ในวันขึ้นปีใหม่ ขณะที่ผู้คนในญี่ปุ่นกำลังเฉลิมฉลอง ได้เกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ถึง 7.6 ที่คาบสมุทรโนโตะ จังหวัดอิชิคาวะ ที่ก่อให้เกิดคลื่นสึนามิตามมา ในช่วงเวลาแห่งความตื่นตระหนกนั้น ก็มีกระแสข่าวที่โพสต์ออกมาเป็นจำนวนมากในแพลตฟอร์ม X ว่า แผ่นดินไหวใหญ่ในครั้งนี้อาจเป็น ‘ฝีมือของมนุษย์’ จนเกิดแฮชแท็ก #人工地震
จากการวิเคราะห์ข้อมูลออนไลน์ของสำนักข่าว NHK เกี่ยวกับแผ่นดินไหวที่คาบสมุทรโนโตะ พบว่าเมื่อนับถึงเวลา 17.30 น. ของวันที่ 2 มกราคม มีชาวเน็ตแห่โพสต์ถึงประมาณ 250,000 โพสต์ เกี่ยวกับสมมติฐานหรือทฤษฎีสมคบคิดของแผ่นดินไหวที่ไม่ได้เกิดขึ้นตามธรรมชาติ อย่างไรก็ตาม มีบางโพสต์ที่ออกมาปฏิเสธแนวคิดนี้ ซึ่งมีโพสต์หนึ่งที่มีผู้เข้าชมเกือบ 8.5 ล้านครั้ง
แนวคิดของชาวเน็ตญี่ปุ่นออกไปในแนวทางที่ว่า แผ่นดินไหวที่คาบสมุทรโนโตะ จังหวัดอิชิคาวะครั้งนี้ มีความเกี่ยวพันกับการทดลองนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือ
ข้อเท็จจริงของแผ่นดินไหวในคาบสมุทรโนโตะเป็นอย่างไร
ท่ามกลางความงุนงงสับสน เรามาดูข้อเท็จจริงและเกร็ดความรู้เกี่ยวกับแผ่นดินไหวกันดีกว่า
เริ่มจากขนาด หลายคนงุนงงกับขนาดของแผ่นดินไหวในครั้งนี้ เช่น พบว่าเครือข่ายยุโรปอย่าง GEOFON หรือ EMSC และเครือข่ายอเมริกาคือ USGS รายงานขนาดแผ่นดินไหวว่าเป็น 7.5 แต่ทำไม JMA ของญี่ปุ่นรายงานว่า 7.6 แล้วมันคือขนาดเท่าไรกันแน่
คำตอบแบบเข้าใจง่ายคือเรากำลังพูดถึงตัวเลขเดียวกัน แต่คนละมาตรา เหมือนเบอร์รองเท้าไซส์เดียวกัน แต่บางยี่ห้อบอกเบอร์แบบยุโรป บางยี่ห้อบอกเบอร์แบบอเมริกา ก็เลยออกมาคนละตัวเลข
ดังนั้น ขนาดของแผ่นดินไหวที่คาบสมุทรโนโตะ จังหวัดอิชิคาวะ ครั้งนี้ หากวัดตามมาตรา Mjma ของญี่ปุ่น ก็จะได้ 7.6 แต่หากวัดตามมาตราโมเมนต์ หรือ Mw ก็จะออกมา 7.5 ซึ่งเราจะใช้อันไหนก็ได้ ไม่ผิดหลักการ หรือเราอาจจะเพิ่มรายละเอียดลงไปในวงเล็บตามหลัง เช่น 7.5 (Mw) และ 7.6 (Mjma) แม้ดูรุงรังหน่อยแต่ก็ชัดเจนดี
ยังมีอีกตัวเลข นั่นคือเลข 7 ที่สื่อและชาวญี่ปุ่นนิยมใช้และเป็นที่เข้าใจกันมากกว่า เลข 7 นี้ไม่ใช่ขนาด แต่คือ ‘ความรุนแรง’ ซึ่งเราสามารถสังเกตง่ายๆ ว่าหากเป็นการพูดถึง ‘ขนาด’ จะมีทศนิยม 1 หลักเสมอ แม้ลงท้ายด้วยศูนย์ เช่น 5.0 แต่หากกำลังพูดถึง ‘ความรุนแรง’ ก็จะเป็นเลขหลักหน่วยตัวเดียวโดดๆ ไม่มีทศนิยม
แล้วขนาดกับความรุนแรงต่างกันตรงไหน
‘ขนาด’ คือค่าอ้างอิงตายตัวเหมือนเบอร์หลอดไฟ 100 วัตต์ จะเอาไปไว้ไกลแค่ไหน หลอดไฟหลอดนั้นก็ยังคงเป็น 100 วัตต์ แต่ ‘ความรุนแรง’ นั้นไม่ตายตัว ตัวเลขนี้ขึ้นกับระยะทาง เหมือนยิ่งใกล้หลอดไฟก็ยิ่งสว่าง ซึ่งญี่ปุ่นมีมาตราวัดความรุนแรงที่เรียกว่า ‘ชินโดะ’ โดยในแผ่นดินไหวที่คาบสมุทรโนโตะในครั้งนี้ มีค่าความรุนแรงเท่ากับ 7 ตามมาตราชินโดะ เกิดขึ้นที่เมืองชิกะ จังหวัดอิชิคาวะ ซึ่งเป็นจุดเหนือจุดศูนย์กลางแผ่นดินไหวพอดี
เราจะรู้ได้อย่างไรว่า แผ่นดินไหวครั้งไหนมาจากมนุษย์ ครั้งไหนมาจากธรรมชาติ
ตัวบ่งชี้แผ่นดินไหวตามธรรมชาติ vs. ฝีมือมนุษย์
สิ่งนี้อาจจะยุ่งยากไปเล็กน้อยสำหรับนักวิทยาศาสตร์แขนงอื่น แต่สำหรับนักแผ่นดินไหววิทยา (Seismologist) นั้นแทบจะบอกได้ในทันทีว่า แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นมาจากธรรมชาติหรือฝีมือมนุษย์ ด้วยสิ่งประดิษฐ์หรือเครื่องมือ 2 อย่าง
อย่างแรก เรียกว่า Focal Mechanism เป็นแผนภาพรูปวงกลมเหมือนลูกบอลชายหาด มีสีดำ-ขาวสลับกันด้านใน
แผนภาพรูปวงกลมนี้จะบ่งบอกถึงทิศทางการเคลื่อนตัวของเปลือกโลกจากแผ่นดินไหวครั้งนั้นๆ สีดำหมายถึงพุ่งเข้ามาหาสถานีวัด หรือหมายถึงการบีบอัด การดันขึ้นด้านบน ส่วนสีขาวหมายถึงการคลายตัว
แผนภาพรูปวงกลมนี้ เมื่อไม่เกิดแผ่นดินไหวจะเป็นสีขาวล้วน แต่เมื่อใดที่เกิดแผ่นดินไหวขึ้นมา แผนภาพนี้จะปรากฏเป็น 2 สีคือขาวและดำ เพื่อบอกทิศทางการเคลื่อนตัวของเปลือกโลก
เช่น หากเป็นแผ่นดินไหวจากรอยเลื่อนตามแนวระดับ (Strike-Slip Fault) ซึ่งเป็นรอยเลื่อนที่เปลือกโลกสองฟากของรอยเลื่อนเคลื่อนตัวในแนวราบ แผนภาพจะแสดงรูปวงกลมดำ-ขาวคล้ายตารางหมากรุก (วงกลมซ้ายบน)
แต่หากแผ่นดินไหวครั้งนั้นเกิดจากการทดลองนิวเคลียร์ แผนภาพรูปวงกลม Focal Mechanism ของนักแผ่นดินไหววิทยา จะแสดงภาพเป็นสี ‘ดำล้วน’ ทั้งวง ไม่มีสีขาวปน เหตุจากแรงอัดไปรอบทิศทางของการระเบิด
สำหรับเหตุการณ์แผ่นดินไหววันปีใหม่ที่คาบสมุทรโนโตะ จังหวัดอิชิคาวะ หน่วยงาน GEOFON แสดงภาพ Focal Mechanism ออกมาให้ทราบว่าเกิดจากการเคลื่อนตัวของเปลือกโลกแบบย้อนตามแนวเอียงเท (Reverse Dip-Slip Fault) ซึ่งเรายังคงเห็นแผนภาพรูปวงกลมแสดง 2 สีคือดำและขาว ไม่ใช่สีดำล้วน นี่เป็นการยืนยันว่าเหตุการณ์ครั้งนี้เป็นไปตามธรรมชาติ ไม่ใช่ฝีมือของเกาหลีเหนือแต่อย่างใด
เครื่องมือที่ 2 ของนักแผ่นดินไหววิทยา ก็คือการดูจาก ‘กราฟแผ่นดินไหว’
แผ่นดินไหวตามธรรมชาติจะก่อให้เกิดคลื่นออกมา 4 ชนิด แบ่งเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกจะวิ่งไปตามเนื้อในของโลก (Body Wave) ได้แก่ คลื่นปฐมภูมิ (Primary Wave) หรือ ‘คลื่น P’ และคลื่นทุติยภูมิ (Secondary Wave) หรือ ‘คลื่น S’
กลุ่มที่ 2 จะวิ่งไปตามเปลือกโลก (Surface Wave) ได้แก่ คลื่น Love Wave และ Rayleigh Wave
เราสนใจคลื่น P เพราะมันมีความเร็วสูง วิ่งมาถึงสถานีวัดก่อนเพื่อนเสมอ
ในแผ่นดินไหวตามธรรมชาติ คลื่น P จะมีขนาดที่เล็กกว่าคลื่นอื่น อาจใหญ่กว่าคลื่น S ในบางครั้ง แต่ไม่ใหญ่จนโดดเด่น (กราฟสีน้ำเงินในรูปบน)
แต่ในเหตุการณ์แผ่นดินไหวจากการทดลองระเบิดนิวเคลียร์ใต้ดิน (กราฟสีแดงในรูปบน) คลื่น P ที่มาถึงสถานีวัดและปรากฏในกราฟจะมีขนาดใหญ่มาก ซึ่งกราฟแบบนี้ไม่มีทางเกิดตามธรรมชาติ
สำหรับเหตุการณ์แผ่นดินไหววันปีใหม่ที่คาบสมุทรโนโตะ จังหวัดอิชิคาวะ ไม่มีกราฟแผ่นดินไหวจากสถานีใดเลยที่แสดงภาพ ‘คลื่น P หัวโต’ ให้เห็น นี่จึงเป็นการยืนยันตามหลักวิทยาศาสตร์แบบรวดเร็วได้ว่า แผ่นดินไหวในวันปีใหม่ที่ญี่ปุ่นไม่ได้เกี่ยวอะไรกับเกาหลีเหนือเลย
แผ่นดินไหววิทยายังบอกอะไรเราได้อีก
แน่นอนว่าด้วยเครื่องมือต่างๆ ของนักแผ่นดินไหววิทยา ทำให้เราทราบได้ทันทีว่า ในโลกเรานี้มีการทดลองระเบิดนิวเคลียร์ใต้ดินเกิดขึ้นวันและเวลาใด ที่ประเทศไหน (เราหาพิกัดด้วยการคำนวณเวลาที่คลื่นแผ่นดินไหวเดินทางไปถึงสถานีวัดที่กระจายอยู่ตามประเทศต่างๆ แล้วหาจุดตัด) แม้ทางการเมืองอาจพยายามปิดบังว่าไม่ได้ทดลองระเบิดนิวเคลียร์ หรือจะเปลี่ยนผลทดลองที่ไม่สำเร็จให้กลับกลายเป็นตรงข้าม ก็ไม่อาจปิดบังความจริงเอาไว้ได้ และที่สำคัญ เรายังสามารถต่อต้านข่าวลือหรือทฤษฎีสมคบคิดต่างๆ ที่ปรากฏตามโซเชียลมีเดียโดยหลักการทางวิทยาศาสตร์ได้ด้วย
ภาพ: Buddhika Weerasinghe / Getty Images
อ้างอิง: