หลังจากการเปลี่ยนขั้วรัฐบาลแบบยุ่งเหยิงชนิดงูเห่า ซ้อนงูเห่า ไปเมื่อช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ขณะนี้มาเลเซียภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีมูห์ยิดดิน ยัสซิน ซึ่งสาบานตนเข้ารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 1 มีนาคมที่ผ่านมาก็เริ่มต้นปฏิบัติหน้าที่แล้ว โดยเราจะไปทำความรู้จักรัฐบาลชุดปัจจุบันของมาเลเซีย ประเทศเพื่อนบ้านของเรากัน
รัฐบาลเสียงข้างน้อย สภาผู้แทนราษฎรของประเทศมาเลเซีย หรือ Dewan Rakyat ประกอบด้วย ส.ส. จำนวน 222 คน ณ ปัจจุบันประกอบไปด้วย 3 กลุ่ม ได้แก่
1.ฝ่ายสนับสนุนรัฐบาลจำนวน 108 ส.ส. โดย 108 เสียงที่ประกอบขึ้นเป็นรัฐบาลมาจาก 2 กลุ่มหลักคือ
1.1พันธมิตร Perikatan Nasional (PN) จำนวน 90 ส.ส. อันประกอบไปด้วย
- พันธมิตร Barisan Nasional (BN) ซึ่งมีพรรคหลัก คือ UMNO, MCA พรรคคนมาเลเซียเชื้อสายจีนที่สนับสนุน UMNO และ MIC พรรคคนมาเลเซียเชื้อสายอินเดียที่สนับสนุน UMNO) กลุ่มนี้มี ส.ส. รวมกัน 42 คน
- BERSATU หรือ PPBM กลุ่มงูเห่าที่นำโดยมูห์ยิดดิน แยกตัวออกมาจากการควบคุมดูแลของ ดร.มหาเธร์ โมฮัมหมัด อดีตนายกรัฐมนตรี ผสมทัพกับอีกกลุ่มงูเห่าที่นำโดย อัซมิน อาลี ที่แยกตัวออกมาจาก PKR ที่นำโดย อันวาร์ อิบราฮิม กลุ่มนี้มี ส.ส. จำนวน 30 คน
- PAS พรรคการเมืองที่เน้นแนวทางยึดหลักการศาสนาอิสลาม มี ส.ส. จำนวน 18 คน
1.2Gabungan Parti Sarawak (GPS ส.ส. จากรัฐซาราวักทางตะวันออกของประเทศ) จำนวน 18 ส.ส.
2.ฝ่ายค้านจำนวน 110 ส.ส. แน่นอนว่ายังคงนำโดยพันธมิตรแห่งความหวัง Pakatan Harapan (PH) ที่มี ส.ส. 93 คนมาจาก 3 พรรคการเมือง คือ DAP (ส.ส. มากที่สุดจำนวน 42 คน), PKR (ส.ส. เหลืออยู่ 40 คนหลังการออกไปของ อัซมิน อาลี) และ AMANAH มี ส.ส. 11 คน ร่วมกับพรรค WARISAN (พรรคการเมืองของรัฐซาบาห์ทางฝั่งตะวันออกของประเทศ) มี ส.ส. 9 คน, พรรค BERSATU กลุ่มยังคงเหลืออยู่กับอดีตนายกรัฐมนตรีมหาเธร์ ปัจจุบันถูกเรียกว่า Mahathir Bloc จำนวน 6 ส.ส. และพรรคเล็กๆ อีก 2 พรรคที่มี ส.ส. พรรคละ 1 คน นั่นคือ UPKO และ PSB
3.ฝ่ายอิสระจำนวน 4 ส.ส. ซึ่ง 3 ส.ส. มาจากกลุ่มพรรคร่วมจากรัฐซาบาห์ (Gabungan Bersatu Sabah: GBS) และ ส.ส. แบบผู้สมัครอิสระไม่สังกัดพรรคอีก 1 คน ซึ่งกลุ่มนี้ในช่วงฝุ่นตลบบางครั้งก็ร่วมอยู่กับ PN ซึ่งนำโดยมูห์ยิดดิน บางครั้งก็มีชื่อปรากฏอยู่กับทีมที่สนับสนุนมหาเธร์ แต่นาทีนี้ยังวางตัวเป็นฝ่ายที่สนับสนุนรัฐบาลอยู่
นั่นทำให้เราสามารถสรุปได้ว่ารัฐบาลชุดปัจจุบันของประเทศมาเลเซีย ไม่ได้มีเสถียรภาพสูงแต่อย่างใด การตีรวน และปรากฏการณ์งูเห่ายังคงสามารถเกิดขึ้นได้เสมอ โดยมีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้
– คณะรัฐมนตรีชุดปัจจุบันของประเทศมาเลเซีย ซึ่งรับตำแหน่งไปเมื่อวันที่ 9 มีนาคม ประกอบด้วยรัฐมนตรีจำนวน 32 คน มาจากกลุ่ม BN 11 คน, BERSATU 11 คน, GPS 4 คน, PAS 3 คน, GBS 1 คน และมีรัฐมนตรีคนนอกที่ไม่ได้มาจาก ส.ส. อีก 2 คน (ก่อนหน้านี้เคยเป็นวุฒิสมาชิก) และมีรัฐมนตรีช่วยจำนวน 38 คน มาจากกลุ่ม BN 11 คน, BERSATU 14 คน, GPS 5 คน, PAS 5 คน, GBS 2 คน และมีรัฐมนตรีคนนอกที่ไม่ได้มาจาก ส.ส. อีก 1 คน นั่นทำให้คณะรัฐมนตรีของมาเลเซียชุดปัจจุบันเป็นคณะรัฐมนตรีที่มีจำนวนรัฐมนตรีมากที่สุดถึง 70 คน และยังมาจากหลากหลายกลุ่ม
– รัฐมนตรีคนที่ถูกจับตามากที่สุดคือ เทงกู ดาโต ศรี ซาฟรูล เทงกู อับดุล อาซิซ ซึ่งเป็นบุคคลภายนอก (เป็นวุฒิสมาชิก ไม่ได้เป็น ส.ส.) เข้ามาดำรงตำแหน่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และที่ทุกคนให้ความสนใจอย่างยิ่งเนื่องจาก ซาฟรูล อาซิซ เคยดำรงตำแหน่ง Group CEO และ Executive Director ของเครือธนาคาร CIMB (CIMB Group Holding Berhad) ซึ่งเป็นธนาคารที่ใหญ่ที่สุดของประเทศมาเลเซีย และเป็นหนึ่งในธนาคารที่มีเครือข่ายทั่วทั้งเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ โดยซาฟรูล อาซิซ ปัจจุบันอายุ 46 ปี จบการศึกษาระดับปริญญาตรี Bachelor of Science in Economics and Accounting จาก University of Bristol และจบปริญญาโท Master of Arts in Finance and Management จากมหาวิทยาลัยเอ็กเซเตอร์ สหราชอาณาจักร เริ่มต้นทำงานในสายการเงินการธนาคารตั้งแต่ปี 1996 ที่ Aminvester Bank ผ่านประสบการณ์บริหารการเงินมาแล้วทั้งในช่วงวิกฤตการเงินเอเชียและวิกฤตซับไพรม์ ก่อนที่จะมารับตำแหน่ง CEO ของ CIMB เขาดำรงตำแหน่ง CEO ของ Maybank Investment Bank และเมื่อเกิดการควบรวมกิจการระหว่าง Maybank และ Kim Eng ในปี 2011 เขาก็ได้รับตำแหน่ง CEO ของ Maybank Kim Eng ก่อนมาดำรงตำแหน่ง CEO ที่ CIMB Group
– ดังนั้นการมารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของประเทศมาเลเซีย ทำให้ทุกฝ่ายจับตามองและคาดหวังกับการทำงานของเขาเป็นอย่างยิ่ง ทั้งนี้เนื่องจากทุกคนคาดหวังว่ารัฐมนตรีคลังที่มาจากสายการเงินการธนาคารคนแรกของประเทศจะสามารถสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน และใช้ความรู้ความสามารถในการประคับประคองมาเลเซียในช่วงเศรษฐกิจที่ไม่เจริญเติบโตในอัตราที่สูงเช่นเดิมไปได้
– คณะรัฐมนตรีชุดปัจจุบันของมาเลเซียไม่มีตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี โดยนายกฯ มูห์ยิดดินตั้งตำแหน่งรัฐมนตรีอาวุโส (Senior Minister) ขึ้นมา 4 ตำแหน่ง และแบ่งให้แกนนำจาก 4 พรรคร่วมรัฐบาลรับหน้าที่ดูแลกิจการงานเป็นด้านๆ ไป โดยอัซมิน อาลี จากกลุ่ม BERSATU (ปีกที่แยกตัวมาจาก PKR ของอันวาร์ อิบราฮิม) ได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีอาวุโสควบกระทรวงการค้าระหว่างประเทศ และอุตสาหกรรมดูแลงานด้านเศรษฐกิจ ดาโต ศรี ซาบรี ยาคอบ จากพรรค UMNO กลุ่ม BN รับตำแหน่งรัฐมนตรีอาวุโส ควบกระทรวงกลาโหมดูแลกิจการด้านความมั่นคง ดาโต ศรี ฟาดิเลียห์ ยูซอฟ จากพรรค GPS รับตำแหน่งรัฐมนตรีอาวุโส และกระทรวงแรงงาน ดูแลด้านโครงการก่อสร้างระบบโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภคของรัฐ และ ดร. โมห์ด ราดซี จีดิน จากกลุ่ม BERSATU รับตำแหน่งรัฐมนตรีอาวุโสควบกระทรวงศึกษาธิการ ดูแลด้านการศึกษา การไม่ตั้งรองนายกรัฐมนตรีในรอบนี้ ทำให้หลายๆ ฝ่ายวิเคราะห์ว่าเป็นการป้องกันปรากฏการณ์การต่อรองคัดง้าง และงูเห่าระหว่างนายกฯ และรองนายกฯ ซึ่งเคยเกิดขึ้นมาตลอดในประวัติศาสตร์การเมืองมาเลเซีย
– คณะรัฐมนตรีชุดปัจจุบันมีสุภาพสตรีดำรงตำแหน่งเพียง 5 คนเท่านั้น ซึ่งถือเป็นสัดส่วนที่ต่ำมากเมื่อเทียบกับรัฐมนตรีทั้งชุด 70 คน
– คณะรัฐมนตรีชุดปัจจุบันมีอายุเฉลี่ยอยู่ที่ 50 ปีเศษๆ และไม่มีเลยแม้แต่คนเดียวที่อายุต่ำกว่า 40 ปี ซึ่งถือว่าเป็นคณะรัฐมนตรีสูงอายุ โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับชุดก่อนหน้านี้ที่มีคนรุ่นใหม่อย่าง ไซเอด ซัดดิค อดีตรัฐมนตรีกิจการเยาวชนและกีฬาที่เข้ารับตำแหน่งในวัยเพียง 25 ปี
– คณะรัฐมนตรีชุดปัจจุบันมีคนมาเลเซียเชื้อสายจีน และเชื้อสายอินเดียเพียง 2 คนเท่านั้น ที่เหลืออีก 68 คนเป็นคนมลายูทั้งหมด ดังนั้นจึงไม่ใช่คณะรัฐมนตรีที่แสดงให้เห็นความหลากหลายทางชาติพันธุ์ของประเทศที่มีคนเชื้อสายจีนและอินเดียอยู่ในประเทศถึงกว่า 30%
– เมื่อมีการทำงานร่วมกันเพื่อประสานผลประโยชน์ระหว่าง UMNO ซึ่งเน้นทำนโยบายสนับสนุนและให้สิทธิพิเศษกับกลุ่มชาติพันธุ์มลายูเป็นหลัก ร่วมกับพรรค PAS ที่ต้องการนำเอาบทบัญญัติกฎหมายอิสลามแบบเข้มข้นมาใช้ หลายๆ ฝ่ายจึงจับตาในเรื่องนโยบายที่เกี่ยวกับชาติพันธุ์และรัฐฆราวาส/รัฐศาสนาของประเทศ ความตึงเครียดในมิติ Ethno-Religious ว่าจะดำเนินการต่อไปอย่างไร
– เรื่องที่หลายๆ ฝ่ายหนักใจอย่างยิ่งอีกหนึ่งประเด็นสำคัญก็คือ การชำระสะสางคดีฉ้อโกงกรณีกองทุน 1MDB ที่เกี่ยวพันกับอดีตนายกรัฐมนตรีนาจิบ ราซัค ที่ก็มาจากพรรค UMNO เพราะนอกจากคณะรัฐมนตรีชุดใหม่แล้ว นายกรัฐมนตรีมูห์ยิดดิน ยังแต่งตั้งอาซาม บากี ให้ดำรงตำแหน่ง Chief Commissioner of the Malaysian Anti Corruption Commission โดยผู้ที่เคยดำรงตำแหน่งมือปราบการคอร์รัปชันของประเทศมาเลเซียคนก่อนหน้านี้คือ ลาธีฟา โคยา ซึ่งเป็นตัวหลักในการทำงานอย่างจริงจังในการรวบรวมหลักฐานเพื่อเอาผิดกับนาจิบ ราซัค ในสมัยที่มหาเธร์ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และได้ลาออกไปเมื่อต้นเดือนมีนาคม เพราะสังเกตเห็นทิศทางลมที่เปลี่ยนแปลงไปแล้วในองค์กรปราบปรามคอร์รัปชันแห่งนี้
– สำหรับประเทศไทย สิ่งที่ต้องจับตาดูก็คือ ตำแหน่ง Facilitator for Southern Thai Peace Talks ซึ่งจะทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการเจรจาระหว่างตัวแทนฝ่ายรัฐไทยกับตัวแทนจากขบวนการต่างๆ ในกรณีความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะตำแหน่งดังกล่าวมักจะเปลี่ยนตัวเสมอๆ เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล โดยผู้ที่ดำรงตำแหน่งคนปัจจุบันคือ อับดุล ราฮิม นูร์ ซึ่งเป็นอดีตผู้บัญชาการตำรวจของมาเลเซียที่เข้ามารับตำแหน่งในปี 2018 แทนที่อาห์มัด ซามซามิน ฮาชิม ซึ่งถูกแต่งตั้งในสมัย นาจิบ ราซัค
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์