×

24 มิถุนา 2475 แรงบันดาลใจจากชัยชนะของสามัญชน ‘เนติวิทย์’ มอง 90 ปียังไม่แพ้-ชนะสมบูรณ์

24.06.2022
  • LOADING...
เนติวิทย์

24 มิถุนายน 2475 กลายเป็นแรงบันดาลใจของคนรุ่นใหม่ ยืนยันได้จากการตั้งชื่อแนวร่วมนักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชนในปี 2563 ที่ใช้ชื่อว่า ‘คณะราษฎร 2563’ ขณะที่หลายทศวรรษที่ผ่านมา การเคลื่อนไหวการเมืองภาคประชาชนหลายขบวนการ มักจะเชื่อมโยงตัวเองไปกับประวัติศาสตร์ ‘เดือนตุลา’ เหตุการณ์ซึ่งผ่านมาไม่เกิน 50 ปี ขณะที่ 2475 ในปีนี้ครบรอบ 90 ปี และยังถูกพูดถึงในฐานะประวัติศาสตร์แนวคิดอุดมการณ์ที่จะต้องมีการสืบทอดต่อไป 

 

THE STANDARD สัมภาษณ์ เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล นิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นักเคลื่อนไหวตั้งแต่วัยมัธยม คนรุ่นใหม่ซึ่งตัวเขาเองมักจะบอกว่าขณะนี้มี ‘คนรุ่นใหม่กว่า’ แต่หลายคนยังมีภาพจำเกี่ยวกับเนติวิทย์ที่ออกมาเคลื่อนไหวผ่านโซเชียลมีเดีย ตั้งแต่ยุคการสื่อสารยังไม่ขยายสู่วงกว้างอย่างปัจจุบัน เช่นเดียวกับประเด็นที่เขานำเสนอ จากเดิมเคยถูกมองว่าทวนกระแส เมื่อมาถึงปัจจุบัน สังคมเปลี่ยนแปลงไป ทำให้หลายประเด็นกลายเป็นกระแสหลักที่ได้รับการยอมรับแล้ว 

 

ความเคลื่อนไหวปี 2563 เนติวิทย์ไม่ใช่หนึ่งในแกนนำ แต่ได้เข้าร่วมกิจกรรมโดยผลิตพวงกุญแจและคุกกี้หมุดคณะราษฎร สัญลักษณ์การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ไปจำหน่ายในที่ชุมนุม และนี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ทำกิจกรรมเกี่ยวข้องกับ 2475 เนติวิทย์เคยเคลื่อนไหวมาตั้งแต่สมัยมัธยมศึกษา โดยเสนอโรงเรียนให้จัดงานรำลึกวันที่ 24 มิถุนายน ซึ่งอยู่ใกล้วันที่ 26 มิถุนายน ‘วันสุนทรภู่’ เนติวิทย์มองว่าเรามักจะพูดถึงแต่วันสุนทรภู่ โดยไม่พูดถึงวันที่ 24 มิถุนายน ทั้งที่เป็นวันเปลี่ยนแปลงการปกครอง 

 

เนติวิทย์

 

ได้รับรู้ประวัติศาสตร์ 24 มิถุนายน 2475 ตั้งแต่เมื่อไร หากเทียบเหตุการณ์เดือนตุลาคม 2516-2519, พฤษภาคม 2535 และ เมษายน-พฤษภาคม 2553 ในบรรดาเหตุการณ์เหล่านี้ ได้รับรู้แต่ละเหตุการณ์อย่างไร 

 

เหตุการณ์ 24 มิถุนา 2475 ได้เรียนจากโรงเรียนสมัยตอนอยู่ชั้น ม.2 แต่ได้เรียนสั้นๆ เป็นการพูดสั้นๆ ของครู นอกจากนั้นเรียนประวัติศาสตร์ส่วนใหญ่เรื่องสมัยอยุธยา สุโขทัย ส่วนประวัติศาสตร์การเมืองไทยจริงๆ ได้เรียนน้อยมาก 

 

หากเทียบกับการเรียนมัธยมทั้งหมด 6 ปี จะได้เรียน 2475 ตอน ม.2 เทอมเดียว แล้วก็ไม่ได้เรียนอีกเลย แล้วเหตุการณ์ 24 มิถุนา ที่ได้เรียนก็เป็นส่วนหนึ่งเล็กๆ ในนั้น คือพูดถึงสาเหตุแห่งการเปลี่ยนแปลงการปกครอง จากนั้นก็ขึ้นอยู่กับครูผู้สอนจะตีความ 

 

อย่างครูผู้สอนที่ผมเรียน เขาก็จะมองว่าการเปลี่ยนแปลงการปกครองอาจจะไม่ได้เป็นเรื่องที่ดีเท่าไร เพราะว่าเจ้านายพร้อมที่จะให้ประชาธิปไตยอยู่แล้ว เรารีบร้อนเกินไป ‘ชิงสุกก่อนห่าม’ คณะราษฎรคนหนุ่มสาวก็ดูเป็นผู้ร้ายหน่อย 

 

จากนั้นก็พูดถึง 14 ตุลา 2516 กับ 6 ตุลา 2519 ซึ่งพูดถึงน้อยมากเช่นกัน 14 ตุลา 2516 คือการลุกฮือของนักศึกษา ถ้าครูไม่ต้องการให้เด็กลุกฮือ เขาก็ไม่อยากจะพูดมาก 

 

ส่วน 6 ตุลา 2519 ก็เช่นกัน ใครเป็นคนฆ่าผู้ชุมนุม ครูไม่อยากให้เด็กรู้เขาก็ไม่สอน เพราะเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 เป็นการฆ่า (โดยรัฐ) ก็จะพูดน้อย ถ้าเทียบกับ 24 มิถุนา 2475 ครูจะพูดเยอะกว่านิดหนึ่งในบรรดาเหตุการณ์เหล่านี้ เพราะสามารถตีความได้ว่าคณะราษฎรแย่งชิงอำนาจจากพระเจ้าอยู่หัว 

 

สำหรับเหตุการณ์พฤษภา 2535 ครูได้พูดเป็นเชิงดี เนื่องจากพระเจ้าอยู่หัวเรียกคู่ขัดแย้งทั้ง 2 ฝ่ายเข้าไป ครูจึงมองเป็นเรื่องดี ตอนนั้นก็ได้ฟังเรื่องม็อบชนชั้นกลาง ม็อบมือถือ ไล่ พล.อ. สุจินดา คราประยูร จบด้วยชัยชนะของประชาชนคนชั้นกลาง เรื่องนี้ก็จะพูด แต่จริงๆ ก็ถือว่าพูดเป็นส่วนน้อย ยิ่งการวิเคราะห์ต่างๆ ยิ่งไม่มีเลย ส่วนใหญ่จะเรียนเป็นไทม์ไลน์มากกว่า เรียนว่า นายกฯ คนไหนชื่ออะไรบ้าง โดยไม่ค่อยมีการวิเคราะห์

 

ส่วนเหตุการณ์เมษา-พฤษภา ปี 2553 เป็นเหตุการณ์ในขณะนั้น ไม่มีเนื้อหาในห้องเรียนอยู่แล้ว ได้รับรู้จากข่าวซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ในขณะนั้น และแน่นอนว่าครูไม่ได้เอามาพูดในห้องเรียนเท่าไร เขาอาจจะไม่อยากให้เด็กสนใจการเมืองเรื่องนี้ด้วย โดยเฉพาะเรื่องคนเสื้อแดง เพราะครูคนนี้ของผมในเวลาต่อมาประมาณปี 2556-2557 เขาก็ห้อยนกหวีดไปสอน แต่ตอนนั้นผมไม่ได้เรียนกับเขาแล้ว 

 

เนติวิทย์

 

ตอนเรียนประวัติศาสตร์ 24 มิถุนา 2475 ตอนนั้นคิดอย่างไรกับการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 

 

ตอนนั้นก็คิด และโชคดีที่เราอ่านหนังสือนอกห้องเรียน ซึ่งหนังสือหลายเล่มพูดถึง 2475 ในมุมโต้แย้งกับผู้ที่โจมตีคณะราษฎร พอได้ฟังครูพูดที่โรงเรียนเราก็ได้ถามครูว่า หนังสือบอกแบบนี้ ทำไมครูพูดอีกแบบหนึ่ง 

 

ครูเขาก็ไม่ค่อยรับฟัง เขาก็มองว่าเราจะไปเชื่อได้อย่างไร เขาก็คิดว่าเขาถูก แต่เรารู้สึกว่าเราจะเชื่อหนังสือมากกว่าเชื่อครู เชื่อเอกสารหลักฐานที่เราเห็น ขณะที่ครูเขาไม่ยอมบอกว่าเขาโต้แย้งอย่างไร ก็เลยทำให้ผมค่อนข้างฝังใจกับเรื่อง 24 มิถุนา มาตั้งแต่นั้น

 

ตอน ม.2 เคยเขียนจดหมายเสนอโรงเรียนให้จัดงานรำลึกวันที่ 24 มิถุนายนด้วย แล้วมาเรียนรู้ในภายหลังว่าวันที่ 24 มิถุนายน เคยเป็นวันชาติแล้วถูกยกเลิกไป ก่อนจะเปลี่ยนวันชาติเป็นวันที่ 5 ธันวาคม สมัยจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ขึ้นมามีอำนาจ 

 

ตอนที่ผมเสนอเพราะมองว่าวันที่ 24 มิถุนายน อยู่ใกล้วันที่ 26 มิถุนายน ซึ่งเป็นวันสุนทรภู่ เราพูดถึงแต่วันสุนทรภู่ทุกปี แต่กลับไม่พูดถึงวันที่ 24 มิถุนายน ผมเคยเขียนบทความ ทำไมเราฉลองแต่วันสุนทรภู่ ไม่ฉลองวันที่ 24 มิถุนายน ทั้งๆ ที่เป็นวันเปลี่ยนแปลงการปกครอง เปลี่ยนแปลงประเทศชาติเลย 

 

ตอนผมอยู่ ม.6 ผมยังเอาเรื่องนี้มาถามครู ครูน่าจะพูดเรื่องนี้เพราะเป็นวันเปลี่ยนแปลงการปกครอง ปรากฏว่าครูไม่พอใจผมมาก ขนาดตอนนั้นอยู่ ม.6 ครูบอกว่า ทำไมเธอทำเป็นรู้ดีขนาดนี้ เขาก็ไม่สนใจ ไม่มีใครสนใจ 

 

มีแต่ประชาชนคนที่เรียกร้องสังคมให้ดีขึ้น คนที่ต้องการประชาธิปไตยที่ให้ความสนใจ 24 มิถุนา แต่ในระบบการศึกษา ไม่แคร์วันที่ 24 มิถุนายนเลย

 

เนติวิทย์

 

ตอนเลือกมหาวิทยาลัย ทำไมเลือกเรียนจุฬาฯ และเคยทำคลิปแกล้ง ‘ชาวเน็ต’ โดยบอกว่าสอบไม่ติดธรรมศาสตร์ สุดท้ายมาเฉลยในภายหลังว่าจริงๆ แล้วสอบติดจุฬาฯ ตอนนั้นคิดอย่างไร ขณะที่ช่วงนั้นหลายคนมองว่าเนติวิทย์น่าจะเลือกเรียนธรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยที่เกี่ยวข้องกับการเมืองและ 2475 

 

ตอนนั้นสอบไม่ติดธรรมศาสตร์จริงๆ ไม่ได้แกล้ง คือไปสอบตรงมาเลย เขามีสอบข้อเขียนเข้า แต่ผมสอบไม่ติด ถ้าสอบได้ก็ไม่แน่อาจจะลังเล แต่ผมดูแล้วไม่น่าติด เพราะมีบางคำถามที่ผมตอบไม่ได้ ในขณะที่จุฬาฯ ใช้ระบบแอดมิชชันก็เลยง่ายกว่าสำหรับผม แล้วขึ้นอยู่กับคะแนนรวม จึงคำนวณได้ก่อนล่วงหน้า ไม่มีปัญหา 

 

จริงๆ จุฬาฯ ก็เกี่ยวข้องกับ 24 มิถุนา 2475 เยอะเหมือนกัน อย่างหอประชุมใหญ่สร้างสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม หรือตึกหลายๆ คณะ อย่างคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ก็เป็นศิลปะคณะราษฎร, ดร.ตั้ว ลพานุกรม คณะเภสัชศาสตร์ เป็น 1 ใน 7 ผู้ก่อตั้งคณะราษฎร มีความเกี่ยวข้องเกี่ยวโยงเยอะ รวมถึงคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ก็มีรุ่นแพแตก ยุบรวมไปเรียนธรรมศาสตร์ แล้วค่อยกลับมาอีกทีหลังรัฐประหาร 2490 จุฬาฯ ก็มีความเกี่ยวข้อง 2475 เยอะ เคยมีเพื่อนๆ ทำเรื่องนี้ไว้

 

เนติวิทย์

 

ทำคลิปแกล้ง ‘ชาวเน็ต’ ในยุคแรกๆ บางคนเยาะเย้ย แสดงความสะใจที่เนติวิทย์สอบไม่ติดธรรมศาสตร์ 

 

ใช่ เขาก็ไล่ผมไปเรียนมหาวิทยาลัยเปิด เราก็รู้อยู่แล้วว่าเป็นอย่างนี้แน่ ผมต้องการให้คนเห็นอคติภายในตัวเองอันนี้เป็นหลัก คือมองคนแค่สถานศึกษาเท่านั้นเอง ให้เขาย้อนคิดกับตัวเอง

 

ตอนนั้นมีคำว่า ‘ดัก’ หรือยัง 

 

มี (หัวเราะ) เป็น ‘กับดัก’ ก็ตลกดีครับ  

 

ประสบการณ์เรียนจุฬาฯ 

 

มาเรียนจุฬาฯ ก็ให้อิสรภาพเยอะ ไม่ได้แย่อย่างที่หลายๆ คนคิดตอนแรกว่าผมจะต้องเจออะไรเลวร้ายแน่ ซึ่งก็มีบ้าง แต่ไม่ได้เลวร้ายอย่างที่หลายๆ คนคิด แล้วผมก็ต่อสู้มาจนได้ตำแหน่งที่สำคัญในมหาวิทยาลัย ไม่ได้ยากเกินไป 

 

เคยมีตำแหน่งที่มาจากการเลือกตั้งและถูกยึดอำนาจตั้งแต่เป็นนักเรียน 

 

ตอนเป็นนักเรียนได้เป็นประธานนักเรียนที่มาจากการเลือกตั้ง ได้คะแนนไม่ต่ำกว่า 50% ในโรงเรียน ตอนนั้นวันเลือกตั้งประธานนักเรียนตรงกับวันที่ 24 มิถุนายนด้วย เรียนอยู่ ม.5 แล้วไม่ได้ไปเลือกตั้ง แต่ไปฟังปาฐกถาที่สถาบันปรีดี พนมยงค์ ก็เลยถูกเอามาเล่นงานว่าไม่ไปใช้สิทธิ ถูกรัฐประหาร เพราะเมื่อปลดผมแล้วเขาก็ไม่ได้เลือกตั้งใหม่ แต่เอาคนอื่นที่มาจากการแต่งตั้งมาดำรงตำแหน่งทั้งปี ผมไม่มีสิทธิอะไร 

 

ตอนนั้นได้ก่อวีรกรรมมากมายไปแล้วหรือยัง 

 

เยอะเลยครับ ทั้งเรื่องทรงผม และมีนโยบายเลิกทำงานให้ครู ตอนนั้นอยู่ ม.5 ปี 2556 ก่อนมีเหตุการณ์รัฐประหารโดย คสช. ปี 2557 

 

ต่อมาเข้าเรียนจุฬาฯ ในปี 2559 ตอนปี 1 ในพิธีถวายสัตย์ฯ เข้าเป็นนิสิต ก่อนเริ่มพิธีก็ได้ยกมือกับเพื่อนแล้วเดินออกจากพิธีเพื่อโค้งคำนับ โดยมีเพื่อนถ่ายคลิปไว้ เป็นการแสดงการไม่ยอมรับการหมอบกราบ เนื่องจากในหลวงรัชกาลที่ 5 ทรงประกาศยกเลิกธรรมเนียมเก่าดังกล่าวแล้ว

 

เนติวิทย์

 

ตั้งแต่เป็นนักเรียนจนถึงเป็นนิสิต เคยได้รับการเลือกตั้งมาแล้วกี่ตำแหน่ง ถูกยึดอำนาจไปแล้วกี่ครั้ง

 

  1. ตำแหน่งประธานนักเรียนสมัยมัธยม ถูกยึดอำนาจ 
  2. ตำแหน่งประธานสภานิสิต จุฬาฯ ถูกยึดอำนาจ   
  3. ตำแหน่งนายกสโมสรนิสิต จุฬาฯ ถูกยึดอำนาจ  
  4. ตำแหน่งกรรมการแอมเนสตี้ ได้รับเลือกตั้ง แต่กระทรวงมหาดไทยไม่รับจดทะเบียนแต่งตั้ง 
  5. นายกสโมสรนิสิตคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ เป็นตำแหน่งเดียวที่อยู่ครบเทอม ไม่ถูกยึดอำนาจ 

 

ตอนปี 2560 ผมได้เป็นประธานสภานิสิตจุฬาฯ ได้รับเลือกตั้งจากในคณะก่อน แล้วไปเลือกประธานกันในสภานิสิต ได้เป็นประธานอยู่ 2 เดือนกว่าๆ เขาก็ยึดอำนาจ จากเหตุการณ์พิธีถวายสัตย์ฯ (เช่นเดียวกับตอนปี 1) แต่ครั้งนี้ยืนอยู่ในพิธีในฐานะสภานิสิตกับเพื่อนอีก 8 คน ไม่ได้อยู่ในฐานะนิสิตปี 1 เหตุการณ์นั้นมีเพื่อนถูกล็อกคอ ตัวผมถูกปลด ถูกตัดคะแนน 25 คะแนน และถูกต่อว่า 

 

ได้ตำแหน่งกลับมาในภายหลัง แต่ว่าได้ก็เหมือนไม่ได้ เพราะพ้นวาระมา 2 ปีแล้ว ศาลตัดสินว่าจุฬาฯ ทำผิดกฎหมายที่ตัดคะแนนผม แต่ก็เปลี่ยนแปลงอะไรไม่ได้ เนื่องจากผ่านเวลาที่จะต้องอยู่ครบวาระไปแล้ว หลังศาลตัดสิน อธิการบดีจุฬาฯ มีหนังสือที่ระบุถึงคำตัดสินของศาล แต่เมื่อย้อนกลับไปหลังปลดผมเสร็จ สุดท้ายเขาก็มีการเลือกประธานใหม่เพื่อให้สภามีการดำเนินงานต่อไป คนใหม่ก็มีสถานะโดยถูกต้อง

 

ปี 2563-2564 ได้เป็นนายกสโมสรนิสิตคณะรัฐศาสตร์ อันนี้โชคดีที่สุด ได้ปรับปรุงตึก ทำอะไรให้ดีขึ้น อยู่คณะก็สบาย ไม่มีใครมารังแก อยู่ครบเทอมเลย 

 

จากนั้นได้รับเลือกตั้งเป็นนายกองค์การบริหารสโมสรนิสิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (อบจ.) วาระปี 2564 และอย่างที่ทราบกัน เมื่อต้นปี 2565 ก็ถูกปลดออก (กรณีจัดงานปฐมนิเทศนิสิตใหม่ ปีการศึกษา 2564 นำเสนอวีดิทัศน์จากวิทยากร ซึ่งมีกิริยาท่าทางและคำพูดที่สำนักบริหารกิจการนิสิตเห็นว่า ‘หยาบคาย’) 

 

เนติวิทย์

 

ตอนนี้อุทธรณ์ไปที่มหาวิทยาลัยก่อน ก่อนที่จะไปศาลเช่นเดียวกับครั้งที่แล้วที่มี อาจารย์ธงทอง จันทรางศุ เป็นประธาน ครั้งนี้มีอาจารย์คณะนิติศาสตร์อีกท่านเป็นประธาน แต่ก็เลื่อนมาเรื่อยๆ ยังไม่เริ่มพิจารณา ทำให้เร็วๆ นี้ เราคงสามารถใช้สิทธิไปที่ศาลปกครองได้โดยตรง ไม่ต้องรอมหาวิทยาลัยแล้ว เพราะเกินเวลาตามกฎหมายแล้ว คาดว่าภายในเดือนกรกฎาคมจะไปยื่นเรื่องที่ศาลปกครอง คราวนี้ว่าจะฟ้องเรียกค่าเสียหายจากมหาวิทยาลัยเยอะขึ้นหน่อย คราวที่แล้วไม่ได้รับค่าเสียหาย แต่ครั้งนี้มองว่ามีความชอบธรรมมากขึ้น เหมือนกรณี ส.ส.เชียงใหม่ ชนะคดีได้ค่าเสียหายตั้ง 50 ล้าน ผมขอสัก 1 ล้านได้ไหม เพราะได้รับการเลือกตั้งโดยตรงจากนิสิตในมหาวิทยาลัยตั้งหมื่นกว่าคน ไม่เหมือนตอนเป็นประธานสภานิสิตที่แต่ละคณะเลือกผู้แทน แล้วผู้แทนไปเลือกในที่ประชุมใหญ่ ส่วนผมได้รับเลือกตั้งโดยตรง (เหมือนคน กทม. เลือกตั้งผู้ว่าฯ ได้ชัชชาติ) ผมได้ 70% ของนิสิตที่มาใช้สิทธิ 

 

ส่วนอีกตำแหน่งคือ กรรมการสมาคมแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ตอนช่วงถูกปลดจากประธานสภานิสิตจุฬาฯ ได้ไปสมัครเป็นกรรมการแอมเนสตี้ ได้รับการเลือกตั้งจากสมาชิกที่เข้าร่วมประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2561 แต่นายทะเบียนสมาคมกรุงเทพมหานคร (อธิบดีกรมการปกครอง) ไม่รับจดทะเบียนแต่งตั้ง จึงฟ้องร้องดำเนินคดีที่ศาลปกครองต่อ พล.อ. อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ตอนนี้ศาลยังไม่ตัดสิน แต่สืบพยานไปเรียบร้อยแล้ว คาดว่าภายในปีนี้ศาลคงตัดสิน 

 

เนติวิทย์

 

ยังมีหวังกับการเลือกตั้งไหม 

 

เราต้องสู้ต่อไป การมาแทรกแซงเราแบบนี้ทำให้เราฮึดสู้เหมือนกัน เพราะเราก็ต้องการทำให้เห็นว่าเราอยู่ในตำแหน่งก็ทำอะไรได้มากมาย การที่มาทำแบบนี้เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ก็อยากให้สังคมเห็นด้วย

 

เคยนำสัญลักษณ์เกี่ยวกับ 2475 ไปผลิตเป็นของที่ระลึก ระหว่างที่มีความเคลื่อนไหวทางการเมืองปี 2563 ทำไมเลือกสัญลักษณ์นี้

 

เคยทำพวงกุญแจ ทำคุกกี้ ด้วยสัญลักษณ์หมุดคณะราษฎร เพราะเป็นสิ่งที่ถูกลืม เป็นสิ่งที่คนควรจะรู้ การเปลี่ยนแปลงการปกครองทำให้คนเท่าเทียมกัน แล้วคนก็ลืมเรื่องนี้ไปนานว่ามนุษย์เราเท่าเทียมกัน ซึ่งมาจากการต่อสู้ด้วย แต่ถูกป้ายสีตีไข่มาตลอดว่าเป็นสิ่งที่ผิดพลาด ผมก็เลยคิดว่าการที่เรารู้ประวัติศาสตร์ ก็ทำให้เข้าใจตัวตนเราเอง เข้าใจว่าสิทธิเสรีภาพของเรามาได้อย่างไร 

 

ไม่ได้เป็นแกนนำ แต่อยู่ร่วมเหตุการณ์ความเคลื่อนไหวของ ‘คณะราษฎร 2563’ มองอย่างไร ปรากฏการณ์ทะลุฟ้าทะลุเพดานปี 2563 และการกลับมาของ 24 มิถุนา 2475 ที่ถูกพูดถึงในวงกว้าง ขณะที่ก่อนหน้านั้นจะมีการพูดถึงแค่ในวงวิชาการหรือในรั้วมหาวิทยาลัย

 

เป็นเรื่องที่มีคุณูปการ เพราะการต่อสู้ของคณะราษฎรยังไม่จบสิ้นไป ‘ผีคณะราษฎร’ ยังอยู่ ประวัติศาสตร์ตรงนี้ยังเป็นประวัติศาสตร์ที่ถูกปิดบัง เพราะเป็นอะไรที่ทำให้คนคิดถึงความเท่าเทียม สิทธิ เสรีภาพ โลกที่เราเสมอภาคกันหมดไม่ว่าเจ้าหรือไพร่ เรื่องที่เขาต่อสู้ยังไม่ได้รับการยอมรับ แต่หลายคนก็เห็นว่าเรื่องที่เขาต่อสู้เป็นสิ่งที่ดีงาม การต่อสู้ยังไม่หมดไป จึงไม่แปลกที่คนรุ่นใหม่จะพูดถึงเหตุการณ์นี้ เป็นเหตุการณ์ที่เป็นแรงบันดาลใจ และเป็นชัยชนะครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ของสามัญชน 

 

คนรุ่นใหม่จึงต้องการพูดถึง 2475 เพื่อบอกว่ากำลังสืบต่อภารกิจจิตวิญญาณของคนกลุ่มเหล่านี้ 

 

เนติวิทย์

 

เหตุที่คนรุ่นใหม่ไม่ย้อนไปสืบทอด 14 ตุลา 2516 ซึ่งใกล้กว่า 2475 

 

จริงๆ 14 ตุลา 2516 ก็มีคุณูปการเยอะ แต่ข้อแรกเป็นเพราะคนรุ่นนั้นส่วนใหญ่กลายเป็น ‘สลิ่ม’ ยกเอาเหตุการณ์มาหากินเกินไป คนรุ่น 14 ตุลา 2516 กลายเป็นกลุ่มคนที่ภูมิใจ พูดตลอดว่าเป็นคนรุ่น 14 ตุลา เป็นคนสำคัญทางประชาธิปไตย แต่ว่าพวกเขาก็ด่าคนรุ่นใหม่ แล้วเขาก็สั่งสอน เขาคิดว่าตัวเองดีที่สุด แล้วบางคนก็หมอบคลานที่สุด ทำให้คนรุ่นใหม่มอง 14 ตุลา ว่าชนะหรือแพ้กันแน่ในแง่จุดยืนประชาธิปไตย 

 

ก่อนหน้านี้คนก็ตั้งคำถามกันเยอะ ทำไมคน 14 ตุลา 2516 ถึงเป็นสลิ่มจัง ทำไมคน 6 ตุลา 2519 ส่วนใหญ่ยังดูก้าวหน้ากันอยู่ 

 

คนจึงคิดว่า 14 ตุลา ประชาธิปไตยน่าจะแพ้ แต่ 6 ตุลา ถึงจะถูกปราบถูกฆ่า แต่เป็นสิ่งหนึ่งที่ทำให้เรายังสู้ต่อ สู้เพื่อความเป็นธรรมของคนรุ่น 6 ตุลา ต่อ 

 

ส่วน 24 มิถุนา ย้อนไปไกลแต่มีความชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นคำประกาศคณะราษฎรและอื่นๆ

 

เนติวิทย์

 

90 ปี 24 มิถุนา 2475 ตอนนี้ถือว่าแพ้หรือชนะ 

 

ต้องสู้ต่อไป เหมือนที่จอมพล ป. พิบูลสงคราม บอก ลูกหลานต้องสู้ต่อไป ลูกหลานของทุกฝ่าย เพราะแต่ละความคิดสามารถตกยุค ล้าหลังได้ เมื่อเจอความคิดใหม่ๆ เข้ามาปะทะ จึงต้องต่อสู้ต่อไป แม้แต่รุ่นเราสักวันก็อาจจะกลายเป็นความคิดเก่า ต้องมีคนมาท้าทายความคิด ผมจึงคิดว่าไม่มีแพ้-ชนะสมบูรณ์เรื่องนี้ แต่เราอย่าประมาท ไม่ใช่คิดว่ากระแสมาทางเราแล้วชนะแน่ แล้วจะชนะตลอดกาล มันอาจจะไม่เป็นแบบนั้น เช่นเดียวกับฝั่งที่เคยได้ ‘อำนาจนำ’ ก็พลาดได้เหมือนกัน คนรุ่นใหม่ก็ต้องระวังพลาดเช่นกัน 

 

ตอนปี 2563 กระแสสูงมาก เราอาจจะมีความรู้สึกปิติในช่วงนั้น แต่ก็ถูกปราบปราม ก็ต้องกลับมาทบทวนยุทธวิธี ยุทธศาสตร์ต่างๆ ซึ่งไม่มีอะไรถาวร เหมือนกำลังเดินไต่ลวด ต้องเดินอย่างระมัดระวัง

 

เนติวิทย์

 

เตรียมทำงานด้านไหนสำหรับการใช้ชีวิตนอกรั้วมหาวิทยาลัย

 

ตอนนี้ก็ทำสำนักพิมพ์สำนักนิสิตสามย่าน ผมคิดว่าโลกเดี๋ยวนี้ไม่ได้แยกชัดระหว่างการเรียนกับทำงาน บางคนเป็นยูทูเบอร์มีรายได้ บางคนทำอะไรที่ไม่คิดว่าเป็นงานแต่ได้เงินก็มี แต่งานก็ไม่จำเป็นต้องได้เงินตลอด 

 

ส่วนผมคิดว่างานต้องมีความสุข ผมต้องการทำอะไรที่มีความหมาย ทำให้สังคมดีขึ้น เปลี่ยนแปลงโลกให้ดีขึ้น อาจจะไม่ได้เงินมากแต่ช่วยเหลือคนอื่นได้มาก ซึ่งก็ทำมาตลอด จึงไม่ได้รู้สึกแยกกันระหว่างเรียนกับทำงาน 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising