สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กังวลเศรษฐกิจโลกชะลอตัวอาจจำกัดการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย หั่นคาดการณ์ GDP ปีนี้จาก 3.5-4.5% เหลือ 2.5-3.5% พร้อมแนะ 7 แนวทางบริหารเศรษฐกิจเพื่อฝ่าวิกฤต
ดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวว่า สศช. ได้ปรับสมมติฐานประมาณการเศรษฐกิจในปี 2565 ใหม่ โดยคาดว่าสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน การดำเนินนโยบายโควิดเป็นศูนย์ (Zero-COVID) ของจีน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อราคาวัตถุดิบการผลิตและห่วงโซ่อุปทานโลก รวมถึงการปรับขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ อาจทำให้ภาพรวม GDP โลกในปีนี้ขยายตัวได้ 3.5% จากเดิมที่เคยมองว่าจะเติบโตได้ 4.5%
โดยในประมาณการล่าสุด สศช. มองว่า GDP สหรัฐฯ ยูโรโซน ญี่ปุ่น และจีน ในปีนี้จะขยายตัวได้ 3.6%, 2.8%, 2.2% และ 4.3% ลดลงจากคาดการณ์เดิมในเดือนกุมภาพันธ์ที่ 4%, 3.9%, 2.8% และ 5% ตามลำดับ ทำให้ประมาณการค้าโลกปรับลดลงจาก 6% มาอยู่ที่ 4.7%
“สถานการณ์เศรษฐกิจโลกขณะนี้ไม่ปกติ และคาดการณ์ล่วงหน้าได้ค่อนข้างยาก ซึ่งเรื่องนี้จะส่งผลกับทุกประเทศรวมถึงไทย ภายใต้ภาวะเช่นนี้ผมอยากขอให้คนไทยทุกคนช่วยกันทำให้ประเทศก้าวไปข้างหน้า ฝ่าวิกฤตไปด้วยกัน เรื่องนี้แน่นอนว่าภาครัฐต้องช่วยเหลือประชาชน แต่ก็ต้องเป็นการช่วยเหลือที่พุ่งเป้าเพราะทรัพยากรเรามีจำกัด ในภาวะแบบนี้พี่น้องประชาชนจะช่วยได้มากในการใช้จ่ายในสิ่งที่จำเป็น และหากเป็นไปได้อยากให้เลือกท่องเที่ยวในไทยก่อนที่จะไปเที่ยวต่างประเทศ”
นอกจากนี้ สศช. ยังได้ปรับตัวเลขคาดการณ์อัตราแลกเปลี่ยนในปีนี้จากเดิมที่ 32.2-33.2 บาทต่อดอลลาร์ เป็น 33.3-34.3 บาทต่อดอลลาร์ และปรับคาดการณ์ราคาน้ำมันดิบดูไบเพิ่มจาก 72-82 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เป็น 95-105 ต่อบาร์เรล
“ปัจจัยเสี่ยงที่เราให้น้ำหนักค่อนข้างมากในครั้งนี้คือความยืดเยื้อของปัญหาระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อราคาพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์ อีกหนึ่งปัจจัยสำคัญคือแนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนจากนโยบายควบคุมโควิดที่จะส่งผลต่อห่วงโซ่อุปทานโลก ล่าสุดปัญหาได้เริ่มสะท้อนออกมาผ่านระยะเวลาการส่งมอบชิปสำหรับผลิตรถยนต์ที่เพิ่มขึ้นเป็น 26.6 สัปดาห์” ดนุชากล่าว
เลขาฯ สศช. กล่าวอีกว่า นอกจากความเสี่ยงจากปัจจัยภายนอกแล้ว เศรษฐกิจไทยในปีนี้ยังต้องเผชิญกับความเสี่ยงจากปัจจัยภายใน คือภาระหนี้สินของภาคเอกชนและภาคครัวเรือนที่จะจำกัดการฟื้นตัวของอุปสงค์ภายในประเทศ
ดนุชาระบุว่า เพื่อให้สมมติฐานประมาณการเศรษฐกิจสะท้อนกับภาพความเสี่ยงที่เปลี่ยนไป สศช. จึงได้ปรับลดประมาณการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ลงจาก 3.5-4.5% มาอยู่ที่ 2.5-3.5% และปรับเพิ่มคาดการณ์เงินเฟ้อจาก 1.5-2.5% เป็น 4.2-5.2% แม้ว่าล่าสุด GDP ในไตรมาสแรกของไทยจะขยายตัว 2.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) และขยายตัวได้ 1.1% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า
พร้อมกันนี้ สศช. ยังได้เสนอ 7 ประเด็นการบริหารนโยบายเศรษฐกิจมหภาคในปี 2565 ที่ไทยควรให้ความสำคัญ ดังนี้
- รักษาแรงขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจจากการใช้จ่ายของภาคครัวเรือน โดยติดตาม เฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมการระบาดของโควิด, ดูแลและแก้ไขปัญหาหนี้สินของครัวเรือน, ดูแลกลไกตลาดเพื่อให้ราคาสินค้าเคลื่อนไหวสอดคล้องกับต้นทุนการผลิต และดูแลกลุ่มที่มีความเปราะบางต่อการปรับตัวเพิ่มขึ้นของราคาสินค้า
- สนับสนุนการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวและบริการเกี่ยวเนื่อง โดยส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศ จัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวที่มีศักยภาพและมีกําลังซื้อสูง พิจารณามาตรการสินเชื่อและมาตรการอื่นๆ เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการให้สามารถกลับมาประกอบธุรกิจ, ยกระดับศักยภาพ และฟื้นฟูภาคการท่องเที่ยวให้มีคุณภาพและยั่งยืน
- รักษาแรงขับเคลื่อนจากการส่งออกสินค้า โดยขับเคลื่อนการส่งออกสินค้าสําคัญไปยังตลาดหลัก และการสร้างตลาดใหม่ให้กับสินค้าที่มีศักยภาพ โดยเฉพาะกลุ่มประเทศที่ได้รับประโยชน์จากการเพิ่มขึ้นของราคาพลังงาน, การพัฒนาสินค้าส่งออกให้มีคุณภาพและมาตรฐาน, การใช้ประโยชน์จากกรอบความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ควบคู่ไปกับเร่งรัดการเจรจาความตกลงการค้าเสรีที่กําลังอยู่ในขั้นตอนของการเจรจา เตรียมศึกษาเพื่อเจรจากับประเทศคู่ค้าสําคัญใหม่ๆ และการปกป้องความเสี่ยงจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนและการเพิ่มขึ้นของต้นทุนการผลิต
- ส่งเสริมการลงทุนภาคเอกชน โดยเร่งรัดให้ผู้ประกอบการที่ได้รับอนุมัติและออกบัตรส่งเสริมการลงทุนให้เกิดการลงทุนจริง, แก้ไขปัญหาที่เป็นอุปสรรคต่อการลงทุนและการประกอบธุรกิจ, ดําเนินมาตรการส่งเสริมการลงทุนเชิงรุก, ส่งเสริมการลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษต่างๆ, ลงทุนพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจและโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งที่สําคัญ และพัฒนากําลังแรงงานทักษะสูงเพื่อรองรับกับอุตสาหกรรมที่เน้นเทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้มข้น
- ขับเคลื่อนการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ โดยเร่งเบิกจ่ายงบประมาณและลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ
- การดูแลการผลิตภาคเกษตรและรายได้เกษตรกร โดยบริหารจัดการน้ำอย่างเหมาะสมเพื่อเตรียมการรองรับฤดูกาลเพาะปลูก และบรรเทาผลกระทบจากปัญหาต้นทุนวัตถุดิบทางการเกษตรเพิ่มขึ้น
- ติดตามเฝ้าระวัง เตรียมมาตรการรองรับความผันผวนของเศรษฐกิจและการเงินโลก
ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH
- Twitter: twitter.com/standard_wealth
- Instagram: instagram.com/thestandardwealth
- Official Line คลิก https://lin.ee/xfPbXUP