ปลายปี 2021 เนสท์เล่ ประเทศไทย ในฐานะผู้ผลิตอาหารและเครื่องดื่มรายใหญ่ที่สุดของโลก ที่ดำเนินธุรกิจตามเจตนารมณ์ของบริษัทในการเปิดพลังแห่งอาหารเพื่อเพิ่มพูนคุณภาพชีวิตที่ดี เพื่อทุกคนในวันนี้และในอนาคต ประกาศแผนงานด้านความยั่งยืน ตั้งเป้าลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิให้เป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2050
ตลอดระยะเวลา 1 ปีหลังกางโรดแมปมุ่งเดินหน้าแผนงานด้านความยั่งยืน เนสท์เล่เร่งพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ ควบคู่ไปกับการต่อยอดโครงการเพื่อสิ่งแวดล้อมที่ทำมาตลอด วิคเตอร์ เซียห์ ประธานกรรมการและประธานคณะผู้บริหาร เนสท์เล่ อินโดไชน่า ชี้ให้เห็นถึงวิกฤตโลกรวนที่กำลังเกิดขึ้นว่า หากวันนี้ยังไม่ลงมือทำ อุณหภูมิของโลกจะเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ ภายในปี 2050 อุณหภูมิโลกอาจจะเพิ่มขึ้นถึง 5 องศาเซลเซียส
วิคเตอร์ เซียห์ ประธานกรรมการและประธานคณะผู้บริหาร เนสท์เล่ อินโดไชน่า
“เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ เพราะปรากฏการณ์ดังกล่าวอาจส่งผลให้โลกเข้าสู่ภาวะขาดแคลนอาหาร ทั้ง ข้าว ถั่วเหลือง จะหายไป 20% ทางสหประชาชาติก็ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ ทำอย่างไรถึงจะลดอุณหภูมิโลกลงไป 1.5% ให้ได้”
“เนสท์เล่ดำเนินธุรกิจอยู่ใน 200 ประเทศทั่วโลก นี่คือหน้าที่ของเราที่จะสร้างความแตกต่าง และสร้างความเปลี่ยนแปลง ด้วยขนาดธุรกิจของเนสท์เล่ เรามีโอกาสอันยิ่งใหญ่ที่จะแก้ปัญหานี้ เพื่อที่จะดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน เราไม่เพียงให้ความสำคัญกับการพัฒนานวัตกรรมอาหารและเครื่องดื่มที่มีคุณภาพสูง และโภชนาการเหมาะสม เพื่อสุขภาพที่ดีสำหรับผู้บริโภค แต่เรายังให้ความสำคัญกับกระบวนการผลิตและการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ที่ช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม เพราะจุดหมายของเราคือ การเพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดี สำหรับทุกคนในวันนี้และในอนาคต ไม่ใช่เฉพาะคนรุ่นเรา แต่ต้องส่งต่อไปถึงคนรุ่นหลัง” วิคเตอร์กล่าว
หนึ่งในการขับเคลื่อนให้ไปสู่เป้าหมายของเนสท์เล่คือ การเดินหน้าตามแผนงาน 4 มิติด้านความยั่งยืน (Sustainability Roadmap) ที่เคยประกาศไป วิคเตอร์ฉายภาพความคืบหน้าพร้อมเผยแผนงานที่จะทำต่อไปในอนาคตว่า
1. บรรจุภัณฑ์รักษ์โลก (Sustainable Packaging)
เพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายของเนสท์เล่ระดับโลก ในการเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์ให้สามารถนำไปรีไซเคิลได้ 100% และลดการใช้พลาสติกผลิตใหม่ลง 1 ใน 3 ภายในปี 2025 ปัจจุบัน เนสท์เล่ ประเทศไทย สามารถเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์ให้สามารถนำไปรีไซเคิลได้ถึง 93% แล้ว ด้วยการสร้างสรรค์นวัตกรรมบรรจุภัณฑ์ใหม่ๆ เช่น หลอดกระดาษ ซองไอศกรีมและบรรจุภัณฑ์ภายนอกแบบกระดาษ บรรจุภัณฑ์แบบ Monostructure ที่นำไปรีไซเคิลได้ เป็นต้น
2. การดูแลและจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน (Water Stewardship)
เนสท์เล่มุ่งดูแลและจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืนทั้งในโรงงานและชุมชนรอบข้าง ด้วยการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำในกระบวนการผลิตอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันโรงงานผลิตน้ำดื่มของเนสท์เล่ทั้ง 2 แห่ง คือโรงงานพระนครศรีอยุธยา และสุราษฎร์ธานี เป็นรายเดียวในประเทศไทยที่ได้การรับรองมาตรฐานการดูแล และจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืนระดับสากลจาก Alliance for Water Stewardship (AWS)
นอกจากนั้น ยังได้ริเริ่ม ‘โครงการเยาวชนพิทักษ์สายน้ำ’ จัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ให้ความรู้แก่ชุมชนและเยาวชนต่อเนื่องเป็นปีที่ 7 อีกทั้งยังได้ทดแทนทรัพยากรน้ำกลับคืนสู่ธรรมชาติและชุมชนรอบข้าง ในปริมาณเท่ากับที่บริษัทได้นำทรัพยากรน้ำไปใช้ในโรงงานทั้ง 2 แห่ง
3. การจัดหาวัตถุดิบอย่างยั่งยืน (Sustainable Sourcing)
ในประเทศไทย การจัดหาน้ำนมวัวและเมล็ดกาแฟทั้งสายพันธุ์โรบัสต้าและอาราบิก้าจากในประเทศได้ผ่านเกณฑ์มาตรฐานการจัดหาวัตถุดิบอย่างยั่งยืน 100% แล้ว ซึ่งสอดคล้องไปกับพันธกิจที่เนสท์เล่ให้ความสำคัญกับการจัดหาวัตถุดิบอย่างยั่งยืน เพื่อช่วยปกป้องและฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม
ทั้งนี้ ได้มีการจัดทำโครงการ ‘Nescafé Plan’ กระจายต้นกล้ากาแฟให้เกษตรกรในท้องถิ่นรวมกว่า 3.5 ล้านต้นนับตั้งแต่ปี 2006 อบรมให้กับเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟกว่า 2,000 คน สนับสนุนเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟกว่า 2,500 คน ให้ผ่านเกณฑ์การทำสวนกาแฟตามมาตรฐานสากล 4C (Common Code for Coffee Community) ตลอดจนสนับสนุนการทำเกษตรกรรมเชิงฟื้นฟู
4. ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Carbon Reduction)
การจะทำให้เกิด Net Zero จะต้องมีการลดคาร์บอนลงไปให้ได้มากยิ่งขึ้นจากเดิม ซึ่งทางเนสท์เล่ได้ตั้งเป้าหมายไว้ที่การลดคาร์บอนลง 20% ภายในปี 2025 และเพิ่มขึ้นเป็น 50% ภายในปี 2030 จึงได้ดำเนินตามแผนในการเปลี่ยนมาใช้ไฟฟ้าหมุนเวียนให้ได้ทั้งหมด 100% ภายในปี 2025 ซึ่งในขณะนี้ โรงงานของเรา 5 แห่งจากทั้งหมด 7 แห่งในประเทศไทยกำลังอยู่ระหว่างการเปลี่ยนผ่านมาสู่การใช้พลังงานหมุนเวียน ควบคู่ไปกับการเปลี่ยนไปใช้ยานพาหนะที่ใช้พลังงานไฟฟ้า และการใช้เครื่องทำความเย็นที่ประหยัดพลังงานและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
จับตาความท้าทายครั้งใหญ่ เดินหน้านวัตกรรม มุ่งสร้างการเปลี่ยนแปลงร่วมกับทุกภาคส่วน
แต่การจะไปสู่ Net Zero สำหรับเนสท์เล่ก็ยังมีความท้าทาย วิคเตอร์เผยว่า ความท้าทายในวันนี้คือเรื่องของต้นทุนและเทคโนโลยีในการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ให้เกิดขึ้น เช่น การคิดค้นและริเริ่มใช้บรรจุภัณฑ์รักษ์โลกต่างๆ รวมถึงพฤติกรรมของผู้บริโภคจะปรับเปลี่ยน Mindset ในการร่วมมือกัน และมีการจัดการขยะให้มีประสิทธิภาพอย่างไร
และที่ลืมไม่ได้เลยคือ ระบบพื้นฐานของประเทศในการจัดการขยะ เนสท์เล่พยายามทำให้แพ็กเกจจิ้งสามารถนำไปรีไซเคิลได้ เพื่อเกิดการนำวัสดุมาหมุนเวียนใช้ แต่เนสท์เล่ไม่สามารถทำสิ่งนี้เพียงลำพังได้ เราต้องการความร่วมมือจากทั้งผู้บริโภคในการให้ความสำคัญกับการดูแลสิ่งแวดล้อมและลงมือทำอย่างจริงจัง และทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในการสร้างโครงสร้างพื้นฐานในการรีไซเคิลและจัดการขยะที่มีประสิทธิภาพ เพื่อมาสนับสนุนให้ขยะบรรจุภัณฑ์ได้รับการรีไซเคิลอย่างแท้จริง
วิคเตอร์ยังกล่าวต่อว่า ช่วง 2 ปีที่ผ่านมาเนสท์เล่ได้พยายามจุดประกายความคิด และสร้างแรงบันดาลใจในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม รวมทั้งให้ความรู้กับผู้บริโภคผ่านแคมเปญ ‘เล็กน้อยเปลี่ยนโลกได้’ ที่สื่อสารไปยังผู้คนให้ตระหนักว่า สิ่งเล็กๆ ที่ทุกคนทำสามารถเปลี่ยนแปลงโลกได้
“เราพยายามสื่อสารให้ผู้คนตระหนักถึงเรื่องความยั่งยืน เราไปให้ความรู้ในโรงเรียนว่าจะรีไซเคิลอะไรได้บ้าง เราแบ่งปันแนวคิดกับคนในชุมชน และยังมีผู้ที่เกี่ยวข้องอื่นๆ และพาร์ตเนอร์อย่าง WWF ที่พยายามสร้างให้เกิดเป็น Circular Economy เพื่อให้คนที่อยู่ในชุมชนได้มีการจัดการขยะอย่างเหมาะสม รวมทั้งเราได้ทำงานอย่างใกล้ชิดกับเกษตรกรเพื่อสนับสนุนการเกษตรแบบฟื้นฟู
“วันนี้ผมอยากจะเชิญชวนทุกคนร่วมปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในชีวิตประจำวันในแบบที่ยั่งยืนด้วยกัน ย้อนกลับไป 2 ปีก่อน เนสท์เล่เป็นบริษัทแรกที่เริ่มใช้หลอดกระดาษ และเราได้มีการพัฒนาและปรับปรุงคุณภาพของหลอดกระดาษมาอย่างต่อเนื่อง ผ่านการทำงานอย่างใกล้ชิดกับซัพพลายเออร์ เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีให้ดีขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้นจะเห็นได้ว่า เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องที่เราทำคนเดียว แต่มันจะเกิดขึ้นได้จากการทำงานร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นฝั่งภาครัฐหรือเอกชน หากทำงานร่วมกัน เราจะมุ่งสู่เป้าหมาย Net Zero ได้อย่างแน่นอน” วิคเตอร์กล่าวทิ้งท้าย