×

กสทช. เปิดสูตรโมเดลควบรวม TRUE-DTAC ผลวิจัยทางเศรษฐกิจชี้ชัด หากสำเร็จเสี่ยงฉุด GDP ดันเงินเฟ้อพุ่ง

07.06.2022
  • LOADING...
TRUE-DTAC

สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้จัดโฟกัส กรุ๊ปในรอบนักวิชาการ ซึ่งถือเป็นครั้งสุดท้าย เพื่อรวบรวมความเห็นจากหลายภาคส่วนต่อกรณีการควบรวมธุรกิจระหว่าง บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น (TRUE) กับ บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (DTAC) 

 

ศุภัช ศุภชลาศัย กรรมการ กสทช. ด้านเศรษฐศาสตร์ กล่าวเปิดประชุมรับฟังความเห็นโฟกัส กรุ๊ป ว่า กสทช. ได้ทำเฟรมเวิร์กเพื่อประเมินผลกระทบทางเศรษฐศาสตร์จากการควบรวมกิจการ โดยวิเคราะห์ผ่าน 2 รูปแบบ คือ

 

  1. การวิเคราะห์โครงสร้างการแข่งขัน และผลกระทบทางเศรษฐศาสตร์ 

 

  1. ประสิทธิภาพทางการแข่งขัน

 

โดยตัวแทนจากคณะทำงาน กสทช. ระบุว่า หลังจากใช้เครื่องมือในการวิเคราะห์ผลกระทบด้านราคา 2 แบบ คือ Merger Simulation และ Upward Pricing Pressure Model (UPP) ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ถูกใช้แพร่หลายในสหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกา เพื่อวิเคราะห์เรื่องควบรวม ระบุได้ว่าอัตราค่าบริการมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นน้อยที่สุด 

 

  1. กรณีไม่มีการร่วมมือกัน 2.03-19.53% 

 

  1. กรณีร่วมมือกันในระดับต่ำ ราคาเพิ่มขึ้น 12.57-39.81% 

 

  1. กรณีร่วมมือกันในระดับสูง ราคาเพิ่มขึ้น 49.30-244.50% 

 

ด้าน พรเทพ เบญญาอภิกุล คณะอนุกรรมการเพื่อศึกษาและวิเคราะห์กรณีการรวมธุรกิจ กล่าวว่า ถ้าไม่มีและมีความร่วมมือต่ำ ราคาเพิ่มขึ้น 18.85%, หากร่วมมือระดับสูง ราคาเพิ่มขึ้น 60% หากเป็นโมเดลด้านดาต้าอย่างเดียว, หากไม่มีและมีความร่วมมือต่ำ ราคาเพิ่มขึ้น 32.64% และหากมีความร่วมมือระดับสูง ราคาเพิ่มขึ้น 198.28% 

 

นอกจากนี้ยังส่งผลต่อการเติบโตของ GDP หากไม่มีการร่วมมือกัน GDP หดตัวลง 0.05%-0.11%, กรณีร่วมมือกันระดับต่ำ GDP หดตัวลง 0.17%-0.33%, กรณีร่วมมือกันในระดับสูง GDP หดตัวลง 0.58%-1.99% และพบว่ามูลค่า GDP ลดลง กรณีไม่มีความร่วมมือ GDP ลดลงในช่วง 8,244-18,055 ล้านบาท, กรณีร่วมมือระดับต่ำ GDP ลดลงในช่วง 27,148-53,147 ล้านบาท และกรณีร่วมมือระดับสูง GDP ลดลงในช่วง 94,427-322,892 ล้านบาท  

 

ขณะที่อัตราเงินเฟ้อ หากไม่มีการร่วมมือกัน เงินเฟ้อสูงขึ้น 0.05%-0.12%, กรณีร่วมมือกันระดับต่ำ เงินเฟ้อสูงขึ้น 0.17%-0.34% และกรณีร่วมมือกันในระดับสูง เงินเฟ้อสูงขึ้น 0.60%-2.07%

 

จากการศึกษาพบว่า ระดับความร่วมมือคือปัจจัยสำคัญของการเพิ่มขึ้น ดังนั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องพิจารณาปัจจัยที่จะทำให้เกิดระดับความร่วมมือ โดยพิจารณาจาก 6 ปัจจัย ประกอบด้วย จำนวนผู้ประกอบการที่เหลือ ยิ่งน้อยยิ่งร่วมมือกันง่าย, ขนาดของผู้ประกอบการ เมื่อมีขนาดเท่ากันยิ่งง่ายต่อการร่วมมือ, ลักษณะของบริการ ยิ่งเหมือนกันยิ่งร่วมมือกันง่าย, ผู้บริการสามารถตรวจสอบราคากันได้ง่ายหรือไม่ ยิ่งตรวจสอบได้ยิ่งร่วมมือกันง่าย, ระยะเวลาที่ต้องทำธุรกิจในตลาดเดียวกันว่าแข่งขันกันมานานหรือยัง ยิ่งอยู่ในตลาดร่วมกันมานานยิ่งร่วมมือกันง่าย และอุปสรรคของรายใหม่เข้าสู่ตลาด หากยิ่งเข้ายากยิ่งร่วมมือกันง่าย ดังนั้นจึงขึ้นอยู่กับประสิทธิภาพของหน่วยงานกำกับ คือ กสทช. และคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) หากมีประสิทธิภาพในการกำกับก็จะทำให้เกิดความร่วมมือกันยาก

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising