×

สภาพัฒน์ รับสภาพวัคซีนกระจายช้า หั่นคาดการณ์ GDP ปี ‘64 เหลือ 2.5-3.5% นักท่องเที่ยวต่างชาติเหลือ 3.2 ล้านคน

15.02.2021
  • LOADING...
สภาพัฒน์ รับสภาพวัคซีนกระจายช้า หั่นคาดการณ์ GDP ปี ‘64 เหลือ 2.5-3.5% นักท่องเที่ยวต่างชาติเหลือ 3.2 ล้านคน

ดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒน์กล่าวว่า สภาพัฒน์ปรับลดประมาณการณ์เศรษฐกิจไทยปี 2564 โดยพิจารณาจากการกระจายวัคซีนของไทย การระบาดระลอกใหม่ และสถานการณ์ในไตรมาส 1/64 โดยคาดการณ์เศรษฐกิจไทยปี 2564 จะเติบโตเพียง 2.5-3.5% ลดลงจากคาดการณ์ครั้งก่อนหน้า (ไตรมาส 3/63) ที่คาดว่า GDP จะอยู่ที่ 3.5-4.5% 

 

ทั้งนี้ ยังปรับลดจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติปี 2564 ลดลงเหลือ 3.2 ล้านคน จากการคาดการณ์ก่อนหน้าที่อยู่ 5 ล้านคน (ซึ่งลดลงจากปี 2562 ที่อยู่ราว 40 ล้านคน) แต่คาดว่าการส่งออกจะขยายตัว 5.8% จากเดิมที่คาดการณ์ไว้ที่ 4.2% โดยการนำเข้าจะขยายตัว 6.5% จากเดิมคาด 5.2% ซึ่งเงินเฟ้อทั่วไปคาดว่าจะอยู่ในกรอบ 1-2% จากกรอบเดิมที่ 0.7-1.7%

 

แม้ว่าเศรษฐกิจไทยปี 2564 อาจโตน้อยลง แต่สภาพัฒน์ปรับคาดการณ์เศรษฐกิจโลกปีนี้จะขยายตัวขึ้น โดยคาดว่าจะขยายตัว 5.2% เพิ่มขึ้นจากคาดการณ์เดิมที่อยู่ราว 4.9% โดยปริมาณการค้าโลกจะเพิ่มขึ้นเป็น 7.7%  ซึ่งคาดว่าปีนี้ราคาน้ำมันดิบจะอยู่ที่ 48-58 ดอลลาร์สหรัฐออนซ์

 

“ปีนี้ GDP ที่ 3% ยังถือว่าไม่ได้กลับสู่ศักยภาพของไทยเต็มที่ เพราะเรายังมีความเสี่ยงเยอะ ซึ่งการเติบโตปีนี้ยังอยู่บนฐานที่มีความเสี่ยงการระบาด และผลกระทบในไตรมาส 1/64 ด้วย”

 

อย่างไรก็ตามความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทยปี 2564 ที่ต้องพึ่งพิงเศรษฐกิจในประเทศ ได้แก่  

  • การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ และความล่าช้าการกระจายวัคซีน
  • ติดตามประสิทธิภาพในการกระจายวัคซีนอย่างใกล้ชิด ทั้งการแย่งฉีดวัคซีนในต่างประเทศ และต้องดูแผนการกระจายวัคซีนในไทย โดยเฉพาะมิติเศรษฐกิจเพื่อสร้างความเชื่อมั่นในนักท่องเที่ยวต่างชาติกลับเข้ามา (หากวัคซีนกระจายในประเทศช้า) จะส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว
  • ภัยแล้ง โดยปีนี้พบว่าปริมาณน้ำในเขื่อนน้อยกว่าช่วงสิบปีที่ผ่านมา จึงต้องบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมถึงและการวางแผนเพาะปลูกชัดเจน 
  • ผลกระทบต่อหนี้ครัวเรือน ภาคธุรกิจ และแรงงาน โดยภาคธุรกิจยังมีข้อจำกัดการฟื้นตัวเรื่องสภาพคล่อง ขณะที่หนี้ครัวเรือนสร้างข้อจำกัดเรื่องการจับจ่ายใช้สอยของประชาชน ส่วนด้านแรงงานที่โดนลดชั่วโมงการทำงานลง ทางสภาพัฒน์ กระทรวงการคลัง และกระทรวงแรงงงานอยู่ระหว่างการหารือเพื่อออกมาตรการรักษาการจ้างงานเพิ่มเติม
  • ความผันผวนของเศรษฐกิจและการเงินโลกจากการเปลี่ยนแปลงนโยบายของเศรษฐกิจประเทศ และความไม่แน่นอนจากการระบาด โดยต้องติดตามเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในประเทศต่างๆ แม้จะมีวัคซีนแล้ว  
  • ความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาตร์และการเมืองที่กระทบเศรษฐกิจ ในส่วนของไทยพบว่า การเมืองในประเทศยังไม่ได้ส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจมาก แต่ส่วนหนึ่งจะกระทบต่อความเชื่อมั่นนักลงทุนจากต่างประเทศ  

 

อย่างไรก็ตามปีนี้เศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวในช่วงครึ่งปีหลัง ส่วนหนึ่งมาจากการเบิกจ่ายของภาครัฐ ทั้งงบประมาณปี 2564 คาดว่าจะเบิกจ่ายได้ 93.5% แม้ว่าไตรมาส 4/63 จะเบิกจ่ายไม่ถึงเป้าหมาย ส่วนเงินกู้ 1 ล้านล้านบาท คาดว่าจะเบิกจ่ายได้ 80% 

 

นอกจากนี้มองว่าการบริหารเศรษฐกิจมหภาคปี 2564 มี 9 เรื่องที่ควรให้ความสำคัญ เช่น การควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 ในประเทศ และโดยสภาพัฒน์มีข้อเสนอแผนการกระจายวัคซีนที่ต้องมองถึงมุมเศรษฐกิจ การรักษาบรรยากาศการเมืองในประเทศปี 2564 การดูแลภาคเศรษฐกิจที่มีข้อจำกัดในการฟื้นตัว เช่น ภาคการท่องเที่ยว เน้นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจจากปัจจัยในประเทศ ทั้งการเบิกจ่ายภาครัฐ การรณรงค์คนไทยท่องเที่ยวในประเทศมากขึ้น สนับสนุนใช้สินค้าไทยมากขึ้น การเตรียมความพร้อมเพื่อเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ดันการลงทุนเอกชน 

รวมถึงมาตรการรับมือกับภัยแล้ง และดูแลรายได้เกษตรกร 

 

ทั้งนี้ เศรษฐกิจไทยไตรมาส 4/63 ติดลบ 4.2% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และติดลบ 6.4% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า ส่วนหนึ่งได้รับผลกระทบจากการระบาดระลอกใหม่ของโควิด-19 

 

“เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 4/63 ติดลบ 6.4% จากไตรมาสก่อนหน้า แต่มองว่าการบริโภคภาคเอกชน ปรับตัวดีขึ้นที่ 0.9% จากไตรมาส 2 และ 3 ที่ติดลบ ส่วนหนึ่งเพราะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ”

 

ขณะที่ทั้งปี 2563 การขยายตัวเศรษฐกิจไทย (GDP) ติดลบ 6.1% เมื่อเทียบกับปี 2562 (ที่เติบโต 2.3%) ถือว่าต่ำสุดในรอบ 22 ปี โดยเครื่องชี้ทางเศรษฐกิจปีที่ผ่านมาติดลบทั้งหมด ได้แก่ การส่งออกไทยติดลบ 6.6% ถือว่าติดลบต่อเนื่องจากปี 2562 ที่ติดลบ 3.3% โดยการนำเข้าสินค้าปี 2563 ติดลบ 13.5% 

 

ด้านการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน ติดลบ 1% และการลงทุนรวม ติดลบ 4.8% แบ่งเป็นการลงทุนภาคเอกชนติดลบ 8.4% และการลงทุนภาครัฐที่ยังเติบโต 5.7% โดยมีเพียงการอุปโภคภาครัฐที่ยังขยายตัว 0.8% 

 

นอกจากนี้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยติดลบอยู่ที่ 0.8% โดยดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 3.3% ของ GDP (จากปี 2562 ที่เฉลี่ย 7%)

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising