ์ใหญ่ในลอนดอนที่กลายเป็นฮีโร่ของเหล่าสตาร์ทอัพในสหราชอาณาจักร ในออสเตรเลียก็มี Atlassian ผมคิดว่าการมีฮีโร่เหล่านี้จะทำให้คนเกิดความเชื่อมั่นที่จะเริ่มต้นธุรกิจของตัวเอง หรือกล้าจะปรับเปลี่ยนองค์กรให้ทำงานแบบสตาร์ทอัพ ที่สำคัญ ตอนนี้เรามีเงินทุนไหลเข้ามาเยอะขึ้น เมื่อ 4-5 ปีก่อน เราแทบจะไม่มีบริษัททุนที่ลงทุนกับสตาร์ทอัพมากกว่า 200 ล้านเหรียญสหรัฐเลย แต่ตอนนี้เราลงทุนเฉลี่ยปีละ 4 ราย และเริ่มโตขึ้นเรื่อยๆ ผมคิดว่าเราต้องมีฮีโร่ที่จะสร้างแรงบันดาลใจให้กับทุกคน
บริษัทใหญ่ตื่นตัวกับการสนับสนุนสตาร์ทอัพมากขึ้น ถือเป็นสัญญาณที่ดีหรือเปล่า
บริษัทเอกชนสามารถสนับสนุนสตาร์ทอัพได้หลายวิธี หนึ่ง พาไปเรียนรู้ประสบการณ์ในตลาดใหม่ เหมือนกับโครงการ Singtel Innov8 และ AIS The StartUp
สอง ธุรกิจเอกชนต้องซื้อสินค้า-บริการจากสตาร์ทอัพที่คุณลงทุนด้วย เพราะกว่าสตาร์ทอัพจะทำยอดขายสินค้า-บริการได้ย่อมต้องใช้เวลานาน บางครั้งนานถึง 6 เดือน ดังนั้นถ้าคุณต้องการสนับสนุนธุรกิจเหล่านี้จริง ก็ควรเปิดใจที่จะซื้อสินค้า-บริการพวกเขาด้วย
สาม ช่วยกระตุ้นให้ธุรกิจเติบโตและมีตลาดรองรับ โดยใช้ประโยชน์จากทรัพยากรที่มีอยู่
แต่ดูเหมือนว่าปีนี้นักลงทุนจะขยับตัวช้าลง หรือนี่คือสัญญาณที่ชี้ว่าฟองสบู่สตาร์ทอัพใกล้แตกหรือเปล่า
ผมมองว่ามันเป็นวงจรของธุรกิจมากกว่าฟองสบู่ วงการ Tech Startup ของเรายังอยู่แค่ในระยะเริ่มต้นเท่านั้น ผมเชื่อว่าปัจจุบันทุกอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบจากเทคโนโลยีกันหมด และจะยิ่งทวีความรุนแรงต่อไปเรื่อยๆ ในอนาคต ผมคิดว่ามันเป็นเรื่องของธุรกิจ ไม่ใช่แค่สตาร์ทอัพ ธุรกิจต่างมีวัฏจักรการเติบโตที่แตกต่างกัน Tech Startup และสตาร์ทอัพเกิดขึ้นเพราะคนพยายามมองหาสิ่งใหม่ๆ ที่แตกต่างไปจากเดิม ลงมือทดลอง และสร้างโมเดลธุรกิจขึ้นมาอย่างรวดเร็ว
คนทำ Tech Startup ควรจะมองความล้มเหลวเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ กล้าเสี่ยง และทดลองทำสิ่งที่ต่างไปจากเดิม คุณอาจพบว่ามันคุ้มค่าที่จะลอง เราทุกคนควรจะเปิดใจยอมรับความล้มเหลวกันบ้าง
ที่ผ่านมาสถานการณ์ของสตาร์ทอัพอาจจะมีขึ้นๆ ลงๆ เราเคยผ่านจุดพีกในปี 2015 ที่มีสตาร์ทอัพ exit เป็นจำนวนมาก และเงินทุนเริ่มลดลงในปีถัดมา ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นและผ่านไปตามธรรมชาติของมัน ผมคิดว่าตอนนี้เรากำลังอยู่ในระยะของการเติบโตอย่างยั่งยืน
จริงๆ แล้วบริษัทใหญ่ควรรับมือกับการเปลี่ยนแปลงอันรวดเร็วได้อย่างไร
มีหลายวิธีนะครับ บริษัทใหญ่ควรเข้าใจว่าเขาต้องการทำอะไร ถ้าจะขยายตลาดออกไปข้างนอกอาเซียน พวกเขาอยากเรียนรู้อะไร และจะสนับสนุนใคร คุณต้องมีวัตถุประสงค์ที่ชัดเจนว่าจะทำอะไร เช่น จัดโปรแกรม accelerate ลงทุนกับสตาร์ทอัพ จัดตั้งกองทุน ซื้อกิจการ หรือสนับสนุนให้คนในองค์กรทดลองพัฒนาโปรเจกต์เอง มันมีความเป็นไปได้มากมาย ดังนั้นบริษัทใหญ่ต้องเริ่มจากวางกลยุทธ์บนวัตถุประสงค์ของตัวเอง จากนั้นค่อยเลือกว่าจะทำแบบไหน คุณอาจจะเลือกทำ 2-3 อย่างเลยก็ได้ ไม่ใช่ว่า ‘จัดตั้งกองทุนกันดีกว่า’ หรือ ‘เรามาซื้อกิจการสตาร์ทอัพกันเถอะ’ คุณต้องมีจุดหมายและปลายทางที่ชัดเจน แล้วค่อยออกแบบทางเลือกว่าจะทำอะไรและอย่างไร ตลอดจนลองชั่งน้ำหนักดูว่าจะรับความเสี่ยงได้มากน้อยแค่ไหน เพราะการทำโครงการ accelerate ไม่ได้หมายความว่าคุณสร้างนวัตกรรมได้แล้ว เมื่อคุณมีวัตถุประสงค์ เป้าหมาย และวิธีการทำงานที่ชัดเจน ความสำเร็จก็จะเกิดขึ้นในระยะยาว
สตาร์ทอัพควรจะรับมือกับธุรกิจรายใหญ่ที่หันมาลงสนามแข่งเดียวกันได้อย่างไร
กุญแจสำคัญของการทำธุรกิจสตาร์ทอัพคือ โฟกัส ความเร็ว และทีม
หมายความว่าทีมงานต้องลงทุนที่จะสำรวจปัญหาอย่างละเอียดจริงๆ และหาทางแก้โดยใช้ทักษะความสามารถของตัวเอง และ execute อย่างรวดเร็ว อย่ากลัวการตั้งเป้าหมายไปถึงระดับโลกตั้งแต่วันแรก และไม่ลืมที่จะศึกษาว่าใครคือคู่แข่งของคุณ อย่ามัวแต่รอให้ความสำเร็จเดินทางมาหาแล้วค่อยตัดสินใจลงมือทำ นอกจากนี้คุณต้องมีความเชื่อมั่นว่าจะชนะตั้งแต่เริ่มต้น หาจุดยืนในตลาดให้เจอ และกระโจนสู่สนามแข่งระดับโลกให้สุดกำลัง
ในฐานะ VC คุณคำนึงถึงปัจจัยใดบ้างในการลงทุนกับสตาร์ทอัพ
เราให้ความสำคัญกับทีมเป็นหลัก พวกเขาเข้าใจปัญหาที่ต้องการแก้ไขดีแค่ไหน มีทักษะความสามารถโดดเด่นอย่างไร เราจะพิจารณาผลิตภัณฑ์ของสตาร์ทอัพแต่ละรายโดยละเอียด ศึกษาการแข่งขันในตลาดที่พวกเขาต้องการจะเข้าไป คำนวณงบประมาณการลงทุนที่เหมาะสม ที่สำคัญมากๆ คือเราจะดูว่าพวกเขาจะใช้เงินทุนของเราอย่างไรด้วย ดังนั้นสตาร์ทอัพจะต้องวางแผนให้ดี เพราะพวกเขาไม่รู้ว่าสินค้า-บริการของตัวเองจะทำรายได้เท่าไร แต่เหนือสิ่งอื่นใดคือทีม เพราะโมเดลธุรกิจเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา แต่ทีมคือแก่นสำคัญ เพราะฉะนั้นเราจะเลือกลงทุนกับสตาร์ทอัพที่มีทีมที่ดี เข้าใจการตลาด และแก้ปัญหาดีเยี่ยม
เทรนด์ต่อไปที่ควรจับตามอง
เทรนด์ปัญญาประดิษฐ์ (AI) เป็นที่กล่าวถึงอย่างแพร่หลาย ในฐานะ VC เราก็ต้องการลงทุนกับทีมที่มีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีสาขาต่างๆ ที่ซับซ้อนมากขึ้น หรือ Deeper Technology (DeepTech) เพื่อการลงทุนที่ยั่งยืนในระยะยาว เราลงทุนกับสตาร์ทอัพด้าน AI เพราะมองหาทีมที่สามารถนำ DeepTech เข้ามาแก้ปัญหาของธุรกิจด้วยโซลูชันใหม่ที่แท้จริง ไม่ใช่เพราะต้องการลงทุนกับ AI ดังนั้นผมไม่ได้บอกว่าทุกคนควรจะลงทุนกับ AI เพราะ DeepTech ยังมีอีกหลายอุตสาหกรรม
สู่ความท้าทายในอนาคต
THE STANDARD ได้หยิบยกคำแนะนำจากปีเตอร์ ฮุนห์ มาพูดคุยแลกเปลี่ยนกับ ดร. ศรีหทัย พราหมณี Head of AIS The StartUp และ อัจฉริยะ ดาโรจน์ ผู้ก่อตั้งและซีอีโอ AIYA ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มการตลาดและบริหารงานลูกค้า ด้วยเทคโนโลยี A.I จากโครงการ AIS The StartUp ถึงการสนับสนุนสตาร์ทอัพไทยและทิศทางการแข่งขันในอนาคต
ดร. ศรีหทัยกล่าวว่าที่ผ่านมา AIS ได้ส่งเสริมสตาร์ทอัพโดยใช้บริการผลิตภัณฑ์ของสตาร์ทอัพไทยในองค์กรขนาดใหญ่ เช่น การนำระบบ ZipEvent ซึ่งเป็นระบบบริหารจัดการอีเวนต์แบบครบวงจรจากสตาร์ทอัพที่อยู่ในโครงการ AIS The StartUp มาใช้เป็นระบบหลังบ้าน (backend) อย่างเต็มรูปแบบ สำหรับการบริหารจัดการกิจกรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้นใน AIS D.C. อย่างเต็มประสิทธิภาพ
นอกจากนี้ยังเปิด open API ให้สตาร์ทอัพได้เชื่อมต่อเข้ากับ Telecom Infrastructure เพื่อผลักดันให้สตาร์ทอัพเติบโตและมีตลาดรองรับในระยะยาว
ด้าน อัจฉริยะ ดาโรจน์ แชร์บทเรียนจากการเดินทางไปออสเตรเลียให้ฟังว่า ปัจจุบันเทคโนโลยี Machine Learning และ AI เริ่มเข้ามาอยู่ในการใช้ชีวิตประจำวันของเราในหลายมิติ เช่น Amazon Alexa ที่ยกระดับ Home Entertainment ด้วยการจัดสรรรายการให้ตรงกับความชื่นชอบของผู้ชม หรือการต่อยอด AI ให้เป็นผู้ช่วยอัจฉริยะแชตบ็อตเพื่อตอบคำถามและให้ข้อมูลลูกค้า อย่างไรก็ดี ภาคธุรกิจในไทยยังมีปัญหาทั้งในแง่การขาดคลังข้อมูลคุณภาพสำหรับฝึกฝนบ็อตให้มีความฉลาด และความยากของภาษาไทย
“ประเทศไทยยังต้องใช้เวลาพัฒนาระบบประมวลผลภาษาธรรมชาติ (Natural Language Processing) เพราะเราขาดคลังข้อมูลภาษา (corpus) ภาคธุรกิจควรเริ่มตระหนักถึงความเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคที่ต้องการความเฉพาะบุคคล และควรเริ่มหาวิธีการจัดเก็บข้อมูลที่กระจัดกระจายอยู่ให้เป็นศูนย์กลาง เพื่อนำข้อมูลเหล่านี้มาใช้ประโยชน์ด้านการพัฒนา AI ในอนาคต ซึ่งจะสามารถลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพให้แก่ธุรกิจ”
จากการพูดคุยครั้งนี้ เราเชื่อว่าชาวสตาร์ทอัพ ธุรกิจใหญ่ และนักลงทุนน่าจะมั่นใจและมองเห็นทิศทางของธุรกิจสตาร์ทอัพชัดเจนขึ้น สิ่งสำคัญคือทุกฝ่ายต้องไม่ลืมกลับมามองว่าวงการสตาร์ทอัพในบ้านเรายังขาดอะไร และจะรับมือกับความท้าทายจากเทคโนโลยีใหม่ที่ผันเปลี่ยนเร็วได้อย่างไรโดยไม่กลืนหายไปตามกระแส