×

นักกีฬาโอนสัญชาติ มุมมองอีกด้านของกลยุทธ์ที่ถูกครหา

16.05.2023
  • LOADING...
นักกีฬาโอนสัญชาติ

ซีเกมส์ 2023 ที่ประเทศกัมพูชากำลังจะจบลงในวันพุธที่ 17 พฤษภาคมนี้แล้ว ซึ่งการแข่งขันมหกรรมกีฬาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในคราวนี้มีประเด็นดราม่ามากมาย ทั้งเรื่องกีฬาท้องถิ่น, กุน ขแมร์ และปัญหาเรื่องการตัดสินที่อาจจะดูค้านสายตาไปอยู่บ้าง

 

แต่อีกหนึ่งเรื่องที่เป็นที่พูดถึงกันอย่างกว้างขวางคือประเด็นนักกีฬาโอนสัญชาติของชาติเจ้าภาพอย่างกัมพูชา ที่เลือกใช้วิธีนี้ในการพิชิตความสำเร็จและคว้าเหรียญรางวัลในกีฬาหลายประเภท เช่น บาสเกตบอล 3×3, แบดมินตัน, ไตรกีฬา, ยูโด และอื่นๆ

 

แน่นอนว่าวิธีการดังกล่าวไม่ใช่เรื่องที่สร้างความพึงพอใจให้กับคู่แข่งและแฟนกีฬาประเทศอื่นๆ มากสักเท่าไรนัก รวมไปถึงแฟนกีฬาชาวไทยด้วย

 

แบรนดอน เจอโรม ปีเตอร์สัน นักกีฬาบาสเกตบอลทีมชาติกัมพูชา ฉลองชัยชนะในเกมแรกของบาสเกตบอล 3×3 เหนือฟิลิปปินส์ ชาติมหาอำนาจของวงการบาสเกตบอลในภูมิภาคอาเซียน เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม ในการแข่งขันซีเกมส์ครั้งที่ 32 

 

การโอนสัญชาติไม่ใช่วิธีการที่ผิดแม้แต่ในวงการกีฬาสากล และเป็นวิธีการซึ่งสามารถทำได้และพบเห็นได้โดยทั่วไปในโลกกีฬา

 

แต่หากถามว่า ‘เป็นเรื่องที่เหมาะสมหรือไม่?’ เรื่องนี้ยากที่จะตอบ โดยเฉพาะเมื่อคุณเป็นคนนอกที่มองเข้าไปถึงวิธีการการทำงานของประเทศอื่นๆ

 

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าข้อเสียใหญ่ๆ ของการใช้นักกีฬาโอนสัญชาติที่มีฝีมือดีกว่านักกีฬาในประเทศของตัวเองที่สำคัญที่สุดคือ การตัดโอกาสของบรรดานักกีฬาดาวรุ่งในประเทศในการได้ลงแข่งขันเวทีระดับชาติที่พวกเขาควรจะได้รับ ซึ่งในขณะเดียวกันอาจเรียกได้ว่าเป็นการตัดโอกาสการพัฒนาของกีฬาชนิดนั้นๆ ไปพร้อมๆ กันเลยก็ได้

 


บู ซัมมัง นักกรีฑากัมพูชา แพ้ในสนาม แต่ชนะใจคนทั้งโลก ด้วยการวิ่งจนจบการแข่งขันประเภท 5,000 เมตรหญิง ท่ามกลางสายฝน แม้ว่าจะจบด้วยเวลาที่ช้ากว่าผู้ชนะถึง 6 นาที 

 

ขณะเดียวกันการใช้วิธีนี้ แม้จะได้ความสำเร็จในระยะสั้น แต่ก็จะทำได้ในการแข่งขันเวทีเล็กๆ เท่านั้น อย่างในซีเกมส์ซึ่งเป็นการแข่งขันระดับภูมิภาค หรือเต็มที่ก็ไม่เกินระดับทวีป หรือเอเชียนเกมส์ เพราะอย่างไรก็ตาม นักกีฬาระดับท็อปของโลกในกีฬาใดๆ ก็ยากที่จะเลือกโอนสัญชาติมารับใช้ชาติอื่นๆ

 

อย่างไรก็ตาม เหรียญไม่เคยมีด้านเดียว และการโอนสัญชาตินักกีฬาก็ไม่ใช่เรื่องใหม่ ซึ่งการทำแบบนี้ก็มีแง่ดีของมันเองเช่นกัน ทั้งเป็นเรื่องที่ดีต่อตัวนักกีฬา หรือแม้แต่แง่ดีของบรรดาชาติที่เลือกใช้นักกีฬาโอนสัญชาติ

 

หากย้อนไปในประวัติศาสตร์ ก่อนที่สหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (ฟีฟ่า) จะกำหนดให้นักเตะที่เล่นให้ชาติใดชาติหนึ่งไปแล้วไม่มีสิทธิ์ไปเล่นให้ชาติอื่นได้อีก ก็มีกรณีที่นักเตะโอนสัญชาติอยู่บ่อยครั้ง เช่น โอมาร์ ซิโวรี ที่เคยเล่นให้ทีมชาติอาร์เจนตินา ก่อนโอนสัญชาติมาเล่นให้อิตาลีในช่วงทศวรรษที่ 70 และอีกคนที่คล้ายๆ กัน คือ ไรมุนโด ‘มูโม่’ ออร์ซี ที่โอนสัญชาติจากทัพ ‘ฟ้าขาว’ มาคว้าแชมป์โลกกับ ‘อัซซูร์รี’ ในปี 1934

 

โอมาร์ ซิโวรี 

 

สำหรับกีฬาประเภททีมขนาดใหญ่อย่างฟุตบอล การมาของนักเตะเพียงไม่กี่คนเช่นนี้ไม่ได้เป็นการฉุดรั้งการพัฒนาใดๆ ของวงการฟุตบอลของพวกเขา ซึ่งนั่นก็พิสูจน์ได้จากการที่หลังจากนั้นอิตาลีคว้าแชมป์โลกได้อีกเป็นระยะ

 

ในขณะเดียวกัน สำหรับนักเตะทั้ง 2 คนที่ได้กล่าวมา การได้เล่นในนามทีมชาติอิตาลีและได้รับสัญชาติใหม่ เปิดโอกาสสำหรับพวกเขาเองให้ได้เล่นฟุตบอลในทวีปยุโรป หารายได้ที่มั่นคงได้มากขึ้นกว่าที่เล่นให้กับอาร์เจนตินา และแน่นอนว่ามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นจากการอยู่ในทวีปยุโรปด้วย

 

ซึ่งแม้กรณีนี้อาจเรียกได้ว่าแตกต่างจากกรณีของกัมพูชาค่อนข้างมาก แต่ก็พอจะชี้ให้เห็นอีกแง่มุมหนึ่งของการโอนสัญชาติ

 

ขณะที่อีกกรณีที่เรียกได้ว่า ‘คล้าย’ กับกรณีของกัมพูชามากกว่า คือการโอนสัญชาติของ เอเลนา รีบาคินา จากการเป็นนักเทนนิสสัญชาติรัสเซีย มาเป็นนักเทนนิสสัญชาติคาซัคสถาน ซึ่งกลายเป็นกรณีศึกษาของการเป็นนักกีฬาโอนสัญชาติที่ประสบความสำเร็จที่สุดครั้งหนึ่งในโลก

 

THE STANDARD เคยนำเสนอเรื่องราวเต็มๆ ของการโอนสัญชาติของรีบาคินาไปแล้วก่อนหน้านี้ อ่านแบบเต็มๆ ได้ที่: เอเลนา ริบาคินา กับแผนการสร้างกีฬาเทนนิสในประเทศคาซัคสถาน

 

อย่างไรก็ตาม หากจะสรุปสั้นๆ เกี่ยวกับการโอนสัญชาติของรีบาคินา ก็คงเรียกได้ว่าเป็นสถานการณ์ที่มีความ ‘Win-Win Situation’ สูงมาก

 

รีบาคินากลายเป็นนักเทนนิสที่ได้รับการผลักดันจากทางคาซัคสถาน ประเทศที่เธอโอนสัญชาติมาเล่นให้อย่างสูงมากชนิดที่ไม่มีทางได้รับจากทางการรัสเซีย ขณะเดียวกันทางด้านคาซัคสถานก็ใช้ชื่อของเธอพรีเซนต์ความเป็นประเทศ และเปลี่ยนแปลงภาพลักษณ์ของชาติที่หลายคนเชื่อว่าเป็นชาติที่คลั่งไคล้ฟุตบอล และบ้ากีฬาต่อสู้ หรือมีดีแค่นักยกน้ำหนัก ให้มีภาพลักษณ์ของประเทศที่มีนักเทนนิสที่ยอดเยี่ยมด้วย

 

นอกจากนั้นแล้ว การโอนสัญชาติและประสบความสำเร็จของรีบาคินายังนำมาซึ่งความนิยมในกีฬาเทนนิสที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างก้าวกระโดด หลังคนในชาติได้เห็นความสำเร็จของรีบาคินา (รวมไปถึง อเล็กซานเดอร์ บูบลิก) ในการแข่งขันเวทีระดับโลกต่างๆ ด้วย

 


เอเลนา รีบาคินา คว้าแชมป์วิมเบิลดันสมัยแรกได้สำเร็จเมื่อปี 2022 และกลายเป็นนักกีฬาจากคาซัคสถานคนแรกในประวัติศาสตร์ที่คว้าแชมป์ระดับแกรนด์สแลมได้สำเร็จ 

 

ความนิยมดังกล่าวกลายเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้สหพันธ์เทนนิสของคาซัคสถานสามารถผลักดันเรื่องสู่ ATP ในการเป็นเจ้าภาพเทนนิสอัสตานาโอเพน เทนนิส ATP 500 ที่มีมือระดับโลกมาร่วมชิงชัยกันเป็นประจำในช่วงฤดูใบไม้ร่วง และสร้างรายได้มหาศาลเข้าประเทศจากบรรดาแฟนเทนนิสที่สนใจ 

 

จะเห็นว่าเรื่องของรีบาคินาเป็นเรื่องที่มีกรณีคล้ายคลึงกับกัมพูชาในแง่ที่ว่า นักกีฬาซึ่งไม่ได้รับความสนใจจากชาติใหญ่ๆ เลือกโอนสัญชาติมาเล่นให้ชาติที่เล็กกว่า เพื่อผลประโยชน์ต่างตอบแทนบางอย่างเช่นกัน

 

แต่สิ่งที่ต่างกันคือคาซัคสถานมีความพยายามเอาจริงเอาจังในการพัฒนาวงการกีฬาเทนนิสของพวกเขา และผลักดันรีบาคินาจากที่มีฝีมือระดับหนึ่งอยู่แล้ว ให้กลายเป็นนักเทนนิสระดับที่สูงขึ้นไปได้ แน่นอนว่าในระยะเวลาที่ไล่เลี่ยกันพวกเขาอาจจะไม่มีนักกีฬาคนอื่นในประเทศที่ก้าวขึ้นไปในระดับเดียวกับที่รีบาคินาเป็น หรือได้รับการผลักดันระดับเดียวกับที่เธอได้รับ แต่สิ่งสำคัญที่คาซัคสถานจะได้รับกลับมาคือประโยชน์ในระยะยาวอย่างรายได้มหาศาลจากการนักท่องเที่ยว ที่เข้ามาชมการแข่งขันเทนนิสที่พวกเขาเป็นเจ้าภาพ

 

และยังมีผลพลอยได้สำคัญอย่างการที่รีบาคินาจะกลายเป็นตัวปลุกกระแส และเป็นตัวอย่างให้เด็กๆ และเยาวชนรุ่นต่อๆ ไปหันความสนใจมายังกีฬาเทนนิส ซึ่งอาจต่อยอดให้ประเทศแห่งนี้มีนักเทนนิสมือดีรุ่นต่อไปหลังจากที่รีบาคินาวางมือไปแล้วก็ได้

 

อย่างไรก็ตาม การจะได้ประโยชน์ขนาดนั้นจากนักกีฬาโอนสัญชาติคนใดคนหนึ่ง ต้องมีการวางแผนเกี่ยวกับผลประโยชน์และต่อยอดจากความสำเร็จที่เกิดขึ้นในระยะสั้นนี้ 

 

ซึ่งทางกัมพูชาเองก็มีโอกาสสูงที่พวกเขาอาจไม่ได้วางแผนอะไรเกี่ยวกับนักกีฬาโอนสัญชาติต่อเนื่องเอาไว้เลย นอกจากความสำเร็จในเหรียญรางวัลของซีเกมส์ครั้งนี้เท่านั้น  

 

แน่นอนว่าเรื่องความภาคภูมิใจในชัยชนะ การตัดโอกาสการพัฒนาของนักกีฬากัมพูชาเองก็เป็นประเด็นสำคัญที่พวกเขาต้องเลือกจะตัดทิ้งไปตั้งแต่ที่เลือกใช้นักกีฬาโอนสัญชาติแล้ว

 

แต่ถึงจะเป็นอย่างนั้น เราก็ยากจะปฏิเสธว่าสิ่งที่พวกเขาอาจได้รับโดยไม่ได้ตั้งใจคือสายตาของเยาวชนและแฟนกีฬาในประเทศ ที่อาจเห็นหนึ่งในนักกีฬาโอนสัญชาติเหล่านี้เป็นเสมือน ‘ฮีโร่’ ของพวกเขา

 

สำหรับเด็กๆ แล้ว พวกเขาน่าจะได้แรงบันดาลใจจากภาพที่เห็นอย่างยากจะปฏิเสธ แต่หลังจากนั้นก็ขึ้นอยู่กับรัฐบาลกัมพูชาและสมาคมกีฬาต่างๆ ในประเทศแล้วว่าจะส่งเสริมพวกเขาที่ได้รับแรงบันดาลใจที่เด็กๆ ได้มาจากชัยชนะในซีเกมส์ครั้งนี้อย่างไร

 

เพราะหากไม่ได้รับการต่อยอดที่เหมาะสมแล้ว การโอนสัญชาติครั้งนี้กัมพูชาก็แลกมากับเหรียญทองเพียงไม่กี่เหรียญในซีเกมส์เท่านั้น และนั่นอาจเรียกได้แค่ว่า ‘ชัยชนะที่ถูกซื้อได้ด้วยเงิน’ ที่ใช้จ้างนักกีฬาโอนสัญชาติมาเล่นเท่านั้น

 

แต่ถ้าหากพวกเขาสามารถต่อยอดแรงบันดาลใจจากชัยชนะที่นักกีฬาโอนสัญชาติเหล่านี้ที่ถูกสร้างขึ้นมาได้แล้ว ไม่แน่ว่าการลงทุนของพวกเขาครั้งนี้อาจผลิดอกออกผลแบบที่คาซัคสถานทำได้สำเร็จก็ได้ 

 

ที่เขียนบทสรุปมาถึงจุดนั้น เราไม่ได้ต้องการให้เกิดการสนับสนุนให้มีการโอนสัญชาตินักกีฬาเข้ามาเพื่อความสำเร็จระยะสั้นและพัฒนาการระยะยาว เพราะความสำเร็จทุกรูปแบบเกิดขึ้นจากองค์ประกอบที่หลากหลายกว่าประโยคก่อนหน้านี้ แต่แผนการพัฒนาวงการกีฬาโลกมีตัวอย่างให้เราพบเห็นหลากหลายรูปแบบ 

 

ตัวอย่างต่างๆ ที่เราพบตั้งแต่ซีเกมส์ที่กัมพูชาครั้งนี้ ไปจนถึงเทนนิสระดับโลกของคาซัคสถาน ต่างก็เป็นบทเรียนและวิชาความรู้ในโลกกีฬาที่เราสามารถเก็บเกี่ยวมาถอดบทเรียนเพื่อปรับใช้ในการพัฒนาวงการกีฬาไทยไปสู่อนาคต  

 

เพราะเราได้เห็นทั้งข้อดีและข้อเสียของการตัดสินใจเลือกโอนนักกีฬาจากสัญชาติอื่น มาแข่งขันในนามทีมชาติของตนเอง 

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising