×

ฉากทัศน์เศรษฐกิจใหม่ของโลก กำลังเป็นโอกาสสำคัญของกลุ่มประเทศที่ ‘ไม่เลือกข้าง’ อินเดีย-อาหรับ น่าจับตามองที่สุด

01.04.2024
  • LOADING...
Middle Powers

ภูมิรัฐศาสตร์โลกกำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ความร่วมมือใหม่ระหว่างประเทศต่างๆ ได้ถือกำเนิดขึ้น พร้อมทั้งเส้นทางการค้าและโครงสร้างซัพพลายเชนก็กำลังถูกดิสรัปต์ไปสู่รูปแบบใหม่ด้วยเช่นกัน ความผันผวนเหล่านี้เกิดขึ้นจากความเร่งด่วนในการเปลี่ยนผ่านไปสู่แหล่งพลังงานสะอาดและเทคโนโลยี AI ที่มีบทบาทสำคัญมากขึ้น

 

World Economic Forum ได้ออกบทวิเคราะห์ว่า ภายใต้ฉากทัศน์ใหม่นี้ บางประเทศมีโอกาสที่จะได้รับประโยชน์มากกว่าประเทศอื่นๆ หากพวกเขาวางหมากถูก ซึ่งประเทศเหล่านั้นคือกลุ่มที่ถูกเรียกว่า ‘Middle Powers’ ผู้ที่ใช้กลยุทธ์การหลีกเลี่ยงที่จะเลือกเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เพื่อสร้างความได้เปรียบและความยืดหยุ่นให้กับตนเองได้อย่างสูงสุด

 

อินเดีย: แบบอย่างของ ‘Middle Powers’

 

อินเดียเป็นตัวอย่างที่ดี เนื่องจากพวกเขาสามารถเดินทางไปเจรจานโยบายที่ทำเนียบขาวในสหรัฐอเมริกาในวันหนึ่ง และสามารถไปนั่งหารือโอกาสความร่วมมือ BRICS กับจีนได้ในวันต่อมา ซึ่งสถานะความเป็นกลางนี้เป็นหนึ่งเหตุผลที่ทำให้อินเดียดึงดูดความสนใจจากบริษัทข้ามชาติยักษ์ใหญ่ให้อยากเข้ามาลงทุนในประเทศได้

 

จากการนำของนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี และคณะ นโยบายที่อินเดียพยายามจะผลักดันเพื่อพัฒนาประเทศคือ การทำให้กระบวนการบริหารงบประมาณ ระบบการเงิน และสภาพแวดล้อมในการทำธุรกิจมีความทันสมัยมากขึ้น อีกทั้งระบบการใช้จ่ายในประเทศที่ทำได้แบบทันทีระหว่างสถาบันการเงินและตัวบุคคลกับร้านค้าผ่าน QR Code ก็มีการเริ่มใช้ โดยคาดว่าการใช้จ่ายรูปแบบนี้จะมีจำนวนมากถึง 1 พันล้านครั้งต่อวันภายในปี 2026

 

นอกจากนี้ กฎเกณฑ์การรับมือกรณียื่นล้มละลายของธุรกิจที่เป็นระเบียบมากขึ้น และนโยบายที่มุ่งกระตุ้นให้เกิดการผลิตภายในประเทศเพื่อส่งออก ล้วนแล้วแต่เป็นกลไกที่แสดงให้เห็นว่า อินเดียกำลังคว้าโอกาสการพัฒนาประเทศด้วยวิธีที่สร้างสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการทำธุรกิจ

 

กลุ่มประเทศอ่าวอาหรับ: นักคิดอย่างมีกลยุทธ์

 

Gulf Cooperation Council ที่ประกอบไปด้วย ซาอุดีอาระเบีย คูเวต โอมาน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ กาตาร์ และบาห์เรน คืออีกกลุ่มประเทศที่กระตือรือร้นในการกำหนดทิศทางอนาคตของตัวเอง โดยเริ่มลดการพึ่งพาพลังงานฟอสซิลที่เคยเป็นสินค้าหลักของระบบเศรษฐกิจสู่งานบริการ งานสายเทคโนโลยี และการท่องเที่ยว

 

ตัวอย่างที่น่าเอ่ยถึงคือ ซาอุดีอาระเบีย ที่กำลังกระจายแหล่งรายได้ด้วยการเพิ่มการลงทุนจากต่างประเทศและส่งออกสินค้าที่ไม่ใช่น้ำมันในสัดส่วนที่มากขึ้น

 

ในฟากของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ก็เป็นประเทศที่ผนวก AI เข้าไปอยู่ในแบบแผนการพัฒนาประเทศด้วยการสร้างกระทรวง AI ที่ถือเป็นแห่งแรกของโลก พร้อมทั้งมีการออกโครงการติวเตอร์ส่วนตัวให้กับนักเรียนทุกคนในประเทศที่สนับสนุนด้วยเทคโนโลยีที่ใช้ใน ChatGPT อยู่เบื้องหลัง

 

ลาตินอเมริกา: ยังไม่สายเกินที่จะเปลี่ยน

 

หากประเมินจากสถานการณ์ปัจจุบัน ทุกอย่างดูเหมือนจะเข้าข้างกลุ่มประเทศในแถบลาตินอเมริกาที่จะสามารถดันให้ตัวเองเข้ามามีบทบาทในระบบเศรษฐกิจโลกได้มากขึ้น ต่างจากในสมัยก่อนที่พวกเขาจำเป็นต้องพึ่งพาความช่วยเหลือจากต่างประเทศ แต่ตอนนี้ลาตินอเมริกากลายเป็นผู้จัดหาสินค้าโภคภัณฑ์ต่างๆ เป็นผู้นำในการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาด และมีศักยภาพในการเป็นศูนย์กลางการส่งออก

 

ธุรกิจส่งออกสินค้าเกษตรของประเทศ เช่น บราซิล ก็กำลังเติบโตขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะช่วงปี 2022 ที่มูลค่าส่งออกทะลุ 159,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือจะเป็น Nuevo Leon รัฐในประเทศเม็กซิโกที่ก้าวขึ้นมาเป็นฮับการผลิตแห่งใหม่ 

 

ทั้งหมดนี้เป็นเหตุผลว่าทำไมประเทศ ‘Middle Powers’ ที่ยอมปรับตัวรับเทรนด์โลกมีโอกาสที่จะก้าวขึ้นมาเป็นผู้ชนะในระเบียบโลกที่เปลี่ยนแปลงไป

 

สำหรับนักลงทุนแล้ว การลงทุนที่ไม่รวมประเทศกลุ่มนี้เข้าไปในพอร์ตอาจทำให้เสียโอกาสได้ เพราะในจุดนี้ปัจจัยสนับสนุนกำลังล้อมรอบประเทศเหล่านี้อยู่ และหากรัฐบาลของพวกเขาเปิดรับโอกาสเหล่านี้ การเติบโตที่เคยเป็นภาพฝันก็จะสามารถกลายเป็นความจริงได้

 

ภาพ: Kriangkrai Thitimakorn / Getty Images

อ้างอิง: 

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X