ถือเป็นโปรแกรมสุดพิเศษที่สร้างความตื่นเต้นให้กับคอภาพยนตร์ไทยไม่น้อย เมื่อทาง Netflix ประเทศไทย ได้ร่วมมือกับ หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) คัดสรรภาพยนตร์ไทยสุดคลาสสิกจำนวน 19 เรื่อง มาให้ผู้ชมได้ย้อนรำลึกความประทับใจอีกครั้งกับแคมเปญ #ฉายแล้ววันนี้ที่Netflixรามา ที่เพิ่งจะเข้าฉายอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 1 เมษายนที่ผ่านมา
โดยภาพยนตร์ทั้ง 19 เรื่องประกอบไปด้วยภาพยนตร์สุดคลาสสิกที่ทุกคนยังคงคิดถึง ไปจนถึงภาพยนตร์ยุคใหม่ที่ทุกคนรู้จักกันเป็นอย่างดี ได้แก่ สันติ-วีณา (2497), แพรดำ (2504), ทองพูน โคกโพ ราษฎรเต็มขั้น (2520), ข้างหลังภาพ (2528), ผีเสื้อและดอกไม้ (2528), กาลครั้งหนึ่งเมื่อเช้านี้ (2538)
เรื่องตลก 69 (2542), นางนาก (2542), บางระจัน (2543), ฟ้าทะลายโจร (2543), สตรีเหล็ก (2543), มนต์รักทรานซิสเตอร์ (2544), องค์บาก (2546), ทวิภพ (2547), มหา’ลัย เหมืองแร่ (2548), รักแห่งสยาม (2550), ลุงบุญมีระลึกชาติ (2553), MARY IS HAPPY, MARY IS HAPPY (2556) และ กระเบนราหู (2561)
ยงยุทธ ทองกองทุน ผู้อำนวยการฝ่ายคอนเทนต์ประจำประเทศไทยของ Netflix
ยงยุทธ ทองกองทุน ผู้อำนวยการฝ่ายคอนเทนต์ประจำประเทศไทยของ Netflix ได้เล่าถึงจุดเริ่มต้นของแคมเปญ #ฉายแล้ววันนี้ที่Netflixรามา ว่า “นับตั้งแต่วันที่เรามี Netflix ประเทศไทยในปี 2564 เรามองเห็นศักยภาพในคอนเทนต์ไทยมาโดยตลอด แล้วเราก็มั่นใจว่าคอนเทนต์ไทยเป็นคอนเทนต์ที่สามารถผงาดได้ในระดับโลกแน่นอน ซึ่งแคมเปญ #ฉายแล้ววันนี้ที่Netflixรามา ก็เป็นแคมเปญที่เรามีความเชื่อมั่นว่าเป็นสิ่งดีๆ ที่เราอยากนำกลับมาเพื่อบอกว่า มุมมองของ Netflix ต่อคอนเทนต์ไทย เรารู้สึกว่ามันมีคุณค่ามากๆ
“และที่สำคัญมันอาจจะเป็น Pain Point เล็กๆ สำหรับคอนเทนต์ไทยที่มักจะได้ยินว่า ทำไมคอนเทนต์ไทยสมัยนี้ไม่ค่อยหลากหลาย แต่จริงๆ ในอดีตถ้าดูจากหนังที่เราเลือกมาทั้งหมด เราอยากจะยืนยันว่าเรามีของดีอยู่ มันอาจจะถูกลืมไปบ้าง หรือกาลเวลามันเปลี่ยนรสนิยม คนดูอาจจะข้ามๆ ไปบ้าง แต่ว่าสิ่งนี้น่าจะเป็นก้าวแรกของ Netflix ที่จะบอกว่าคอนเทนต์ไทยทรงคุณค่าและมีความยิ่งใหญ่จริงๆ”
ชลิดา เอื้อบำรุงจิต ผู้อำนวยการหอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน)
ด้าน ชลิดา เอื้อบำรุงจิต ผู้อำนวยการหอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) เล่าถึงเกณฑ์การคัดสรรภาพยนตร์ทั้ง 19 เรื่องว่า “เราก็ได้พูดคุยกับคนทำหนังรุ่นใหม่อยู่เรื่อยๆ ซึ่งหนังบางเรื่องที่ตัวเราเองไม่ได้รู้สึกว่าเก่า แต่พอคุยกับคนทำหนังรุ่นใหม่ที่เขาอายุ 25 เขาก็จะรู้สึกตื่นเต้นเวลาที่ทางหอภาพยนตร์เอาหนังเก่าๆ มาฉาย เราจึงคิดว่าจริงๆ มันมีช่องว่างตรงนี้อยู่ พอพ้นยุคดีวีดี คนจะหาดูหนังบางเรื่องยากเหมือนกัน พอมาคุยกันเราจึงคิดว่าแคมเปญ #ฉายแล้ววันนี้ที่Netflixรามา มันน่าจะมาเติมช่องว่างตรงนี้ได้
“แล้วเมื่อก่อนด้วยระบบของ Distribution หนังบางเรื่องมันก็ไปไม่ได้ไกลมาก อาจจะได้อยู่แค่กรุงเทพฯ เราก็รู้สึกว่าระยะทางมันเป็นข้อจำกัดด้วย เพราะฉะนั้นตอนนี้รูปแบบการดูมันเปลี่ยนไป และความต้องการของคนดูก็คิดถึงหนังเหล่านี้อยู่แล้ว สังเกตได้จากผลตอบรับตอนที่รายชื่อหนังได้เล็ดลอดออกไป ความตื่นเต้นของผู้คนที่อยู่รอบตัวเราก็ตื่นเต้นกันมากว่าอยากดูเรื่องนี้มานานแล้ว คิดถึงเรื่องนี้มาตลอด เราก็รู้สึกว่ามันเป็นสัญญาณที่ดีเนอะ แล้วเราก็คิดว่าถ้าผลตอบรับมันดี มันก็จะมีลักษณะแบบนี้อีกต่อๆ ไป”
ชลิดากล่าวเสริมว่านอกจากที่ผู้ชมจะได้มาร่วมย้อนรำลึกถึงภาพยนตร์ในดวงใจอีกครั้ง ภาพยนตร์ทั้ง 19 เรื่องยังแสดงให้เห็นถึงเส้นทางของภาพยนตร์ไทยที่เปลี่ยนแปลงไปในแต่ละยุคสมัย
“เราคิดว่ามันเป็นเหมือนไทม์ไลน์ฉบับย่อของหนังไทย สมมติว่าเราเอามากางดูเฉพาะ 19 เรื่อง เราก็จะเห็นไทม์ไลน์แลนด์มาร์กของหนังไทยหลายๆ เรื่องที่ไปสร้างเกียรติประวัติในต่างประเทศ อย่าง สันติ-วีณา ก็ถือว่าเป็นหนังไทยเรื่องแรกที่ได้รับรางวัลในต่างประเทศที่ญี่ปุ่น ส่วน แพรดำ ก็เป็นหนังที่เคยไปฉายที่เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเบอร์ลินในช่วงปี 2504 แล้วก็ รัตน์ เปสตันยี ที่เป็นผู้กำกับก็ค่อนข้างมีวิสัยทัศน์ที่มองเห็นว่าภาพยนตร์เป็นซอฟต์เพาเวอร์ เป็นสื่อทางวัฒนธรรม แล้วเขาก็แอบน้อยใจว่าทำไมประเทศเราไม่ค่อยสนับสนุนภาพยนตร์ แต่ประเทศอื่นเขาเห็นว่าภาพยนตร์มันเป็นสิ่งที่จะส่งต่อหรือทำความเข้าใจ เพราะฉะนั้นเขาก็มองเห็นตั้งแต่ปี 2504 แล้ว มันก็มีข้อเขียนอะไรแบบนี้อยู่ด้วย
“ถัดมาก็จะเป็นยุคท่านมุ้ย (หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล) ที่เป็นยุคหนังเพื่อสังคมหลัง 14 ตุลา อย่างเช่น ทองพูน โคกโพ ราษฎรเต็มขั้น ก็เป็นแลนด์มาร์กเรื่องหนึ่ง ส่วน ข้างหลังภาพ ของคุณเปี๊ยก โปสเตอร์ เป็นหนังที่ประหลาดมาก มันพูดเป็นกวีเหมือนในหนังสือ มันแอ็กติ้งเหมือนละครในชีวิตจริง คือคุณเปี๊ยกเป็นคนที่ทำหนังที่ไม่ซ้ำเลย ถ้ามีโอกาสได้ดู คุณเปี๊ยกเป็นคนลองสิ่งใหม่ๆ ตลอดในแต่ละเรื่อง
“แล้วก็ถัดมาก็จะเป็นยุค 2000 ก็จะเป็นพวกหนังที่สำหรับเราเหมือนจะไม่เก่า แต่ว่าพวกคนที่เรารู้จักเขาอาจจะไม่ทันดู อย่างเช่น กาลครั้งหนึ่งเมื่อเช้านี้ ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่อาบัณฑิต (บัณฑิต ฤทธิ์ถกล) อยากทำ ทั้งๆ ที่รู้ว่ามีความเสี่ยงทางการตลาด เพราะมันเป็นหนังครอบครัว เป็นหนังเด็ก ซึ่งตอนนั้นตลาดมันไม่ได้มีที่ว่างสำหรับหนังแบบนี้ แต่หลังจากที่อาบัณฑิตประสบความสำเร็จจาก บุญชูผู้น่ารัก (2531) มากพอที่จะคุยกับนายทุนว่าขอทำหนังแบบนี้บ้าง แล้วมันก็เป็นหนังที่พิสูจน์ตัวเอง เพราะว่ามันสวยงามแล้วก็พูดเรื่องปัญหาครอบครัวที่มันกระทบกับเด็ก แล้วก็มองในมุมที่ละเอียดอ่อน
“พอหลังจากปี 2540 คนที่สร้างการเปลี่ยนแปลงก็คือพี่อุ๋ย (นนทรีย์ นิมิบุตร) อย่างเช่นเรื่อง นางนาก เรียกว่าดังในระดับเอเชีย คือเราคิดว่าพี่อุ๋ยหรือพี่ต้อม (เป็นเอก รัตนเรือง) เปลี่ยนทัศนคติของคนเกี่ยวกับหนังไทย เพราะว่าก่อนหน้านั้น ยุคที่เราโตมาคนก็จะคิดว่าหนังไทยมันก็จะตลกๆ หน่อย ผีก็ตลก แต่ว่าพอมาถึงยุคพี่อุ๋ย เขาทำให้คนเห็นว่าหนังไทยนี่โปรดักชันได้ มีเรื่องใหม่ๆ มีมุมมองใหม่ๆ เหมือนกัน”
นอกจากแคมเปญ #ฉายแล้ววันนี้ที่Netflixรามา ที่คัดสรร 19 ภาพยนตร์ไทยมาฉายอีกครั้ง Netflix ยังมีกิจกรรมต่างๆ ให้คอภาพยนตร์ไทยได้ติดตาม เช่น การตีพิมพ์โปสเตอร์ภาพยนตร์ไทยดีไซน์เฉพาะจาก Netflix ลงบนหนังสือพิมพ์ไทยฉบับพิเศษ, การจัดกิจกรรมแจกโปสเตอร์รวมภาพยนตร์ไทยรุ่นลิมิเต็ดเอดิชันผ่านเพจ Netflix Thailand ให้ผู้ชมได้เก็บไว้เป็นที่ระลึก, การขึ้นภาพ Key Visual รวมภาพยนตร์ไทยในตำนานบนบิลบอร์ดโรงภาพยนตร์สแตนด์อโลนทั่วไทยให้แฟนๆ ได้ไปถ่ายรูปเป็นที่ระลึก และการจัดรถแห่ทั่วประเทศ สร้างบรรยากาศการโปรโมตภาพยนตร์ไทยที่คนไทยต่างคุ้นเคย