×

เมื่อ LINE@ เตรียมยุบรวมเป็น LINE Official Account แบรนด์และสื่อควรรับมืออย่างไร

09.05.2019
  • LOADING...
LINE Official Account

HIGHLIGHTS

4 Mins. Read
  • LINE เตรียมควบ LINE@ เข้ากับ LINE Official Account แล้วเปลี่ยนชื่อเป็น ‘LINE Official Account’ เพื่อให้การบรอดแคสต์ข้อความกับผู้ใช้งาน LINE และกลุ่มผู้ติดตามเกิดประสิทธิภาพมากขึ้น
  • LINE Official Account โฉมใหม่จะครบเครื่องในเรื่องการทำธุรกิจค้าขายมากกว่าเดิม พร้อมเครื่องมือที่จะเป็นประโยชน์ในการวิเคราะห์ข้อมูลลูกค้า การทำตลาด และการสื่อสารกับกลุ่มเป้าหมายได้ตรงจุด
  • แต่การบรอดแคสต์ข้อความแต่ละครั้งไปยังกลุ่ม Target Reach ก็แลกมาด้วยต้นทุนค่าใช้จ่ายที่สูงเอาเรื่องเหมือนกัน

หนึ่งข่าวใหญ่ที่น่าจะส่งผลกระทบสะเทือนถึงผู้ประกอบการธุรกิจทั่วประเทศแน่นอนคือ กรณีที่ LINE เตรียมควบ LINE@ เข้ากับ LINE Official Account แล้วเปลี่ยนชื่อเป็น ‘LINE Official Account’ ชื่อเดียวแทน โดยความเปลี่ยนแปลงนี้ถูกประกาศออกมาตั้งแต่ช่วงต้นเดือนเมษายน และเริ่มทยอยเข้าสู่กระบวนการเปลี่ยนผ่านอย่างจริงจังทั่วโลกตั้งแต่วันที่ 18 เมษายน

 

ตามกำหนดการระบุว่า ภายในเดือนกันยายนนี้ LINE จะต้องดำเนินการโอนย้ายแอ็กเคานต์ทั้งหมดเป็น LINE Official Account ให้ได้แบบ 100%

 

หลายคนเกิดคำถามสงสัย โดยเฉพาะแบรนด์ ผู้ประกอบการธุรกิจ และสื่อมวลชน (Publisher) ว่า หลังการเปลี่ยนจาก LINE@ ไปเป็น LINE Official Account จะต้องดำเนินการเช่นไร ส่งผลกระทบในแง่ไหน และพวกเขาปรับตัวอย่างไรบ้าง วันนี้เราได้สรุปประเด็นที่น่าสำคัญบางส่วนจากการที่ LINE ประเทศไทยเปิดบ้านต้อนรับสื่อมวลชนเพื่ออธิบายที่มาที่ไปและสิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อจากนี้

 

THE STANDARD ได้สรุปรวมเป็นประเด็นที่สำคัญที่ต้องรู้ในกรณีนี้เอาไว้ให้แล้ว

 

1. ทำไมต้องรวม LINE@ เข้ากับ LINE Official Account ด้วย

ปัจจุบัน LINE@ และ LINE Official Account มีผู้ใช้งานรวมประมาณ 2.7 ล้านราย (ในจำนวนนี้คิดเป็นผู้ใช้ LINE OA ที่เป็น Active Users ประมาณ 300 กว่าราย) โดยคำตอบง่ายๆ ที่ LINE ให้กับเราคือ ตลอดช่วงระยะเวลาที่ผ่านมาของการเปิดให้บริการทั้ง 2 ผลิตภัณฑ์นี้ ปัญหาหลักๆ ที่พบคือการสื่อสารด้วยข้อความแบบบรอดแคสต์ (Broadcast) ไม่เกิดประสิทธิภาพ หรือ Effective เท่าที่ควร

 

เมื่อข้อความที่ถูกส่งออกมาไม่ว่าจะเกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ สินค้า บริการ หรือข้อมูลข่าวสารนั้น ‘ไม่ใช่ทุกเรื่อง’ ที่ผู้ใช้งาน LINE ที่กดติดตาม LINE@ และ LINE OA จะสนใจทั้งหมด พอเป็นอย่างนี้ปัญหาที่เกิดขึ้นตามมาคือ เมื่อมีการบรอดแคสต์ข้อความถี่ครั้งแล้วไม่ใช่เรื่องที่คนสนใจ จึงทำให้การสื่อสารไม่บังเกิดผล ผลลัพธ์ที่เลวร้ายที่สุดที่ตามมาคือผู้ใช้งาน LINE อาจจะกดบล็อกและเลิกติดตามแอ็กเคานต์นั้นๆ ไปเลยก็ได้ เท่ากับว่าแบรนด์ ผู้ประกอบการ หรือสื่อเจ้าดังกล่าวจะเสียโอกาสทันที

 

มีการประเมินแบบคร่าวๆ ว่าผู้ใช้งาน LINE 1 คนจะได้รับข้อความจากบรอดแคสต์มากกว่า 60 ข้อความต่อวัน

 

ตัว LINE เองก็ต้องแบกรับต้นทุนค่าดำเนินการในการบรอดแคสต์ที่สูงด้วยเช่นกัน ดังนั้นทางออกของการแก้ปัญหาก็คือ จับ LINE@ และ LINE OA มามัดรวมกันเป็น LINE OA เสียเลย เพื่อให้แบรนด์คำนึงถึงการบรอดแคสต์ข้อความแต่ละครั้งมากขึ้น ผู้ใช้งาน LINE ก็จะได้ความเป็นส่วนตัวกลับคืนมา แถมในแง่ของการดำเนินการ เมื่อรวมเป็นผลิตภัณฑ์เพียงผลิตภัณฑ์เดียวแล้ว นอกจากจะไม่ทับซ้อนกัน ผู้ให้บริการอย่าง LINE ก็จะสามารถโฟกัสการให้บริการเพียงบริการเดียวได้ดียิ่งขึ้น

 

2. ภายใต้ LINE Official Account จะมีอะไรใหม่บ้าง

เมื่อรวมเป็น LINE OA แล้ว ความเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนที่สุดคือหน้าตาแอปพลิเคชันแบบใหม่ แต่จะยังยึดฟีเจอร์การใช้งานเดิมของๆ LINE@ ไว้เหมือนเดิม เช่น Broadcast, Rich Content, E-Coupon หรือบัตรสะสมแต้มเพื่อให้เป็น ‘Beyond Chat For SME’ หรือเป็นมากกว่าช่องทางแชตสำหรับผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลาง-เล็กอย่างเต็มรูปแบบ ช่วยอำนวยความสะดวกในหลายๆ ด้าน

 

เช่น ฟีเจอร์ Tag ลูกค้าได้เพื่อให้ติดตามลูกค้าประจำมาดูสินค้าออกใหม่ หรือโปรโมชันใหม่ๆ ได้, สร้างแอ็กเคานต์กลุ่มเพื่อคุยกับลูกค้าแยกตามสาขา จะได้ให้บริการที่ถูกต้อง (Account Group for Branch Management) เพื่อที่จะให้บทสนทนากับลูกค้าเกิดประสิทธิภาพในแง่ของการให้บริการได้มากที่สุด

 

LINE Official Account

 

ส่วนในช่วงไตรมาส 3 หรือ 4 ปีนี้จะเพิ่มฟีเจอร์ช้อปปิ้งเข้ามาเป็นบริการเพิ่มเติม ที่ช่วยให้จบการขายใน LINE OA ได้เลย รวมถึงฟีเจอร์เพย์เมนต์และเดลิเวอร์รีรองรับไปยังบริการต่อขยายของ LINE (LINE MAN & LINE Pay) หรือบริการ Third Party อื่นๆ

 

ที่สำคัญ LINE ยังเปิด API หลังบ้านเพื่อให้นักพัฒนาสามารถประยุกต์สร้างประโยชน์ให้ตรงกับธุรกิจที่ตัวเองดำเนินอยู่ เช่น การจัดการระบบ CRM ของร้านอาหาร (Restaurant CRM Management), การจัดการระบบการโลจิสติกส์ (Logistic Management), การจัดการระบบการขาย (Sale Management), การจัดการระบบการเงิน (Finance and Accounting Management) และการศึกษา (Education)

 

LINE Official Account

 

นอกจากนี้ยังเพิ่มหน้า Dashboard เข้ามาเพื่อช่วยให้สรุปข้อมูลสถิติต่างๆ ของผู้ติดตามเข้ามาให้ดูง่ายยิ่งขึ้น ทั้งข้อมูลฟอลโลเวอร์, โพสต์ต่างๆ และแชตเพื่อให้ช่วยวิเคราะห์ข้อมูลในการบรอดแคสต์และการทำตลาดได้อย่างถูกจุด

 

LINE Official Account

วิธีการคิดจำนวนข้อความ

 

3. ใครจะได้รับผลกระทบ แล้วต้องจ่ายเงินแพงขึ้นไหม

การเปลี่ยนจาก LINE@ เป็น LINE Official Account ผู้ใช้ที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุดหนีไม่พ้น แบรนด์ ผู้ประกอบการขนาดเล็ก และกลุ่ม Publisher ที่ไม่ได้ใช้แพ็กเกจเหมาจ่ายแบบเดือนต่อเดือนกับ LINE (ส่วนใหญ่ผู้ใช้ที่ไม่น่าจะได้รับผลกระทบมากคือกลุ่มธุรกิจองค์กรขนาดใหญ่) เพราะเท่ากับว่าการบรอดแคสต์ข้อความในอนาคตจะต้องเสียค่าใช้จ่ายในการกระจายข้อความมากขึ้นจากเดิม (เนื่องจาก LINE ต้องการลดการเผยแพร่ข้อความประเภทนี้ให้น้อยลง)

 

ยกตัวอย่างให้เห็นชัดขึ้น

 

LINE Official Account

แพ็กเกจ LINE@ เดิม

 

  • สมมติว่า เดิมแบรนด์ A มีผู้ติดตามใน LINE@ 100,000 คน ใช้แพ็กเกจ Pro+ กับ LINE@ มีค่าบริการที่ 6,888 บาทต่อเดือน สามารถส่งข้อความบรอดแคสต์เท่าไรก็ได้ไม่จำกัด
  • แต่เมื่อเปลี่ยนมาใช้ LINE OA ในแพ็กเกจ PRO แล้ว ซึ่งมีค่าบริการที่ 1,500 บาทต่อเดือน การบรอดแคสต์ข้อความครั้งหนึ่งไปยังผู้ใช้กลุ่ม Target Reach 50,000 คน แบรนด์ A จะต้องเสียเงินค่าส่งข้อความ = 50,000 ข้อความต่อครั้ง ซึ่งราคาการส่งข้อความนี้จะอิงจากเรตค่าเงินสหรัฐฯ แล้วแปลงเป็นสกุลเงินไทยอีกที

 

LINE Official Account

แพ็กเกจ LINE OA

 

  • เท่ากับว่าต้องจ่ายเงินบรอดแคสต์ข้อความออกไปในแต่ละครั้งแพงขึ้นแน่นอน เพราะคิดเป็นจำนวนครั้งตามข้อความที่ส่งจริงแล้ว ไม่ได้เหมาจ่าย (ถ้าจ่ายผ่านเอเจนซี แพ็กเกจราคาการบรอดแคสต์ข้อความจะมีเรตที่แน่นอนกว่า)
  • ส่วนการแชร์คอนเทนต์บนไทม์ไลน์ สามารถแชร์ได้ไม่จำกัด จุดนี้ดูเหมือนว่า LINE จะเน้นให้คนมาใช้งานฟีเจอร์ไทม์ไลน์มากขึ้น ซึ่งข้อมูลจาก LINE ประเทศไทยประเมินแบบคร่าวๆ ว่า ผู้ใช้งาน LINE ในไทยนิยมใช้งานไทม์ไลน์พอๆ กับผู้ใช้งานในญี่ปุ่น

 

จะเห็นว่ากลยุทธ์ของ LINE เมื่อเปลี่ยนจาก LINE@ มาเป็น LINE OA เต็มตัว เท่ากับว่าแบรนด์จะต้องคิดให้ดีในการบรอดแคสต์ข้อความแต่ละครั้ง เพราะแลกมาด้วยต้นทุนที่สูงเอาเรื่อง หรือจะเลือกไปใช้งานไทม์ไลน์ก็เป็นทางออกที่ดีเหมือนกัน แต่จะประสบความสำเร็จหรือไม่ก็อีกเรื่องหนึ่ง

 

ซึ่งกลุ่มผู้ใช้ที่จะได้ประโยชน์จากการเปลี่ยนเป็น LINE OA มากที่สุด ดูแล้วน่าจะเป็นผู้ประกอบการธุรกิจมากกว่า เพราะถ้าการบรอดแคสต์ข้อความแต่ละครั้งออกไปสามารถ Turnover เป็นยอดขายจริงได้ ก็ถือว่าเป็นการจ่ายที่คุ้มค่า แต่กับกลุ่มสื่อมวลชน หรือ Publisher ที่เดิมมี LINE@ มาก่อนนั้น LINE ประเทศไทยแนะนำว่าให้หันไปใช้ LINE IDOL แทน เพราะน่าจะเป็นฟีเจอร์การใช้งานที่ตอบโจทย์และตรงจุดในแง่ของการทำงานกว่า

 

เอาเป็นว่าต้องคิดไตร่ตรองให้รอบคอบและชั่งใจให้มากขึ้นสำหรับแบรนด์ขนาดกลาง-เล็ก และผู้ประกอบการ SME ว่ามีความจำเป็นจะต้องปรับตัวเพื่อเปลี่ยนมาใช้ LINE OA (Official Account) มากน้อยแค่ไหน เพราะต้องอย่าลืมว่าทุกการสื่อสารย่อมแลกมาด้วยต้นทุนค่าใช้จ่ายที่สูง

 

แต่ถ้าผลลัพธ์การบรอดแคสต์ข้อความเห็นผลจริง เราเชื่อว่าคุณก็คงมีคำตอบในใจอยู่แล้วว่าพร้อมกับ LINE OA แค่ไหน

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

FYI
  • ปัจจุบัน เมื่อจำแนกกลุ่มผู้ใช้งาน SME ของ LINE@ ตามสัดส่วนผู้ประกอบการธุรกิจจะพบว่า ธุรกิจแฟชั่นมีสัดส่วนมากที่สุด 20-30% รองลงมาเป็นร้านอาหารและธุรกิจความสวยความงามเท่ากันที่ประมาณ 15%
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising