×

“ขึ้นค่าไฟช็อกความรู้สึกเอกชนรับปีใหม่” 46 อุตสาหกรรมเริ่มอ่อนแรง วอนรัฐเบรกขึ้นค่าไฟที่ 3.99 บาท/หน่วย หวั่นเงินเฟ้อ สินค้าปรับราคา ต่างชาติถอนลงทุน

06.12.2023
  • LOADING...

เอกชนผวาเมื่อรัฐบาลส่งสัญญาณเตรียมปรับขึ้นค่าไฟเป็น 4.68 บาทต่อหน่วย วอนรัฐบาลรีบแตะเบรก ตรึงราคาเดิมที่ 3.99 บาทต่อหน่วย หวั่นดันเงินเฟ้อปี 2567 ขยับ และยังซ้ำเติม 46 อุตสาหกรรมไทยที่กำลังทรุดหนักจากต้นทุนการผลิตที่สูง และสินค้าไม่มีมาตรฐานจากต่างประเทศเข้ามาดัมพ์ราคา ชี้อุตสาหกรรมเหล็กร่อแร่ เหลือเพียง 20% 

 

เกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ขณะนี้ภาคอุตสาหกรรมค่อนข้างทรุดหนักจากหลายปัจจัย ดังนั้น ภาครัฐต้องให้ความสำคัญกับการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจเพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขัน เน้นไปที่เร่งเจรจา FTA ดึงดูดการลงทุน ดูแลต้นทุนพลังงาน เตรียมพร้อมกำลังคนที่ไทยกำลังเข้าสู่สังคมสูงวัย เพื่อดึงดูดการลงทุน

 


 ข่าวที่เกี่ยวข้อง: 


 

โดยเฉพาะค่าไฟฟ้าเดือนมกราคม-เมษายน 2567 ที่เห็นว่ารัฐบาลควรจะตรึงไว้ที่เฉลี่ย 3.99 บาทต่อหน่วยไว้ก่อน และให้พิจารณาจัดตั้งคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ (กรอ.) ด้านพลังงาน เพื่อปรับโครงสร้างให้ค่าไฟฟ้ามีเสถียรภาพ

 

การขึ้นค่าไฟช็อกความรู้สึกเอกชนรับปีใหม่มาก เพราะหากขึ้นค่าไฟตามประกาศของ กกพ. ที่ 4.68 บาทต่อหน่วย จะทำให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มถึง 17% ซึ่งปัจจุบันมีกลุ่มอุตสาหกรรม 46 กลุ่มอุตสาหกรรม และเกือบ 10 อุตสาหกรรมที่ใช้พลังงานสูงราว 30-50% ของต้นทุนการผลิต จากเดิมที่สูงขึ้นอยู่แล้วที่ 6-7% ซึ่งแต่ละอุตสาหกรรมจะลดหลั่นกันไป แต่สิ่งที่ตามมาท้ายที่สุดจะสะท้อนไปถึงราคาสินค้าที่จะถูกส่งไปที่ห้างค้าปลีก ค้าส่ง ซึ่งค่าไฟที่ขึ้นประมาณ 7% จะกระทบราคาสินค้าปรับขึ้นราว 5-10%”

 

ประธาน ส.อ.ท. ยังห่วงอีกว่า ไม่เพียงแต่ราคาสินค้าภายในประเทศที่กระทบ แต่ยังมีผลต่อสินค้าส่งออกด้วย ทั้งการย้ายฐานการผลิต ภายใต้ทิศทางเศรษฐกิจโลกไม่สดใส ประเทศส่งออกต่างๆ แย่งกันขายสินค้า หากสินค้าไทยราคาแพงกว่าจะทำให้เราขายได้ยากขึ้น กระทบต่อขีดความสามารถในการแข่งขันด้านการค้าของไทย

 

“ล่าสุดนักลงทุนญี่ปุ่น ไต้หวัน ส่งสัญญาณกังวลเรื่องค่าไฟ อีกทั้งนักลงทุนทั้งไทยและต่างชาติจำนวนมากสอบถามเข้ามาถึงความชัดเจนในแง่นโยบายราคาพลังงาน เนื่องจากต่างชาติจำเป็นต้องใช้ปัจจัยราคาพลังงานเป็นตัวแปรสำคัญในการพิจารณาว่าจะเข้ามาลงทุนหรือไม่”

 

สินค้าเถื่อนเกลื่อนตลาดทุบภาค SME

 

เกรียงไกรกล่าวกับ THE STANDARD WEALTH อีกว่า ปัญหาสินค้าเถื่อนหรือสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐานยังคงเข้ามาถล่มตลาดไม่หยุด ส่งผลต่ออุตสาหกรรมรายกลางและรายย่อยหรือ SME โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมเหล็กของไทยทรุดหนัก มีการปลดคนงาน ปิดกิจการไปเยอะ ซึ่งน่าห่วงมากว่าอุตสาหกรรมเหล็กเหลืออยู่แค่ 20% ในส่วนนี้ต้องขอภาครัฐในการจัดการปัญหา เนื่องจากที่ผ่านมายังไม่สามารถแก้ไขได้มากเท่าที่ควร ทั้งที่เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญมาก

 

“หลังจากที่ก่อนหน้านี้ ได้มีการร้องเรียนจากกลุ่มอุตสาหกรรมมากกว่า 20 กลุ่ม ถึงปัญหาสินค้าราคาถูกที่ไม่ผ่านมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) ทั้งถูกกฎหมายและผิดกฎหมายนั้นเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ส่งผลโดยตรงต่อภาคอุตสาหกรรมเหล็กของ SME ซึ่งปัจจุบันมีการขาดทุนสะสมถึง 4 พันล้านบาท”

 

เกรียงไกรกล่าวอีกว่า “ในตอนนี้ภาคเอกชนได้มีการจัดตั้งทีมงานที่ทำการตรวจสอบเรื่องสินค้าเถื่อนและแจ้งต่อภาครัฐ โดยหวังว่าภาครัฐจะมีความเข้มงวดในการตรวจสอบมากกว่านี้ เพื่อให้ SME นั้นสามารถแข่งขันในตลาดได้” 

 

หอการค้าห่วงค่าไฟกระทบยักษ์ใหญ่พับแผนลงทุนไทย

สนั่น อังอุบลกุล ประธานหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย มองว่า ค่าไฟเป็นต้นทุนสำคัญของภาคการผลิตและอุตสาหกรรมต่างๆ ถ้าค่าไฟสูงขึ้นก็อาจเป็นความจำเป็นที่ผู้ประกอบการต้องปรับราคาสินค้าขึ้นตามไปด้วย อย่างไรก็ดี เป็นที่รับรู้กันว่าขณะนี้เศรษฐกิจไทยไม่ได้ฟื้นตัวเหมือนที่พูดกัน การปรับราคาสินค้าอาจทำได้ยาก ซึ่งเมื่อเป็นเช่นนี้ความเดือดร้อนอาจตกอยู่ที่ผู้ประกอบการ 

 

“หลายบริษัทยักษ์ใหญ่ใช้พลังงานอย่างมหาศาลในการทำธุรกิจ ซึ่งหากรัฐบาลไทยไม่มีความชัดเจนในประเด็นโครงสร้างราคาพลังงานหรือค่าไฟ แน่นอนว่ามีผลต่อการตัดสินใจเข้ามาลงทุนของบริษัทต่างๆ โดยเฉพาะบริษัทรายใหญ่ ทั้งไอทีและอิเล็กทรอนิกส์ ภายใต้สภาพแวดล้อมของระบบเศรษฐกิจไทยที่กำลังมีปัญหาหลายอย่าง ทั้งหนี้ครัวเรือน ปัญหาการเงินของคนในประเทศ อาจจะกระทบต่อบรรยากาศการลงทุนได้ทั้งหมด”

 

ด้าน อิศเรศ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รองประธาน ส.อ.ท. กล่าวทิ้งท้ายว่า ต้องการให้รัฐเร่งตั้ง กรอ.พลังงาน เพื่อมาพิจารณาปรับโครงสร้างค่าไฟฟ้าเร่งด่วน ระหว่างนี้ให้ยืนค่าไฟที่อัตรา 3.99 บาทต่อหน่วยไปก่อน เพราะต้องยอมรับว่าค่าไฟประเทศเพื่อนบ้าน เช่น เวียดนาม ต่ำกว่าไทยมาก และมีความเสถียร เป้าหมายที่ต้องการปรับโครงสร้าง ไม่ต้องการให้การแก้ไขปัญหาเป็นการโยนภาระไปข้างหน้าด้วยการยืดหนี้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) นอกจากนี้ควรจะส่งเสริมเปิดเสรีกิจการไฟฟ้า ทบทวนสูตรราคาก๊าซธรรมชาติใหม่ เพื่อให้ค่าไฟไทยมีต้นทุนที่ต่ำลง

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising