วันนี้ (2 พฤษภาคม) สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) จัดประชุมคณะอนุกรรมการบูรณาการบังคับใช้กฎหมายความผิดทางเทคโนโลยีและความมั่นคงของรัฐ เพื่อหารือแนวทางกำหนดมาตรฐานและมาตรการป้องกันอาชญากรรมทางเทคโนโลยีให้สอดคล้องกับ พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2568 ซึ่งมีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่วันที่ 13 เมษายน 2568
การประชุมนำโดย พล.ต.อ. ณัฐธร เพราะสุนทร กสทช. ในฐานะประธานอนุกรรมการฯ พร้อมด้วยผู้แทนระดับสูงจากหน่วยงานสำคัญ ได้แก่ ศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศปอส.ตร.), กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.), สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.), ตำรวจภูธรจังหวัดราชบุรี, สำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.), สมาคมธนาคารไทย, ผู้ประกอบการโทรศัพท์เคลื่อนที่ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
พล.ต.อ. ณัฐธร กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้มีขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการบังคับใช้ พ.ร.ก. ฉบับใหม่อย่างเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะในส่วนของมาตรา 8/10 ที่กำหนดให้สถาบันการเงิน ผู้ประกอบธุรกิจ ผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์ ผู้ให้บริการโทรคมนาคมอื่น หรือผู้ให้บริการสื่อสังคมออนไลน์ ต้องมีส่วนร่วมรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดจากอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ตามมาตรฐานหรือมาตรการที่กำหนด ซึ่งในส่วนที่เกี่ยวกับผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์และโทรคมนาคม กสทช. เป็นหน่วยงานหลักในการกำหนดมาตรฐานดังกล่าว ถือเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการโดยเร็วที่สุด รวมถึงวางแนวทางป้องกันการหลอกลวงรูปแบบใหม่ๆ ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง เช่น วิดีโอคอลปลอม (Deepfake) หรือการใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) สร้างเนื้อหาหลอกลวง
พล.ต.อ. ณัฐธร กล่าวเพิ่มเติมว่า จะเสนอผลการหารือต่อที่ประชุม กสทช. เพื่อพิจารณาออกมติกำหนดมาตรฐานหรือมาตรการฯ อย่างเป็นทางการ โดยจะเน้นให้ผู้ประกอบการโทรศัพท์เคลื่อนที่และโทรคมนาคมเข้ามามีส่วนร่วมรับผิดชอบอย่างจริงจัง ทั้งในการป้องกันอาชญากรรม และการให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ในการส่งข้อมูลที่จำเป็นเพื่อดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ
ตัวอย่างมาตรการที่ผู้ประกอบการทุกรายต้องปฏิบัติตาม เช่น
- ตรวจสอบและระงับเบอร์ผิดปกติ: คัดกรองผู้ใช้บริการที่มีพฤติกรรมน่าสงสัย (เช่น โทรออกอย่างเดียว, โทรหาผู้รับไม่ซ้ำ, โทรจำนวนมากผิดปกติ, โทรจากตำแหน่งเดิมซ้ำๆ หรือจากพื้นที่ชายแดน) และระงับการใช้งานทันที
- ระงับเบอร์ต้องสงสัย: ดำเนินการระงับการใช้ทันทีเมื่อได้รับแจ้งจาก กสทช.
- ตรวจสอบย้อนหลังเบอร์ใหม่: ภายในสัปดาห์แรกของการเปิดใช้งาน ต้องตรวจสอบยืนยันข้อมูลการลงทะเบียนว่าถูกต้องตรงตามความเป็นจริง
- ตรวจสอบ SMS และ Links: ผู้ให้บริการมีหน้าที่ตรวจสอบเนื้อหา SMS และลิงก์ก่อนทำการจัดส่ง
- ป้องกัน Sim Box เถื่อน: ต้องไม่อนุญาตให้ Sim Box ที่ไม่ได้รับอนุญาต หรือ Sim Box ผี เชื่อมต่อเข้าสู่โครงข่าย
- คุมซิมชาวต่างชาติ: จำกัดการลงทะเบียนซิมไม่เกิน 3 ซิมการ์ดต่อคนต่อผู้ให้บริการ และต้องใช้หนังสือเดินทาง (Passport) ในการยืนยันตัวตนเท่านั้น ไม่อนุญาตเอกสารประเภทอื่น
- จัดการซิมนักท่องเที่ยว (Tourist SIM): กำหนดอายุใช้งานไม่เกิน 60 วัน ไม่สามารถเติมเงินเพื่อขยายเวลาได้ หากต้องการใช้ต่อ ต้องลงทะเบียนยืนยันตัวตนใหม่
พล.ต.อ. ณัฐธร เชื่อมั่นว่า มาตรการเหล่านี้จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันอาชญากรรมทางเทคโนโลยี และสกัดกั้นไม่ให้ผู้กระทำผิดสามารถเข้าถึงบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่และโทรคมนาคมเพื่อใช้ในการก่อเหตุได้