ที่รัฐสภาวันนี้ ( 3 พ.ค.) มีการประชุมคณะกรรมการสรรหากรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่มี นายชีพ จุลมนต์ ประธานศาลฎีกา เป็นประธานคณะกรรมการสรรหาฯ มีมติเลือกผู้สมควรได้รับการแต่งตั้งเป็น กกต. ตามมาตรา 8(1) แห่ง พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย กกต. หลังจากที่เรียกผู้สมัครที่มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามจำนวน 24 คนแสดงวิสัยทัศน์ โดยได้พิจารณาและลงมติเลือกผู้สมัครจำนวน 5 คนเพื่อเสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ให้ความเห็นชอบ โดยรายชื่อทั้ง 5 คนนั้น ประกอบด้วย
1. นายสันทัด ศิริอนันต์ไพบูลย์ ศาสตราจารย์ประจำสาขาเทคโนโลยีสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
2. นายสมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
3. นายอิทธิพร บุญประคอง อดีตอธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย และอดีตเอกอัครราชทูต ณ กรุงไนโรบี สาธารณรัฐเคนยา และกรุงเฮก ราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์
4. นายพีระศักดิ์ หินเมืองเก่า อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์, ปทุมธานี, ระนอง, ชุมพร และนครศรีธรรมราช
5. นายธวัชชัย เทอดเผ่าไทย อดีตสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ, อดีตผู้ว่าราชการ จังหวัดสระบุรี, ปราจีนบุรี, ระยอง, เพชรบูรณ์ และลำปาง
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่าบุคคลที่ได้รับเลือกให้เป็นผู้สมควรได้รับการแต่งตั้งเป็น กกต. ดังกล่าวเป็นผู้ที่ได้รับคะแนนเสียงถึง 2 ใน 3 ของคณะกรรมการสรรหาฯ ที่มีอยู่ ตามมาตรา 12 ของ พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย กกต.
ขณะที่บุคคลซึ่งได้รับการคัดเลือกจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาจำนวน 2 คน ได้แก่ นายฉัตรไชย จันทร์พรายศรี ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา และนายปกรณ์ มหรรณพ ผู้พิพากษาศาลฎีกา ซึ่งเป็นบุคคลรายเดิมที่ สนช. เคยลงมติไม่ให้ความเห็นชอบในการเลือกผู้สมควรได้รับแต่งตั้งเป็น กกต. รอบที่ผ่านมา
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าหลังจากที่คณะกรรมการสรรหาฯ ได้เสนอชื่อทั้งหมดต่อ นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. แล้ว จะต้องนำเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติเพื่อบรรจุเป็นระเบียบวาระการประชุม เบื้องต้นคาดว่าจะนำเรื่องดังกล่าวเข้าสู่วาระการประชุม สนช. วันที่ 10 พฤษภาคมนี้ และเมื่อเข้าสู่ที่ประชุมแล้วจะต้องแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบประวัติ ความประพฤติ และพฤติกรรมทางจริยธรรม ก่อนจะนำกลับมาให้ที่ประชุม สนช. ลงมติว่าจะให้ความเห็นชอบหรือไม่ต่อไป