สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ เปิดเผยภาวะสังคมไตรมาส 1/2563 ว่าประเทศไทยมีแรงงาน 37.4 ล้านคน ลดลง 0.7% จากปีก่อน โดยไตรมาสนี้โควิด-19 ยังไม่แสดงผลกระทบมากนัก เห็นได้จากสถานประกอบการขอใช้มาตรา 75 เพื่อหยุดกิจการชั่วคราว 570 แห่ง โดยมีแรงงานต้องหยุดงานแต่ยังได้เงินเดือนราว 1.2 แสนคน คาดว่าไตรมาส 2 จะมีเพิ่มขึ้น ขณะที่อัตราการว่างงานอยู่ที่ 3.9 แสนคน คิดเป็นอัตราการว่างงาน 1.03% เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่อยู่ 0.92%
ทั้งนี้ จากผลกระทบการแพร่ระบาดของโควิด-19 คาดว่าจะเพิ่มความเสี่ยงการถูกเลิกจ้างในไทยราว 8.4 ล้านคน โดยอาจจะเห็นการเคลื่อนย้ายแรงงาน เช่น ย้ายสาขา ย้ายงาน ฯลฯ โดยกลุ่มที่เสี่ยงเลิกจ้างแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม
- ภาคการท่องเที่ยว คาดว่าจะได้รับผลกระทบ 2.5 ล้านคน จากแรงงานรวมที่มีอยู่ 3.9 ล้านคน
- ภาคอุตสาหกรรม คาดว่าจะได้รับผลกระทบ 1.5 ล้านคน จากแรงงานทั้งหมด 5.9 ล้านคน
- ภาคบริการอื่นที่ไม่ใช้ท่องเที่ยว เช่น สถานศึกษา โรงเรียนกวดวิชา ตลาดสด ห้าง คาดว่าได้รับผลกระทบ 4.8 ล้านคน จากแรงงานทั้งหมด 10.3 ล้านคน
ในส่วนภาคเกษตร คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากภัยแล้งรวม 6 ล้านคน แบ่งเป็นในพื้นที่ที่เกิดภัยแล้ง 3.9 ล้านคน และพื้นที่อื่นๆ 2.1 ล้านคน
อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้ทางภาครัฐจะเบิกใช้เงินกู้จากพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 (พ.ร.ก. กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท) ส่วนหนึ่งในวงเงิน 4 แสนล้านบาทจะนำมาเพิ่มการจ้างงาน โดยคาดว่าจะสามารถเพิ่มงานได้ราว 2-3 แสนงาน อาจจะเป็นการจ้างงานชั่วคราว (Part-time)
ดังนั้นทั้งปี 2563 คาดว่าเมื่อการแพร่ระบาดของโควิด-19 คลี่คลายลงจะส่งผลให้การจ้างงานกลับมา และทำให้ภาพรวมทั้งปี 2563 มีการเลิกจ้างรวม 2 ล้านคน คิดเป็น 3-4% ของการจ้างงงานในไทยทั้งหมด ซึ่งถือว่ามากกว่าค่าเฉลี่ยการเลิกจ้างเดิมที่อยู่ราว 3-4 แสนคนต่อปี หรือราว 1% อย่างไรก็ตาม มองว่าการเลิกจ้างราว 2 ล้านคนถือว่าใกล้เคียงกับช่วงวิกฤตปี 2540
อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ที่ต้องจับตามองคือกลุ่มเด็กจบการศึกษาใหม่ในปีนี้ราว 5.2 แสนคนอาจจะไม่มีตำแหน่งรองรับได้ทั้งหมด จึงต้องมีมาตรการสร้างงานและจ้างงาน โดยมองว่าเป็นกลุ่มที่มีโอกาสหางาน เพราะมีทักษะด้านดิจิทัล ซึ่งอาจจะทำงานในพื้นที่ต่างๆ เช่น การเก็บข้อมูลด้านดิจิทัล ฯลฯ แต่โครงการจากเงินกู้ก็ไม่สามารถจ้างงานได้ทั้งหมด
ด้านหนี้ครัวเรือน ไตรมาสนี้อยู่ที่ 13.47 ล้านล้านบาท เติบโต 5% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน อัตราหนี้สินต่อครัวเรือนต่อ GDP อยู่ที่ 79.8% มีหนี้เสีย (NPL) มูลค่า 1.5 แสนล้านบาท คิดเป็น 3.23% ต่อสินเชื่อรวม เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยการขอสินเชื่อรถยนต์และสินเชื่อที่อยู่อาศัยลดลง แต่สินเชื่อส่วนบุคคลที่ขอกู้เพื่อชดเชยรายได้ที่หายไปมีมากขึ้น
ไตรมาส 1/2563 พบว่าจำนวนเด็กที่หลุดออกนอกระบบการศึกษาอยู่ที่ระดับ 6.7 แสนคน ส่วนหนึ่งเกิดจากความยากจนและเกิดจากปัญหาภายในครอบครัว เช่น จำเป็นต้องดูแลคนป่วยที่อยู่บ้าน ซึ่งการหลุดออกนอกระบบการศึกษาสะท้อนความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย โดยเฉพาะในกลุ่มครัวเรือนที่ยากจนที่สุด 10% ปัญหานี้จะส่งผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจไทยในอนาคต เพราะทำให้ทุนของประเทศลดลง
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันเยาวชนไทยที่อายุ 15-24 ปี ซึ่งไม่ได้เรียนต่อ หรือไม่มีงานทำ หรือจัดเป็นกลุ่มที่ไม่อยู่ในกิจกรรมสะสมทุนมนุษย์มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ปัจจุบันอยู่ราว 1.2 ล้านคน
ขณะที่ ‘คนจน’ ณ ปี 2561 มีจำนวน 6.7 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วนคนจนอยู่ที่ 9.8% จากประชากรไทยทั้งหมด ทั้งนี้นิยามของสภาพัฒน์คือมีการใช้จ่ายต่ำกว่าเส้นความยากจน โดย ณ ปี 2561 อยู่ที่ 2,700 บาท
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์
ห้ามพลาด! ฟอรัมที่เจาะลึก New Normal ที่ใหญ่ที่สุดในเมืองไทย จากวิทยากรระดับประเทศ 40 คน ซื้อบัตรงาน THE STANDARD ECONOMIC FORUM ที่ https://www.eventpop.me/e/8705-economic-forum