วันนี้ (2 สิงหาคม) รศ. พญ.ดุจใจ ชัยวานิชศิริ ผู้อำนวยการศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย เปิดเผยว่า โลหิตที่ได้รับบริจาคทุกยูนิตจะได้รับการตรวจคัดกรองทางห้องปฏิบัติการให้ได้โลหิตที่มีคุณภาพและความปลอดภัยสูงสุดตามมาตรฐานสากล เพื่อนำไปใช้รักษาผู้ป่วย ซึ่งการให้โลหิตแก่ผู้ป่วยจำเป็นต้องพิจารณาหมู่โลหิตเบื้องต้น 2 ชนิดที่ต้องให้ตรงกันหรือเข้ากันได้ ได้แก่ หมู่โลหิตระบบ ABO และ Rh จึงจะปลอดภัยที่สุด
ทั้งนี้ในระบบ Rh ซึ่งถูกกำหนดโดยสารแอนติเจน D ที่อยู่บนผิวเซลล์เม็ดเลือดแดง (D antigen) คนที่มีสารแอนติเจน D บนผิวเซลล์เม็ดเลือดแดงจะเป็นหมู่โลหิตอาร์เอชบวก (Rh-positive) ส่วนคนที่ไม่มีสารแอนติเจน D อยู่บนผิวเซลล์เม็ดเลือดแดงจะเป็นหมู่โลหิตอาร์เอชลบ (Rh-negative) ซึ่งจัดเป็นโลหิตหมู่พิเศษหรือหายาก เป็นหมู่โลหิตที่พบน้อยมาก ในคนไทย 1,000 คนจะพบเพียง 3 คน หรือร้อยละ 0.3 เท่านั้น
และหากผู้ที่มีหมู่โลหิต Rh-negative เมื่อต้องรับโลหิตเพื่อการรักษาจำเป็นจะต้องได้รับหมู่โลหิต Rh-negative ด้วยกันเท่านั้น แต่ปัจจุบันพบว่า เมื่อศึกษาลึกถึงระดับโมเลกุลในกลุ่มคนที่มีหมู่โลหิตอาร์เอชลบ บางคนมีแอนติเจนชนิด ‘Rh+ (Asian-type DEL)’ หรือหมู่โลหิตอาร์เอชเดลชนิดเอเชียน ซึ่งพบได้ในกลุ่มคนเอเชียที่มีหมู่โลหิต Rh-negative ร้อยละ 15
ด้วยความก้าวหน้าทางวิทยาการในปี พ.ศ. 2561-2565 ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย ได้ศึกษาวิจัยเพื่อพัฒนาการตรวจหาหมู่โลหิตพิเศษ Rh+ (Asian-type DEL) ในผู้บริจาค ซึ่งเดิมการตรวจในห้องปฏิบัติการทั่วไปไม่สามารถตรวจพบได้ แต่ด้วยวิธีตรวจแบบใหม่จะมีโอกาสถูกตรวจพบว่าเป็นหมู่โลหิตพิเศษ Rh+ (Asian-type DEL) นอกจากจะช่วยให้ผู้ป่วยได้รับโลหิตที่มีความเหมาะสมมากขึ้น ยังช่วยลดความเสี่ยงและเพิ่มความปลอดภัยในการรักษา
จึงขอเชิญชวนผู้บริจาคโลหิตหมู่พิเศษ Rh-negative และผู้บริจาคโลหิตทุกท่าน ร่วมบริจาคโลหิต ณ ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ และภาคบริการโลหิตแห่งชาติ 12 แห่งทั่วประเทศ โดยโลหิตที่ได้รับบริจาคทุกยูนิตจะได้รับการตรวจหาหมู่โลหิตพิเศษ Rh+ (Asian-type DEL) ตั้งแต่บัดนี้ เป็นต้นไป
อ้างอิง: