หลังจากที่สภาผู้แทนราษฎรของสหรัฐอเมริกาตกอยู่ในภาวะไร้ผู้นำอยู่กว่า 3 สัปดาห์ ในที่สุดเมื่อวันที่ 25 ตุลาคมที่ผ่านมา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือ สส. ของพรรครีพับลิกัน ซึ่งเป็นพรรคที่ครองเสียงข้างมากในสภาก็สามารถตกลงกันได้ว่าจะยกตำแหน่งนี้ให้กับ ไมค์ จอห์นสัน สส. จากมลรัฐลุยเซียนา
ในบทความนี้จะพาผู้อ่านย้อนไปดูถึงความวุ่นวายที่เกิดขึ้นในเกือบ 1 เดือนที่ผ่านมา รวมทั้งวิเคราะห์ถึงผลกระทบทางการเมืองที่จะตามมานับจากนี้
เควิน แมคคาร์ธี ประสบกับความยากลำบากกับการเป็นประธานสภาตั้งแต่ต้น
ความยุ่งเหยิงที่เราได้เห็นในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมานั้นมีต้นตอมาจากการเลือกตั้งในเดือนพฤศจิกายน ปี 2022 เมื่อพรรครีพับลิกันภายใต้การนำของ เควิน แมคคาร์ธี สามารถพลิกกลับมาชนะพรรคเดโมแครตจนกลับมาครองเสียงข้างมากในสภาล่างได้เป็นครั้งแรกในรอบ 4 ปี
แต่อย่างไรก็ตาม พรรครีพับลิกันครองเสียงข้างมากอย่างฉิวเฉียดเท่านั้น เพียงแค่ 222 ที่นั่งต่อ 217 ที่นั่ง ซึ่งนั่นก็หมายความว่าในการโหวตแต่ละครั้งแมคคาร์ธีจะเสียเสียงโหวตจาก สส. ในพรรคตัวเองได้ไม่เกิน 4 เสียง และสัญญาณแห่งความยุ่งเหยิงก็เกิดขึ้นทันทีนับตั้งแต่เปิดประชุมสภาเพื่อเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎร เพราะ สส. ขวาจัดของพรรคที่รู้จักกันในชื่อ House Freedom Caucus ก็ได้แสดงอิทธิฤทธิ์ของพวกเขาให้แมคคาร์ธีได้เห็นทันที ด้วยการรวมตัวกันโหวตให้คนอื่นแทนที่จะเป็นผู้นำของพรรคอย่างแมคคาร์ธี ทำให้แมคคาร์ธีกลายเป็นผู้นำพรรคเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรคนแรกนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ไม่สามารถเอาชนะการเลือกตั้งชิงตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎรได้ตั้งแต่การลงคะแนนในรอบแรก
แมคคาร์ธีต้องใช้เวลาถึง 4 วันกับการโหวต 15 รอบเพื่อขอคะแนนจาก สส. กลุ่ม House Freedom Caucus ซึ่งในการเจรจาขอคะแนนในครั้งนั้น แมคคาร์ธีก็ต้องยอมอ่อนข้อให้กับข้อเรียกร้องมากมายของ สส. ในกลุ่ม โดยหนึ่งในข้อเรียกร้องสำคัญก็คือแมคคาร์ธีต้องยอมเปลี่ยนกฎของสภาผู้แทนราษฎรให้ สส. เพียง 1 คนก็สามารถเรียกร้องให้มีการลงคะแนนไม่ไว้วางใจประธานสภาผู้แทนราษฎรได้ (จากเดิมต้องอาศัยเสียงอย่างน้อยครึ่งหนึ่งของพรรคที่มีเสียงข้างมาก)
ข้อตกลงที่กลับมาหลอกหลอนแมคคาร์ธี
หลังจากที่แมคคาร์ธีได้รับตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎรได้ไม่ถึงปี การเปลี่ยนกฎของสภาผู้แทนราษฎรในครั้งนี้ก็กลับมาหลอกหลอนแมคคาร์ธี เพราะ สส. กลุ่ม House Freedom Caucus พยายามบีบให้เขาใช้ไม้แข็งในการเจรจากับทำเนียบขาวของโจ ไบเดน ในการจัดทำงบประมาณแผ่นดิน โดยพวกเขาต้องการให้แมคคาร์ธีบีบให้ไบเดนตัดงบประมาณรายจ่ายของรัฐบาลกลางให้มากที่สุด รวมถึงการตัดงบประมาณช่วยเหลือยูเครนอย่างมีนัยสำคัญ และถ้าหากไบเดนไม่ยอมทำตาม พวกเขาก็จะไม่ยอมให้มีการผ่านร่างงบประมาณจนนำไปสู่การปิดตัวของรัฐบาลกลางหรือ Government Shutdown
แมคคาร์ธีนั้นไม่เห็นด้วยกับวิธีการนี้ของ สส. กลุ่ม House Freedom Caucus เพราะเขาไม่ต้องการให้เกิด Government Shutdown ซึ่งจะส่งผลเสียในวงกว้างต่อการบริหารราชการแผ่นดิน จึงเลือกที่จะไปเจรจากับไบเดนและเดโมแครตเพื่อผ่านร่างงบประมาณระยะสั้นฉบับประนีประนอม ซึ่งนั่นก็ทำให้ สส. กลุ่ม House Freedom Caucus ไม่พอใจอย่างมาก และได้ยื่นมติไม่ไว้วางใจแมคคาร์ธีจนนำไปสู่การโหวตถอดถอนเขาออกจากตำแหน่งในวันที่ 3 ตุลาคมที่ผ่านมา
ไร้ประธานสภาถึง 22 วัน
ภายหลังจากการเสียเก้าอี้ของแมคคาร์ธี พรรครีพับลิกันต้องใช้เวลาถึง 22 วันในการสรรหาประธานสภาผู้แทนราษฎรคนใหม่ โดยในตอนแรกเป็นการแข่งขันกันระหว่าง สส. สตีฟ สกาลีส จากมลรัฐลุยเซียนา ซึ่งเป็นตัวแทนจากฝั่งอนุรักษนิยมกระแสหลัก (Establishment) และ สส. จิม จอร์แดน จากมลรัฐโอไฮโอ ซึ่งเป็นตัวแทนจาก House Freedom Caucus
ในการโหวตภายในของ สส. พรรครีพับลิกันนั้น สกาลีสเอาชนะจอร์แดนได้ที่ 113 ต่อ 99 เสียง แต่อย่างไรก็ตาม สกาลีสไม่สามารถรวบรวมเสียงได้ถึงกึ่งหนึ่งของสภา (217 เสียง) ทำให้เขาตัดสินใจถอนตัวต่อการชิงตำแหน่ง ทำให้จอร์แดนได้สิทธิในการพยายามรวบรวมเสียงแทน
จอร์แดนประสบปัญหาในการรวบรวมเสียงไม่ต่างจากสกาลีส แต่เขาเลือกที่จะใช้กลยุทธ์ที่ต่างออกไปด้วยการบังคับให้มีการโหวตกันจริงๆ ในสภา ด้วยความคาดหวังที่ว่า สส. ของพรรคที่ต่อต้านเขาจะทนต่อแรงกดดันไม่ไหวจนต้องยอมจำนนมาโหวตให้กับเขา
อย่างไรก็ตามสิ่งที่จอร์แดนคาดหวังไว้นั้นไม่เป็นจริง เพราะ สส. หลายคนที่ได้รับการเลือกตั้งมาจากเขตที่พรรคเดโมแครตและรีพับลิกันมีคะแนนสูสีกัน (Swing District) ไม่ต้องการให้ สส. จาก House Freedom Caucus อย่างจอร์แดนขึ้นมาเป็นผู้นำ สส. ของพรรค เพราะมันจะทำให้พรรคมีภาพลักษณ์ของการเป็นขวาสุดโต่ง อันจะนำไปสู่การพ่ายแพ้เลือกตั้งของพวกเขา นอกจากนี้จอร์แดนเองยังมีเรื่องอื้อฉาวจากกรณีที่เขาปล่อยให้มีการล่วงละเมิดทางเพศนักกีฬาในสมัยที่เขาเป็นโค้ชทีมมวยปล้ำให้กับมหาวิทยาลัยแห่งมลรัฐโอไฮโอ ซึ่งภายหลังจากการที่เขาแพ้การโหวตในสภา (ได้เสียงไม่ถึงกึ่งหนึ่ง) ถึง 3 ครั้ง เขาก็ยอมแพ้และถอนตัวออกไป
หลังจากการถอนตัวของจอร์แดน พรรครีพับลิกันก็ได้มีการโหวตภายในอีกครั้ง ซึ่งก็เป็นฝั่ง Establishment อีกครั้งที่ชนะ โดย สส. ทอม เอ็มเมอร์ จากมลรัฐมินนิโซตา ซึ่งดำรงตำแหน่งประธานวิปของพรรครีพับลิกันอยู่ได้คะแนนเสียงมากที่สุด แต่อย่างไรก็ดี เช่นเดียวกับกรณีของสกาลีส เอ็มเมอร์ไม่สามารถรวบรวมเสียงได้ถึงกึ่งหนึ่งของสภา ทำให้เขาตัดสินใจถอนตัวต่อการชิงตำแหน่งเป็นรายที่ 3
ลงเอยที่ ไมค์ จอห์นสัน
พรรครีพับลิกันต้องมาโหวตกันเป็นการภายในอีกครั้ง และคราวนี้พวกเขาตกลงปลงใจเลือก สส. ที่ค่อนข้างจะไม่เป็นที่รู้จักในวงกว้างอย่าง ไมค์ จอห์นสัน จากมลรัฐลุยเซียนา
จอห์นสันนั้นไม่ได้เป็นสมาชิกของ House Freedom Caucus แต่ก็เป็นนักการเมืองที่มีแนวคิดอนุรักษนิยมจัดไม่ต่างไปจากจอร์แดนหรือสมาชิกคนอื่นๆ ในกลุ่ม โดยเฉพาะอย่างยิ่งแนวคิดต่อต้านการทำแท้งและ LGBTQIA+ และเขายังเป็นพันธมิตรที่สำคัญของอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่เชื่อว่าไบเดนและพรรคเดโมแครตนั้นทุจริตเลือกตั้งในปี 2020 และทรัมป์ต่างหากที่เป็นผู้ชนะเลือกตั้งที่แท้จริง (แม้ว่าหลักฐานมากมายจะระบุว่าการทุจริตเลือกตั้งในวงกว้างนั้นไม่เป็นความจริง)
อย่างไรก็ตามการที่จอห์นสันไม่ได้เป็นสมาชิกของ House Freedom Caucus โดยตรง ประกอบกับไม่มีเรื่องอื้อฉาวเป็นการส่วนตัวเหมือนอย่างจอร์แดนนั้น ก็เพียงพอที่จะทำให้ สส. สาย Establishment ยอมโหวตให้จอห์นสัน จนเขาได้เป็นประธานสภาคนต่อไปในที่สุด
ไบเดนจะทำงานยากลำบากขึ้น
สมาชิกของ House Freedom Caucus ได้แสดงให้ทุกคนเห็นแล้วว่าพวกเขามี ‘พาวเวอร์’ ที่จะชี้เป็นชี้ตายว่าใครจะได้เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร ทำให้จอห์นสันคงจะไม่กล้าประนีประนอมกับทำเนียบขาวอย่างที่แมคคาร์ธีเคยทำ และตัวเขาเองก็เป็นนักการเมืองที่มีแนวคิดขวาจัดกว่าแมคคาร์ธีอยู่แล้ว ซึ่งก็คงจะทำให้การทำงานของไบเดนกับสภาเป็นไปด้วยความยากลำบากมากขึ้นไปอีก
ซึ่งเราก็คงต้องรอดูว่าพวกเขาจะผ่านร่างงบประมาณฉบับใหม่ก่อนเส้นตายวันที่ 17 พฤศจิกายน ที่งบประมาณฉบับเก่าจะหมดอายุลง เพื่อหลีกเลี่ยง Government Shutdown ได้หรือไม่ รวมถึงดูว่าแผนการช่วยเหลือยูเครนและอิสราเอลจะเป็นไปในทิศทางใดภายใต้การนำของจอห์นสัน