×

ใครเป็นลูกหนี้ต้องอ่าน! แบงก์ชาติผ่อนคลายเกณฑ์ ปรับ 5 มาตรการใหม่ ช่วยลูกหนี้กลุ่มเปราะบางเพิ่มเติม

06.08.2024
  • LOADING...

รณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ในการประชุมเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2567 คณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงิน (กนส.) เห็นว่า ปัจจุบันยังคงมีลูกหนี้กลุ่มเปราะบางที่ต้องการความช่วยเหลือเพิ่มเติม เนื่องจากรายได้ที่ยังฟื้นตัวกลับมาไม่เต็มที่ จึงเห็นควรปรับมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ในปัจจุบันให้เหมาะสมกับสถานการณ์ยิ่งขึ้น โดยมีรายละเอียด ดังนี้

 

 

1. ตรึงผ่อนชำระขั้นต่ำบัตรเครดิตไว้ที่ 8% ต่ออีกปี

 

โดยกำหนดให้อัตราการผ่อนชำระขั้นต่ำ (Minimum Payment) ของบัตรเครดิตยังคงอยู่ที่ 8% ออกไปอีก 1 ปี จนถึงสิ้นปี 2568 จากเดิมที่กำหนดให้อัตราดังกล่าวกลับสู่เกณฑ์ปกติที่ 10% ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2568 เพื่อช่วยลดภาระการจ่ายชำระหนี้ และรักษาสภาพคล่องให้ครัวเรือนโดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง

 

สำหรับแนวโน้มการปรับ Minimum Payment กลับสู่ระดับ 10% อีกครั้ง ธปท. ระบุว่า จะติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง และพิจารณาความเหมาะสมของอัตราผ่อนชำระขั้นต่ำให้เหมาะสมในระยะต่อไป โดยติดตามจากบริบททางเศรษฐกิจและปัจจัยต่าง ๆ อย่างรอบด้าน เช่น การฟื้นตัวของเศรษฐกิจ รายได้ของประชาชน และความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ เพื่อให้มั่นใจว่าการปรับอัตราผ่อนชำระขั้นต่ำจะไม่กระทบลูกหนี้เป็นวงกว้าง/อย่างมีนัยสำคัญ

 

 

2. ลูกหนี้จ่ายขั้นต่ำมากกว่าหรือเท่ากับ 8% จะได้รับเงินคืน!

 

ลูกหนี้ที่ผ่อนชำระหนี้ขั้นต่ำมากกว่าหรือเท่ากับ 8% จะได้รับเครดิตเงินคืนเทียบเท่าดอกเบี้ย 0.5% ของยอดค้างชำระสำหรับครึ่งปีแรก และ 0.25% สำหรับครึ่งปีหลังของปี 2568 โดยได้รับคืนทุก 3 เดือน เพื่อจูงใจให้ลูกหนี้ปิดจบหนี้เร็วขึ้น และมีภาระดอกเบี้ยทั้งสัญญาลดลง

 

สมชาย เลิศลาภวศิน ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายสถาบันการเงิน ธปท. เปิดเผยว่า มาตรการได้รับเงินคืนนี้ คาดว่าจะส่งผลกระทบหรือเป็นรายได้ที่หายไปของผู้ให้บริการบัตรเครดิตราว 1 พันล้านบาท

 

 

3. ลูกหนี้จ่ายขั้นต่ำตั้งแต่ 5% แต่ไม่ถึง 8% มีสิทธิปรับโครงสร้างหนี้ พร้อมโอกาสคงวงเงินในบัตร

 

“การปรับเปลี่ยนมาตรการนี้ทำเพื่อจูงใจให้คนเข้าไปปรับโครงสร้างหนี้มากขึ้น โดยจากเดิมที่ต้องปิดวงเงินทันทีหลังปรับโครงสร้างหนี้ แต่ปัจจุบันลูกหนี้มีโอกาสคงวงเงินในบัตรได้” เขมวันต์ ศรีสวัสดิ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายการกำกับสถาบันการเงิน ธปท. กล่าวในงาน Media Briefing การปรับมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2567

 

โดยลูกหนี้ที่จ่ายขั้นต่ำที่ 8% ไม่ไหว แต่สามารถจ่ายได้เกิน 5% สามารถเปลี่ยนประเภทหนี้ของบัตรเครดิตไปเป็นสินเชื่อระยะยาว (Term Loan) เพื่อจ่ายชำระเป็นงวด โดยลูกหนี้จะยังมีโอกาสได้สภาพคล่องจากวงเงินบัตรเครดิตส่วนที่เหลือ ไม่จำเป็นต้องปิดวงเงินบัตรเครดิต

 

“ธปท. พบว่า ลูกหนี้กลุ่มเปราะบางยังต้องการสภาพคล่องอยู่ เราจึงนำเกณฑ์ที่ว่า ‘เจ้าหนี้ต้องยกเลิกวงเงินบัตรเครดิตของผู้เข้าร่วมโครงการ’ ออกไป หลังจากการคุยกับเจ้าหนี้ก็พบว่า เจ้าหนี้บางรายยังต้องการให้วงเงินกับลูกหนี้ที่มีวินัยบางรายต่อไป เราจึงผ่อนคลายเกณฑ์นี้ และเปิดให้เป็นไปตามการตัดสินใจของเจ้าหนี้” อรมนต์ จันทพันธ์ ผู้อำนวยการ ฝ่ายคุ้มครองและตรวจสอบบริการทางการเงิน ธปท. กล่าว

 

ทั้งนี้ ธปท. กำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจบัตรเครดิตต้องเสนอเงื่อนไขที่เป็นประโยชน์แก่ลูกหนี้เพิ่มเติมด้วย เช่น ลดอัตราดอกเบี้ย ซึ่ง ธปท. จะดำเนินการเพื่อให้มีผลบังคับใช้ภายในเดือนกันยายน 2567

 

 

4. หนุนการรวมหนี้สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยและสินเชื่อรายย่อย (Debt Consolidation) ผ่านการผ่อน LTV

 

ธปท. ส่งเสริมให้สถาบันการเงิน (สง.) และสถาบันการเงินเฉพาะกิจ (SFIs) ให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ด้วยการรวมหนี้บ้านและสินเชื่อรายย่อยได้มากขึ้น โดยผ่อนปรนเงื่อนไขอัตราส่วนเงินให้สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยต่อมูลค่าหลักประกัน (Loan-To-Value Ratio) ในทุกลำดับสัญญาสำหรับกรณีรวมหนี้ ให้สามารถเกินกว่าเพดานที่กำหนด

 

โดยผู้ให้บริการที่เป็นผู้รวมหนี้ต้องดูแลให้ภาระของลูกหนี้ภายหลังการรวมหนี้บรรเทาลงกว่าก่อนรวมหนี้ เช่น อัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าเดิม และค่างวดที่ต้องชำระต่ำกว่าค่างวดรวมที่เคยจ่าย โดยมาตรการดังกล่าวจะสิ้นสุดในปี 2568

 

“สิ่งที่แบงก์ชาติทำให้ลูกหนี้วันนี้ คือจะทำให้การรวมหนี้คล่องตัวมากที่สุด เนื่องจากธปท. ได้คุยกับเจ้าหนี้และลูกหนี้มาพบว่ามีข้อติดขัด เช่น LTV วันนี้ ธปท. จึงจะผ่อนเงื่อนไข LTV ให้เพื่อช่วยบรรเทาภาระหนี้ของลูกหนี้” เขมวันต์กล่าว

 

 

5. ขยายระยะเวลาการปิดจบหนี้จากภายใน 5 ปี เป็น 7 ปี สำหรับลูกหนี้ที่มีปัญหาหนี้เรื้อรัง

 

ธปท. ขยายระยะเวลาการปิดจบหนี้จากภายใน 5 ปี เป็น 7 ปี (อัตราดอกเบี้ยไม่เกินร้อยละ 15 ต่อปีเท่าเดิม) เพื่อให้ค่างวดที่ลูกหนี้ต้องชำระปรับลดลง และลูกหนี้จะยังมีโอกาสได้สภาพคล่องจากวงเงินสินเชื่อส่วนที่เหลือ รวมถึงกำหนดให้ผู้ให้บริการต้องให้ข้อมูลเพื่อกระตุกพฤติกรรม (Nudge) ลูกหนี้เพิ่มเติม เช่น สื่อสารข้อดีและข้อเสียของการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ แสดงตารางข้อมูลระยะเวลาการผ่อนชำระพร้อมภาระดอกเบี้ย โดยมาตรการจะเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2568 เป็นต้นไป

 

 

ทั้งนี้ สำหรับลูกหนี้ในกลุ่มเปราะบางที่ยังมีภาระหนี้สูงและมีปัญหาสภาพคล่อง ธปท. ยังมีมาตรการที่กำหนดให้ผู้ให้บริการทางการเงินเข้าช่วยเหลือเพื่อช่วยลดภาระลูกหนี้ให้มีสภาพคล่องเพียงพอต่อการดำรงชีพ เช่น การปรับโครงสร้างหนี้ก่อนเป็นหนี้เสียอย่างน้อย 1 ครั้ง และหลังเป็นหนี้เสียอย่างน้อย 1 ครั้ง ภายใต้หลักเกณฑ์ Responsible Lending รวมถึงการปรึกษาปัญหาหนี้กับหมอหนี้ และโครงการคลินิกแก้หนี้ โดย ธปท. จะติดตามประสิทธิผลและผลข้างเคียงของมาตรการอย่างใกล้ชิด และจะพิจารณาปรับมาตรการให้เหมาะสมกับสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง

 

“การปรับการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้กลุ่มนี้ เป็นผลมาจากเราเห็นว่ามีลูกหนี้เข้าร่วมโครงการราว 1-2% เท่านั้นจากทั้ง 5 แสนบัญชี โดยจากการพูดคุยกับลูกหนี้และเจ้าหนี้พบว่า อาจมีเหตุผลมาจากสภาพคล่องของลูกหนี้ที่ตึงเกินไป จนไม่กล้าปิดสินเชื่อหรือสภาพคล่องที่มีเพื่อรองรับเหตุฉุกเฉิน รวมไปถึงปัจจัยด้านค่างวด” อรมนต์กล่าว

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X