การพัฒนาเศรษฐกิจและประเทศจะขาดโครงสร้างพื้นฐานไปไม่ได้ โดยเฉพาะยุคที่โครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลต้องเร่งรัดให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของโลก ล่าสุดธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่พัฒนาเรื่อง NDID หรือ National Digital ID ในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมาและเริ่มใช้แล้วในปีนี้
แต่เรื่อง NDID นี้เริ่มใช้ทันเวลากับโลกที่เปลี่ยนไปหรือไม่?
NDID เวิร์กกับใคร และกำลังสร้างการผูกขาดอำนาจทางดิจิทัลหรือไม่
NDID เป็นระบบที่จะช่วยให้การระบุยืนยันตัวตนบนโลกดิจิทัลง่ายขึ้น ยกตัวอย่างง่ายๆ คือ เป็นระบบท่อที่จะเชื่อมโยงฐานข้อมูลเพื่อให้เจ้าของข้อมูล (ประชาชน) สามารถเลือกว่าจะส่งต่อข้อมูลนี้ให้ผู้ให้บริการเจ้าอื่นๆ ได้ เช่น เจ้าของข้อมูลเคยระบุตัวตนผ่านการถ่ายภาพ (เช่น ถ่ายภาพหน้า 6 ด้าน) สแกนลายนิ้วมือกับธนาคาร A ก็สามารถเปิดบัญชีออนไลน์ที่ธนาคาร B ได้เลย
แน่นอนว่าการที่ประชาชนมีทางเลือกและใช้สิทธิในข้อมูลของตนเองได้ จะกลายเป็นการต่อยอดด้านดิจิทัลที่ช่วยให้คนเข้าถึงบริการทางการเงินและบริการอื่นๆ ได้อีกนับไม่ถ้วน
สิริธิดา พนมวัน ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายระบบการชำระเงินและเทคโนโลยีทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เล่าว่า เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2563 เริ่มเปิดให้ใช้ NDID เพื่อการเปิดบัญชีธนาคารได้แล้ว และล่าสุดขยายขอบเขตจากการใช้ NDID ในภาคธนาคารไปสู่ธุรกิจหลักทรัพย์ โดยขยายให้บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) บลจ. ประกันภัย และบริษัทสินเชื่อ โดยมีผู้เข้าร่วมทดสอบ 17 ราย แต่ยังมี 5 ธนาคารเป็นธนาคารผู้ให้ข้อมูล (BBL, BAY, SCB, TMB, KBank)
“ตอนนี้อยู่ระหว่างการพูดคุยกับหลายหน่วยงานที่จะเข้ามาทดสอบ NDID รวมถึงธนาคารของรัฐ (SFIs) ด้วย หลักการที่ชัดเจนคือการ KYC ผ่าน NDID ต้องน่าเชื่อถือเหมือนกับสาขา”
อย่างไรก็ตาม ตัวโครงการยังอยู่ระหว่างการทดสอบ Sandbox ของ ธปท. และต้องยอมรับว่าต้นทางที่จะให้ข้อมูลยิ่งมีบทบาทต่อระบบนี้มากขึ้นเรื่อยๆ เห็นได้ชัดจากเฟสการขยายการทดสอบมีต้นตอผู้ให้บริการข้อมูลเพียง 5 ธนาคาร เรื่องนี้จะกลายเป็นการผูกขาดอำนาจทางดิจิทัลและลดการแข่งขันในตลาดที่ควรเกิดขึ้นหรือไม่
ต้นทุน NDID และธุรกิจ Non-Bank อาจต้องจ่ายต้นทุนสูงกว่า
ที่จริงแล้วโครงการ Digital ID ไม่ได้เกิดขึ้นใน 1-2 ปีนี้ แต่มีแผนมานานแล้ว เบื้องต้นคือช่วง 5-6 ปีก่อน และเลื่อนการเปิดตัวโครงการมาหลายครั้ง โดยในวงการมีพูดถึงปัจจัยที่ทำให้ NDID ไม่สามารถออกสู่ตลาดได้เร็วนักมาจาก ขั้นตอนการตกลงค่าธรรมเนียมการใช้บริการ
ส่วนหนึ่งต้องยอมรับว่าปัจจุบัน 5 ธนาคารใหญ่ของไทยมีฐานลูกค้าบัญชีรวมแล้วคิดเป็น 80-90% ของตลาด ดังนั้นหากผู้ให้บริการอื่นๆ โดยเฉพาะเจ้าเล็ก มีลูกค้าที่ต้องการใช้ข้อมูลอาจมีต้นทุนที่สูงขึ้นจากค่าธรรมเนียมส่วนนี้ รวมถึงกรณีที่ ธปท. กำหนดให้ Non-Bank ต้องใช้บริการผ่านตัวกลางที่เชื่อมกับ NDID อีกที ทำให้ต้องเสียค่าธรรมเนียมซ้ำซ้อน
ในกรณีนี้ ธปท. ตอบคำถามเราว่า ปัจจุบันโครงสร้างของ NDID กำหนดมาตรฐานของผู้ให้บริการที่สามารถให้ข้อมูลได้ และยังปัจจุบันยังมีแต่ธนาคารที่มีข้อมูล และมีมาตรฐานของข้อมูลครบตามที่กำหนดไว้ ดังนั้นหากมีผู้ให้บริการที่มีมาตรฐานตามที่กำหนด (มาตรฐาน IAL หรือความเข้มงวดในการระบุตัวตน) จะสามารถเป็น IDP ได้ แต่ปัจจุบันยังมีการทดสอบ IDP ในกลุ่มธนาคารเท่านั้น
แซม ตันสกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท กรุงศรี ฟินโนเวต จำกัด เล่าว่า ตามมาตรฐานของ NDID ธปท. จะแบ่งผู้ที่อยู่ในระบบ NDID ได้แก่
- IDP ผู้ให้บริการที่เป็นต้นทางในการให้ข้อมูล โดยจะต้องมีมาตรฐาน IAL 2.3 ซึ่งจะมีการเก็บข้อมูลภาพ และสามารถเปรียบเทียบใบหน้าได้ ฯลฯ
ตัวอย่างผู้ให้บริการ – ธนาคารที่เข้าร่วมโครงการ 5 แห่ง - AS ตัวกลางที่เชื่อมต่อกับระบบ NDID จะต้องมีมาตรฐาน IAL 2.1 ซึ่งจะมีข้อมูลชุดที่มาจากเสียบบัตรประชาชน ถ่ายรูป (มาตรฐานเดียวกับ บล. บลจ.)
ตัวอย่างผู้ให้บริการ – ตลท. (SET) ซึ่งจะทำ NDID Proxy เป็นตัวกลางให้บริษัทอื่นๆ ที่ยังไม่มีความพร้อมในการเข้าใช้งาน NDID สามารถเชื่อมผ่านตัวกลางที่ทำมาตรฐานไว้ - RP ผู้ขอใช้ข้อมูล ซึ่งการอยู่ในระบบ NDID เพื่อขอใช้ข้อมูล
ตัวอย่างผู้ให้บริการ – บริษัทสินเชื่อ Non-Bank
อย่างไรก็ตาม ต้องติดตามว่าระบบ NDID จะสามารถเป็นระบบกลางให้ผู้บริการทุกกลุ่มสามารถเข้าถึงได้อย่างมีมาตรฐานได้อย่างไร เพราะหากผู้ให้บริการบางส่วนอาจต้องใช้ตัวกลางเพื่อเข้าสู่ระบบ NDID อาจทำให้ต้นทุนสูงขึ้นและกระทบความสามารถในการแข่งขันลดลง
ทำไม NDID ต้องไม่มีแค่ที่เดียว แล้วต่างประเทศเป็นแบบไหน?
แซมยังเล่าว่า เรื่อง Digital ID เกิดขึ้นแล้วในหลายประเทศ แต่ใช้ชื่อไม่เหมือนกัน รวมถึงมาตรฐานต่างๆ ก็แตกต่างกัน เช่น อินโดนีเซีย ที่มีภูมิประเทศแบบเกาะ ทำให้การระบุตัวตนในรูปแบบดิจิทัลมีความจำเป็นมาก โดยมาตรฐานในการระบุตัวตนจะต่ำกว่าของไทยที่มีขั้นต่ำคือ IAL 2.3
ข้อดีคือ ในอินโดนีเซียการระบุตัวตนผ่านช่องทางดิจิทัลถือว่าแพร่หลายมาก เพราะเปิดกว้างในหลายรูปแบบ ทำให้ Startup หรือ Fintech มีโอกาสในการเติบโตสูงขึ้นไปด้วย แต่ขณะเดียวกันความเสี่ยงฉ้อโกง (Fraud) ยังสูงขึ้นตามความเสี่ยง แต่มิติด้านการแข่งขันด้านดิจิทัลควรเกิดขึ้นเพื่อให้เกิดผลประโยชน์สูงสุดต่อผู้บริโภค ดังนั้นการมีคู่แข่งทางการค้าจะเร่งให้ผู้ให้บริการต้องปรับตัว
ศักดิ์ เสกขุนทด ที่ปรึกษาสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ ETDA เล่าว่า ต่อไป NDID อาจไม่ได้มีบริษัทเดียวก็ได้ เพราะอาจปรับใช้ในหลายธุรกิจ Digital ID กับข้อมูลด้านสุขภาพ ที่จะช่วยให้การเข้าถึงบริการทางการแพทย์ดียิ่งขึ้น
ทั้งนี้ความยากของ ETDA คือการสร้างสมดุลทั้งการใช้ข้อมูลที่ง่ายขึ้น นวัตกรรมใหม่ๆ และการคุ้มครองผู้ใช้งาน ดังนั้นบทบาทของการกำกับที่ดีคือต้องสร้างการแข่งขันให้เกิดขึ้นในตลาด
นอกจากนี้ ยศ กิมสวัสดิ์ ประธานสำนักงานระบบชำระเงิน สมาคมธนาคารไทย ยังบอกว่า ตอนนี้การทดสอบใช้ NDID ในระบบจำกัดก็เพื่อให้พนักงานสาขาทำความเข้าใจระบบและสามารถตอบคำถามประชาชนให้ถูกต้อง โดย 1 ปีที่ผ่านมามีการขยายไปหลายอุตสาหกรรม การอยู่ใน Sandbox จะทำให้คนเตรียมพร้อมภายใน และภาคธนาคารจะมีการคิดระบบนี้ที่จะเชื่อมกับธุรกิจอื่นได้มากขึ้น
อนาคตของ NDID และค่าธรรมเนียมการใช้งานจะเป็นอย่างไร
สุธีรา ศรีไพบูลย์ รักษาการประธานบริษัท NDID เล่าว่า ค่าธรรมเนียมในการใช้งาน NDID นั้นขึ้นอยู่กับว่าระดับความเสี่ยงของธุรกรรมและข้อมูลอยู่ที่ระดับไหน เช่น ข้อมูลตามมาตรฐาน IAL 2.3 ฯลฯ ตอนนี้อยู่ระหว่างการหารือกันว่าจะมีมาตรฐานราคาอย่างไร ซึ่งแน่นอนว่าต้องทำค่าเฉลี่ยต้นทุนการใช้ NDID ให้ถูกกว่าต้นทุนการระบุตัวตนบนช่องทางสาขาในปัจจุบัน
“เป็นไปไม่ได้ที่เราจะไปถึงเศรษฐกิจดิจิทัลได้ โดยที่ไม่มีการระบุตัวตนที่ปลอดภัย ดังนั้นการพัฒนาระบบ NDID จึงสำคัญมาก ตั้งแต่ 18 กรกฎาคม 2562 ที่ผ่านมาเริ่มเปิดระบบแล้วให้คนเข้ามาเชื่อมกันได้ และระยะต่อไปจะขยายบริการไปที่นิติบุคคล”
โดยการพิสูจน์ตัวตนในภาคนิติบุคคลต้องมีพื้นฐานของบุคคลธรรมดาก่อน และจะมีความแตกต่างเชิงโครงสร้างในธุรกิจที่ยังต้องพัฒนาเพื่อรองรับในอนาคต ที่สำคัญต้องมีภาครัฐเข้ามาร่วมในระบบเพื่อให้การเชื่อมต่อและเกิด Ease of doing Business ขึ้นมา
ในอนาคตอันใกล้นี้หวังว่า NDID จะเริ่มใช้ได้จริง และเปิดกว้างให้ทุกภาคส่วนสามารถเข้าถึงได้เพื่อสร้างการแข่งขันในการพัฒนาแต่ละบริการให้ดีขึ้นอย่างชัดเจน
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า