ทีมนักวิทยาศาสตร์ของกรมอนามัยนครนิวยอร์ก เริ่มต้นวิเคราะห์ข้อมูลทางพันธุกรรมหรือจีโนมของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 (2019-nCoV) ที่เป็นต้นเหตุของโรคโควิด-19 แล้ว โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อแกะรอยต้นตอการระบาดใหม่ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต หลังทางการนิวยอร์กวางแผนที่จะเปิดเมืองอีกครั้งช่วงกลางเดือนพฤษภาคม
การวิเคราะห์ข้อมูลพันธุกรรมไวรัสโคโรนา 2019 ดังกล่าวมีขึ้นที่ห้องปฏิบัติการสาธารณสุขย่านแมนฮัตตัน และเป็นการทำงานร่วมกันกับหลายสถาบันวิจัยทางการแพทย์จากทั่วโลก ที่ได้ทำการหาลำดับพันธุกรรมจากตัวอย่างไวรัสและเก็บรวบรวมลงในฐานข้อมูลออนไลน์ระดับโลก ซึ่งเปิดโอกาสให้นักวิจัยสามารถสังเกตและเปรียบเทียบความแตกต่างของตัวอย่างไวรัสเพื่อช่วยแกะรอยการแพร่ระบาดได้
โอซิริส บาร์บอต กรรมาธิการสาธารณสุขนครนิวยอร์ก เปิดเผยว่าการหาลำดับข้อมูลพันธุกรรมของไวรัสนั้นสามารถช่วยยับยั้งการระบาดระลอกสองของโรคโควิด-19 ที่อาจเกิดขึ้นในช่วงปลายปีนี้
“เราสามารถใช้ข้อมูลลายนิ้วมือเพื่อทำความเข้าใจว่าการติดเชื้อเพิ่มเติมนั้นเกิดจากการติดเชื้อที่ยังคงอยู่ภายในเมืองหรือนำเข้ามาจากที่อื่น” บาร์บอตกล่าว
สำหรับข้อมูลพันธุกรรมของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 ประกอบไปด้วยสาย RNA หรือกรดไรโบนิวคลีอิกสั้นๆ หนึ่งเส้นที่มีโครงสร้างคล้ายดีเอ็นเอ แต่มีความยาวสั้นกว่ามาก โดยหากเชื้อไวรัสชนิดนี้ฝังตัวในร่างกายมนุษย์ มันจะทำสำเนาตัวมันเองและก่อให้เกิดความผิดเพี้ยนของพันธุกรรม หรือที่เรียกว่าการกลายพันธุ์ ซึ่งสามารถส่งต่อผ่านการแพร่กระจายเชื้อ และตรวจสอบได้จากตัวอย่างที่เก็บจากผู้ป่วย
ด้านทีมนักวิทยาศาสตร์ประจำคณะแพทยศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยนิวยอร์ก ซึ่งทำการลำดับข้อมูลพันธุกรรมของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ประเมินว่าเชื้อไวรัสที่กำลังระบาดหนักในนิวยอร์กจนทำให้กลายเป็นศูนย์กลางแพร่ระบาดโควิด-19 ของโลก ณ ขณะนี้มีที่มาจากประเทศในทวีปยุโรป
โดยหนึ่งในทีมนักวิทยาศาสตร์ระบุว่างานของพวกเขานั้นคล้ายกับเจ้าหน้าที่สืบสวน ซึ่งผลลำดับข้อมูลพันธุกรรมดังกล่าวจะถูกส่งต่อไปทั่วโลกผ่านฐานข้อมูลออนไลน์ GISAID ที่มีฐานอยู่ในเยอรมนี ซึ่งเดิมทีสร้างขึ้นเพื่อตรวจสอบการเพิ่มขึ้นหรือลดลงของเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่และแกะรอยการส่งต่อเชื้อได้
ขณะที่ฐานข้อมูลออนไลน์นี้ยังเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อเจ้าหน้าที่ด้านสาธารณสุขทั่วโลกที่สามารถนำข้อมูลไปใช้เพื่อพิจารณามาตรการที่มีประสิทธิภาพในการรับมือและยับยั้งการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ด้วย
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์
อ้างอิง: