×

วงการสาธารณสุขร้อน อย. จ่อเสนอ พ.ร.บ. ยาใหม่ เข้า ครม. อาจเพิ่มให้ปรุง-จ่ายยาได้หลายวิชาชีพ

โดย THE STANDARD TEAM
28.08.2018
  • LOADING...

เรื่องร้อนในวงการสาธารณสุขของไทยเกิดขึ้นอีกครั้ง เมื่อสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ยกร่าง พ.ร.บ. ยาฉบับใหม่ เพื่อนำมาใช้แทน พ.ร.บ. ยา พ.ศ. 2510 โดยเตรียมเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา ขณะที่เนื้อหาได้มีการกำหนดเพิ่มวิชาชีพที่สามารถปรุงและจ่ายยาได้ ทำให้องค์กรวิชาชีพเภสัชกรออกมาคัดค้าน เพราะอาจเปิดช่องให้วิชาชีพอื่นจ่ายยาและขายยาได้ในอนาคต โดยเฉพาะในคลินิกเอกชน ซึ่งเกรงว่าจะไม่มีการควบคุมคุณภาพและความปลอดภัยเพื่อประชาชน

 

ขณะที่ นพ.วันชัย สัตยาวุฒิพงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เจ้าของเรื่องได้ชี้แจงข้อกังวลถึงสาเหตุที่ อย. พิจารณาเปิดช่องให้สหวิชาชีพอื่นเข้ามาดำเนินการสั่งยาและจ่ายยา ไม่ใช่แค่เภสัชกรเท่านั้นว่า เดิม พ.ร.บ. ยา พ.ศ. 2510 กำหนดไว้ 3 วิชาชีพ ได้แก่ แพทย์ ทันตแพทย์ และสัตวแพทย์ เป็นผู้จ่ายยา ขณะที่ ปัจจุบันข้อเท็จจริงแบ่งออกเป็น 2 ทาง โดยอาจลดจาก 3 เหลือเพียงวิชาชีพเดียว หรือเพิ่มขึ้นเป็น 3-5 วิชาชีพ ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของคณะกรรมการที่จะถูกตั้งขึ้นตามที่กำหนดตามกฎหมาย จะให้มีใครเป็นกรรมการบ้าง อาจประกอบด้วยกลุ่มวิชาชีพที่เกี่ยวข้อง นักกฎหมาย และบุคคลที่เกี่ยวข้อง ซึ่งก็ไม่ได้กำหนดเวลาการพิจารณาว่าจะแล้วเสร็จเมื่อไร

 

“เรื่องวิชาชีพที่อนุญาตให้ปรุงยาและจ่ายยาได้ มีความคิดเห็นให้ลดเหลือเพียงวิชาชีพเดียว และอีกความเห็นก็เสนอให้เพิ่มเป็น 4-5 วิชาชีพที่ปรุงยา จ่ายยาได้ ดังนั้นอาจจะเป็นไปได้ว่าจะลดวิชาชีพ หรือเพิ่มวิชาชีพก็ได้ แต่ย้ำว่างานด้านสาธารณสุขไม่สามารถเดินหน้าได้ด้วยวิชาชีพใดวิชาชีพหนึ่ง ต้องร่วมมือกัน จึงไม่อยากให้เกิดความขัดแย้งระหว่างวิชาชีพกัน” นพ.วันชัยกล่าว  

 

และจากการประชาพิจารณ์หลายครั้งที่ผ่านมา มีความเห็นพ้องกันในการแก้ไขเนื้อหาร่างกฎหมายกว่า 90% ที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน เช่น เรื่องการขึ้นทะเบียนยาเดิม แก้ไขให้มีการทบทวนทุกๆ 7 ปี จากเดิมที่เป็นการขึ้นทะเบียนตลอดชีพ ซึ่งไม่มีประเทศไหนในโลกเป็นแบบนี้ ส่วนอีกประมาณ 10% ที่ยังมีความเห็นไม่ตรงกันอยู่ ซึ่งก็เป็นประเด็นเดิมที่ทำให้การแก้ไข พ.ร.บ. ยาครั้งที่ผ่านๆ มาไม่ประสบความสำเร็จ

 

นพ.วันชัยกล่าวอีกว่า การยกร่าง พ.ร.บ. ฉบับใหม่ เป็นการยึดหลักของ พ.ร.บ. เดิม ฉบับ พ.ศ. 2510 โดยยึดหลักสำคัญคือ การคุ้มครองผู้บริโภค การพิจารณาอนุญาตด้านยาอย่างมีประสิทธิภาพ และความมั่นคงด้านยาของประเทศ

 

อย่างไรก็ตาม อย. ได้ประมวลความคิดเห็นจากทุกฝ่าย และแจงข้อเท็จจริงทุกประการกับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง แต่บางส่วนที่ยังคัดค้านกลับไม่ได้เข้าร่วมประชุม อย. จึงจัดประชุมชี้แจงเพิ่มเติม ปัจจุบันทุกฝ่ายเข้าใจร่วมกันแล้ว พร้อมเห็นควรให้ อย. เดินหน้า พ.ร.บ. ฉบับใหม่ ไม่เช่นนั้นจะทำให้หลายมาตราที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนตกไป

 

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X