×

กสทช. ทิ้งไพ่เด็ด ยืดจ่ายเงินค่ายมือถือแลกเข้าประมูล 5G ใจป้ำเว้นค่าประมูล-ค่าเช่าโครงข่ายรวม 3.2 หมื่นล้านบาทช่วยทีวีดิจิทัล

17.04.2019
  • LOADING...
กสทช

ฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. แถลงมาตรการแก้ไขปัญหาการประกอบกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. โดยอ้างอิงการยื่นหนังสือต่อหน้า คสช. เพื่อขอผ่อนผันการชำระเงินของ 3 ค่ายมือถือ ได้แก่ AIS, dtac และ True รวมทั้งการขอให้นำคลื่นย่าน 700 MHz ไปจัดสรรใหม่เพื่อเยียวยาผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลในช่วงที่ผ่านมา

 

สำหรับการแก้ไขปัญหาด้านโทรคมนาคม (ค่ายมือถือ) ผู้ที่สนใจจะยื่นขอใช้สิทธิ์ดังกล่าวต้องยื่นหนังสือต่อ กสทช. ภายในวันที่ 10 พฤษภาคม 2562 และเมื่อขอใช้สิทธิ์ต้องเข้าประมูลคลื่น 700 MHz (สำหรับเทคโนโลยี 5G) มิเช่นนั้นจะต้องชำระเงินตามเดิม

 

สำหรับ AIS ต้องชำระเงินค่าประมูลคลื่น 900 MHz จากการประมูล 4G รอบที่ผ่านมากว่า 6.37 หมื่นล้านบาท จ่ายครั้งเดียวในปี 2563 โดยจะขยายออกไปเป็น 6 งวด งวดแรกของเงื่อนไขใหม่นี้จะต้องชำระในปี 2563 ราว 2.32 หมื่นล้านบาท จากนั้นปีถัดไปชำระปีละ 8.09 พันล้านบาทโดยประมาณ (สิ้นสุดปี 2568)

 

ส่วน True มียอดที่ต้องชำระกว่า 6.44 หมื่นล้านบาท จ่ายครั้งเดียวในปี 2563 โดยขยายออกไปเป็น 6 งวดเช่นกัน งวดแรกของเงื่อนไขใหม่ต้องชำระในปี 2563 ราว 2.36 หมื่นล้านบาท จากนั้นปีถัดไปชำระปีละ 8.16 พันล้านบาทโดยประมาณ (สิ้นสุดปี 2568) ขณะที่ dtac เดิมต้องชำระอีก 3 งวด รวมกว่า 3.64 หมื่นล้านบาท โดยจะขยายออกไปเป็น 8 งวด งวดแรกของเงื่อนไขใหม่ต้องชำระในปี 2563 ราว 7.91 พันล้านบาท จากนั้นปีถัดไปชำระปีละ 4.07 พันล้านบาทโดยประมาณ (สิ้นสุดปี 2570)

 

ถือเป็นการยื่นเงื่อนไขที่น่าจับตาของ กสทช. หลังจากช่วงที่ผ่านมาเกิดปัญหาการประมูลคลื่น หากรับความช่วยเหลือ ภาคเอกชนก็จะคลายปมสภาพคล่องจากการชำระเงินก้อนโตออกไป ส่งผลดีต่อตัวเลขทางบัญชีและกระบวนการดำเนินงาน แต่ต้องแลกกับการเข้าร่วมประมูล 5G ซึ่ง กสทช. กำหนดราคาประมูลขั้นต่ำใบอนุญาตละ 2.5 หมื่นล้านบาท คาดว่าจะได้เงินจากการประมูลจาก 3 ค่ายมือถืออย่างต่ำ 7.5 หมื่นล้านบาท ซึ่ง กสทช. จะผลักดันการประมูลให้เสร็จภายในปี 2562 นี้

 

สิ่งที่เกี่ยวโยงกันระหว่างประเด็น 5G และทีวีดิจิทัลคือ การนำคลื่นย่าน 700 MHz ที่ใช้กับทีวีดิจิทัลในปัจจุบันมาจัดสรรใหม่ ซึ่งใบอนุญาตใช้ได้ถึงเดือนเมษายน 2572 คาดว่า กสทช. จะนำคลื่นบางส่วนในย่านนี้มาใช้งานตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2563 เป็นต้นไป นั่นคือเกิดกระบวนการทำงานเป็นคู่ขนานระหว่างค่ายมือถือที่ยื่นขอสิทธิ์ช่วยเหลือและทีวีดิจิทัลที่ยื่นคืนใบอนุญาตเพื่อนำไปประมูลคลื่น 5G และรับการเยียวยาจากเงินที่ประมูลคลื่น 5G ได้

 

ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลสามารถยื่นคืนใบอนุญาตได้ภายในวันที่ 10 พฤษภาคมนี้เช่นกัน โดย กสทช. เห็นควรให้ ‘ยกเว้น’ เงินค่าประมูลงวดที่ 5 และ 6 ออกไป คิดเป็นเงิน 1.36 หมื่นล้านบาท ขณะนี้มีรายที่จ่ายงวดที่ 5 ไปแล้ว 3 ราย คิดเป็นเงินกว่า 986 ล้านบาท ทาง กสทช. จะคืนเงินให้ทั้ง 3 ราย ได้แก่ ช่อง 7HD (372 ล้านบาท) ช่อง Workpoint TV (395 ล้านบาท) และช่อง Spring News (219 ล้านบาท) ส่วนงวดที่ 6 ยังไม่มีผู้ชำระ เนื่องจากยังไม่ถึงกำหนดชำระ ซึ่งงวดนี้ได้รับการยกเว้น ขณะที่อีก 17 ช่อง ซึ่งยังไม่ได้ชำระเงินก่อนหน้านี้ มีกำหนดชำระเงินภายใน 8 สิงหาคมนี้ คิดเป็นเงินรวม 3.21 พันล้านบาท

 

นอกจากนี้ กสทช. ยังเยียวยาเพิ่มเติมด้วยการยกเว้นค่าใช้จ่ายการเช่าโครงข่ายในระบบทีวีดิจิทัล (MUX) ตลอดอายุใบอนุญาตออกไป คิดเป็นเงิน 1.87 หมื่นล้านบาทด้วย นอกจากนี้ยังวางแผนใช้งบประมาณ 431 ล้านบาทไปใช้ในการจัดทำเรตติ้งทีวีดิจิทัลใหม่ด้วย โดยรายละเอียดข้างต้นทั้งหมด สำนักข่าว THE STANDARD พิจารณาจากเอกสารแจกของทีมประชาสัมพันธ์ของ กสทช. และเมื่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้รับแจ้งว่า ไม่สามารถให้ข้อมูลได้ เนื่องจากรายละเอียดเยอะและเกรงว่าจะให้ข้อมูลไม่ถูกต้อง

 

ถือเป็นทางออกปลายอุโมงค์ที่ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลรอคอย การปลดล็อกให้คืนใบอนุญาตจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของวงการโทรทัศน์ไทยอย่างไร ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ขณะที่ค่ายโทรศัพท์มือถือนั้นได้ประโยชน์เรื่องนี้อย่างชัดเจน สำหรับการแปลงหนี้ก้อนใหญ่ที่เล็กลงและยาวนานขึ้น แลกกับ ‘ตั๋วพิเศษ’ ที่ต้องเข้าประมูลคลื่น 5G อย่างพร้อมเพรียง

 

ผู้ที่อยู่ในสถานะ ‘ลอยลำ’ อย่างชัดเจนคือ กสทช. ที่นอกจากจะได้เครดิตเรื่องการแก้ไขปัญหาให้ลุล่วงแล้ว ไม่ต้องรับผิดชอบกับรายได้ทั้งทางตรงและทางอ้อมของแผ่นดินที่หายไปจากมาตรการดังกล่าว เนื่องจากเป็นอำนาจเด็ดขาดจากประกาศโดยหัวหน้า คสช. อยู่แล้ว และยังได้การันตีว่าการจัดประมูล 5G ภายใต้การกำกับดูแลของ กสทช. จะผ่านไปด้วยดีไร้รอยต่ออีกด้วย

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X