ซิงเกอร์ จากหุ้นต่ำสิบ ราคาทะยานยืนเหนือ 40 บาทได้ในรอบ 1 ปี หลังปรับโครงสร้างองค์กร วางระบบงานใหม่ พลิกฟื้นผลการดำเนินงานจากขาดทุน 2 ปีซ้อนมาเป็นกำไร ผู้บริหารเผยโควิดไม่กระทบ ราคาหุ้นปัจจุบันสะท้อนพื้นฐานแท้จริงแล้ว ด้านนักลงทุนสถาบัน-กองทุน มีมุมมองเชิงบวกรุมขอข้อมูลต่อเนื่อง
หุ้น บมจ.ซิงเกอร์ ประเทศไทย (SINGER) บริษัทที่มีอายุยาวนานถึง132 ปี ทำธุรกิจเป็นผู้จำหน่ายผลิตภัณฑ์ภายใต้เครื่องหมายการค้า ‘ซิงเกอร์’ เช่น จักรเย็บผ้า เครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านต่างๆ รวมถึงการจำหน่ายสินค้าเชิงพาณิชย์ เช่น เครื่องมือและอุปกรณ์ทางการเกษตร ตู้เติมเงินโทรศัพท์มือถือออนไลน์ ตู้เติมน้ำมันแบบหยอดเหรียญ และเครื่องทำน้ำหวานเกล็ดหิมะ
โดย SINGER กลายเป็นหุ้นม้ามืดนอกสายตา เพราะเพียงแค่ระยะเวลากว่า 1 ปีที่ผ่านมา ราคาหุ้น SINGER ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องถึง 958% จากระดับต่ำสุดเมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2563 ซึ่งขณะนั้นราคาหุ้นเคลื่อนไหวอยู่ที่เพียง 3.47 บาท และมีสัญญาณบ่งชี้ว่าราคาหุ้น SINGER ยังสามารถไปต่อได้ จาก IAA Consensus ซึ่งโบรกเกอร์ 2 รายให้ราคาเฉลี่ยที่ 51.67 บาทต่อหุ้น ในขณะที่ล่าสุดวันนี้ (26 สิงหาคม) ราคาหุ้น SINGER ปิดตลาดภาคเช้าที่ระดับ 41.50 บาท เพิ่มขึ้น 4.52% จากวันก่อนหน้า
หากกลับไปดูผลการดำเนินงานย้อนหลัง 5 ปีของ SINGER จะพบว่า SINGER ขาดทุนติดๆ กันในปี 2560 และ 2561 ที่ 9.76 ล้านบาท และ 80.77 ล้านบาท ตามลำดับ กระทั่งในปี 2562 สามารถพลิกกลับมามีกำไรสุทธิได้ที่ 165.89 ล้านบาท
กำไรของ SINGER โดดเด่นขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2563 ท่ามกลางสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด ซึ่งขณะนั้นธุรกิจส่วนใหญ่ในประเทศไทยยังไม่สามารถตั้งรับและปรับตัวได้เพราะถือเป็นเรื่องใหม่สำหรับผู้ประกอบการ แต่ SINGER โชว์ผลกำไร 433.30 ล้านบาท และยังคงโชว์กำไรต่อเนื่องได้ในไตรมาสแรกของปีนี้ที่ 140.12 ล้านบาท
ส่วนไตรมาส 2 SINGER ทำสถิติสูงสุดใหม่รายไตรมาส มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 183 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 59.1% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน โดยมีรายได้รวมอยู่ที่ 1,152 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 26%
หากพิจารณาความเคลื่อนไหวราคาหุ้น SINGER จะพบว่า ในเดือนมกราคม 2563 ราคาหุ้นตัวนี้ซื้อขายกันที่ระดับ 4.12 บาทต่อหุ้น (2 มกราคม) หลังจากนั้นราคาก็มีการไต่ระดับสูงขึ้น และทะยานขึ้นทำจุดสูงสุดใหม่ที่ 47.25 บาท ถือเป็นการทำนิวไฮในรอบ 27 ปี เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2564 ที่ผ่านมา โดยล่าสุดราคาหุ้น SINGER อยู่ที่ 40.75 บาทต่อหุ้น (ณ วันที่ 13 สิงหาคม 2564)
กิตติพงศ์ กนกวิไลรัตน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ. ซิงเกอร์ประเทศไทย (SINGER) ให้สัมภาษณ์ THE STANDARD WEALTH ว่า ภายหลัง บมจ.เจ มาร์ท เข้าถือหุ้น SINGER ก็ได้ดำเนินการปรับโครงสร้างองค์กรและโครงสร้างการทำงานใหม่ เช่น การปรับเปลี่ยนทีมบริหาร การวางระบบบัญชี ระบบการติดตามหนี้ ซึ่งขณะนั้นยังทำธุรกิจแบบเดิมๆ ทำให้ในปี 2560-2561 SINGER ประสบปัญหาขาดทุนต่อเนื่อง จนกระทั่งการปรับโครงสร้างแล้วเสร็จ มีการเพิ่มธุรกิจใหม่ๆ SINGER จึงสามารถพลิกกลับมามีกำไรสุทธิได้ในปี 2562 และมีกำไรต่อเนื่องถึงปัจจุบัน ส่งผลให้ราคาหุ้นปรับตัวสูงขึ้นสะท้อนผลการดำเนินงาน
“ตอนที่ราคาหุ้นเราต่ำกว่า 10 บาท ไม่สะท้อนความเป็นจริงเลย ไม่สะท้อนสินทรัพย์ที่เรามีด้วย เป็นราคาที่ Undervalue มาก ราคาหุ้นเราขยับมา 20 บาท 30 บาท และตอนนี้ 40 บาท มาจากมุมมองบวกของกองทุน ของนักลงทุนสถาบัน ช่วง 6-8 เดือนที่ผ่านมา นักลงทุนกลุ่มนี้ติดต่อขอเข้ามาคุยกับเราเพิ่มมากขึ้น”
SINGER มีผู้ถือหุ้นรายใหญ่ 5 อันดับแรก (ณ วันที่ 5 พฤษภาคม 2564) ดังนี้
- บมจ.เจ มาร์ท 175,499,740 หุ้น 35.47%
- กุลิสรา การะ 21,338,700 หุ้น 4.31%
- เชาว์ การะ 18,715,200 หุ้น 3.78%
- สถาพร งามเรืองพงศ์ 17,036,400 หุ้น 3.44%
- บริษัท ไทยเอ็นวีดีอาร์ จำกัด 15,409,236 หุ้น 3.11%
ณ สิ้นไตรมาส 2/64 SINGER มีพอร์ตสินเชื่อรวมอยู่ที่ 8,569 ล้านบาท มีมูลค่าสินทรัพย์รวมเพิ่มเป็น 1.11 หมื่นล้านบาท และมีหนี้สินรวม 7.58 พันล้านบาท ขณะที่มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดรวม (Market Cap) ขยับสูงขึ้นมาที่ 2.03 หมื่นล้านบาท
กิตติพงศ์กล่าวว่า ภายใต้สถานการณ์โควิดที่เกิดขึ้นต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา แต่ SINGER ไม่ได้รับผลกระทบแม้ว่าฐานลูกค้าจะเป็นรายย่อย เนื่องจากมีตัวแทนจำนวนมากที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ และอยู่ในพื้นที่ชุมชนเป็นหลัก จึงใกล้ชิดลูกค้า ทำให้ไม่มีปัญหาในการเดินทางเพื่อขายสินค้าและเก็บหนี้ในภาวะล็อกดาวน์
ด้านลูกค้าซึ่งเป็นร้านค้าชุมชน หรือร้านค้าในท้องถิ่น ก็ได้รับผลดีจากมาตรการคนละครึ่งของภาครัฐเพื่อกระตุ้นกำลังซื้อ ทำให้เกิดการจับจ่ายใช้สอย จึงยังมีศักยภาพในการผ่อนชำระดีอยู่
โมเดลธุรกิจของ SINGER คือการขายผ่านตัวแทนของบริษัทและเครือข่ายร้านสาขาย่อย ซึ่งลงลึกถึงระดับอำเภอและตำบล ควบคู่การขายผ่านช่องทางออนไลน์ โดยมีสินค้าทั้งในกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้า และสินค้าเชิงพาณิชย์ เช่น ตู้แช่ ทีวี ตู้เย็น เครื่องปรับอากาศ
ปัจจุบัน SINGER มีร้านสาขาและแฟรนไชส์รวมกว่า 2,800 แห่ง มีการปล่อยสินเชื่อ 2 ประเภทหลักคือ 1. สินเชื่อรถทำเงิน (C4C) มีสัดส่วน 55% 2. สินเชื่อเช่าซื้อ (Hire Purchase) มีสัดส่วน 45% จึงสนองตอบต่อความต้องการของลูกค้าได้อย่างครอบคลุมและหลากหลาย ทั้งกลุ่มลูกค้าบ้านและกลุ่มลูกค้าเชิงพาณิชย์ ผ่านร้านค้าปลีกซึ่งเป็นสาขาของบริษัทเอง และผ่านทางตัวแทนจำหน่ายต่างๆ
SINGER ตั้งเป้าหมายขยายพอร์ตสินเชื่อให้เติบโตแตะระดับ 1 หมื่นล้านบาท ภายในสิ้นปีนี้ ขณะที่คาดว่ารายได้รวมจะเติบโต 25% รวมทั้งบริษัทยังไม่ได้รับผลกระทบจากกรณีที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ปรับลดการคิดค่าธรรมเนียนทวงถามหนี้ลงเหลือไม่เกิน 50 บาท จากเดิมไม่เกิน 100 บาทต่อรอบการทวงถามหนี้ โดยลูกค้าส่วนใหญ่จะชำระหนี้ผ่านตัวแทนและเคาน์เตอร์เซอร์วิสเป็นหลัก
“นักลงทุนกลับมาเชื่อมั่นต่อธุรกิจเราอีกครั้ง เรามีความแข็งแกร่งมากขึ้น เรามีแผนที่จะขยายสาขาให้ครบ 4,000 แห่ง ส่วนใหญ่จะเป็นสาขาย่อย ซึ่งเปิดตามห้องแถวที่อยู่ในย่านชุมชน ความใกล้ชิดที่เรามีกับลูกค้าส่งผลดีกับธุรกิจของเราอย่างมากในภาวะเช่นนี้” กิตติพงศ์กล่าว
เตรียมพบกับฟอรัมที่ผู้บริหาร ‘ต้องดู’ ก่อนวางแผนกลยุทธ์ปีหน้า! The Secret Sauce Strategy Forum คัมภีร์กลยุทธ์ฝ่าวิกฤตปี 2022
📌 เฟรมเวิร์กกลยุทธ์ใช้ได้จริง
📌 ฉากทัศน์เศรษฐกิจไทย–โลก
📌 เทรนด์ผู้บริโภค–การตลาด
📌 เคสจริงจากผู้บริหาร
พิเศษ! บัตร Early Bird 999 บาท วันนี้ถึง 27 สิงหาคมนี้เท่านั้น
ซื้อบัตรได้แล้วที่ www.zipeventapp.com/e/the-secret-sauce