×

กสทช. จ่อยกเลิกการคิดค่าบริการโทร ‘ในเครือข่าย’ และ ‘นอกเครือข่าย’ ต่างกัน ชี้ไม่เป็นธรรมกับผู้บริโภค

โดย THE STANDARD TEAM
28.09.2020
  • LOADING...

รายงานข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ระบุว่า ในการประชุม กสทช. ครั้งล่าสุดเมื่อวันพุธที่ 23 กันยายน 2563 กสทช. ได้แจ้งให้ที่ประชุมทราบเรื่องคำสั่งศาลปกครองสูงสุด ที่อนุญาตให้ผู้ประกอบการที่ฟ้องคดี 4 รายถอนอุทธรณ์และให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ กรณีที่ฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่ง กทช. ที่ 19/2553 เรื่อง ห้ามเรียกเก็บค่าบริการในกิจการโทรคมนาคมจากผู้ใช้บริการในอัตราที่แตกต่างกันสำหรับบริการโทรคมนาคมลักษณะหรือประเภทเดียวกัน ลงวันที่ 14 กรกฎาคม 2553 ขณะเดียวกันผู้ประกอบการก็ขอให้ กสทช. พิจารณาทบทวนคำสั่ง กทช. ดังกล่าวแทน

 

กรณีข้อพิพาทดังกล่าวสืบเนื่องจากในสมัยคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) ได้เคยมีคำสั่งห้ามผู้รับใบอนุญาตดำเนินการจัดทำรายการส่งเสริมการขายในลักษณะที่มีการเรียกเก็บค่าใช้บริการโทรคมนาคมจากผู้ใช้บริการของตนในอัตราที่แตกต่างกัน สำหรับการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ภายในโครงข่าย (On-net) และการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ระหว่างโครงข่าย (Off-net) โดยหากพบว่าผู้ประกอบกิจการรายใดฝ่าฝืน ให้สำนักงาน กสทช. กำหนดมาตรการบังคับทางปกครองเพื่อให้ผู้ประกอบกิจการปฏิบัติตามที่กฎหมายกำหนดโดยเคร่งครัด 

 

อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากที่ กทช. ออกคำสั่งดังกล่าว ได้มีผู้ประกอบกิจการ 4 ราย ได้แก่ บริษัท ทรู มูฟ จำกัด, บริษัท ดิจิตอล โฟน จำกัด, บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) ฟ้องคดีต่อศาลปกครองกลาง โดยขอให้เพิกถอนคำสั่งของ กทช. 

 

ต่อมาศาลปกครองกลางพิพากษายกฟ้อง โดยเห็นว่าคำสั่งดังกล่าว ‘ชอบด้วยกฎหมาย’ ผู้ฟ้องคดีจึงได้ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาศาลปกครองกลางต่อศาลปกครองสูงสุด แต่ต่อมาก็ได้ขอถอนอุทธรณ์ และทำหนังสือขอให้ กสทช. พิจารณาทบทวนคำสั่ง กทช.

 

ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการ กสทช. ด้านการคุ้มครองผู้บริโภคและส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของประชาชน เปิดเผยว่า การเรียกเก็บค่าบริการที่โทรในเครือข่ายเดียวกันกับที่โทรข้ามเครือข่ายในอัตราที่แตกต่างนั้น ถือเป็นการกระทำที่ขัดต่อมาตรา 57 ของพระราชบัญญัติการประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544 และข้อ 17 ของประกาศ กทช. เรื่องอัตราขั้นสูงของค่าบริการและการเรียกเก็บเงินค่าบริการล่วงหน้าในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2549 

 

อีกทั้งศาลปกครองกลางก็ได้มีคำพิพากษาชี้ขาดไปแล้วว่าการออกคำสั่งของ กทช. ชอบด้วยกฎหมาย ดังนั้นผู้ประกอบการทุกรายจึงต้องอยู่ใต้บังคับตามประกาศดังกล่าว จึงเป็นหน้าที่ของสำนักงาน กสทช. ที่จะต้องไปตรวจสอบรายการส่งเสริมการขายที่มีอยู่ในตลาดว่าผิดกฎหมายหรือไม่ หากพบว่ามีการกระทำฝ่าฝืน ก็ต้องดำเนินการบังคับทางปกครองต่อไป

 

ประวิทย์กล่าวว่า ข้อกฎหมายนี้ถูกกำหนดขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ ‘คุ้มครองประโยชน์ของผู้บริโภค’ ในเรื่องของการมีเสรีภาพในการติดต่อสื่อสารได้อย่างทั่วถึง โดยไม่ต้องคำนึงว่าเป็นการใช้บริการโทรศัพท์มือถือในโครงข่ายเดียวกันหรือต่างกัน หรือเกิดข้อจำกัดหากเป็นการใช้บริการข้ามโครงข่าย 

 

อีกทั้งยังเป็นการป้องกันไม่ให้ผู้ประกอบการคิดค่าบริการในลักษณะที่เป็นการกีดกันทางการค้าหรือบิดเบือนการกำหนดราคาเพื่อสร้างอำนาจผูกขาดในตลาด โดยเฉพาะการกีดกันผู้ประกอบการรายย่อยหรือรายใหม่ให้ไม่สามารถแข่งขันในตลาดโทรคมนาคมได้ 

 

ส่วนข้อเสนอของผู้ประกอบการที่ต้องการให้มีการทบทวนกติกาให้สามารถกำหนดอัตราค่าบริการที่แตกต่างกันได้นั้น เป็นเรื่องที่ต้องรับฟังความเห็นอย่างรอบด้านถึงผลดีผลเสีย รวมทั้งคำนึงถึงผลกระทบด้านการแข่งขันของผู้ประกอบการในตลาดโทรคมนาคม เพื่อไม่ให้เกิดการผูกขาด

 

“หากจะมีการกำหนดอัตราค่าบริการที่แตกต่างกัน ก็เป็นหน้าที่ของผู้ให้บริการที่จะทำอย่างไรให้ผู้บริโภครู้ว่ากำลังจะใช้บริการโทรภายในเครือข่ายหรือนอกเครือข่าย เพราะถ้าผู้บริโภคไม่สามารถแยกความแตกต่างได้ ก็ไม่เป็นธรรมกับผู้บริโภค เพราะผู้บริโภคอาจเกิดความเข้าใจผิดว่ากำลังโทรในเครือข่ายซึ่งโทรฟรีหรืออัตราค่าบริการถูก จึงโทรนาน แต่ปรากฏว่าปลายสายย้ายค่ายไปแล้ว ทำให้กลายเป็นการโทรนอกเครือข่ายที่ต้องเสียค่าบริการแพง 

 

“นอกจากนี้ถ้าจะมีการอนุญาตให้สามารถกำหนดอัตราค่าบริการที่แตกต่างกันได้ ก็ต้องกำกับอัตราค่าบริการให้สอดคล้องกับต้นทุน ไม่ใช่ปล่อยให้กำหนดราคาแตกต่างกันได้โดยเสรี มิเช่นนั้นก็จะเกิด Network Effect เพราะทุกวันนี้มีการออกแพ็กเกจโทรฟรีในเครือข่าย ส่วนนอกเครือข่ายคิดราคาเต็ม ซึ่งทำให้ราคาค่าบริการแตกต่างกันหลายเท่าตัว เมื่อเป็นเช่นนี้รายเล็กก็จะแข่งขันสู้รายใหญ่ไม่ได้ และก็จะล้มหายตายจากตลาดกันหมด” ประวิทย์กล่าว

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising