×

New Chapter of Thailand Politics นี่คือคำตอบว่าเราเลือกตั้งไปทำไม

06.10.2023
  • LOADING...

ปรากฏการณ์ใหญ่ที่สุดของประเทศไทยในปี 2566 ต้องยกให้ชัยชนะของพรรคก้าวไกล ในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม ก่อนการเลือกตั้งไม่มีใครคาดคิดหรือกล้าทำนายว่าพรรคก้าวไกลจะชนะเป็นอันดับหนึ่ง แม้กระแสในช่วงหาเสียงเลือกตั้งจะดีแค่ไหนก็ตาม

 

เหตุที่เป็นเช่นนั้นเนื่องจากกรอบการวิเคราะห์การเมืองและการเลือกตั้งยังใช้กรอบเดิม ในขณะที่การเมืองเคลื่อนไปแบบที่ไม่มีใครรู้ตัว 

 

กรอบการวิเคราะห์การเลือกตั้งที่ใช้มายาวนานคือการดูปัจจัย 4 ด้าน ได้แก่ กระแสพรรค, กระแสตัวบุคคลที่จะเป็นแคนดิเดตนายกฯ, จำนวน สส. ดาวฤกษ์ในสังกัดพรรคนั้น และทรัพยากรทางการเมือง ถ้าจะสรุป 4 ปัจจัยให้เหลือเพียงประโยคเดียวก็คือ ‘กระแสและกระสุน’ ซึ่งพรรคก้าวไกลเป็นที่ยอมรับอย่างเอกฉันท์ว่ามีแค่กระแสแต่ไม่มีกระสุน ดังนั้นจึงไม่แปลกที่ชัยชนะของพรรคก้าวไกลจะไม่มีใครคาดคิดหรือกล้าฟันธง

 

แต่เมื่อสิ่งนี้เกิดขึ้น ในทางวิชาการจำเป็นต้องรีบหาคำตอบว่ามันเกิดขึ้นได้อย่างไร กรอบการวิเคราะห์ผลการเลือกตั้งในยุคสมัยใหม่หน้าตาเป็นแบบไหน รวมถึงปรากฏการณ์ทางการเมืองที่เห็นแล้วว่าพรรคอันดับหนึ่งจากการเลือกตั้งไม่อาจเป็นรัฐบาลได้หากไม่ได้รับฉันทานุมัติจากกลุ่มชนชั้นนำ สิ่งเหล่านี้เป็นคำถามที่ต้องการคำตอบอย่างยิ่ง เพื่อให้เราเข้าใจการเมืองไทย และมีคำตอบบอกตัวเองได้ว่าเราเลือกตั้งกันไปทำไม 

 

นี่คือคำตอบบางส่วนจากงานวิจัยล่าสุดของ ศ.ดร.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่เก็บข้อมูลหลังการเลือกตั้ง และถ่ายทอดให้ THE STANDARD นำมาเผยแพร่ต่อผู้คน อย่างไรก็ตามเนื้อหาดังกล่าวมาจากการพูดคุยกับ ศ.ดร.สิริพรรณ เพื่อเตรียมขึ้นเวทีงาน THE STANDARD ECONOMICS FORUM 2023 ยังไม่ใช่การถอดรายละเอียดเอกสารงานวิจัยโดยตรง

 

“เลือกตั้งครั้งหน้ายังประเมินว่าพรรคก้าวไกลจะชนะ แต่คิดว่าจะไม่แลนด์สไลด์” ศ.ดร.สิริพรรณพูดเปิดเมื่อเราถามถึงข้อค้นพบและบทวิเคราะห์จากงานวิจัยดังกล่าว

 

ศ.ดร.สิริพรรณกล่าวว่า การเลือกตั้ง 2566 จากงานวิจัยชัดเจนมากว่าประชาชนต้องการความเปลี่ยนแปลง ในแบบสอบถามงานวิจัยมีคำถามว่า ‘คุณเลือก สส. ตัวบุคคลเพราะอะไร’ อันดับแรกยังเป็นเลือกเพราะทำงานในพื้นที่ ตามด้วยเลือก สส. จากพรรคที่ชอบ ซึ่งก้าวไกลมาเป็นอันดับหนึ่งในส่วนนี้ ดังนั้นมันสะท้อนว่าแบรนด์ของก้าวไกลแซงเพื่อไทยไปแล้ว แสดงว่าแบรนด์รอยัลตี้ของเพื่อไทยอ่อนลง และเทไปที่พรรคก้าวไกลบางส่วน

 

คำถามอีกข้อหนึ่งคือ ‘คุณเลือกพรรคการเมืองเพราะอะไร’

อันดับ 1 ต้องการความเปลี่ยนแปลง ซึ่งประเด็นนี้พรรคก้าวไกลชัดมาก

อันดับ 2 เลือกเพราะแคนดิเดตนายกฯ ซึ่งอันดับหนึ่งก็คือ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ จากพรรคก้าวไกล

อันดับ 3 เลือกเพราะประสบการณ์ในการทำงาน

 

คำถามต่อมาถามว่า ‘ท่านชอบนโยบายใดต่อไปนี้’

อันดับ 1 ค่าแรงขั้นต่ำ

อันดับ 2 การปฏิรูปการเมือง

อันดับ 3 แก้ปัญหาปากท้อง

 

ศ.ดร.สิริพรรณกล่าวว่า จากผลสำรวจกลายเป็นว่านโยบายปฏิรูปการเมืองมาสูงกว่านโยบายปากท้อง ซึ่งสะท้อนว่าสิ่งที่ก้าวไกลปักไว้ในใจของคนว่าจะแก้ปัญหาปากท้องได้ ต้องแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างให้สำเร็จ

 

เราถามต่อว่าแล้วทำไมจึงคิดว่าพรรคก้าวไกลจะไม่ชนะการเลือกตั้งแบบแลนด์สไลด์ในครั้งหน้า

 

ศ.ดร.สิริพรรณตอบเราว่า สิ่งที่คิดว่า ณ ตอนนี้พรรคก้าวไกลจะไม่แลนด์สไลด์ เนื่องจากการเชื่อมโยงระหว่างพรรคก้าวไกลกับมวลชนยึดโยงผ่านโซเชียลมีเดีย ซึ่งตอนนี้ก้าวไกลยังเป็นผู้นำอยู่ และยังหาพรรคอื่นมาแทนยาก แต่ถ้ามีพรรคอื่นทำได้ดีคงแบ่งไปได้บางส่วน

 

ประเด็นต่อมาจะเห็นว่าประชาชนเลือกพรรคก้าวไกลเพราะต้องการความเปลี่ยนแปลง ดังนั้นเงื่อนไขสำคัญคือ ถ้าพรรคเพื่อไทยทำผลงานด้านเศรษฐกิจได้ดี คนอาจไม่ได้ต้องการความเปลี่ยนแปลงมากเท่าสมัยอยู่กับระบอบประยุทธ์ ประเด็นถัดมา พิธา ที่เป็นแม่เหล็กดูดคะแนนอย่างมหาศาล ซึ่งตอนนี้ก็มีอนาคตทางการเมืองที่ไม่แน่นอน

 

ขณะที่เมื่อดูคะแนน สส. เขต หลายเขตพรรคก้าวไกลไม่ได้ชนะขาด ถ้าพรรคร่วมรัฐบาลวางยุทธศาสตร์รวมพรรคไม่ให้ตัดคะแนนกันเองก็จะพอแบ่งคะแนนกับพรรคก้าวไกลได้

 

ศ.ดร.สิริพรรณเชื่อว่ารัฐบาลพรรคเพื่อไทยจะอยู่นาน เพราะฝั่งจารีตนิยมยังไม่มีตัวมาชนกับพรรคก้าวไกลได้ดีกว่านี้ และถ้าพรรคเพื่อไทยกอบกู้ภาพลักษณ์ได้โดยเฉพาะเศรษฐกิจ จะทำให้คนไม่ได้ต้องการความเปลี่ยนแปลงขนาดนั้นหรือเปล่า

 

อย่างไรก็ตามในบทวิจัยมีการสัมภาษณ์ ชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกล พบว่าพรรคก้าวไกลให้ความสำคัญกับ สส. เขต และจากการสำรวจพบว่าผู้สมัคร สส. เขตถ้าให้เลือกก็จะเลือกลงสมัครในนามพรรคก้าวไกล ส่วนพรรคเพื่อไทยยังมีอุปสรรคเรื่องการส่งผู้สมัคร สส. ในบางพื้นที่

 

คำถามสำคัญที่เราถามต่อคือ ถ้าพรรคก้าวไกลชนะเลือกตั้งแต่ไม่แลนด์สไลด์ ก็เท่ากับว่าเหตุการณ์จะซ้ำรอยการเลือกตั้ง 2566 ซึ่งพรรคก้าวไกลจะไม่มีทางได้เป็นรัฐบาลใช่หรือไม่

 

ศ.ดร.สิริพรรณกล่าวว่า พรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทยยังมีโอกาสจะจับมือกันได้อีกครั้ง แต่ตอนนี้ยังไม่เชื่อว่าพรรคเพื่อไทยจะกล้า ถ้าชนชั้นนำจารีตเขาไม่ไฟเขียว

 

โจทย์สำคัญตอนนี้คือพรรคก้าวไกลจะต้องหาพันธมิตรทางการเมือง ถ้าวันนี้เรามองคะแนนก้าวไกลมาจากไหน รอบนี้มาจากคนที่เคยเลือกพรรคเพื่อไทย พรรคประชาธิปัตย์ และพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งเป็นกลุ่มอนุรักษนิยม

 

คำถามใหญ่คือ คนกลุ่มนี้จะไหลไปไหนในอนาคต ดังนั้นมันมีช่องว่างตรงนี้อยู่ที่ชนชั้นนำรู้ และจะตั้งพรรคการเมืองมาดึงคะแนนตรงนี้

 

ขณะที่ฐานเสียงของพรรคเพื่อไทยอนาคตจะไม่ได้โหมบนกระแสเสื้อแดงแบบในอดีต แต่จะยึดโยงด้วยนโยบาย คุณทักษิณ คุณอุ๊งอิ๊ง หรืออาจจะคุณเศรษฐา ส่วนเด็กรุ่นใหม่พรรคการเมืองเริ่มต้นของเขาจะเป็นพรรคก้าวไกล ส่วนพรรคเพื่อไทยคือกลุ่มอนุรักษนิยม แต่เพื่อไทยคงไม่ได้เท่าเดิม 10 ล้านเสียง ยกเว้นว่านายกฯ เศรษฐาสามารถทำให้เศรษฐกิจไทยกลับมาได้พร้อมสร้างชุดคำอธิบายใหม่ 

 

อย่างไรก็ตามทุกอย่างจะกลับเข้าสู่กระบวนการของการแข่งขัน ในอนาคตมีพื้นที่การแข่งขันที่เป็นธรรม แข่งกันวิถีประชาธิปไตยมากขึ้น ‘ประตูสู่ประชาธิปไตยมันเปิดอยู่ แต่พรรคเพื่อไทยจะเดินเข้าประตูนี้ไหม’ การเมืองไทยต่อไปจะสู้กันระหว่างประชาธิปไตยพื้นฐาน เน้นปากท้อง vs. ประชาธิปไตยในมาตรฐานที่สูงกว่า เน้นการกระจายรายได้ เน้นปฏิรูปโครงสร้าง 

 

ถ้าถามว่าเราเลือกตั้งไปทำไม คำตอบจาก ศ.ดร.สิริพรรณคือ การเลือกตั้งยังมีความหมาย หากในพื้นที่เลือกตั้งประชาชนยังคงแสดงพลังชัดเจนที่จะยืนยันเลือกความเปลี่ยนแปลง อำนาจจารีตก็จะทำอะไรได้น้อยลงและนำไปสู่การต่อรอง ดังนั้นประตูสู่ประชาธิปไตยยังเปิดอยู่ ไม่ได้หมดหวังเสียทีเดียว

 

ขณะที่แกนนำพรรคก้าวไกล ให้คำตอบกับเราสอดคล้องกันว่า “แม้รอบหน้าพรรคก้าวไกลจะไม่แลนด์สไลด์ และรู้ดีว่าถ้าไม่ชนะแบบแลนด์สไลด์ก็คงไม่มีโอกาสเป็นรัฐบาล แต่ยุทธศาสตร์เราคือการกวาดคะแนนให้ได้มากที่สุดเพื่อเปิดทางสู่การต่อรอง”

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X