×

รับการเปลี่ยนแปลงระเบียบโลกใหม่ รัฐบาลไทยควรเดินอย่างไร

19.04.2025
  • LOADING...
รัฐบาลไทยกับยุทธศาสตร์รับมือระเบียบโลกใหม่ท่ามกลางความขัดแย้งสหรัฐ-จีน

ต้องเปิดทัศนคติใหม่ (New Mindset) แล้วว่า ระเบียบโลกได้เปลี่ยนแปลงไปแล้ว จากชุดความคิดแบบโลกาภิวัตน์/โลกานุวัตรที่มีสหรัฐฯ เป็นเพียงขั้วอำนาจเดียว (Hegemonic Unipolarity) ที่กำหนดกฎระเบียบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในมิติต่างๆ ไปสู่โลกที่เต็มไปด้วยความขัดแย้งในมิติภูมิรัฐศาสตร์ (Geo-Politics) ที่มี 2 ขั้วมหาอำนาจใหญ่คือ สหรัฐฯ และจีนเป็นคู่ขัดแย้ง และเครื่องมือสำคัญที่มหาอำนาจใช้ห้ำหั่นกันคือ เครื่องมือทางภูมิเศรษฐศาสตร์ (Geo-Economics) 

 

ดังนั้นสงครามการค้า สงครามเศรษฐกิจ จะไม่ใช่เรื่องระยะสั้น แต่เป็นสิ่งแวดล้อมใหม่ (Eco-system) ที่โลกาภิวัตน์/โลกานุวัตรได้แตกออกเป็น 3 ห่วงโซ่มูลค่า นั่นคือ 1. ห่วงโซ่มูลค่าที่นำโดยสหรัฐ (US-led Value Chains) 2. ห่วงโซ่มูลค่าที่นำโดยจีน (China-led Value Chains) และ 3. ห่วงโซ่มูลค่าของประเทศอื่นๆ ในโลก (Value Chains of the Rest of the World) ผู้เขียนใช้คำว่า Value Chains เพราะเราต้องพิจารณาทั้ง Supply, Demand และองค์ประกอบอื่นๆ ที่เชื่อมโยง Demand และ Supply เข้าด้วยกัน

 

เมื่อเป็นความขัดแย้งในมิติที่มีความหลากหลายทับซ้อน (ภูมิรัฐศาสตร์ ภูมิเศรษฐศาสตร์) ดังนั้นในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลง ในการสร้างอำนาจการต่อรอง โดยเฉพาะในการกำหนดตำแหน่งแห่งที่ของประเทศไทยที่อยู่ในจุดศูนย์กลางของความขัดแย้ง (ภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก) และในการวางยุทธศาสตร์ เราจำเป็นต้องใช้องค์ความรู้แบบสหสาขาวิชา (Multi-disciplinary) ทั้งการค้า การลงทุน การเงิน ซึ่งเป็นเครื่องมือหลักในชุดองค์ความรู้แบบเศรษฐศาสตร์กระแสหลัก (Neo-Classical Economics) แต่เท่านั้นคงไม่เพียงพอ เราต้องใช้มิติความมั่นคง การเมืองความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ประวัติศาสตร์ กฎหมายระหว่างประเทศ สังคม-วัฒนธรรม วิทยาศาสตร์-เทคโนโลยี-นวัตกรรม ฯลฯ มาร่วมกันทำความเข้าใจและเตรียมพร้อมประเทศไทยให้สามารถประคองตนอยู่ได้ และสามารถวางยุทธศาสตร์ถ่วงดุลอำนาจ (Strategic Hedging) เพื่อรักษาผลประโยชน์ของชาติ

 

ผลประโยชน์ของประเทศ ประกอบด้วย 4 ประเด็น 

 

1) ความมั่นคงในมิติอำนาจอธิปไตย บูรณภาพแห่งดินแดน และความมั่นคงแบบ Non-Traditional Security ที่เน้นความมั่นคงของมนุษย์ 

 

2) ความมั่งคั่งที่หมายถึงเศรษฐกิจที่มีเสถียรภาพ มีการเจริญเติบโต และมีการจัดสรรที่เป็นธรรม 

 

3) การขยายพลังอำนาจของชาติในมิติต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจ สังคม การเมือง สิ่งแวดล้อม วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การทหาร และสุดท้ายที่อาจจะสำคัญที่สุด นั่นคือ  

 

4) ความภาคภูมิใจของชาติ (บางพื้นที่ บางชนชาติ อาจจะไม่ได้รับรองเป็นประเทศ อาจจะไม่มีแผ่นดิน แต่พวกเขาก็ยังคงมีความภาคภูมิใจในตนเอง ลองนึกถึงชาวปาเลสไตน์ ชาวไต้หวัน กลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ สำหรับ ประเทศไทย เราต้องช่วยกันระวังอย่างยิ่งยวด อย่าให้มีใครมาแทรกแซง ปลุกปั่น ต้องคอยเฝ้าระวังให้ผู้นำรักษาผลประโยชน์ของชาติ อย่าให้เกิดผลประโยชน์ที่ขัดแย้งระหว่าง ผลประโยชน์ของชาติ กับผลประโยชน์ส่วนตัว ผลประโยชน์ของครอบครัว และผลประโยชน์ทางธุรกิจ 

 

นาทีนี้เราต้องการทีมประเทศไทยที่ประกอบขึ้นจาก 6 เสาหลักที่ทำงานสอดประสานกัน อันได้แก่ 1) ผู้นำที่มีวิสัยทัศน์ มีความรู้ความสามารถ ไม่สับสนในการรักษาผลประโยชน์ของประเทศกับผลประโยชน์ของครอบครัว หรือของธุรกิจครอบครัว 2) ผู้ตัดสินใจทางนโยบายในระดับสูงที่มีความรู้ ความสามารถ ซื่อสัตย์ กล้าหาญ กล้าตัดสินใจ และรับผิดชอบการตัดสินใจ 3) เจ้าหน้าที่รัฐที่ซื่อสัตย์ ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล 4) นักวิชาการที่ทำงานหนักแบบสหสาขาวิชา ให้รู้ลึก รู้กว้าง รู้จริง และ กล้าเปลืองตัว ที่จะชี้นำสังคมผ่านการบริการวิชาการ 5) ภาคเอกชน (แน่นอนที่ต้องรักษาผลประโยชน์ของธุรกิจ) และภาคประชาสังคม (ที่ต้องรักษาผลประโยชน์ของประชาชน) ที่ต้องการมีส่วนร่วม ให้ข้อมูลสนับสนุนช่วยการตัดสินใจ และ 6) สื่อสารมวลชนที่เข้มแข็ง กล้าหาญที่จะตรวจสอบ และนำเสนอข้อมูลอย่างถูกต้อง ไม่ถูกบิดเบือนแทรกแซง 

 

การรับมือกับระเบียบโลกใหม่คงต้องวางยุทธศาสตร์และจัดตั้งทีมงานทั้งศึกษา และเจรจา รวมทั้งสร้างเสริมความร่วมมืออย่างน้อย 3 ชุด ได้แก่ ชุดที่ 1 เจรจาต่อรองกับสหรัฐอเมริกา, ชุดที่ 2 เจรจาต่อรองกับสาธารณรัฐประชาชนจีน และชุดที่ 3 สร้างอำนาจต่อรองโดยเล่นบทบาทนำในประชาคมอาเซียน ทำไมขั้นต่ำต้องมี 3 ชุด เพราะ ในมิติเศรษฐกิจ สหรัฐฯ จีน (รวมฮ่องกง) ญี่ปุ่น สิงคโปร์ มาเลเซีย และเวียดนาม คือประเทศคู่ค้าสำคัญที่สุดของไทย ซึ่ง 3 ประเทศคือสมาชิกประชาคมอาเซียน ในมิติการเมืองความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ สหรัฐฯ คือประเทศมหาอำนาจที่มีแสนยานุภาพสูงสุดในโลก จีนคือมหาอำนาจใกล้บ้าน ในขณะที่อาเซียนคือเวทีที่ประเทศไทยมีบทบาทนำมาตลอดเวลากว่าครึ่งศตวรรษ และมีศักยภาพสูงในการสร้างอำนาจการต่อรองทั้งกับสหรัฐฯ และกับจีน

 

แนวทางการเจรจากับสหรัฐฯ:  

 

  • เราต้องแสดงจุดยืนอย่างชัดเจนว่า ไทยเป็นตัวของตัวเอง ไทยมีจุดแข็งของตนเอง ไทยพร้อมสนับสนุนการค้า การลงทุนที่เสรีและเป็นธรรม ทั้งในทางการเมืองและเศรษฐกิจไทยไม่ได้เป็นเขตอิทธิพลของมหาอำนาจใดมหาอำนาจหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นจีน สหรัฐฯ หรือ มหาอำนาจใดๆ 

 

  • จากนั้นต้องเร่งสำรวจว่าเราเองทั้งภาครัฐและภาคเอกชนมีช่องทาง มีสายสัมพันธ์ มีแนวทางการติดต่อประสานงานกับประธานาธิบดีทรัมป์ และทีมงานที่ภักดีของเขา รวมทั้งผู้สนับสนุนการรณรงค์หาเสียงของเขาในช่องทางใดบ้าง มีอะไรที่จะเป็นจุดสำคัญที่จะทำให้คนเหล่านี้ต้องการเป็นสะพานเพื่อเปิดการเจรจาระหว่างไทยกับสหรัฐฯ

 

  • อาวุธสำคัญที่สุดที่เพิ่มการต่อรองให้ไทยในการเจรจากับสหรัฐฯ ไม่ได้มาจากมิติเศรษฐกิจ (เนื่องจากมูลค่าของสินค้าและบริการที่เราจะสามารถซื้อได้จากสหรัฐฯ ไม่ว่าจะเป็นเครื่องบินพาณิชย์ สินค้าเกษตร ซอฟต์แวร์ และบริการอื่นๆ ล้วนแล้วแต่มีมูลค่าเล็กน้อยมากเมื่อเทียบกับมูลค่าการค้าของสหรัฐฯ เช่นเดียวกับศักยภาพที่เราจะไปลงทุนในสหรัฐฯ) แต่อำนาจการต่อรองของไทยมาจากมิติความมั่นคงและการเมืองความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เราต้องไม่ลืมว่าราชอาณาจักรสยามและสหรัฐอเมริกามีหลักฐานความสัมพันธ์กันตั้งแต่ปี 1818 และลงนามในสนธิสัญญาไมตรีและการค้ากันตั้งแต่ 1833 (192 ปีที่แล้ว) เราคือชาติแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เราเป็นพันธมิตรเคียงบ่าเคียงไหล่ร่วมรบกับสหรัฐฯ มาตั้งแต่สงครามเกาหลี สงครามเวียดนาม เราเป็นหนึ่งในภาคีองค์การสนธิสัญญาป้องกันเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEATO) ตั้งแต่ปี 1954 และมี Thanat–Rusk communiqué ในปี 1962 เราเป็นหนึ่งในประเทศพันธมิตรหลักนอกนาโต้ (Major Non-NATO Ally: MNNA) และมีความเป็นจริงที่ปฏิเสธไม่ได้นั่นคือ สหรัฐฯ มีสถานเอกอัครราชทูตที่ใหญ่ที่สุดและสำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของโลกตั้งอยู่ที่กรุงเทพมหานคร เช่นเดียวกับที่สหรัฐฯ เพิ่งจะลงทุนเรือนหมื่นล้านบาทเพื่อเสริมสร้างศักยภาพให้กับสถานกงสุลของสหรัฐฯ ที่จังหวัดเชียงใหม่ ดังนั้นในห้วงเวลาที่ภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก คือจุดศูนย์กลางของยุทธศาสตร์ความมั่นคงของสหรัฐฯ ในจังหวะที่จีนกำลังขยายอิทธิพลลงมาในอาเซียนภาคพื้นทวีป และในเวลาที่เมียนมาและเวียดนามกำลังจะสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่น่าจะใช้เทคโนโลยีของรัสเซีย 

 

  • ประเทศไทยอยู่ในฐานะที่ไม่ต้องหงอ ไม่ต้องหมอบ และต้องยืดอกเจรจากับสหรัฐฯ อย่างสง่าผ่าเผย โดยเรื่องสำคัญที่ไทยต้องการและสหรัฐฯ ก็ต้องการนั่นคือ ถ้าสหรัฐฯ จะดึงเงินลงทุนกลับเข้าประเทศสหรัฐฯ เพื่อไปผลิตสินค้า Made in USA สหรัฐฯ จะให้สิทธิประโยชน์ในการลงทุนจากประเทศไทยได้อย่างไรบ้าง เพราะต้องอย่าลืมว่า Make America Great Again, การสร้างการจ้างงานและการลดค่าครองชีพให้คนอเมริกัน เกิดไม่ได้เพียงเพราะการสร้างกำแพงภาษีและมาตรการกีดกันทางการค้า หากแต่จะเกิดได้เมื่อกำแพงภาษีและมาตรการกีดกันทางการค้า มาพร้อมกับมาตรการส่งเสริม สนับสนุน คุ้มครอง และให้สิทธิพิเศษเพื่อให้เงินลงทุนกลับไปลงทุนสร้างฐานการผลิตในสหรัฐฯ

 

แนวทางการเจรจากับจีน: 

 

  • อัตราภาษี 125% ที่จีนจัดเก็บกับสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ และอัตราภาษี 145% (และบางรายการอาจสูงถึง 245%) ที่สหรัฐฯ จัดเก็บกับสินค้านำเข้าจากจีน (ข้อมูล ณ​ วันที่ 17 เมษายน 2025) ทำให้การค้าระหว่าง 2 ประเทศไม่สามารถเกิดขึ้นได้ 

 

  • 2 เรื่องในทางเศรษฐกิจที่ไทยต้องร้องขอจากจีน คือ 1) มีสินค้าใดบ้างที่จีนต้องการรับซื้อจากไทยเพื่อทดแทนการนำเข้าจากสหรัฐฯ และ/หรือ สินค้าที่จีนมีความต้องการสูงมากเป็นพิเศษ โดยสินค้าที่มีศักยภาพสูงอาทิ พืชพลังงาน พืชที่ใช้ในการผลิตน้ำมัน สินค้าเกษตรและอาหารแปรรูป ทั้ง 3 รายการนี้มีความสำคัญมาก เพราะจีนเป็นประเทศที่ไม่สามารถผลิตอาหารและพลังงานได้อย่างเพียงพอกับความต้องการ สินค้ากลุ่มต่อมาคือ ชิ้นส่วนอุปกรณ์ยานยนต์ พลาสติกและผลิตภัณฑ์พลาสติก สารเคมี 2) หากจีนต้องการขึ้นมาเป็นพี่ใหญ่ในเวทีโลก และไทยเองก็พร้อมจะสนับสนุนในฐานะประเทศที่มิใช่อื่นไกลแต่เป็นพี่น้องกัน ‘จงไท่อี้เจียชิน’ (中泰一家亲) ปี 2025 เป็นเพียง 50 ปีเฉลิมฉลองความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการ หากแต่ในความเป็นจริงแล้วสยามและจีนเป็นเพื่อน เป็นคู่ค้า เป็นพันธมิตรกันมายาวนานตั้งแต่สมัยราชวงศ์หยวน-หมิงและ ชิง หรือก่อนการเกิดขึ้นของราชอาณาจักรอยุธยา ดังนั้นสินค้าจีนที่ไม่สามารถส่งออกไปขายยังสหรัฐฯ ต้องไม่ถูกนำมาทุ่มตลาดในประเทศไทยจนทำให้ผู้ประกอบการไทยโดยเฉพาะ SMEs ต้องเดือดร้อน พี่ใหญ่ต้องไม่รังแกน้องเล็กในเวลาที่ตนเองกำลังเดือดร้อน 

 

  • จุดยืนที่ไทยต้องแสดงต่อจีนคือ ไทยพร้อมสนับสนุนจีนในเวทีพหุภาคี โดยเฉพาะในเรื่องการสร้างประชาคมที่มีอนาคตร่วมกันของมวลมนุษยชาติ (人类命运共同体 Community with a shared future for mankind) ซึ่งประกอบด้วย 3 เสาหลัก คือ Global Development Initiative, Global Security Initiative และ Global Civilization Initiative โดยเฉพาะสนับสนุนบทบาทของจีนในเวทีโลก (ในประเด็นที่สอดคล้องกับผลประโยชน์ของไทย) โดยเฉพาะใน องค์การการค้าโลก (WTO) การประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) และ องค์การอนามัยโลก (WHO) ซึ่งจีนคงจะมีบทบาทโดดเด่นมากยิ่งขึ้น ไทยพร้อมที่จะเชื่อมโยงระบบการชำระเงินที่ใช้เงินสกุลท้องถิ่นในการซื้อขาย ไทยพร้อมต้อนรับการลงทุนของจีน 

 

  • ทั้งนี้ฝ่ายไทยเองก็ต้องชัดเจนอาทิ การแสดงความจริงใจผ่านการกำหนดผู้รับผิดชอบที่มีอำนาจในการตัดสินใจในการเร่งรัดการก่อสร้างการเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐานระบบรางที่จะเสริมความแข็งแกร่งให้กับไทยและจีนในโครงการความริเริ่มแถบและเส้นทาง การแสดงความโปร่งใสในการบังคับใช้กฎหมายอย่างไม่เลือกปฏิบัติหรือการคอร์รัปชันฉ้อราษฎร์บังหลวง จนทำให้เครือข่ายอาชญากรรมที่จีนเองก็ต้องการปราบปรามมาสร้างอาณาจักรและเขตอิทธิพลภายในและรอบๆ ประเทศไทย และในเวทีการเมืองความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ 

 

  • และอีกประเด็นคือการเรียกร้องให้จีนช่วยสนับสนุน และเจรจากับผู้นำบราซิลที่จะเป็นเจ้าภาพการประชุมสุดยอดกลุ่ม BRICS ในปีนี้ ให้รับไทยเข้าเป็นสมาชิกแบบ Full Member ของกลุ่ม BRICS เพราะไทยเองก็ต้องการแสวงหาโอกาส ต้องการแสวงหาตลาดใหม่ๆ ที่จะเป็นทางเลือกเพื่อมาทดแทนตลาดการค้าที่กำลังจะเสียไป จากสงครามเศรษฐกิจและระเบียบโลกใหม่

 

สร้างอำนาจต่อรองโดยเล่นบทบาทนำในประชาคมอาเซียน: อาเซียนต้องวางยุทธศาสตร์การเจรจากับสหรัฐฯ ร่วมกัน ซึ่งได้มีการตกลงไปแล้วผ่านการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนนัดพิเศษเมื่อ 10 เมษายน 2025 ผู้เขียนเสนอว่าอาเซียนต้องจัดทำคือ

 

  • อาเซียนทั้ง 10 ประเทศที่มีเศรษฐกิจอันดับที่ 5 ของโลก เป็นตลาดที่มีกำลังซื้อขนาดใหญ่และเติบโตด้วยอัตราเร่ง อาเซียนมีกำลังแรงงานจำนวนมาก เช่นเดียวกับมีทรัพยากรธรรมชาติที่หลากหลายและอุดมสมบูรณ์ และในทางการเมืองอาเซียนคืออาเซียน อาเซียนเป็นตัวของตัวเอง ไม่ได้ตกอยู่ใต้อิทธิพลของมหาอำนาจใด ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐฯ และ/หรือ จีน รวมทั้งอาเซียนต้องการที่จะเป็นจุดเชื่อมโยงทั้ง 3 ห่วงโซ่มูลค่าของโลกเข้าด้วยกัน

 

  • ‘ยุทธศาสตร์ราชสีห์กับหนู’ 10 ประเทศสมาชิกต้องร่วมกันนำเสนอนโยบายที่ทำให้ทรัมป์ต้องให้ความสนใจอาเซียน (ทรัมป์เคยมาเยือนการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนที่ฟิลิปปินส์ในปี 2017 แต่ไม่เคยเข้าประชุมกับผู้นำอาเซียน จากนั้นก็ส่งผู้แทนเข้าร่วมประชุมในระดับที่ผู้นำอาเซียนไม่สามารถรับได้) อาเซียนต้องเป็นหนูที่แสดงความเกรงใจนบนอบในระยะปัจจุบัน แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องแสดงให้เห็นโอกาสที่สหรัฐฯ จะได้จากการร่วมมือกันในอนาคต สิ่งที่หนูอาเซียนจะเสนอให้กับราชสีห์สหรัฐฯ ได้ อาทิ ความต้องการในการจัดซื้อยุทโธปกรณ์ของอาเซียนร่วมกันในอีก 4 ปีต่อจากนี้ ความต้องการในการซื้อสินค้าและบริการที่เป็น Billing ขนาดใหญ่ อาทิ การจัดหาเครื่องบินพาณิชย์ของสายการบินต่างๆ ในประเทศอาเซียนที่มีตลาดการบินขนาดใหญ่และเป็น ฮับทางการบินที่สำคัญ, การจัดซื้อซอฟต์แวร์ และฮาร์ดแวร์ สำหรับระบบบริหาร ASEAN Smart City Network รวมทั้งความต้องการในการจัดซื้อบริการเหล่านี้สำหรับการบริหารกิจการทั้งของรัฐบาลและของภาคเอกชนในอาเซียน, ความต้องการซื้ออุปกรณ์และองค์ความรู้ในการติดตั้งเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์เพื่อการสร้างโรงไฟฟ้าและศักยภาพของการผลิตพลังงานสีเขียวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมดิจิทัลที่ผู้ประกอบการสหรัฐฯ ต้องการ, ทรัพยากรธรรมชาติของอาเซียนที่สหรัฐฯ ดิ้นรนแสวงหาอยู่ ณ ขณะนี้, ไปจนถึงการเปิดโอกาสให้กลุ่มทุนคาสิโนแห่งลาสเวกัสได้มีโอกาสในการทำธุรกิจในอาเซียนในประเทศที่กำลังเดินหน้านโยบายการเปิดบ่อน (ส่วนตัวผู้เขียนไม่เห็นด้วยกับการเปิดบ่อนคาสิโนที่มอมเมาประชาชน แต่หากรัฐบาลจะดันทุรังเปิดให้ได้ อย่างน้อยก็ต้องเอามาใช้ให้เป็นประโยชน์ เพราะต้องอย่าลืมว่าผู้สนับสนุนทรัมป์ก็เป็นกลุ่มทุนคาสิโนยักษ์ใหญ่) ฯลฯ เหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นอำนาจต่อรองที่หนูตัวนี้จะรอดจากเงื้อมมือราชสีห์ด้วยกันทั้งสิ้น 

 

  • เนื่องจากไทย มาเลเซีย และเวียดนาม ได้รับสิทธิ์ในการเป็น Partner Country ของกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจ BRICS ในขณะที่อินโดนีเซียได้รับสิทธิ์เป็น Full Member ของ BRICS เรียบร้อยแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่หนูน้อยอาเซียนต้องดำเนินการด้วยนั่นก็คือ เร่งเจรจากับผู้นำบราซิลที่จะเป็นเจ้าภาพการประชุมสุดยอดกลุ่ม BRICS ในปีนี้ ว่าเป็นไปได้หรือไม่ที่จะรับอาเซียนทั้ง 10 ประเทศเข้าเป็นสมาชิก เพราะหนูตัวนี้บางครั้งก็ต้องพึ่งพาราชสีห์อีกตัวมากดดันราชสีห์อันธพาลตัวเก่า 

 

  • คุณผู้อ่านบางท่านอาจจะถามถึงความเป็นหนึ่งเดียวกันของอาเซียน ว่ามันเป็นจริงได้หรือ คำตอบคือได้ เพราะอาเซียนคือประชาคมที่สนับสนุนให้ทั้ง 10 ประเทศมาร่วมมือกัน แต่ในขณะเดียวกันทั้ง 10 ประเทศก็มีอิสระเพียงพอที่จะดำเนินการในกิจการของตนเอง ดังนั้นมิติใดที่ไทยมีผลประโยชน์ร่วมกับอาเซียน ไทยต้องเร่งผลักดันให้อาเซียนเดินหน้าเพื่อสร้างอำนาจต่อรอง และในขณะเดียวกัน หากมีมิติไหนที่สมาชิกรู้สึกว่าผลประโยชน์ของตนอาจจะไม่สอดคล้องกับอาเซียน อาเซียนก็เปิดกว้างให้สมาชิกนั้นๆ เดินหน้าเจรจาโดยประเทศของตนเองคู่ขนานกับอาเซียนไปด้วยได้ ซึ่งจุดนี้คือสิ่งสำคัญที่แตกต่างจากสหภาพยุโรปที่มีสภาพบังคับที่กำหนดให้สมาชิกต้องมีนโยบายต่างประเทศร่วมกัน (Common External Policy) ซึ่งในหลายๆ ครั้งทำให้สมาชิกต้องการหรือเดินออกจากการเป็นสมาชิก

 

ไทยต้องหาตลาดใหม่ กำแพงภาษีและมาตรการกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ ความไม่ไว้วางใจที่เกิดขึ้นระหว่างประเทศต่างๆ ในประชาคมนานาชาติ สินค้าที่เคยส่งออกไปสหรัฐฯ จากหลายๆ ประเทศจะกองท่วมกันอยู่ในตลาดโลก และจะไหลเข้ามาในประเทศต่างๆ ที่เปิดกว้างทางการค้า เหล่านี้จะทำให้ประเทศไทยจำเป็นต้องแสวงหาตลาดใหม่ๆ เพื่อให้ผู้ประกอบการไทยยังสามารถทำการค้าขายระหว่างประเทศได้ หากในอนาคตกำแพงภาษีตอบโต้ (Reciprocal Tariff) ของสหรัฐฯ ถูกนำกลับมาใช้อีกครั้ง (อาจจะก่อน 90 วันตามที่มีการประกาศเลื่อนออกไป) นั่นทำให้เราต้องพิจารณาตลาดการค้าของเราใหม่ ตัวอย่างเช่น เดิมสินค้าบางรายการของเราอาจจะสู้ราคาของสินค้าที่ผลิตในเวียดนามไม่ได้ หากแต่ด้วยอัตราภาษีที่สหรัฐฯ จะเก็บจากเวียดนามในอัตรา 46% และเก็บจากไทย 36% นั่นทำให้เราได้เปรียบเวียดนามด้านราคาประมาณ​ 10% 

 

ดังนั้นสินค้าบางรายการของเราจะมีความสามารถแข่งขันในตลาดโลกเหนือกว่าเวียดนาม มิพักต้องกล่าวถึงจีนที่โดนกำแพงภาษีจากสหรัฐฯ ในอัตราที่ไม่สามารถนำเข้าไปในสหรัฐฯ ได้ นั่นหมายความว่าแม้เราจะโดนภาษี 36% แต่เราก็ยังสามารถแทนที่สินค้าจีนในตลาดสหรัฐฯ ได้ และในขณะเดียวกันสิ่งที่เราต้องศึกษาเปรียบเทียบด้วยนั่นคือ บางประเทศที่เราไม่เคยคิดว่าจะเป็นคู่แข่ง อาทิ มาเลเซีย อินเดีย ฟิลิปปินส์ แต่เนื่องจากสหรัฐฯ เก็บภาษีสินค้าจากประเทศเหล่านี้ในอัตราที่ต่ำกว่าที่จะจัดเก็บจากประเทศไทย นั่นก็หมายความว่า เราจะต้องแข่งขันกับสินค้าจากประเทศเหล่านี้มากยิ่งขึ้น นอกจากนี้แล้ว อีกหนึ่งกลุ่มประเทศที่ไทยต้องมองเป็นโอกาสคือ โลกมุสลิม

 

โลกมุสลิม คือ ประชากรขนาดกว่า 1.8 พันล้าน ที่กระจายตัวอยู่ในหลายภูมิภาค (หากพิจารณาจาก OIC ซึ่งประกอบด้วย 54 ประเทศสมาชิก) นี่คือตลาดกำลังซื้อสูง มีเศรษฐกิจที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง มีทรัพยากรที่เป็นต้นทางของภาคการผลิต กลุ่มประเทศที่ Team Thailand ต้องทำงานหนักในการสร้างตลาดคือ โลกมลายู (มาเลเซีย อินโดนีเซีย บรูไน) การได้พวกเขาเป็นพันธมิตร เป็นคู่ค้า จะเป็นประตูเปิดทางสู่ตลาดโลกมุสลิม 

 

ตามมาด้วย เอเชียใต้ (อินเดีย ปากีสถาน บังกลาเทศ) และแอฟริกา (โดยอาจใช้นโยบายเหาฉลาม คือ พิจารณาว่าจีนไปเปิดตลาดการค้าการลงทุนอยู่ในพื้นที่ใดตามแนว BRI ซึ่งนั่นหมายถึงมีช่องทาง Logistics เชื่อมโยงแล้ว เราก็ส่ง Team Thailand ไปบุกตลาดเหล่านั้น) น่าเสียดายที่ที่ผ่านมา รัฐไทยยังไม่ให้ความสำคัญกับประเทศในกลุ่มนี้เท่าที่ควร ตัวอย่างที่เห็นอาทิ กระทรวงการต่างประเทศนำเอาประเทศเหล่านี้ไปรวบกันไว้ในการดูแลติดตามโดยกรมเพียงกรมเดียว คือ กรมเอเชียใต้ ตะวันออกกลาง และแอฟริกา ซึ่งเป็นหนึ่งในกรมที่ขาดแคลนกำลังคนมากที่สุด หรือกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ที่จะเป็นทัพหน้าในการสร้างโอกาสทางการค้าของไทย ก็มีสำนักงานส่งเสริมการค้า (หรือสำนักงาน Thai Trade) เพียงแค่ 4 แห่งในแอฟริกา ทั้งที่แอฟริกามี 54 ประเทศและมีประชากรมากกว่า 1.4 พันล้านคน (เท่าๆ กับอินเดีย) และในวงวิชาการ เราเองก็ไม่มีศูนย์แอฟริกันศึกษาในประเทศไทยเช่นกัน

 

นอกจากการแสวงหาตลาดใหม่แล้ว การเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับการบริโภคภายในประเทศ เพื่อลดภาวะพึ่งพิง และสร้างเครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจจากภายในประเทศที่มีความยั่งยืนก็เป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่ง แน่นอนว่าการกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศเป็นเรื่องยาก (เพราะปัจจัยสำคัญ ขึ้นกับปัจจัยด้านพฤติกรรมของประชาชน และโครงสร้างประชากร) แต่หากทำได้ และขยายตัวรายจ่ายจากการบริโภคภายในประเทศให้มีสัดส่วนสูงขึ้นในมูลค่าผลผลิตมวลรวมภายในประเทศ ไทยก็จะมีโครงสร้างเศรษฐกิจที่ยั่งยืนและแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น โดยปัจจัยสำคัญที่จะเป็นตัวผลักดันให้การบริโภคภายในประเทศอย่างยั่งยืนไม่ใช่การใช้นโยบายประชานิยม หากแต่ต้องเป็นการใช้นโยบายส่งเสริมการกระจายรายได้อย่างเป็นธรรม ส่งเสริมความเท่าเทียมในการจัดสรรทรัพยากรและโอกาส และการมีธรรมาภิบาล

 

ในมิติการเงิน การคลัง ทุนสำรองระหว่างประเทศของไทยราว 1 ใน 3 อยู่ในรูปของเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ เมื่อรวมกับพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อีกมหาศาล (โดยมีทองคำอยู่ในทุนสำรองระหว่างประเทศราว 10% เท่านั้น) ต้องอย่าลืมว่า ในปี 2000 สหรัฐฯ มีปริมาณเงินดอลลาร์หมุนเวียนในระบบ (M2 Money Supply) เพียง 4.66 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่ในปี 2024 ปริมาณเงินดอลลาร์เพิ่มเป็นมากกว่า 20.86 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเพิ่มขึ้นมากกว่า 4 เท่า และนั่นทำให้เงินดอลลาร์มีมูลค่าลดลงเมื่อเทียบกับตัวเองไปแล้วกว่า 46% ในช่วงเวลาระหว่างปี 2000-2024 ในขณะที่หนี้สาธารณะหรือหนี้ของรัฐบาลสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 6 เท่าจาก 5.77 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2000 เป็นกว่า 34.3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ณ ปี 2024 ทำให้ในทุกวันทำการสหรัฐฯ ต้องกู้เงินเพิ่มวันละกว่า 8,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และมีภาระดอกเบี้ยสูงกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ จนทำให้บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือต้องลดเครดิตของรัฐบาลสหรัฐฯ เหล่านี้ทำให้หลายประเทศทั่วโลก เริ่มต้นกระแส De-Dollarization หลายประเทศเริ่มสะสมทองคำเพิ่มขึ้น ลดการถือครองพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ และเอกชนเองก็ทยอยลดความเสี่ยงโดยการเจรจาการค้าและลงทุนในสกุลเงินที่หลากหลาย และในตราสารทางเลือกอื่นๆ มากยิ่งขึ้น 

 

นั่นหมายความว่ารัฐบาลคงต้องทำงานร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทยอย่างใกล้ชิดในการให้อิสระธนาคารแห่งประเทศไทยในการดำเนินนโยบายการเงินและนโยบายอัตราแลกเปลี่ยน โดยคำนึงถึงความเสี่ยงและปรับสัดส่วนกระจายการถือครองทรัพย์สินต่างๆ ในทุนสำรองระหว่างประเทศตามพระราชบัญญัติเงินตรา พ.ศ. 2501 (และที่แก้ไขเพิ่มเติม) 

 

ใช้มิติสังคม วัฒนธรรม และมนุษยธรรมในการเสริมสร้าง Soft Power (ในความหมายที่แท้จริงของ Soft Power ที่ไม่ใช่สินค้าความคิดสร้างสรรค์ หรือสินค้าวัฒนธรรม) ปัจจุบันมาตรการที่มิใช่มาตรการทางการค้าถูกนำมาใช้ในสงครามเศรษฐกิจพอๆ กับมาตรการทางภาษี (หรืออาจจะยิ่งกว่า) อาทิ สปป.ลาว และเมียนมา ถูกระงับวีซ่าบางประเภท เช่น วีซ่าท่องเที่ยว วีซ่านักเรียน และวีซ่าผู้อพยพ จากสหรัฐฯ เช่นเดียวกับที่สหรัฐฯ จะระงับวีซ่าบางส่วน หากรัฐบาลของกัมพูชาไม่ดำเนินมาตรการแก้ไขข้อบกพร่องที่สหรัฐฯ ระบุภายใน 60 วัน ลองนึกถึงประชาชนลาวที่กำลังเจอวิกฤตการณ์การเงิน และประชาชนเมียนมาที่อยู่ท่ามกลางสงครามกลางเมือง แต่ไม่มีโอกาสได้ไปเรียนต่อ ไปทำการค้า ไปพบญาติพี่น้องของพวกเขาในสหรัฐฯ ร่วมกับ USAID ก็ยกเลิกทุนการศึกษาและความช่วยเหลือเกือบทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นด้านสาธารณสุขในการรณรงค์ต่อต้าน HIV/AIDS ไปจนถึงโรงพยาบาลสนาม การเก็บกู้วัตถุระเบิด การรักษาสิ่งแวดล้อมในแม่น้ำโขง ฯลฯ ในทางวิชาการงานวิจัยที่เกี่ยวกับสตรี และ LGBTIQ+ ยกเลิก เพราะประธานาธิบดีสหรัฐฯ ต่อต้านกระแสยอมรับความหลากหลาย เท่าเทียม และครอบคลุมทุกภาคส่วน (Diversity, Equity, Inclusivity) นี่คือ โอกาสที่ประเทศไทยจะให้ทุนการศึกษาให้นักเรียนจากประเทศเพื่อนบ้านที่เรียนหนังสือเก่งๆ มาเรียนต่อในประเทศไทย ในทุกระดับ นี่คือโอกาสที่ไทยจะเข้าไปช่วยสร้างสาธารณูปโภค โครงสร้างพื้นฐานในประเทศเพื่อนบ้าน นี่คือโอกาสที่จะได้บุคลากรที่มีความรู้ความสามารถจากหลายๆ ประเทศทั่วโลกให้มาทำงาน มาลงทุน มาผลิตงานวิจัย สร้างนวัตกรรม หรือแม้กระทั่งเข้ามาเติมเต็มช่องว่างในโครงสร้างประชากรของไทย เหล่านี้คือ Soft Power ที่จะสร้าง Friend of Thailand ให้สนับสนุนไทย ช่วยไทย ในการเรียกร้องและรักษาผลประโยชน์ของชาติในเวทีโลก

 

ภาพ: ฐานิส สุดโต, ixpert via ShutterStock, REUTERS / Athit Perawongmetha, Nathan Howard

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising