×

NBA Restart: การกลับมาอีกครั้งที่ Disney World พร้อมเครื่องหมายคำถามตัวโต

10.07.2020
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

5 mins. read
  • บาสเกตบอล NBA จะกลับมาทำการแข่งอีกครั้งที่ดิสนีย์เวิลด์ ฟลอริดา ด้วยเหตุผลเรื่องความพร้อมของสถานที่ ซึ่งมีทั้งที่พักและสนามแข่งขันที่เพียงพอ
  • ทีมที่กลับมาทำการแข่งมีทั้งสิ้น 22 ทีม เพื่อชิงโควตาในการเพลย์ออฟ 16 ที่
  • ปัญหาอยู่ที่สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ในฟลอริดาเพิ่มสูงมาก ทำให้นักกีฬามีความกังวลเกี่ยวกับความปลอดภัยของตัวเอง และยังต้องห่างจากครอบครัวเป็นเวลานานหลายเดือน

จากไอเดียที่เหมือนเป็นการพูดกันเล่นๆ แต่วันนี้การแข่งขันบาสเกตบอล NBA กำลังจะเกิดขึ้นที่ดิสนีย์เวิลด์ ฟลอริดา จริงๆ! โดยทีมที่จะเข้าร่วมการแข่งขันต่างพากันเดินทางมาเก็บตัวใน ‘Bubble’ หรือแคมป์เก็บตัวกันเป็นที่เรียบร้อย ก่อนที่จะเริ่มการแข่งขันภายในช่วงสิ้นเดือนนี้ หลังพักการแข่งมายาวนานกว่า 4 เดือน

 

ว่าแต่มิกกี้เมาส์และเหล่าผองเพื่อนเข้ามาเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ได้อย่างไร

 

แนวคิดของการจัดการแข่งขันที่ดิสนีย์เวิลด์นั้นเกิดขึ้นจากนักเขียนอเมริกันเกมรายหนึ่งที่เสนอไอเดียว่า หาก NBA อยากจะกลับมาทำการแข่งขันให้ได้จริงๆ ท่ามกลางสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ที่ยังไม่มีทีท่าว่าจะลดลงจนมั่นใจได้ถึงความปลอดภัยมากพอ พวกเขาต้องหาสถานที่ที่สามารถรองรับคนจำนวนมากและมีสนามที่สามารถจัดการแข่งขันได้

 

โชคดีที่สถานที่แห่งนั้นมีอยู่จริงคือดิสนีย์เวิลด์ ฟลอริดา มีพื้นที่ส่วนที่เรียกว่า ESPN Wide World of Sports Complex ซึ่งมีเนื้อที่ 220 เอเคอร์ มีสนามแข่งขันในแบบ ‘อารีนา’ 3 แห่ง และที่สำคัญคือมีโรงแรมที่พักพร้อมรองรับคนจำนวนมากของทีมบาสเกตบอลแต่ละทีมได้ไม่ยาก

 

ไอเดียที่เริ่มจากจุดเล็กๆ ดังกล่าวจึงได้รับความสนใจจากทางฝ่ายบริหารของ NBA และได้มีการเริ่มต้นแผนการที่จะกลับมาทำการแข่งขันอีกครั้งที่ดิสนีย์​เวิลด์ ฟลอริดา ก่อนจะมีการกำหนดมาตรการต่างๆ เป็นคู่มือที่มีความหนาถึง 113 หน้า

 

อย่างไรก็ดี เพื่อให้การจัดการแข่งขันเดินหน้าไปด้วยความเหมาะสม ทำให้มีการลดจำนวนทีมที่จะเข้าร่วมแข่งขันลงจากเดิม 30 ทีมเหลือเพียง 22 ทีม จาก 2 คอนเฟอเรนซ์ ให้เหลือเพียงทีมที่อยู่ในกลุ่มที่ได้สิทธิ์แข่งในรอบเพลย์ออฟและกลุ่มที่ยังได้ลุ้นเข้ารอบเพลย์ออฟอยู่

 

ขณะที่รายละเอียดอื่นๆ ที่น่าสนใจมีดังนี้

 

อารีนาใน ESPN Wide World of Sports Complex ใช้จัดการแข่งขันระดับอาชีพสบายๆ

 

กำหนดการแข่งขันจะเป็นอย่างไร

กำหนดการแข่งขันจริงๆ ยังไม่มีการเปิดเผย แต่เบื้องต้น NBA จะพยายามยึดโปรแกรมการแข่งขันตามเดิมให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ โดยกำหนดการคร่าวๆ ประกอบไปด้วย

 

30 มิ.ย. – 7 ก.ค. ซ้อมเดี่ยวช่วงแรก

ช่วงการเตรียมความพร้อมของนักกีฬาด้วยการซ้อมแบบแยกเดี่ยว ไม่มีการซ้อมทีม

 

7-11 ก.ค. เดินทางถึงแคมปัส

ทีมเดินทางมายังออร์แลนโดด้วยรถบัสหรือเที่ยวบินเหมาลำ และเมื่อมาถึงแล้วจะต้องพักในห้องของตัวเองจนกว่าจะได้รับการตรวจหาเชื้อและผลเป็นลบ

 

9-29 ก.ค. ซ้อมในแคมป์

เก็บตัวซ้อมในแคมป์ที่ออร์แลนโด ถึงช่วงนี้สามารถลงซ้อมแบบกลุ่มได้ โดยจะมีการตรวจหาเชื้ออย่างสม่ำเสมอ ผู้เล่นทุกคนจะต้องอยู่ในแคมปัส หากใครออกไปนอกแคมปัสจะต้องได้รับการตรวจเป็นพิเศษและอาจต้องกักตัว 10-14 วัน 

 

ระหว่างนี้แต่ละทีมจะมีเกมอุ่นเครื่อง (Scrimmages) กับทีมอื่นๆ ที่พักในโรงแรมเดียวกัน โดยจะอนุญาตให้มีการอุ่นเครื่องได้ทีมละ 3 ครั้งในช่วงวันที่ 22-28 กรกฎาคม

 

30 ก.ค.-14 ส.ค. Seeding Games 

แต่ละทีมจะลงแข่งตามโปรแกรม Regular Season ทีมละ 8 เกม โดยทีมใดที่ไม่ผ่านเข้ารอบจะต้องออกจากแคมปัสทันที 

 

15-16 ส.ค. ทัวร์นาเมนต์ Play-in

ปัญหาอยู่การหาทีมอันดับ 8 ของแต่ละคอนเฟอเรนซ์ โดยกติกาคือหากทีมอันดับที่ 8 มีผลงานชนะมากกว่าทีมอันดับ 9 ขาดเกิน 4 นัด ให้ถือว่าทีมอันดับ 8 ได้สิทธิ์เข้ารอบเพลย์ออฟ แต่หากผลงานชนะห่างกันแค่ 4 นัดหรือน้อยกว่า จะต้องมีเกม Play-in หรือเกมชิงดำระหว่างทีมอันดับ 8 และ 9 

 

โดยทีมอันดับ 9 จะต้องเอาชนะทีมอันดับ 8 ให้ได้ 2 เกมจึงจะได้เข้ารอบ

 

17 ส.ค. เริ่มการแข่งรอบ Play-off

ในรอบเพลย์ออฟจะเป็นการแข่งขันในรูปแบบปกติของ NBA ทีมใดชนะ 4 เกมก่อนจะได้เข้ารอบต่อไป

 

30 ส.ค. ครอบครัว/แขกของทีมเดินทางถึงแคมปัส

31 ส.ค. – 13 ก.ย. รอบรองชนะเลิศคอนเฟอเรนซ์

15-28 ก.ย. รอบชิงชนะเลิศคอนเฟอเรนซ์

30 ก.ย. – 13 ต.ค. NBA Finals

 

ทีมที่เข้าร่วมแข่งขันมีใครบ้าง

สำหรับทีมที่ได้ ‘รับเชิญ’ ให้เข้าร่วมแข่งขันนั้นมีทั้งสิ้น 22 ทีม โดยดูจากโอกาสในการได้ลุ้นเข้ารอบเพลย์ออฟ ได้แก่

 

สายตะวันตก (Western Conference) 13 ทีม

ลอสแอนเจลิส เลเกอร์ส, ลอสแอนเจลิส คลิปเปอร์ส, เดนเวอร์ นักเก็ตส์, ยูทาห์ แจซซ์, โอคลาโฮมา ซิตี้ ธันเดอร์, ฮุสตัน ร็อกเก็ตส์, ดัลลัส แมฟเวอริกส์, เมมฟิส กรีซลีส์, พอร์ตแลนด์ เทรลเบลเซอร์ส, นิวอิงแลนด์ เพลิแคนส์, ซาคราเมนโต คิงส์, ซาน อันโตนิโอ สเปอร์ส, ฟีนิกซ์ ซันส์

 

สายตะวันออก (Eastern Conference) 9 ทีม

มิลวอกี้ บัคส์, โทรอนโต แรปเตอร์ส, บอสตัน เซลติกส์, ไมอามี ฮีต, อินเดียนา เพเซอร์ส, ฟิลาเดลเฟีย เซเวนตี้ซิกเซอร์ส, บรูกลิน เน็ตส์, ออร์แลนโด เมจิก, วอชิงตัน วิซาร์ดส

 

มาตรการการป้องกันโรคระบาด

สำหรับมาตรการในการป้องกันโรคระบาดนั้นไม่แตกต่างจากการแข่งขันกีฬาอื่น โดยตามรายงานที่เปิดเผยคือใครก็ตามไม่ว่าจะเป็นผู้เล่น สตาฟฟ์โค้ช สตาฟฟ์ทั่วไป ที่เข้ามาในแคมปัสจะต้องปฏิบัติตามมาตรการอย่างเคร่งครัดที่สุด โดยในขั้นแรกจะต้องกักตัว 48 ชั่วโมง และจะต้องเข้ารับการตรวจ 2 ครั้ง ซึ่งหากผลออกมาเป็นลบ 2 ครั้งจึงจะสามารถออกจากการกักตัวได้

 

นอกจากนี้แต่ละคนจะมีอุปกรณ์ติดตามตัวที่ส่งสัญญาณเตือนหากมีเข้าใกล้กันเกินไป, การบังคับให้สวมใส่หน้ากากหากอยู่ในพื้นที่ส่วนกลาง ฯลฯ

 

ส่วนเจ้าหน้าที่ของดิสนีย์จะไม่ต้องปฏิบัติตามมาตรการดังกล่าว แต่มีสิ่งที่ต้องปฏิบัติอย่างเคร่งครัด เช่น การสวมหน้ากาก สวมถุงมือ การตรวจวัดอุณหภูมิ เว้นระยะห่างอย่างน้อย 6 ฟุต และแม่บ้านจะไม่ได้รับอนุญาตให้ทำความสะอาดในเวลาเดียวกับที่นักกีฬายังอยู่ในห้อง

 

หากผู้เล่นติดเชื้อโควิด-19 จะทำอย่างไร
ใครก็ตามที่ทดสอบแล้วพบว่าติดเชื้อโควิด-19 จะถูกกักตัวอย่างน้อย 7 วัน โดยทีมมีสิทธิ์ในการจะเปลี่ยนผู้เล่นคนอื่นเข้ามาแทนได้ (ในกรณีเดียวกับผู้เล่นบาดเจ็บ) แต่คนที่ถูกเปลี่ยนออกจากทีมจะไม่มีสิทธิ์กลับเข้ามาในแคมปัสอีก

 

สำหรับคนที่กักตัวและกลับมาทำการทดสอบแล้วพบว่าไม่มีเชื้อแล้ว จะสามารถกลับมาทำกิจกรรมได้ตามปกติ

 

อดัม ซิลเวอร์ พยายามออกแบบรูปแบบ ระบบ และมาตรการต่างๆ อย่างดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้เพื่อให้ NBA กลับมาแข่งได้

 

ทางด้าน อดัม ซิลเวอร์ ประธาน NBA กล่าวถึงมาตรการและแผนการต่างๆ ว่า “มันเป็นสภาพแวดล้อมที่ได้รับการปกป้องอย่างดี แต่ไวรัสชนิดนี้ทำให้เราต้องระมัดระวัง ดังนั้นผมจะไม่แสดงความมั่นใจอะไรมากไปกว่าการจะบอกแค่ว่าเราจะปฏิบัติตามมาตรการ และเราหวังว่าสิ่งที่เราออกแบบจะได้ผลดี”

 

แต่สิ่งที่มีการออกแบบมาอย่างดีนั้น ในความเป็นจริงแล้วมีสภาพไม่ต่างอะไรจากการที่จับนักกีฬาไปกักตัวรวมกัน ทำให้ต้องอยู่ห่างจากครอบครัวนานนับเดือน ขณะที่ในโลกภายนอก ‘สงครามโรค’ ยังไม่จบ โควิด-19 ในสหรัฐอเมริกายังระบาดอย่างหนัก รวมถึงในฟลอริดา ซึ่งเดิมตัวเลขผู้ติดเชื้อน้อย แต่เพิ่งมาเพิ่มอย่างมีนัยสำคัญในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งเรื่องนี้เป็นประเด็นที่ทุกฝ่ายแสดงความกังวลอย่างมาก

 

ถึงแม้จะไม่มีการบังคับให้นักกีฬาเดินทางมาในแคมปัส แต่ก็ไม่ใช่ทุกคนที่จะปฏิเสธที่จะทำหน้าที่ของตัวเอง

 

และต่อให้เข้ามาอยู่ใน Bubble แล้วในช่วงแรก ทดสอบแล้วไม่พบเชื้อ ก็ไม่ได้แปลว่าเชื้อจะไม่มีอยู่ ซึ่งหากเชื้อเริ่มแสดงอาการ นั่นหมายถึงพื้นที่ที่คิดว่าปลอดภัยที่สุดก็อาจเป็นพื้นที่ที่อันตรายที่สุดได้เช่นกัน

 

เหมือนกรณีของทีมฟุตบอลเอฟซี ดัลลัส ที่จะลงแข่งในรายการ MLS is Back Tournament หรือการรีสตาร์ทของเมเจอร์ลีกซอกเกอร์ที่จัดขึ้นในพื้นที่ของดิสนีย์เวิลด์เช่นกัน แต่ปรากฏว่ามีนักฟุตบอลติดเชื้อ 9-10 คน ทำให้ถูกสั่งให้ถอนตัวจากการแข่งขันทันที

 

สิ่งเหล่านี้เป็นเครื่องหมายคำถามและความท้าทายที่ NBA ต้องเผชิญในระหว่างนี้ไปจนกว่าการแข่งขันจะจบ ซึ่งหากให้ประเมินโดยเทียบการจัดการแข่งขันฟุตบอลหรือการแข่งขันอื่นในยุโรปแล้ว

 

อาการของ NBA (และเมเจอร์ลีกซอกเกอร์) น่าเป็นห่วงกว่ามาก และต้องเฝ้าดูอย่างใกล้ชิดว่ากีฬายัดห่วงอันดับหนึ่งของโลกจะกลับมาไหวไหม

 

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

อ้างอิง:

FYI
  • เพราะพรากนักกีฬาจากครอบครัวมานาน ทำให้ NBA ต้องจัดเตรียมความสะดวกสบายและความบันเทิงให้ ไม่ว่าจะเป็นช่างตัดผม เครื่องเกม ฯลฯ เพื่อลดความตึงเครียดจากการใช้ชีวิตในแคมปัส
  •  NBA ไม่มี Plan B รองรับในการย้ายสถานที่เก็บตัวและจัดการแข่งขัน
  • โรงแรมที่พักของทีมบาสเกตบอลมี 3 แห่งด้วยกันในนั้นคือ Gran Destino, Grand Floridian, Yacht Club โดย Gran Destino เป็นโรงแรมใหม่ที่สุดในดิสนีย์เวิลด์รีสอร์ต
  • สำหรับฤดูกาลหน้า 2020-21 ทาง NBA วางแผนว่าจะเริ่มภายในเดือนธันวาคมนี้
  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising