×

การฟังเพลงคือรสนิยม เรากำหนดรสนิยมของคนอื่นไม่ได้ แต่เรากำหนดของเราเองได้

31.07.2019
  • LOADING...
การฟังเพลงคือรสนิยม

HIGHLIGHTS

5 Mins. Read
  • วงดนตรีที่มีเพลงอยู่แค่ 4 เพลง แต่วัยรุ่นรู้จักและยอมจ่ายเงินซื้อบัตรคอนเสิร์ตจน Sold Out มันช่างน่าอัศจรรย์
  • คราวนี้มาถึงคำถามสำคัญ แล้วทำไมเพลงแนวนี้ถึงฮิตขึ้นมาได้ ผมคิดว่ามันเป็นวงจรของแฟชั่น ซึ่งมักจะวนมาทุกๆ 30 ปี ผมจะขอย่อไทม์ไลน์ของเพลงในโลกนี้ให้อยู่ใน 1 ย่อหน้าต่อจากนี้ 

ไม่ว่าอายุเราจะอยู่ที่เท่าไร การฟังเพลงของเรามีสองแนวทางเสมอ ทางแรกคือฟังในแนวที่เราชอบ อีกทางคือหาแนวทางใหม่ที่ไม่เคยฟัง โดยเฉพาะแนวทางที่แปลกใหม่และน่าสนใจ เพราะดนตรีมันเหมือนแฟชั่น มันมีวิวัฒนาการของมันตลอด ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมานี้ มีวงดนตรีดีๆ เกิดใหม่มากมายทั้งไทยและต่างประเทศ พวกเขาทำดนตรีที่เรียกได้ว่าเป็นเทรนด์ใหม่ของดนตรียุคนี้ได้อย่างน่าสนใจ

 

เมื่อ 2 ปีก่อน ผมโดนเพื่อนลากไปดูคอนเสิร์ตขอวง Prep ที่ Voice Space ทั้งๆ ที่ผมแทบไม่รู้จักวงนี้เลย

 

“กำลังดัง เพลง Cheapest Flight แม่งสุดยอด” เพื่อนผมบอก

 

ผมเสิร์ชตาม หน้าจอขึ้น ผมเกิดคำถามทันที “อะไรวะ เป็นซิงเกิลด้วย ยังไม่มีอัลบั้มเหรอ”

 

“ยัง วงนี้มีแค่ 4 เพลง”

 

“หูย แล้วในคอนเสิร์ตมันจะเล่นกันกี่เพลงวะ”

 

Love can’t bring me down.

When I take myself.

Way out of reach.

Cheapest Flight / Prep

 

วงดนตรีที่มีเพลงอยู่แค่ 4 เพลง แต่มีวัยรุ่นรู้จักและยอมจ่ายเงินซื้อบัตรคอนเสิร์ตจน Sold Out มันช่างน่าอัศจรรย์ ไม่ต่างอะไรกับวงอย่าง LANY และ Oh Wonder ที่มาในปีนั้น และเมื่อผมได้ดู Honne กับ Tom Misch เมื่อปีที่แล้ว ผมก็เริ่มสงสัยตัวเองว่า เพลงสมัยนี้ไม่ร็อกแล้วล่ะ ใครยังฟังร็อกอยู่นับว่าเชยมาก (แฮ่)

 

 

You can’t take this away from me.

The way I hit the melody.

The wave bring clarity.

Running through me.

– It Run Through me / Tom Misch

 

จะว่าไป ผมก็ไม่รู้ว่าผมเปลี่ยนมาฟังเพลงแบบนี้ตั้งแต่เมื่อไร แนวเพลงที่ยังหานิยามไม่ได้อย่างชัดเจน แต่พอบอกได้คร่าวๆ ว่ามันเป็นเพลงช้าที่มีจังหวะ มีเสียงสังเคราะห์ หรือบางครั้งมาพร้อมกับเครื่องดนตรีย้อนยุค หลายเพลงมีกีตาร์ที่กรู๊ฟมาก เป็นกีตาร์ที่จะแจ๊สก็ไม่แจ๊ส จะบลูส์ก็ไม่บลูส์ แต่มันพลิ้วมาก ส่วนสไตล์การร้องขึ้นอยู่กับแต่ละคนเลย ถ้าแรปได้ก็มักจะใส่ท่อนแรปเข้ามาด้วย

 

 

Of waking up in your house. 

On a San Francisco Street.

We tune out all the nasty weather. 

And it’s all in front of you and me.

San Francisco Street / Sun Rai

 

San Francisco Street เป็นอีกเพลงหนึ่งที่ดังในเมืองไทยมากกว่าในออสเตรเลียแหล่งกำเนิดเสียอีก ดนตรีที่มีกลิ่นของ 80s และความพลิ้วของทำนอง เนื้อเพลงมีความละมุน เรียกได้ว่าใครฟังครั้งแรกก็ต้องชอบ เพลงนี้เริ่มดังขึ้นเรื่อยๆ แล้ว ดังจนตอนนี้ไม่อยากให้ดังไปกว่านี้แล้ว เพราะเดี๋ยวจะเกร่อเสียก่อน

 

 

If this time is the last drive out in the haze

Take me in for the last time into your eyes

Yes, I know we shouldn’t go that far

But I could wonder

Wonder / ADOY

 

ข้ามฟากมาที่เอเชียบ้าง งานของ ADOY เป็นงานที่น่าสนใจมาก พวกเขาเคยมาเปิดการแสดงในเมืองไทยแล้วเมื่อปีที่แล้ว อีกวงที่น่าสนใจของเกาหลีใต้คือ Hyukoh ในฝั่งเอเชียมีวงดนตรีดีๆ อีกเยอะแยะ เช่น Mondo Gascaro ของอินโดนีเซีย Sunset Rollercoaster และ The Fur. ของไต้หวัน ส่วนญี่ปุ่นนั้นเรียกได้ว่าเป็นทะเล ถ้าจะเลือกสักวงผมของเลือก Joji

 

 

I still believe it

I still remember it

You might have gone so far

With someone else

Whoever that is

Still / Lukpeach

 

หากมาดูเพลงไทย เราได้ ภูมิ วิภูริศ เป็นหัวหอกในการทำเพลงแนวนี้ อัลบั้มของเขา Manchild ดังไปทั่วโลก ที่แม้แต่นิตยสาร Rolling Stone ยังเขียนถึง อาร์แอนด์บีแบบที่มีจังหวะดีๆ กำลังเป็นที่มาแรง อยากให้หาฟังงานของ ลูกพีช และ Yented นอกจากนี้เราฝากความหวังไว้กับนักแต่งเพลงรุ่นใหม่ได้ตั้งแต่ The TOYS, Gym And Swim, temp. (สองวงหลังเพิ่งมีเขียนถึงงานล่าสุดไป) รวมทั้งรุ่นเก่าอย่าง แสตมป์ อภิวัชร์ ที่ตอนนี้โกอินเตอร์อยู่ และ Polycat กับ Ink ที่ใช้เครื่องดนตรีย้อนยุคได้อย่างน่าทึ่ง และมีส่วนทำให้แนวเพลงที่เรียกว่าซิตี้ป๊อปเป็นที่รู้จักมากขึ้น

 

ปีนี้มีศิลปินดีๆ มากมายที่มาแสดงคอนเสิร์ตบ้านเรา เมื่อต้นปีมี Mac Ayres กลางปีมี Daniel Caesar ส่วนปลายปีก็จะมีวงอย่าง The 1975, FKJ, The Marias, Sun Rai, Rex Orange County และ Boy Pablo รวมทั้ง Prep ก็มาอีกรอบด้วย

 

คราวนี้มาถึงคำถามสำคัญ แล้วทำไมเพลงแนวนี้ถึงฮิตขึ้นมาได้ ผมคิดว่ามันเป็นวงจรของแฟชั่น ซึ่งมักจะวนมาทุกๆ 30 ปี ผมจะขอย่อไทม์ไลน์ของเพลงในโลกนี้ให้อยู่ใน 1 ย่อหน้าต่อจากนี้

 

ดนตรียุค 60 มีความเป็นร็อก (The Beatles, Rolling Stone, Led Zeppelin) แล้วแยกออกเป็นสองทางในทันที ทางหนึ่งเบาลงเป็นโฟล์ก (Simon And Garfunkel, Bob Dylan) อีกทางหนึ่งคือซับซ้อนขึ้นเป็นโปรเกรสซีฟ (Pink Floyd, Genesis) ในยุค 70 รวมทั้งพังก์ (Sex Pistols, The Clash) ขณะที่ฝั่งอเมริกามีโซล (Marvin Gaye) ที่แตกมาจากแจ๊ส (Miles Davis, John Coltrane) ปลายๆ ยุค 70 มีดิสโก้ (Bee Gees, Earth, Wind And Fire) พอความซับซ้อนถึงจุดอิ่มตัว ในยุค 80 ทุกอย่างมันเลยมีแนวทางใหม่ ฟังง่ายขึ้น นั่นก็คือป๊อป (Michael Jackson, Madonna) ซึ่งรวมทั้งการใช้เสียงสังเคราะห์ต่างๆ เข้ามาในดนตรี (Pet Shop Boys, Giorgio Moroder) แม้แต่ร็อกก็ยังต้องมีเพลงฟังง่าย หรือที่เรียกว่าบัลลาด (Bon Jovi, Guns N’ Roses) เราเพลินกับเพลงฟังง่ายกันไปจนถึงระดับหนึ่ง แล้วเพลงก็เกิด Music Disruption ครั้งใหญ่ขึ้นในช่วงยุค 90 อัลเทอร์เนทีฟกวาดร็อกแฮร์แบนด์ลงถังหมด ซึ่งเป็นทั้งกรันจ์ (Nirvana) และบริตป๊อป (Blur, Oasis)

 

ช่วงยุค 90 เป็นการวนลูป 30 ปี คือกลับมาร็อกอีกครั้ง หลังจากนั้นเพลงก็แตกออกเป็นสองทางอีก ทางสายอินดี้ป๊อป (Belle And Sebastian, Kings of Convenience) รวมทั้งทางที่เป็นพังก์ผสมกับดิสโก้ (The Strokes, Arctic Monkeys) กับอีกทางคือทำให้ยากขึ้น ซับซ้อนขึ้น (Radiohead ยุค Kid A, Muse, Daft Punk) และนูเมทัล (Linkin Park) ซึ่งไม่ต่างอะไรกับตอนที่ Pink Floyd ทำโปรเกรสซีฟเลย

 

ในยุค 00 กับ 10 พอมันซับซ้อนขึ้นเรื่อยๆ มันก็จะกลับมาป๊อปใหม่ แบบที่คนอยากฟังอะไรง่ายขึ้น นุ่มนวลขึ้น อาจจะมีความเป็นดรีมป๊อป (Tame Impala) บ้าง แต่รวมๆ คือมีความเป็นโซลยุคใหม่ที่ผมพูดถึงในย่อหน้าแรก จังหวะและกีตาร์นวล (The XX, Tom Misch รวมไปถึง The 1975 ด้วย)

 

เพลงไทยก็มีบริบทที่ไม่ต่างกัน เรารับของเขามาตั้งแต่ยุค 70 เป็นวงสตริงทั้งโซลและร็อก (The Impossible, Grand Ex’, The Innocent) พอยุค 80 เรามีแกรมมี่และอาร์เอสที่เป็นป๊อปจ๋า (เบิร์ด ธงไชย, คีรีบูน) และร็อกจ๋า (อัสนี-วสันต์, ดิ โอฬาร โปรเจ็คต์) เบเกอรี่มากลางยุค 90 ทำให้เพลงมีเครื่องดนตรีซับซ้อนขึ้น และใส่จิตวิญญาณเข้าไป (บอย โกสิยพงษ์, Moderndog) ซึ่งถือเป็น Music Disruption ของเมืองไทยได้เหมือนกัน พอยุค 00 เป็นยุคของเพลงอินดี้และ Fat Radio ค่ายที่เป็นที่ยอมรับคือ Smallroom (Death of a Salesman) ก่อนที่มีร็อกมาทวงคืน (Bodyslam) และอินดี้เบ่งบานอีกครั้งในช่วงปี 2007 (Groove Riders, The Richman Toys) และก็มาถึงยุคปัจจุบันที่เรียกได้ว่าอินดี้ปรับตัวให้น่าสนใจอีกครั้ง เพลงเราเริ่มนำสมัยกับเขาเหมือนกัน (The TOYS, ภูมิ วิภูริศ)

 

ต่อจากนี้จะเป็นอย่างไรต้องคอยดูครับ เพราะเพลงหาฟังได้ง่ายขึ้นมาก เมื่อเด็กรุ่นใหม่สามารถเข้าถึงทุกแนวดนตรีได้อย่างง่ายดาย การผสมผสานของแนวดนตรีอาจจะมีมากขึ้นกว่านี้อีก ในความคิดผม ก็ฟังเนียนๆ แบบนี้อีกสัก 2-3 ปี จนกว่าจะมีความเบื่อเพื่อเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ถึงวันนั้นอาจจะถึงขั้น Music Disruption ด้วยร็อกอีกก็ได้

 

เพลงแนะนำ

 

  1. Hang Loose / Hellogoodbye
  2. Who’s Got You Singing Again / Prep
  3. Losing You / Boy Pablo 
  4. Easily / Bruno Major 
  5. Loving Is Easy / Rex Orange County (feat. Benny Sings)
  6. Wonder / ADOY
  7. Still / ลูกพีช
  8. It Runs Through Me / Tom Misch (feat. De La Soul) 
  9. ถ้าหาก / Yented
  10. Comethru / Jeremy Zucker (feat. Bea Miller)
  11. 13 / Lany
  12. Sincerity Is Scary / The 1975
  13. Lover Boy / Phum Viphurit
  14. San Francisco Street / Sun Rai
  15. Drive / Oh Wonder
  16. Easy / Mac Ayres
  17. …Baby One More Time / The Marias
  18. Vibin’ Out with (((O))) / FKJ
  19. Villa / Sunset Rollercoaster
  20. Get You / Daniel Caesar (feat. Kali Uchis)
  21. Paris In The Rain / Lauv
  22. Day 1 / Honne

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising