×

ธปท. เผย ล็อกดาวน์รอบใหม่กระทบแรงงาน 4.7 ล้านคน ฉุดเศรษฐกิจราว 1-4%

15.01.2021
  • LOADING...

ชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่าโควิด-19 ระลอกใหม่มีการแพร่กระจายเร็วกว่ารอบแรก แต่จากข้อมูล (เร็ว) ที่เห็นคือกิจกรรมทางเศรษฐกิจของไทยจะกระทบน้อยกว่ารอบก่อนหน้า ส่วนหนึ่งเพราะมาตรการที่เข้มงวดน้อยกว่า และมีความหวังจากการกระจายใช้วัคซีนต้านโควิด-19 

 

ทั้งนี้ จากการสำรวจข้อมูลปี 2561 พบว่าพื้นที่ที่มีการควบคุมสูงสุดหรือพื้นที่สีแดงโดย GPP ของกลุ่มจังหวัดนี้มีสัดส่วนราว 75% ของ GDP ขณะที่พื้นที่สีส้มอยู่ที่ 7% พื้นที่สีเหลือง 18% ซึ่งในแต่ละพื้นที่มีกิจกรรมที่ลงไม่เท่ากัน 

 

อย่างไรก็ตาม จากผลกระทบข้างต้นมองว่าภาคแรงงานประเมินว่ามีแรงงานกลุ่มเสี่ยงเพิ่มขึ้นกว่า 4.7 ล้านคน โดยมีทั้งกลุ่มที่รายได้ลดลงรุนแรงและกลุ่มเสมือนว่างงาน (มีชั่วโมงการทำงานต่ำกว่า 24 ชั่วโมงต่อสัปดาห์) แบ่งเป็น 

 

ลูกจ้างรายวันนอกภาคเกษตรที่มีอยู่ทั้งหมดราว 5.1 ล้านคน เป็นแรงงานที่อยู่ในพื้นที่สีแดง 2.8 ล้านคน เฉพาะแรงงานในเซกเตอร์ที่ได้รับผลกระทบแบ่งเป็นกลุ่มเสมือนว่างงานราว 5 แสนคน และกลุ่มรายได้ลดลงรุนแรง 5 แสนคน

 

อาชีพอิสระนอกภาคเกษตรมีอยู่ทั้งหมด 8.2 ล้านคน เป็นแรงงานที่อยู่ในพื้นที่สีแดง 4.2 ล้านคน เฉพาะในแรงงานที่ได้รับผลกระทบแบ่งเป็นกลุ่มเสมือนว่างงาน 6 แสนคน และกลุ่มรายได้ลดลงรุนแรง 3 ล้านคน 

 

นอกจากนี้ยังมีกลุ่มลูกจ้างในสาขาโรงแรม ผลกระทบจากการล็อกดาวน์รอบใหม่จะตกงานเพิ่มขึ้นอีก 1 แสนคน จากเดิมที่มีการจ้างงานราว 2.3 แสนคน หากแรงงานมีรายได้ลดลงย่อมส่งผลต่อภาคส่วนอื่นๆ ขณะเดียวกันกลุ่มแรงงานถือเป็นส่วนสำคัญที่จะส่งผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจในระยะต่อไป 

 

อย่างไรก็ตาม ผลกระทบโดยตรงจากการล็อกดาวน์รอบใหม่ที่ชัดเจนอีกมิติคือส่งผลต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ลดลง ทางธนาคารแห่งประเทศไทยประเมินผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยใน 3 กรณี ได้แก่

 

กรณีที่ 1 การใช้มาตรการปานกลางอย่างการล็อกดาวน์บางจุดในระยะเวลา 2 เดือน ซึ่งถือว่าไม่เข้มงวดเท่าการระบาดระลอกแรก หากมาตรการปานกลางสามารถคุมการแพร่ระบาดได้สำเร็จ คาดว่าจะส่งผลระทบราว 1-1.5% ของ GDP

 

กรณีที่ 2 การล็อกดาวน์เข้มงวดทั่วประเทศเหมือนการระบาดระลอกแรก ซึ่งหากใช้ระยะเวลา 1 เดือน คาดว่าจะกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจและส่งผลกระทบราว 2-2.5% ของ GDP

 

กรณีที่ 3 หากมาตรการปานกลางไม่ได้ผล ยังมีการระบาดเพิ่มขึ้นจนทำให้ต้องใช้มาตรการเข้มงวด จะส่งผลยืดเยื้อกว่า 2 กรณีแรก อีกทั้งกระทบต่อการฟื้นตัวช่วงครึ่งปีหลัง ในภาพรวมคาดว่าจะส่งผลกระทบราว 3-4% ของ GDP 

 

ขณะเดียวกันยังต้องติดตาม 3 ปัจจัยเพื่อประเมินผลกระทบเศรษฐกิจ ได้แก่ ประสิทธิผลของมาตรการรัฐบาลที่ออกมาเพื่อพยุงเศรษฐกิจ การกระจายวัคซีนต้านโควิด-19 แผนการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ และความเป็นไปได้ที่จะกลับมาแพร่ระบาดระลอกใหม่ โดยเฉพาะในช่วงครึ่งปีหลัง 2564

 

ขณะที่หลายภาคธุรกิจและครัวเรือนมีฐานะการเงินที่เปราะบางมากขึ้นจากการระบาดระลอกแรก ทำให้ความสามารถในการรองรับแรงกระแทกทางเศรษฐกิจน้อยลง ดังนั้นการช่วยเหลือภาคธุรกิจและแรงงานอย่างทันการณ์เป็นเรื่องจำเป็นเร่งด่วน และต้องเน้นการเข้าถึงกลุ่มเปราะบางให้ทั่วถึงและตรงจุดมากที่สุด ซึ่งภาครัฐได้ทยอยออกมาตรการช่วยเหลือ รวมถึงธนาคารแห่งประเทศไทยที่ได้ออกมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้เพื่อบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าว

 

 

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising