×

กสทช. พร้อมดันไทยเป็น ‘ฐานยิงจรวด’ ส่งดาวเทียม หวังก้าวขึ้นเป็น Spaceport ในภูมิภาค กับ 4 เงื่อนไขสำคัญที่ต้องมี

04.09.2024
  • LOADING...
กสทช.

พล.อ.ท. ดร.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ บอร์ด กสทช. พร้อมหนุนไทยเป็นฐานยิงจรวดเพื่อส่งดาวเทียมสู่อวกาศ พร้อมเปิด 4 เงื่อนไขสำคัญที่เตรียมความพร้อมสู่การเป็น ‘ท่าอวกาศยาน’ ระดับภูมิภาค

 

พล.อ.ท. ดร.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวถึงกรณีการสร้างสนามยิงจรวดเพื่อส่งดาวเทียมในประเทศไทยว่า กสทช. ต้องเป็นผู้ดูแลอนุญาตหรือไม่นั้น ชี้แจงว่า ตามอำนาจหน้าที่ กสทช. ไม่ได้เป็นผู้ดูแลโดยตรง แต่ กสทช. เป็นผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง และส่วนตัวสนับสนุนให้เกิดขึ้น เพราะ กสทช. มีหน้าที่และอำนาจในการอนุญาตสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียม

 

ทั้งนี้ หากเปรียบเทียบระหว่างเครื่องบินที่บินอยู่บนท้องฟ้า กับดาวเทียมที่โคจรรอบโลกอยู่บนอวกาศนั้น เครื่องบินก็ต้องมีสนามบินหรือท่าอากาศยาน (Airport) ที่ใช้ในการขึ้นและลงของเครื่องบิน ดังนั้นดาวเทียมก็ต้องมีสนามหรือฐานยิงจรวด (Rocket Launch Site) เพื่อส่งดาวเทียมและพัฒนาต่อยอดเป็นท่าอวกาศยาน (Spaceport) ที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกพร้อมใช้ในการส่งและรับจรวดเพื่อส่งดาวเทียมเข้าสู่วงโคจรบนอวกาศ โดยวงโคจรดาวเทียม(Satellite Orbit) เปรียบเสมือนเส้นทางการบิน (Flight Route) ที่ดาวเทียมนั้นใช้ในการโคจรรอบโลก ดังนั้น กสทช. มีหน้าที่ในการอนุญาตสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียม แต่มิได้มีหน้าที่ในการอนุญาตสิทธิในการสร้างท่าอวกาศยาน

 

อย่างไรก็ตาม ต่อคำถามที่ว่าประเทศไทยมีดาวเทียมไม่กี่ดวง แล้วจะสามารถเป็นท่าอวกาศยานได้หรือไม่นั้น ขอให้เปรียบกรณีประเทศไทยมีเครื่องบินเป็นของตนเองไม่น่าเกินหลักพันลำ และไม่ได้ผลิตเครื่องบินเองด้วยซ้ำ แต่ทำไมประเทศไทยมีสนามบินสุวรรณภูมิ ที่เรียกได้ว่าเป็นศูนย์กลางการบินของโลกได้

 

กสทช.

พล.อ.ท. ดร.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ กรรมการ กสทช.

 

ทั้งนี้ เช่นเดียวกัน และเมื่อเข้าใจถึงเงื่อนไขทางเทคนิคที่ใช้ในการพิจารณาจัดตั้งท่าอวกาศยานที่มีเงื่อนไขที่สำคัญ เช่น

 

  1. ตำแหน่งทางภูมิศาสตร์ของประเทศไทย โดยเฉพาะพื้นที่ภาคใต้มีความเหมาะสมมาก เพราะตามหลักแล้วท่าอวกาศยานควรตั้งอยู่ใกล้กับเส้นศูนย์สูตร (Equator) มากที่สุด เพื่อใช้ประโยชน์จากความเร็วในการหมุนของโลก ที่จะช่วยให้จรวดสามารถบรรทุกสิ่งของที่หนักกว่า เช่น ดาวเทียมขึ้นสู่วงโคจรได้ โดยใช้เชื้อเพลิงที่น้อยลง เนื่องจากได้รับการหนุนจากการหมุนของโลกเป็นอย่างมาก

 

  1. ตำแหน่งควรอยู่ในพื้นที่ห่างไกลจากประชาชน เพื่อลดความเสี่ยงจากความล้มเหลวเวลายิงจรวด จึงมักนิยมอยู่ในสถานที่ริมฝั่งทะเลเพื่อยิ่งจรวดไปเหนือน่านน้ำทะเลเปิด ซึ่งพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้มีความเหมาะสม

 

  1. สภาพอากาศควรมีท้องฟ้าแจ่มใส ลมสงบ อุณหภูมิคงที่ ไม่เป็นพื้นที่แผ่นดินไหว ภูเขาไฟ หรือเกิดพายุและฟ้าผ่าบ่อยครั้ง

 

  1. ควรมีโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ รองรับ เช่น ไฟฟ้า การสื่อสารโทรคมนาคม และอุตสาหกรรมอื่นที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะด้านการบินและอากาศยาน ซึ่งประเทศไทยก็มีความพร้อมรองรับจากโครงการ EEC ที่มี S-Curve ด้านอุตสาหกรรมการบิน และสามารถต่อยอดได้ดียิ่งขึ้น

 

ประเทศที่มีฐานยิงจรวดสู่อวกาศ

 

ดังนั้น ประเทศไทยได้เปรียบเป็นอย่างมาก โดยในอดีตการส่งจรวดเป็นสิ่งที่ถูกสงวนไว้สำหรับรัฐบาลและทหารเท่านั้น ทำให้มีท่าอวกาศยานอยู่ไม่กี่แห่ง เช่น ที่แหลมคะแนเวอรัล รัฐฟลอริดา ที่ NASA ใช้ ส่วนยุโรปก็ต้องไปที่เฟรนช์เกียนา ทวีปแอฟริกา ยกเว้นรัสเซียใช้ฐานยิงที่คาซัคสถาน ซึ่งที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ไม่ค่อยเหมาะสมเช่นเดียวกับของประเทศจีน แต่ปัจจุบันเอกชนและหน่วยงานอวกาศจากนานาประเทศเข้ามามีบทบาทในอุตสาหกรรมอวกาศมากขึ้น

 

รวมทั้งความต้องการในการสร้างและส่งดาวเทียมได้เปลี่ยนไปมาก จากเดิมที่ต้องสร้างดาวเทียมขนาดใหญ่ขึ้นสู่วงโคจรดาวเทียมค้างฟ้า หรือ Geostationary Earth Orbit (GEO) ที่มีระยะสูงจากพื้นโลกมากแต่ใช้จำนวนดาวเทียมที่น้อย มาเป็นการสร้างดาวเทียมขนาดเล็กขึ้นสู่วงโคจรดาวเทียมต่ำ หรือ Low Earth Orbit (LEO) เช่น Starlink ของอเมริกามีแผนจะปล่อยดาวเทียมมากถึง 42,000 ดวง เช่นเดียวกับ OneWeb ของประเทศในยุโรป

 

รวมทั้งประเทศจีนที่มีแผนจะยิงดาวเทียมนับหมื่นดวงเช่นกัน และดาวเทียมประเภทนี้จะมีอายุสั้นประมาณ 5 ปีเท่านั้น ทำให้ต้องมีการยิงดาวเทียมดวงใหม่ขึ้นไปทดแทนอย่างต่อเนื่อง

 

“กิจการอวกาศเป็นอุตสาหกรรมขาขึ้นที่มีพัฒนาการต่อเนื่อง ที่มิใช่เฉพาะเรื่องดาวเทียมเท่านั้น ในอนาคตอันใกล้จะมีกิจกรรมอื่น เช่น การส่งคนขึ้นไปท่องเที่ยวบนอวกาศ หรือการสร้างและส่ง Data Center บนอวกาศ ที่จะเกิดขึ้นในไม่ช้านี้ จึงถือว่าเป็นหนึ่งใน Sunrise Industry ที่เทคโนโลยีปัจจุบันรองรับในเชิงพาณิชย์ได้ ดังนั้นประเทศไทยควรเห็นโอกาสและร่วมมือกับประเทศที่มีความต้องการในเรื่องนี้ เช่น ประเทศจีนที่พื้นที่ตั้งอาจไม่เอื้ออำนวย

 

โดยให้มีการร่วมลงทุนในไทยที่มาพร้อมเทคโนโลยี เช่นเดียวกับในอดีตที่เคยดึงญี่ปุ่นมาลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์ทำให้ประสบความสำเร็จมาแล้ว และจะทำให้ประเทศไทยได้รับการพัฒนาบุคลากรทางด้านนี้ด้วย” พล.อ.ท. ดร.ธนพันธุ์กล่าว

 

นักวิเคราะห์ชี้ ธุรกิจดาวเทียมมีแนวโน้มผูกขาด

 

โดยปัจจุบันไทยมีผู้ประกอบการธุรกิจดาวเทียมรายใหญ่ คือ บมจ.ไทยคม หรือ THCOM ซึ่งมี บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ หรือ GULF เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่

 

ก่อนหน้านี้ บล.ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) ระบุว่า โดยปกติในภาพรวมอุตสาหกรรมธุรกิจดาวเทียมมีแนวโน้มที่จะเห็นการผูกขาดเกิดขึ้นในธุรกิจได้ค่อนข้างสูงอยู่แล้ว เนื่องจากแม้ว่าในกรณีมีการเปิดเงื่อนไขให้เปิดประมูลวงโคจรได้แบบเสรี แต่ก็มีข้อจำกัดในการเข้ามาของผู้เล่นรายใหม่ในการทำธุรกิจนี้

 

เพราะหากมีผู้ประกอบการรายใหม่จะเข้ามาร่วมประมูลด้วย ไม่มีประสบการณ์มาก่อนในธุรกิจนี้ก็สามารถแข่งขันได้ยาก รวมถึงตำแหน่งวงโคจรดาวเทียมเดิมที่มี บมจ.ไทยคม หรือ THCOM มีการให้บริการอยู่แล้ว ก็ให้บริการทั้งลูกค้าในประเทศและกลุ่มประเทศเอเชีย จึงถือว่ามีความได้เปรียบ เพราะมีการทำการตลาด รวมถึงมีฐานลูกค้าที่ใช้บริการดาวเทียมอยู่ก่อนแล้ว

 

ขณะที่ก่อนหน้า สารัชถ์ รัตนาวะดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ หรือ GULF ประกาศแผนจะมีการควบรวม (Amalgamation) GULF และ INTUCH และจะมีการจัดตั้งบริษัทใหม่ (NewCo) ในไตรมาส 2/68

 

โดยในช่วงที่ผ่านมา GULF เข้าไปลงทุนเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของ INTUCH และ THCOM ได้ศึกษาแนวทางเลือกหลายแนวทางในการจัดโครงสร้างการถือหุ้นในกลุ่ม GULF และในกลุ่ม INTUCH รวมไปถึง ADVANC และ THCOM ให้เหมาะสม ซึ่งภายหลังจากที่มีการหารือในประเด็นต่างๆ เห็นว่าแนวทางการควบรวมบริษัทระหว่าง GULF ผู้นำด้านธุรกิจพลังงาน และ INTUCH ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใน ADVANC ผู้นำด้านโทรคมนาคมของประเทศไทย น่าจะเป็นทางเลือกที่เหมาะสมที่สุด เป็นประโยชน์กับทั้งสองบริษัทและผู้ถือหุ้นทุกฝ่าย รวมทั้งยังเป็นการเพิ่มศักยภาพในการเป็นผู้นำในการขยายงานด้านธุรกิจพลังงานและธุรกิจโทรคมนาคม

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X