วันนี้ (9 เมษายน) ที่หอประชุมกองทัพเรือ ได้จัดการแถลงผลการสอบสวนข้อเท็จจริงกรณี เรือหลวงสุโขทัย ประสบอุบัติเหตุเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2565 ทำให้กำลังพลเสียชีวิต 24 นาย สูญหาย 5 นาย โดยมีพลเรือเอก อะดุง พันธุ์เอี่ยม ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.) พร้อมด้วยพลเรือตรี อภิรมย์ เงินบำรุง คณะทำงานผู้เชี่ยวชาญด้านเทคนิคและคณะกรรมการสอบสวนฯ, พลเรือเอก ชัยณรงค์ บุณยรัตกลิน คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดชอบทางละเมิด, พลเรือโท สุระศักดิ์ สิงขรวัฒน์ คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงทัพเรือภาคที่ 1 และนาวาโท พิชิตชัย เถื่อนนาดี อดีตผู้บังคับการเรือหลวงสุโขทัย ร่วมกันแถลง
โดยพลเรือเอก อะดุง ระบุว่า ขอแสดงความเสียใจอีกครั้งต่อครอบครัวผู้เสียชีวิตทั้ง 24 ราย และผู้สูญหาย 5 ราย ทั้งนี้ กองทัพเรือได้ทุ่มเทยุทโธปกรณ์และกำลังพลทั้งหมดในการค้นหาช่วยเหลือผู้ประสบเหตุตั้งแต่ช่วงแรกของเหตุการณ์ และไม่ละเลยในการค้นหาผู้สูญหายเมื่อมีโอกาส ตลอดจนดูแลครอบครัวผู้เสียชีวิตและสูญหายให้ได้รับการชดเชยทางการเงิน ได้รับยศที่สูงขึ้น รับบุตรและญาติเข้ารับราชการ
นับตั้งแต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น กองทัพเรือได้แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง 3 คณะ
- คณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงกรณีเรือหลวงสุโขทัยอับปาง ซึ่งเป็นคณะกรรมการที่แต่งตั้งขึ้นเป็นการเฉพาะเพื่อสอบสวนหาข้อเท็จจริง และสรุปบทเรียนเพื่อไม่ให้เกิดเหตุซ้ำ
- คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงทัพเรือภาคที่ 1
และ 3. คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความผิดทางละเมิด
โดยนำผลการสอบสวนเบื้องต้นมาใช้อย่างละเอียดตามข้อบังคับของกระทรวงกลาโหม เมื่อเกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สินของราชการอันเนื่องมาจากการกระทำอันละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2542
พลเรือเอก อะดุง ย้ำว่า คณะกรรมการสอบสวนแต่ละคณะมีความเป็นอิสระต่อกันในการพิจารณาและใช้วิจารณญาณ ทั้งนี้ เพื่อให้การสอบสวนข้อเท็จจริงเป็นไปอย่างรอบคอบ โปร่งใส และเป็นไปตามระเบียบแบบแผนที่ทางราชการกำหนด เพื่อตรวจสอบให้ได้ครบในทุกมิติ กองทัพเรือมีความต้องการให้ได้วัตถุพยานจริง และตั้งใจที่จะกู้เรือขึ้นมาทั้งลำ แต่เนื่องจากการกู้เรือในความลึก 50 เมตร และกองทัพเรือมีความต้องการนำขึ้นมาทั้งลำโดยไม่มีความเสียหายใดๆ รวมทั้งให้ความสำคัญกับความปลอดภัยของทีมกู้เรือไม่ให้มีการสูญเสียเกิดขึ้นอีกแม้แต่คนเดียว ทำให้เกิดข้อจำกัดหลายเรื่อง และไม่มีบริษัทใดผ่านเข้าเกณฑ์
และในช่วงเวลาเดียวกัน กองทัพเรือสหรัฐอเมริกามีหนังสือเกี่ยวกับยุทโธปกรณ์ที่ติดอยู่กับเรือ เมื่อเลือกบริษัทกู้เรือได้แล้วต้องได้รับความเห็นชอบของประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งใช้ระยะเวลา 6 เดือน เมื่อพิจารณาแล้วกองทัพเรือได้หารือกับกองทัพเรือสหรัฐอเมริกา และทางสหรัฐอเมริกายินดีจะช่วยเหลือในการตรวจสอบทุกประเด็น และค้นหาผู้เสียหายภายในเรือด้วย โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด
ดังนั้นกองทัพเรือจึงปรับเป็นการกู้เรือแบบจำกัดร่วมกับกองทัพเรือสหรัฐอเมริกา เพื่อเก็บภาพต่างๆ ใต้น้ำทั้งภายในและภายนอกตัวเรือตามจุดที่ได้จากการตรวจสอบเพื่อร่วมกันยืนยันสาเหตุการจม
โดยมีการสำรวจห้องที่เกี่ยวกับห้องของเรือที่มีส่วนในการจม ส่วนโทรศัพท์ไม่มีซิมการ์ดจึงไม่ปรากฏข้อมูล และกล้องบันทึกวงจรปิดได้นำส่งกองพิสูจน์หลักฐาน กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้รับคำตอบว่าเครื่องเล่นไม่สามารถอ่านได้เนื่องจากชำรุดมาก
ทั้งนี้ ฝ่ายสหรัฐฯ ได้มีหนังสือถึงกองทัพเรือและให้ความเห็นประกอบหลังจากได้ดำลงไปตรวจสอบเรือใต้น้ำแล้ว เรือหลวงสุโขทัยขณะนี้อยู่ในสถานะปลอดภัยที่พื้นท้องทะเล ทางฝ่ายสหรัฐฯ เชื่อว่าการยกเรือหรือจะย้ายจากจุดปัจจุบันจะเสี่ยงสูงต่อความไม่สำเร็จ และเสี่ยงต่อกำลังพล รวมทั้งมีค่าใช้จ่ายสูง
บัดนี้ คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงทุกคณะได้ดำเนินการเสร็จสิ้น และรายงานผลการสอบข้อเท็จจริงให้กองทัพเรือทราบแล้ว
สาเหตุของเรือหลวงสุโขทัยจมเพราะน้ำเข้าเรือ แบ่งได้ 2 กรณี คือ น้ำเข้าจากทางท้องเรือ ทำให้เรือจมลงไป เรียกว่าการสูญเสียกำลังลอยทำเรือจม กรณีที่ 2 น้ำเข้าเรือด้านบนเหนือจุดศูนย์ถ่วงของเรือ จะทำให้เรือเสียการทรงตัว เอียงแบบที่เรือหลวงสุโขทัยประสบในช่วงแรก ซึ่งการสำรวจก็มุ่งประเด็นที่ว่าทำไมเรือถึงเอียงก่อนที่จะจมลง ก็พบความเสียหายที่เกิดขึ้นหลายแห่ง
ตำแหน่งแรก แผ่นกันคลื่นหน้าป้อมปืน 76 มิลลิเมตรยุบตัวเพราะเจอคลื่นแรง จนดึงแผ่นเหล็กบนดาดฟ้าเปิด ทำให้เกิดเป็นช่องรูใหญ่พื้นที่ 1 ตารางนิ้ว
ตำแหน่งที่ 2 ความเสียหายของป้อมปืน 76 มิลลิเมตร เนื่องจากโดนวัตถุของแข็งกระแทก ซึ่งไม่พบหลักฐาน เพราะวัตถุที่ว่าไม่ติดค้างที่ป้อมปืน จึงบอกไม่ได้ว่าคืออะไร แต่เชื่อว่าโดนวัตถุขนาดใหญ่กระแทกแน่นอน เป็นช่องที่ทำให้น้ำเข้าเรือได้
ตำแหน่งที่ 3 รูทะลุบริเวณกงที่ 35 กราบซ้าย จำนวน 2 แห่ง สูงจากน้ำ 5 ฟุต โดนวัตถุภายนอกกระแทกเข้าไป รอยดังกล่าวไม่ได้เกิดที่ส่วนรอยเชื่อม จึงไม่ได้เกิดจากการซ่อมทำ ซึ่งรอยกระแทกดังกล่าวไม่พบวัตถุที่ตกค้างว่ากระแทกจากอะไร ทำเป็นรอยกว้างยาว 1 ฟุต กว้าง 3-4 นิ้ว มีพื้นที่ 80 ตารางนิ้ว
ตำแหน่งที่ 4 ประตูห้องกระชับเชือกที่อยู่ในลักษณะเปิด มีโอกาสที่น้ำจะเข้าได้เมื่อประตูเปิด
ตำแหน่งที่ 5 ประตูท้ายห้อง Gun Bay ด้านป้อมปืน 76 มิลลิเมตรที่ปิดไม่สนิท
ทั้งหมดนี้สรุปความเสียหายทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับการทำให้เรือเสียการทรงตัวและอับปาง
ส่วนลำดับเวลาที่เรือวิ่งจากอำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี ไปหาดทรายรี จังหวัดชุมพร แล้วเครื่องขัดข้องนั้น ซึ่งกรณีที่เรือเจอคลื่นสูงก็จะพบกรณีนี้อยู่บ้าง เนื่องจากน้ำมันที่อยู่ในถังสกปรก ไปชำระเศษฝุ่น อุดตันหัวฉีด ส่งผลให้หัวฉีดบางส่วนใช้การไม่ได้ ทำให้เครื่องยนต์ไม่สามารถรับภาระได้ อีกทั้งเรือหลวงสุโขทัยก็ใช้งานมามากกว่า 40 ปีแล้ว ซึ่งอยู่ในช่วงท้ายที่จะเข้าสู่การปลดประจำการ
ขณะที่พลเรือโท สุระศักดิ์ ระบุว่า ได้มีการสอบปากคำผู้ที่เกี่ยวข้อง ความพร้อมของเรือหลวงสุโขทัย ภายหลังการซ่อมในปี 2564 ได้ทดลองแล้วเป็นไปตามมาตรฐานที่กรมอู่ทหารเรือกำหนด และได้ออกปฏิบัติราชการตามปกติ การตรวจพบความชื้นบริเวณผนังห้อง Sonar ทางกราบซ้ายของตัวเรือเนื่องจากใช้ราชการมา 1 ปี 9 เดือน การซ่อมบำรุงของกรมอู่ทหารเรือเป็นไปด้วยความเรียบร้อยตามมาตรฐาน และขณะออกเรือเรือหลวงสุโขทัยก็มีความพร้อมในการปฏิบัติงาน
ด้านความเพียงพอของเสื้อชูชีพต่อจำนวนกำลังพลในเรือรวม 120 ตัวที่นำมาใช้ในราชการในเรือหลวงสุโขทัย การออกเรือครั้งนี้มีกำลังพลขึ้นเรือ 105 นาย เสื้อชูชีพจึงเพียงพอ และมีการประกาศให้กำลังพลสมทบมารับชูชีพแล้วจำนวน 3 ครั้ง แต่กำลังพลสมทบไม่ได้ไปรับ ขณะที่กำลังพลประจำเรือบางนายไม่มีชูชีพเพราะไม่ได้สวมตั้งแต่แรก เพราะเมื่อไปผนึกน้ำแล้วจึงไม่สามารถลงไปนำเสื้อชูชีพมาใช้ได้
ความพร้อมของแพชูชีพ โดยหลวงสุโขทัยมีแพชูชีพจำนวน 6 แพ อยู่ทางกราบซ้าย 3 แพ และทางกราบขวา 3 แพ ขณะเกิดเหตุกำลังพลสามารถปลดแพกราบขวาได้ 2 แพ ส่วนอีก 4 แพอยู่ในพื้นที่เสี่ยงอันตรายเข้าถึงได้ยาก แต่เมื่อเรืออับปางแพชูชีพทั้งหมดก็หลุดออกจากแท่นติดตั้ง
ความพร้อมของกำลังพล ผู้บังคับการเรือหลวงสุโขทัยพิจารณาว่า ภารกิจครั้งนี้ไม่ใช่ภารกิจในการรบเต็มรูปแบบ จึงจัดกำลังพลประจำเรือออกปฏิบัติราชการจำนวน 75 นาย จากจำนวน 100 นาย เพื่อจัดที่พักอาศัยบนเรือให้แก่กำลังพลจากหน่วยบัญชาการนาวิกโยธินและหน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่งจำนวน 30 นายที่โดยสารไปกับเรือ เมื่อถึงภาวะที่ต้องปฏิบัติงานในสภาพอากาศคลื่นลมที่รุนแรง ทำให้ประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานของกำลังพลลดลง ทั้งยังต้องป้องกันความเสียหายที่เกิดหลายสถานที่ในห้วงเวลาเดียวกัน จึงทำให้การป้องกันความเสียหายของเรือกระทำได้อย่างจำกัด
การป้องกันความเสียหายเรือหลวงสุโขทัยมีอุปกรณ์ป้องกันความเสียหายครบตามอัตราที่กำหนดและพร้อมใช้งาน เมื่อพบว่ามีน้ำเข้าเรือจนมีการสั่งการแก้ปัญหาด้วยการผนึกน้ำทันที แต่ไม่สามารถออกไปตรวจสอบความเสียหายภายนอกตัวเรือได้เนื่องจากสภาวะคลื่นลมแรง ทำให้ไม่ทราบความเสียหายภายนอกตัวเรือ ซึ่งกำลังพลของเรือหลวงสุโขทัยได้ทุ่มเทสรรพกำลังในการป้องกันความเสียหายเต็มที่สุดความสามารถเพื่อแก้ไขวิกฤต
ผลกระทบจากสภาพอากาศคลื่นลมในวันเกิดเหตุ สภาพอากาศแปรปรวนเปลี่ยนแปลงฉับพลัน จากที่มีการพยากรณ์ไว้ ซึ่งมีเรือขนาดใหญ่จำนวนหลายลำอับปางในห้วงเวลาใกล้เคียงกัน เป็นประเด็นสำคัญที่ทำให้เรืออับปางหลายลำ และมีน้ำเข้าเรือจนเป็นเหตุให้เรือโคลงมาก และเป็นอุปสรรคต่อการช่วยเหลือกำลังพลที่ประสบภัย จึงมีการสูญเสียกำลังพล
ส่วนการตัดสินใจนำเรือกลับฐานทัพสัตหีบของผู้บังคับการเรือหลวงสุโขทัยซึ่งมีระยะทางไกล ใช้เวลาในการเดินทางมากกว่านำเรือเข้าเทียบท่าเรือบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ โดยพิจารณาว่าคลื่นลมบริเวณหน้าท่าเรือมีความรุนแรง ซึ่งท่าเรือไม่สามารถเทียบท่า และไม่มีเรือลากจูงสนับสนุนการเทียบท่า การเข้าเทียบท่าอาจเป็นอันตรายต่อเรือ และในเวลานั้นผู้บังคับการเรือสุโขทัยยังไม่ทราบข้อมูลการฉีกขาดของแผ่นเหล็กกันคลื่นบริเวณหน้าป้อมปืน จึงเห็นว่าหากนำเรือกลับจะทุเลาความรุนแรง ซึ่งถือเป็นการตัดสินใจภายใต้ข้อมูลที่มีอยู่อย่างจำกัด ซึ่งผู้บังคับการเรือหลวงสุโขทัยเห็นว่าเป็นหนทางปฏิบัติที่ดีที่สุด
คณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงสรุปว่า กรณีเรือหลวงสุโขทัยอับปางไม่ได้เกิดจากความจงใจของผู้บังคับการเรือหลวงสุโขทัยรวมถึงกำลังพลบนเรือ แต่เกิดจากสภาพอากาศแปรปรวนอย่างฉับพลัน ทำให้เรือเกิดสภาวะผิดปกติและน้ำเข้าเรือ จากรูทะลุเป็นเหตุทำให้เรือเอียงและอับปาง การตัดสินใจนำเรือกลับฐานสัตหีบของผู้การเรือหลวงสุโขทัยซึ่งมีระยะทางไกลและใช้ระยะเวลาเดินทางมากกว่า เป็นดุลพินิจโดยขาดความรอบคอบทำให้เกิดความเสียหาย เชื่อว่าการอับปางของเรือหลวงสุโขทัยมีส่วนเกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่
ทั้งนี้ ในการใช้ดุลพินิจโดยขาดความรอบคอบจนทำให้เกิดความเสียหายของผู้บังคับการเรือหลวงสุโขทัยเป็นความผิดตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยวินัยทหาร พ.ศ. 2476 โดยเห็นสมควรลงทัณฑ์ ‘กัก’ เป็นเวลา 15 วัน ซึ่งทัพเรือภาคที่ 1 ได้ประเมินให้กองทัพเรือได้ดำเนินการทางวินัยกับผู้บังคับการเรือหลวงสุโขทัย แล้วส่งผลการพิจารณาให้คณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง ส่วนในความผิดทางอาญาอยู่ระหว่างการพิจารณาของพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอบางสะพานที่จะดำเนินการตามขั้นตอนของกระบวนการยุติธรรมต่อไป
ส่วนพลเรือเอก ชัยณรงค์ กล่าวถึงการตรวจสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดจากผลการสอบสวนว่า เหตุการณ์ดังกล่าวไม่ได้เกิดจากการจงใจ เนื่องจากเป็นเหตุสุดวิสัยจากสภาพอากาศทั้งสิ้น และการตัดสินใจของผู้การเรือในการหันหัวเรือกลับสัตหีบสามารถดำเนินการได้ ถือเป็นดุลพินิจของผู้การเรือหลวงสุโขทัย จึงไม่เข้าเงื่อนไขที่จะต้องรับผิดทางละเมิด ไม่ต้องชดใช้ค่าเสียหายทางแพ่งต่อความเสียหายที่เกิดขึ้น
จากนั้นพลเรือเอก อะดุง ได้กล่าวปิดท้ายการแถลงข่าว พร้อมทั้งชื่นชมอดีตผู้การเรือหลวงสุโขทัยว่าเป็นลูกผู้ชาย ใครไม่เป็นทหารไม่รู้ เพราะตั้งแต่เป็นนักเรียนเตรียมทหาร มาเป็นผู้การเรือต้องมีใจรัก ซึ่งการเป็นผู้การเรือเกรด A ของกองทัพเรือ เมื่อนำทัพทหารไปสูญเสีย ได้แสดงสปิริต ถ้าเขาไม่ลาออกก็ยังสามารถอยู่ได้ แต่ขอขอบคุณที่รักษากองทัพเรือไว้