×

7 Things We Love About New York Fashion Week เมืองสำคัญที่เปิดฤดูกาลแฟชั่นวีคทุกซีซัน

11.09.2022
  • LOADING...
New York Fashion Week

7 Things We Love About New York Fashion Week เมืองสำคัญที่เปิดฤดูกาลแฟชั่นวีคทุกซีซัน

 

‘แฟชั่นวีค’ หนึ่งในอีเวนต์สำคัญของคนแฟชั่นที่จัดขึ้นปีละ 2 ครั้ง โดยแบ่งออกตามฤดูกาลหลักอย่าง Spring/Summer และ Fall/Winter ซึ่งในแต่ละซีซันจะประกอบไปด้วยคอลเล็กชันเสื้อผ้าบุรุษ เสื้อผ้าสุภาพสตรี และเสื้อผ้าชั้นสูงหรือโอต์กูตูร์ ปัจจุบันแฟชั่นวีคเกิดขึ้นอย่างแพร่หลายตามหัวเมืองสำคัญต่างๆ ทั่วโลก แต่ไฮไลต์ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดอยู่ที่ 4 จตุรเทพเมืองแฟชั่นระดับโลก เริ่มที่นิวยอร์ก ก่อนจะย้ายไปลอนดอน มิลาน และปิดท้ายที่ปารีส

 

วันนี้เราขอเจาะไปที่ปราการด่านแรกอย่างนิวยอร์กแฟชั่นวีคที่กำลังเกิดขึ้น ณ เวลานี้ ตั้งแต่วันที่ 9-14 กันยายนนี้ ซึ่งเป็นเมืองแฟชั่นที่โอบรับไอเดียแปลกใหม่อยู่เสมอ และยังเป็นพื้นที่แจ้งเกิดของดีไซเนอร์เลือดใหม่หลากหลายคน แม้ในช่วงโควิดที่ผ่านมานิวยอร์กแฟชั่นวีคจะต้องเจอกับวิกฤตอย่างหนัก จากเมืองที่เคยแน่นไปด้วยจำนวนโชว์มากที่สุด สู่เมืองแฟชั่นที่ซบเซาจนน่าเป็นห่วง

 

สำหรับฤดูกาลล่าสุด Spring/Summer 2023 ถือเป็นการฉลองครบรอบปีที่ 60 ของนิวยอร์กแฟชั่นวีค นอกจากงานเฉลิมฉลองแล้วนั้น นิวยอร์กจะกลับมาทวงบัลลังก์ความยิ่งใหญ่อีกครั้งด้วยจำนวนโชว์ตอนนี้ที่มากถึง 141 โชว์ในช่วง 6 วัน ยังไม่รวมอีเวนต์และปาร์ตี้อีกมากมายที่จะเกิดขึ้นในช่วงนั้นเช่นเดียวกัน 

 

วันนี้ THE STANDARD POP อยากพาทุกคนไปทำความเข้าใจกับ 7 ปัจจัยหลักที่ทำให้นิวยอร์กแฟชั่นวีคเป็นหนึ่งในเมืองแฟชั่นที่ทรงอิทธิพลที่สุดของโลกยาวนานกว่า 60 ปี

 

New York Fashion Week

 

1. NOT JUST FASHION, BUT ALSO A BUSINESS

แฟชั่นไม่ใช่แค่เฉพาะเรื่องของเสื้อผ้าเท่านั้น แต่มันคือธุรกิจ อย่างที่ทราบกันว่านิวยอร์กแฟชั่นวีคจัดขึ้นทุกปี ปีละ 2 ครั้ง ช่วงเดือนกุมภาพันธ์และกันยายน ตามรายงานระบุว่าอีเวนต์นี้สามารถดึงดูดคนให้เข้าร่วมได้มากกว่า 150,000 คนทุกปี และนิวยอร์กแฟชั่นวีคยังเป็นอีเวนต์ที่สร้างรายได้สูงที่สุดให้กับเมืองนิวยอร์ก แม้แฟชั่นโชว์หลักๆ จะจำกัดจำนวนผู้เข้าชม แต่อย่าลืมว่ายังมีปาร์ตี้หรืออีเวนต์อื่นๆ ที่เปิดรับคนทั่วไปให้สามารถเข้าร่วมได้เช่นกัน โดยประมาณการณ์มูลค่าที่ได้จากแฟชั่นวีคต่อปีสูงถึง 600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สูงกว่างาน Super Bowl เสียด้วยซ้ำ 

 

New York Fashion Week

 

2. PIONEERING DIVERSITY

อีกหนึ่งเรื่องที่น่ายกย่องมากๆ สำหรับนิวยอร์กแฟชั่นวีคก็คือ การชูและโอบรับเรื่องความหลากหลายของมนุษย์ ถ้าเทียบกับเมืองอื่นๆ แล้วนั้นนิวยอร์กถือว่ามีเปอร์เซ็นต์การใช้นางแบบหลากเชื้อชาติ เพศ อายุ และไซส์มากกว่าที่อื่น โดยในฤดูกาล Spring 2022 นิวยอร์กได้เปอร์เซ็นต์การใช้นางแบบหลากสีผิวมากกว่า 55.5% สูงที่สุดเป็นอันดับ 2 ซึ่งอันดับ 1 ก็ยังคงเป็นที่นิวยอร์กอยู่เช่นเดิม แต่เป็นของฤดูกาล Spring 2021 ได้เปอร์เซ็นต์มากถึง 57.1% 

 

และในแฟชั่นวีคล่าสุดที่กำลังเกิดขึ้นนี้ นิวยอร์กแฟชั่นวีคก็มีโชว์จากดีไซเนอร์ผิวดำมากกว่า 20% แม้ตัวเลขจะยังดูน้อย แต่จุดเริ่มต้นเล็กๆ ตรงนี้สามารถต่อยอดได้ไม่รู้จบ ไม่ใช่แค่นางแบบหรือนายแบบเท่านั้นที่เปิดกว้าง แต่รวมถึงดีไซเนอร์ผิวดำจะมีพื้นที่ในการแสดงตัวตนที่นิวยอร์กแฟชั่นวีคในปีนี้ด้วยเช่นกัน เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่นิวยอร์กทำได้ดีกว่าที่อื่น 

 

New York Fashion Week

 

3. ICONIC AMERICAN DESIGNERS

ไม่ใช่แค่ฝรั่งเศสเท่านั้นที่เป็นแหล่งกำเนิดดีไซเนอร์ระดับโลก ฝั่งอเมริกาเองก็มีดีไซเนอร์ระดับไอคอนิกที่ฝีมือและชื่อเสียงไม่แพ้ดีไซเนอร์ฝั่งยุโรปเลย ไม่ว่าจะเป็น Charles James กูตูริเยร์คนแรกของชาวอเมริกัน ที่โด่งดังอย่างมากในยุค 20 หรือ Halston ราชางานดีไซน์สุดพลิ้วไหว ที่ครองยุค 80 แบบไร้คู่แข่ง จนกระทั่งการมาของ Calvin Klein ที่พายุค 90 เข้าสู่โหมดมินิมัล กลายเป็นเทรนด์ไปทั่วโลก ไม่ต่างอะไรกับ Tommy Hilfiger ที่ผสมผสานสปอร์ตแวร์เข้ากับแฟชั่นจนเป็นที่นิยมเช่นเดียวกัน

 

Tom Ford เองก็ถือเป็นดีไซเนอร์ระดับตำนานที่สามารถพลิกแบรนด์เครื่องหนังจากอิตาลีอย่าง Gucci ด้วยคอนเซปต์เซ็กซ์เซลให้กลับมามีชีวิตได้อีกครั้ง เช่นเดียวกับ Marc Jacobs งานดีไซน์ท้าทายสายตา ที่พาเขาประสบความสำเร็จทั้งแบรนด์ของตัวเองและที่ Louis Vuitton และยังมี Michael Kors ดีไซเนอร์ผู้นำเสนอภาพลักษณ์อเมริกันลักชัวรีได้อย่างออกรส จบด้วยตำนานอย่าง Ralph Lauren ที่แค่ได้ยินชื่อ ทุกคนก็สามารถสัมผัสถึงความหรูหราได้ทันที 

 

New York Fashion Week

 

4. THE EVOLUTION OF STREET STYLE

ด้วยกระแสของโซเชียลมีเดียและการมาของ Instagram ได้เปลี่ยนพฤติกรรมการเสพข้อมูลของคนไปตลอดกาล ผู้คนต้องการเห็นมากกว่าแค่รูปเสื้อผ้าบนรันเวย์ที่นางแบบสวมใส่ ดังนั้นการมาของ Street Style ที่เริ่มต้นจากการสแนปรูปคนทั่วไปตามท้องถนนโดยเน้นเรื่องของสไตล์การแต่งตัวเป็นหลัก เริ่มเข้ามามีบทบาทสำคัญต่อแฟชั่นวีค เมื่อการสแนปคนตามแฟชั่นวีคกลายเป็นเทรนด์ที่คนให้ความสนใจไม่แพ้เสื้อผ้าบนรันเวย์ ตรงนี้เองได้เปลี่ยนโฉมหน้าของการมาชมแฟชั่นโชว์ให้มีนัยอื่นๆ มากขึ้น เช่น การถูกสแนปรูปไปลงโซเชียลต่างๆ ส่งผลให้พฤติกรรมของคนมาดูโชว์ต้องแต่งตัวจัดเต็มกันมากขึ้น 

 

Scott Schuman เจ้าของบล็อกชื่อ The Sartorialist ปลุกกระแสอาชีพช่างภาพสตรีทสไตล์ให้กลายเป็นอาชีพใหม่ หลังจากภาพถ่ายสแนปคนตามถนนนิวยอร์กได้รับความสนใจอย่างมาก จนสร้างกระแสช่างภาพสตรีทเกิดขึ้นมากมายในนิวยอร์ก เช่น Tommy Ton และ Phil Oh ที่กลายเป็นช่างภาพขาประจำให้กับ GQ และ Vogue การสแนปสตรีทสไตล์ไม่ใช่แค่นิวยอร์กอีกต่อไป แต่เป็นทุกหัวเมืองแฟชั่น 

 

New York Fashion Week

 

5. HUB FOR NEW TALENT

นอกจากเป็นบ้านเกิดของดีไซเนอร์ระดับตำนานแล้วนั้น นิวยอร์กยังขึ้นชื่อในเรื่องของสถานที่แจ้งเกิดให้กับดีไซเนอร์เลือดใหม่ของวงการอีกด้วย เป็นเรื่องค่อนข้างยากที่ดีไซเนอร์รุ่นใหม่ๆ จะสามารถแจ้งเกิดที่หัวเมืองอย่างมิลานและปารีส ที่ปกติมักอัดแน่นด้วยดีไซเนอร์แบรนด์ระดับแถวหน้าของโลก การจะขโมยซีนจากแบรนด์ใหญ่ๆ แทบจะเป็นไปไม่ได้เลย ส่วนลอนดอนเองแม้จะฟรีสไตล์กว่า แต่ก็เป็นเมืองแฟชั่นที่ได้รับความสนใจน้อยที่สุดเมื่อเทียบกับอีกสามเมือง 

 

นิวยอร์กจึงกลายเป็นพื้นที่สำหรับเด็กรุ่นใหม่และแบรนด์เล็กๆ ที่สามารถแจ้งเกิดได้แอร์ไทม์กับเขาบ้าง เรามีโอกาสเห็นดีไซเนอร์ดังๆ หลายคนที่ล้วนแจ้งเกิดจากนิวยอร์กแฟชั่นวีคทั้งนั้น เช่น Proenza Schouler, Thakoon, Alexander Wang, Jason Wu หรือ Rodarte ธรรมเนียมนี้ยังส่งไม้ต่อไปสู่รุ่นใหม่ๆ อีกหลายต่อหลายคน ไม่ว่าจะเป็น Gabriela Hearsrt, Brandon Maxwell, LaQuan Smith, Christopher John Rogers และ Kerby Jean-Raymond แห่งแบรนด์ Pyer Moss ที่ล้วนแจ้งเกิดที่นี่และประสบความสำเร็จระดับโลก

 

New York Fashion Week

 

6. SUPERMODEL START-UP

เรื่องการเป็นพื้นที่แจ้งเกิดของนิวยอร์กแฟชั่นวีคไม่ได้มีแค่ดีไซเนอร์อย่างเดียว นางแบบหลายคนฉายแววความดังจากที่นี่ด้วยเช่นกัน ด้วยจำนวนโชว์ที่เยอะทำให้พวกเธอมีโอกาสได้งานและถูกเลือกมากกว่าเมืองอื่น แถมการเดินที่นิวยอร์กยังเป็นใบเบิกทางให้แบรนด์จากเมืองอื่นๆ ได้เห็นศักยภาพของนางแบบก่อน ถ้าโชคดีพวกเธออาจถูกบุกแบบเอ็กซ์คลูซีฟให้เดินเฉพาะแบรนด์ใหญ่ในยุโรปเท่านั้น 

 

ตัวอย่างของนางแบบที่แจ้งเกิดจากนิวยอร์กและโด่งดังระดับโลก เช่น Karlie Kloss ที่เคยถูกล้อเลียนท่าเดินว่าเหมือนซอมบี้ แต่ไม่นานเธอได้สัญญาเอ็กซ์คลูซีฟร่วมกับแบรนด์ใหญ่อย่าง Dior ทันที, Kendall Jenner ที่เดินโชว์ Marc Jacobs เป็นแบรนด์ใหญ่แบรนด์แรกในชีวิต รวมถึงบ้านพี่น้อง Hadid ทั้ง Gigi และ Bella นอกจากอาศัยอยู่ที่นี่แล้ว ทั้งสองยังแจ้งเกิดจากการเดินแบบให้กับแบรนด์ที่นิวยอร์กแฟชั่นวีค ก่อนจะดังระดับโลกในปัจจุบัน 

 

New York Fashion Week

 

7. INFLUENCER POWER

ย้อนกลับไปยุค 90 หรือ 00 ต้นๆ ส่วนใหญ่ผู้ทรงอิทธิพลทางแฟชั่นมักจะเป็นเหล่านางแบบซูเปอร์โมเดลที่ปรากฏกายตามนิตยสารแฟชั่นหรืองานปาร์ตี้ต่างๆ รวมถึงเซเลบริตี้ที่ถูกเก็บภาพโดยช่างภาพปาปารัชซี ซึ่งเราต้องเสพผ่านนิตยสารหรือหนังสือแท็บลอยด์ แต่ในยุคที่โซเชียลมีเดียเข้ามามีอิทธิพลมากขึ้น ผู้ทรงอิทธิพลเหล่านี้ไม่จำเป็นต้องขึ้นปกนิตยสารอีกต่อไป แค่มีบล็อก หรือ Instagram พวกเขาก็สามารถสร้างอิทธิพลต่อผู้อื่นได้ 

 

นิวยอร์กเองชื่นชอบการโอบรับไอเดียใหม่ๆ อยู่เสมอ จึงไม่แปลกที่พวกเขาเป็นเมืองแรกๆ ที่เห็นความสำคัญและเชิญผู้ทรงอิทธิพลโลกออนไลน์มานั่งฟรอนต์โรว์ จนแจ้งเกิดให้กับเหล่าเหล่าอินฟลูเอ็นเซอร์หลายคนดังระดับโลก เช่น Bryanboy, Aimee Song, Susie Bubble, Olivia Palermo หรือ Chiara Ferragni ที่เริ่มต้นอาชีพสายนี้จากการทำบล็อกส่วนตัว ก่อนการเข้ามาของ Instagram และ TikTok แฟลตฟอร์มทรงอิทธิพลต่อโลกในปัจจุบัน

 

ภาพ: Getty Images 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X