ที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) กสทช. เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคมที่ผ่านมา มีมติให้เลื่อนประมูลการอนุญาตให้ใช้สิทธิ์ในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมในลักษณะจัดชุด (แพ็กเก็จ) เป็นวันที่ 24 สิงหาคม 2564 จากเดิมวันที่ 24 กรกฎาคม 2564 ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรมและเท่าเทียม
โดยกำหนดการใหม่เกี่ยวกับกระบวนการดำเนินการ มีดังนี้
- วันที่ 8 กรกฎาคม – 6 สิงหาคม เปิดให้รับเอกสารการคัดเคลือกเพิ่ม ตั้งแต่เวลา 08.30-16.30 น. ณ สำนักงาน กสทช.
- วันที่ 9 สิงหาคม จัดประชุมสัมมนาเพื่อชี้แจงกระบวนการและกรอบแบบคำขอรับอนุญาต
- วันที่ 11 สิงหาคม ผู้ประสงค์ขอรับอนุญาตยื่นคำขอรับอนุญาตและวางหลักประกันการขอรับอนุญาต
- วันที่ 18 สิงหาคม ประกาศรายชื่อผู้ผ่านคุณสมบัติเป็นผู้เข้าร่วมการคัดเลือก
- วันที่ 24 สิงหาคม ประกาศรายชื่อผู้เข้าร่วมการคัดเลือกที่ผ่านเกณฑ์ข้อเสนอด้านประสบการณ์และความสามารถด้านการเงิน
- วันที่ 25 สิงหาคม ประชุมเพื่อชี้แจงขั้นตอนการประมูลและการประมูลรอบสาธิต
- วันที่ 28 สิงหาคม ประมูลสิทธิ์ในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมลักษณะจัดชุด (แพ็กเกจ)
ทั้งนี้ การเปิดให้ยื่นคำขอรับอนุญาตให้ใช้สิทธิ์ในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมในลักษณะจัดชุด (แพ็กเกจ) หลังจากเปิดให้ผู้สนใจขอรับเอกสารการคัดเลือกการขอรับอนุญาตฯ ดังกล่าวเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม – 18 มิถุนายน 2564 พบว่า มีเพียง 1 บริษัทที่เข้ามายื่นขอรับอนุญาต คือ บริษัท ทีซี สเปซ คอนเน็ค จำกัด ซึ่งสนใจเข้ายื่นคำขอรับอนุญาตในแพ็กเกจที่ 1 ซึ่งมีราคาขั้นต่ำ 676.914 ล้านบาท
สำหรับบริษัท ทีซี สเปซ คอนเน็ค จำกัด มี บมจ.ไทยคม หรือ THCOM เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในสัดส่วน 100%
ฝ่ายวิจัย บล.เอเซียพลัส ระบุว่า ความเสี่ยงจากการเลื่อนประมูล ซึ่งทำให้ความไม่ชัดเจนบริการดาวเทียม THCOM ระยะยาว จากการเปลี่ยนผ่านระบบสัมปทานสู่ใบอนุญาต
อย่างไรก็ตาม ระยะสั้นเชื่อว่า THCOM ยังมีทางออก จากการขอเจรจาเป็นผู้บริหารจัดการดาวเทียมสัมปทาน iPSTAR และไทยคม 6 ที่ใกล้หมดอายุสัมปทาน กับ NT ที่ได้รับสิทธิ์ ซึ่งจะช่วยให้ THCOM ยังใช้งานดาวเทียมต่อได้อีกระยะจนกว่าอายุให้บริการ iPSTAR และไทยคม 6 จะสิ้นสุด ขณะที่จากนั้นที่ขึ้นกับการประมูลสิทธิ์วงโคจร THCOM ยังมีทางเลือกจากการศึกษาการใช้สิทธิ์วงโคจรดาวเทียมต่างประเทศแล้วระยะหนึ่ง ซึ่งหากราบรื่นจะคาดหวังประเด็นบวกในเรื่องโครงสร้าง ดำเนินงานหลังสัมปทานสิ้นสุดมีโอกาสที่ภาระต้นทุนจะลดลงจากยุคสัมปทานที่มีต้นทุนสูง
โดย THCOM จะหยุดรับรู้ค่าตัดจำหน่ายดาวเทียมสัมปทาน 2 ดวง ราวปีละ 800 ล้านบาท และส่วนแบ่งรายได้ 22.5% ของรายได้ (ปีละ 400-500 ล้านบาท) และไปรับรู้ต้นทุนใหม่แทน ซึ่งประกอบด้วย ค่าเช่าใช้ดาวเทียมสัมปทานกับ NT, ต้นทุนค่าประมูลสิทธิ์วงโคจรใหม่ แต่ปัจจุบันโครงสร้างต้นทุนใหม่ยังต้องติดตาม ซึ่งประโยชน์ที่ได้อาจจะลดลง หาก THCOM ต้องใช้วงโคจรต่างประเทศ โดยภายใต้ข้อจำกัดวงโคจรที่แตกต่างจากเดิม มีโอกาสที่บริษัทอาจจะต้องมีภาระต้นทุนดำเนินการที่สูงขึ้น
ภายใต้ความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้นเทียบกับราคาหุ้น THCOM นับตั้งแต่ต้นเดือนพฤศจิกายน 2563 ที่เริ่มมีกระแสข่าวประมูลที่ปรับตัวขึ้นมากว่า 120% เชื่อว่ารวมความคาดหวังเชิงบวกไปมากแล้ว จึงยังให้คำแนะนำ Switch ไป ADVANC ที่เริ่มเห็นฟื้นตัว และคาดหวัง Upside ที่จะเข้ามาจากนี้สูงกว่า