×

กสทช. ชี้แจงการควบรวม ‘TRUE-DTAC’ เผยเรียกผู้บริหาร 2 บริษัทสอบถามข้อเท็จจริงแล้ว รับอาจเกิดปัญหาบางพื้นที่เหตุใช้เสาสัญญาณต้นเดียวกัน

โดย THE STANDARD TEAM
19.12.2023
  • LOADING...

วันนี้ (19 ธันวาคม) จากกรณีที่ประชุมคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) มีมติอนุมัติให้ควบรวมธุรกิจระหว่างบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRUE และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ DTAC 

 

พ.ต.อ. ประเวศน์ มูลประมุข เลขานุการประจำประธาน กสทช. แถลงข่าว เนื่องจากที่มีกระแสข่าวออกมาอย่างต่อเนื่องเกี่ยวกับการดำเนินการในการปฏิบัติหน้าที่ของ กสทช. และสำนักงาน กสทช. เกี่ยวกับประเด็นเรื่องการคุ้มครองผู้บริโภคกรณีการควบรวม TRUE และ DTAC 

 

กสทช. เรียกผู้บริหารเข้ามาสอบถามข้อเท็จจริง

 

ส่วนเรื่องดำเนินการติดตามการควบรวม TRUE และ DTAC ทาง กสทช. ได้เรียกผู้บริหารที่เกี่ยวข้องเข้ามาสอบถามข้อเท็จจริงและลำดับความเป็นมาแล้ว เพื่อตรวจสอบว่าได้ดำเนินการครบถ้วนตามกระบวนการที่กำหนดไว้หรือไม่ และผลการดำเนินการเป็นอย่างไร รวมถึงผลกระทบต่อผู้บริโภค ซึ่งก็ได้มีการพูดคุยกันและได้ข้อเท็จจริงออกมา 

 

ยืนยันไม่ได้แก้ตัว-ตอบโต้กระแสข่าว

 

ทั้งนี้ ยืนยันว่าการออกมาแถลงข่าวครั้งนี้ไม่ใช่การแถลงแก้ตัวหรือตอบโต้กระแสข่าวแต่อย่างใด แต่เป็นการแถลงข้อเท็จจริง เพราะมีข้อมูลที่ตรวจสอบได้ชัดเจนและสามารถเปิดเผยได้

 

พ.ต.อ. ประเวศน์ กล่าวอีกว่า กระบวนการติดตามการดำเนินการควบรวมของ TRUE และ DTAC ซึ่งหลังจากที่มีการควบรวมของทั้งสองบริษัทตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2566 เป็นต้นมา ทาง กสทช. ได้กำหนดเงื่อนไขให้บริษัทต้องดำเนินการทั้งก่อนและหลังควบรวม รวมทั้งมีการติดตามประเมินผลรวมทั้งสิ้น 19 ข้อ และที่ผ่านมาจากการตรวจสอบติดตามพบว่า บริษัทได้ดำเนินการในส่วนที่ต้องดำเนินการภายในระยะเวลาที่กำหนด แต่มีเพียงเรื่องเดียวที่กำหนดให้ว่าจ้างที่ปรึกษา ซึ่งปัจจุบันยังไม่สามารถว่าจ้างที่ปรึกษาที่จะมาประเมินเรื่องราคาหรือคุณสมบัติหรือคุณภาพต่างๆ ตามเงื่อนไขได้ 

 

ส่วนกรณีที่ก่อนหน้านี้ที่การประชุมบอร์ด กสทช. ล่ม 6 ครั้งนั้น พ.ต.อ. ประเวศน์ กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ประธาน กสทช. ได้ทำหนังสือถึง กสทช. ทุกคนว่าในช่วงเดือนสุดท้ายของปีมีเรื่องที่ยังค้างจำนวนมาก ดังนั้นขอให้ กสทช. ทำตัวให้ว่างเพื่อเร่งประชุมวาระที่ค้างให้หมดภายในปีนี้ และได้กำหนดให้สัปดาห์หน้าก็จะมีการประชุมอีก 2 ครั้ง ซึ่งคาดว่าน่าจะมาครบองค์ประชุม เพราะยังไม่มีใครแจ้งติดธุระในช่วงนี้

 

ยืนยันประธาน กสทช. ไม่ขาดคุณสมบัติ 

 

ส่วนประเด็นการขาดคุณสมบัติของประธาน กสทช. ยืนยันว่าไม่ขาดคุณสมบัติ ส่วนประเด็นนี้จะทำให้การดำเนินงานของ กสทช. ติดขัดหรือไม่ เชื่อว่าเมื่อเป็นข่าวแล้วและทุกคนรู้หน้าที่ของตนเอง การประชุมก็จะไม่ล่ม

 

ยืนยันว่าบริษัทได้ทำตามมาตรฐานเงื่อนไขที่กำหนด 

 

ด้าน ไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รองเลขาธิการและรักษาการเลขาธิการ กสทช. ชี้แจงใน 3 เรื่องหลักๆ ที่มีกระแสถูกพูดถึง โดยเรื่องแรกคือเรื่องอัตราค่าบริการที่ กสทช. กำหนดมาตรการและเงื่อนไขว่า หลังควบรวมกิจการ ทางบริษัทจะต้องลดอัตราค่าบริการเฉลี่ยลดลง 12% ภายใน 90 วัน ซึ่งทางทรูก็ได้ส่งข้อมูลมา กสทช. ให้ตรวจ โดย กสทช. ก็ได้สุ่มตรวจ ยืนยันว่าบริษัทได้ทำตามมาตรฐานเงื่อนไขที่กำหนด แต่เงื่อนไขที่ให้คงแพ็กเกจเดิมราคาต่ำสุดไว้ แต่มีการร้องเรียนว่าแพ็กเกจราคาต่ำที่สุดได้หายไปนั้น

 

จากการตรวจสอบพบแพ็กเกจยังคงอยู่ เพียงแต่ลูกค้าที่เคยใช้บริการแพ็กเกจ เมื่อครบกำหนดการใช้แพ็กเกจ จึงมีการสอบถามว่าใช้แพ็กเกจเดิมหรือไม่ หรือจะเปลี่ยนไปใช้แพ็กเกจที่ทางค่ายเสนอ แต่ลูกค้าเดิมส่วนใหญ่เลือกเปลี่ยนแพ็กเกจ ส่วนที่ลูกค้าบอกว่าไม่พบแพ็กเกจดังกล่าวนั้น ทางค่ายแจ้งว่า เนื่องจากลูกค้าไม่ได้มีการสอบถามถึงแพ็กเกจ ค่ายจึงไม่ได้นำเสนอ และยืนยันว่าไม่ได้มีการบังคับให้ลูกค้าซื้อแพ็กเกจแต่อย่างใด 

 

บางพื้นที่สัญญาณอินเทอร์เน็ตลดลงจริง 

 

เรื่องที่สองคือ คุณภาพสัญญาณ ตามเงื่อนไขที่ กสทช. ระบุไว้ว่า บริษัทจะต้องไม่ลดจำนวนระบบสื่อสัญญาณจากเดิม เพื่อรักษาคุณภาพการให้บริการไม่ต่ำกว่าเดิม ทั้งนี้ ที่พบว่าคุณภาพสัญญาณในบางพื้นที่ลดลงนั้น เนื่องจากหลังจากสองบริษัทควบรวมกันได้มีการเลือกใช้เสาสัญญาณที่ดีที่สุดในพื้นที่นั้นๆ โดยการเคลื่อนจากอีกเสามารวมเป็นเสาเดียวกันและยุบบางเสาลง โดยไม่ได้แจ้งผู้ใช้บริการให้ทราบก่อน ทำให้อาจส่งผลกระทบกับบางพื้นที่สัญญาณอินเทอร์เน็ตลดลงจริง แต่โดยภาพรวมทั้งหมดไม่พบว่าสัญญาณลดลง แต่ทั้งนี้ กสทช. ได้แจ้งไปยังบริษัทแล้วว่าควรแจ้งลูกค้าก่อนจะเคลื่อน

 

กสทช. ตรวจสอบตามที่คณะอนุกรรมการให้แก้ไขแล้ว

 

และเรื่องที่สามคือ การว่าจ้างที่ปรึกษา ทางบริษัทได้ส่งเรื่องมาที่ กสทช. แล้ว และ กสทช. ได้นำเรื่องเข้าบอร์ด กสทช. เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2566 อนุมัติในหลักการคร่าวๆ หลังจากนั้นมติบอร์ดได้ให้ส่งเรื่องมาที่คณะอนุกรรมการให้ดำเนินการทำรายละเอียด TOR ให้ชัดเจน ซึ่งบริษัทได้ส่งมาภายในระยะเวลาที่กำหนด แต่คณะอนุกรรมการปรับ TOR แก้ไขและส่งกลับไปให้กับทางบริษัท ในระหว่างที่บริษัททำ TOR ใหม่นั้น ระยะการปฏิบัติหน้าที่ของคณะอนุกรรมการได้หมดลงเมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายนที่ผ่านมา 

 

โดยบริษัทได้ส่งเรื่องกลับมาให้ กสทช. ตรวจสอบตามที่คณะอนุกรรมการให้แก้ไขคือวันที่ 16 พฤศจิกายน 2566 ซึ่งอยู่ในกรอบระยะเวลาที่กำหนด ทำให้ยังไม่ได้มีการเรียกประชุมอีก เนื่องจากคณะอนุกรรมการหมดวาระลงแล้ว ทำให้เรื่องยังค้างอยู่ที่คณะอนุกรรมการ โดยตามเงื่อนไขคือบริษัทต้องส่งการดำเนินงานมาที่ กสทช. หลังจาก 6 เดือนที่มีการควบรวมกิจการคือวันที่ 30 กันยายน 2566 ซึ่งในระหว่างนั้น กสทช. ได้ประสานกับผู้ประกอบการมาโดยตลอดทุกเรื่อง แต่หลังจากวันที่ 30 กันยายน บริษัทใช้เวลา 1 เดือนในการรวบรวมข้อมูลทั้งหมดและส่งมาที่ กสทช. เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน  2566 

 

และสำนักงาน กสทช. ได้นำเรื่องส่งไปที่คณะอนุกรรมการก่อนเสนอเรื่องเข้าบอร์ด กสทช. ซึ่งในวันพรุ่งนี้จะมีการเสนอ 2 ประเด็นเข้าที่ประชุมบอร์ดก่อนคือ เรื่องการลดราคาเฉลี่ย 12% และเรื่องนวัตกรรมต่างๆ ที่เป็นหนึ่งในเงื่อนไข ส่วนเรื่องอื่นๆ จะทยอยนำเข้าที่ประชุมบอร์ดตามมา เนื่องจากเรื่องยังค้างอยู่ที่คณะอนุกรรมการ

 

กสทช. ไม่ได้เพิกเฉย

 

ไตรรัตน์กล่าวว่า หลังควบรวมมีเรื่องร้องเรียนเข้ามาประมาณ 600 เรื่อง เป็นเรื่องเกี่ยวกับคุณภาพสัญญาณเพียง 17 เรื่อง นอกนั้นเป็นเรื่องปัญหาอื่นๆ 

 

ทั้งนี้ ย้ำว่าหลังมีการควบรวม กสทช. ไม่ได้เพิกเฉย ยังคงคอยติดตามตรวจสอบเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคอยู่แล้ว พร้อมยืนยันว่าอะไรที่ทำให้ผู้บริโภคเดือดร้อน กสทช. ไม่คิดจะทำ เพียงแต่ข้อมูลที่นำไปเปิดเผยบางอย่างอาจจะมีการทำให้เกิดการเข้าใจผิดกันได้

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X