×

ช้างป่าล้มตายกว่า 300 ตัว วาฬเกยตื้นเกือบ 500 ตัว โศกนาฏกรรมทางธรรมชาติครั้งใหญ่ที่กำลังเกิดขึ้นตอนนี้

โดย Mr.Vop
25.09.2020
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

  • เจ้าหน้าที่ขององค์กรเนชันแนลพาร์ก จากประเทศอังกฤษที่เข้ามาช่วยสำรวจ รายงานว่าพบซากช้าง 169 ตัวแรก ระหว่างการสำรวจทางอากาศในบริเวณโอเอซิส จากนั้นก็พบช้างตายรวมโขลงกันอีก 25 ตัวตรงเขตรอยต่อกับประเทศซิมบับเว เมื่อนำไปรวมยอดกับจำนวนช้างที่ตายในลักษณะเดียวกันนับจากเดือนพฤษภาคมปีที่แล้ว จะนับได้ทั้งสิ้นถึง 330 ตัว
  • ขณะที่เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่พบฝูงวาฬนำร่องครีบยาวราว 460 ตัว เข้ามาเกยตื้นที่หาดทรายในน่านน้ำแม็กควารี เฮดส์ (Macquarie Heads) รัฐแทสเมเนีย ประเทศออสเตรเลีย แม้จะช่วยเอาไว้ได้ 50 ตัว แต่ก็ยังคงมีวาฬนำร่องที่ตายเป็นจำนวนมากถึง 380 ตัว ถือเป็นการเกยตื้นตายครั้งเลวร้ายที่สุดของออสเตรเลีย
  • ทั้งสองเหตุการณ์ถือเป็นความสูญเสียที่ไม่อาจเรียกคืนได้ พวกเราเหล่ามนุษย์ที่มีมันสมองฉลาดกว่าสัตว์ใดๆ บนโลกอาจต้องเป็นผู้รับภาระในการลงมือแก้ไขปัญหาให้กับสัตว์ที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้เหล่านี้ ที่แม้มีร่างกายใหญ่โตปานใดอย่างช้างกับวาฬ ก็ยังไม่อาจรอดพ้น ‘กับดัก’ คร่าชีวิตที่ธรรมชาติได้วางเอาไว้

 

 

ท่ามกลางวิกฤตโรคร้ายโควิด-19 ที่ได้คร่าชีวิตมนุษย์จำนวนมากในปีนี้ โลกยังต้องพบกับความสูญเสียซ้ำเติมเข้าไปอีก เมื่อสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดใหญ่อีก 2 สายพันธุ์ นั่นคือช้างแอฟริกาและวาฬนำร่อง ต้องล้มตายลงอย่างน่าเสียดายหลายร้อยชีวิต

 

โศกนาฏกรรมของสัตว์ใหญ่ทั้งสอง เริ่มจากช่วงกลางปีที่ผ่านมา เมื่อสำนักงานกู้ภัยอุทยานแห่งชาติของสาธารณรัฐบอตสวานา ระบุว่าได้พบซากช้างป่าตายเกลื่อนหลายร้อยตัวในบริเวณดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโอคาวังโก ซึ่งถือเป็นโอเอซิสที่อุดมไปด้วยสัตว์ป่านานาชนิดกลางทะเลทรายคาลาฮารีของทวีปแอฟริกาใต้

 

เจ้าหน้าที่ขององค์กรเนชันแนลพาร์ก จากประเทศอังกฤษที่เข้ามาช่วยสำรวจ รายงานว่า พบซากช้าง 169 ตัวแรก ระหว่างการสำรวจทางอากาศในบริเวณโอเอซิส จากนั้นก็พบช้างตายรวมโขลงกันอีก 25 ตัวตรงเขตรอยต่อกับประเทศซิมบับเว เมื่อนำไปรวมยอดกับจำนวนช้างที่ตายในลักษณะเดียวกันนับจากเดือนพฤษภาคมปีที่แล้ว จะนับได้ทั้งสิ้นถึง 330 ตัว

 

ช้างทุกตัวที่ล้มตายล้วนตายใกล้แหล่งน้ำ และทุกตัวยังมีงาอยู่ครบ (ช้างแอฟริกามีงาทั้งตัวผู้ตัวเมีย) แสดงว่าไม่ได้เกิดจากการล่าของพรานเถื่อน 

 

เบาะแสสำคัญคือ พวกมันทิ้งรอยเท้าที่เดินเป็นวงกลมก่อนล้มลงขาดใจตาย เป็นไปได้ว่าพวกมันมีอาการทางระบบประสาทที่ทำให้พวกมันเจ็บปวด และที่แปลกคือไม่มีนกแร้งแม้แต่ตัวเดียวมาจิกกินซากศพช้างเหล่านี้

 

 

เมื่อเป็นดังนี้ จึงมีการร่วมกันหาสาเหตุการตายของช้างป่าจำนวนมากนี้ โดยทีมนักวิทยาศาสตร์จากนานาชาติอยู่นานหลายเดือน จากความกังวลในช่วงแรกว่าอาจมีสาเหตุมาจากโรคระบาดใหม่ที่เราไม่รู้จักและอาจแพร่สู่มนุษย์ แต่สุดท้ายปริศนาก็เริ่มคลี่คลายเมื่อได้ผลการชันสูตรซากช้างจากห้องปฏิบัติการหลายแห่งว่า ช้างเหล่านี้ล้มตายลงเพราะได้รับสารพิษที่ส่งผลต่อระบบประสาท หรือนิวโรทอกซิน ที่เกิดจาก ‘ไซยาโนแบคทีเรีย’

 

ไซยาโนแบคทีเรีย คือสาหร่ายสีน้ำเงินแกมเขียวหลากหลายสายพันธุ์ที่พบได้ในแหล่งน้ำนิ่งทั่วโลก เมื่อคนหรือสัตว์รับเข้าสู่ร่างกายก็จะได้รับพิษจากแบคทีเรียชนิดนี้ ที่บางสายพันธุ์อาจแค่ทำให้เจ็บป่วย แต่พิษจากบางสายพันธุ์ก็รุนแรงถึงตาย โดยผลที่ส่งต่อระบบประสาทของนิวโรทอกซิน คือสาเหตุที่พบรอยเท้าช้างแสดงอาการเดินเป็นวงกลมก่อนสิ้นใจ 

 

คำตอบนี้สอดคล้องกับช่วงเวลาที่ช้างป่าหลายร้อยตัวนี้ล้มตาย นั่นคือเดือนพฤษภาคมและมิถุนายน ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่แหล่งน้ำต่างๆ ในแอฟริกามีน้ำอุดมสมบูรณ์ และการตายจะลดลงหลังจากนั้น เมื่อน้ำในแหล่งน้ำต่างๆ เหือดแห้งลง

 

 

แต่ทีมนักวิทยาศาสตร์ก็ยังต้องทำงานทางห้องปฏิบัติการต่อไป เพื่อตอบคำถามที่ยังค้างคาอยู่ว่า ทำไมจึงมีแต่ช้างเท่านั้นที่ตายจากไซยาโนแบคทีเรียในแหล่งน้ำที่ว่านี้ ทั้งที่มีสัตว์อื่นมากินน้ำในแหล่งน้ำเดียวกัน 

 

ปกติแล้วสาหร่ายพิษชนิดนี้มักจะเจริญเติบโตบริเวณโดยรอบขอบของบ่อหรือหนองบึง ซึ่งเป็นจุดที่สัตว์ต่างๆ จะมากินน้ำ แตกต่างจากช้าง ที่มักจะมีพฤติกรรมที่ชอบกินน้ำตรงกลางแหล่งน้ำมากกว่า รวมทั้งยังมีคำถามว่าทำไมไม่พบช้างตายปริศนาแบบนี้ในพื้นที่อื่นของแอฟริกา ทำไมต้องเป็นบริเวณโอเอซิสนี้เท่านั้น เมื่อเป็นดังนี้อาจมีสาเหตุแอบแฝงอื่นที่ต้องคลี่คลาย แต่ที่สามารถสรุปได้อีกประการคือการขยายตัวของไซยาโนแบคทีเรียที่ชอบความอุ่นของแหล่งน้ำน่าจะมีสาเหตุมาจากปัญหาโลกร้อน ที่ทำให้แหล่งน้ำนิ่งตามที่ต่างๆ มีอุณหภูมิสูงขึ้นกว่ายุคก่อน

 

ถัดจากช้างในแอฟริกาก็มาถึงอีกหนึ่งหายนะของนักอนุรักษ์ธรรมชาติที่เกิดเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่พบฝูงวาฬนำร่องครีบยาวราว 460 ตัว เข้ามาเกยตื้นที่หาดทรายในน่านน้ำแม็กควารี เฮดส์ (Macquarie Heads) รัฐแทสเมเนีย ประเทศออสเตรเลีย

 

 

ทีมกู้ภัยจำนวนมากถูกระดมลงพื้นที่เพื่อช่วยชีวิตวาฬเหล่านี้ตลอดเวลา 2 วัน จนเมื่อวันพุธก็นับจำนวนวาฬที่ช่วยเอาไว้ได้ 50 ตัว แต่ก็ยังคงมีวาฬนำร่องที่ตายลงเป็นจำนวนมากถึง 380 ตัว ถือเป็นการเกยตื้นตายครั้งเลวร้ายที่สุดของออสเตรเลีย ทำลายสถิติการเกยตื้น 320 ตัวในรัฐเวสเทิร์นออสเตรเลียเมื่อปี 1996

 

ในวันพุธยังมีรายงานจากเจ้าหน้าที่ทางการรัฐแทสเมเนียว่ายังมีวาฬที่ยังมีโอกาสรอดอีก 30 ตัว เจ้าหน้าที่ราว 60 นาย ได้ใช้สลิงและอุปกรณ์อื่นในการดึงวาฬออกจากหาดทรายลงสู่ทะเล เพื่อที่จะให้มันจมลงในน้ำทั้งตัวจนน้ำทะเลสามารถพยุงน้ำหนักตัวของมันจากการกดทับอวัยวะภายใน หลังจากนั้น วาฬที่อาการดีขึ้นก็จะถูกนำทางให้ว่ายน้ำออกไปในเขตน้ำลึกกว่า เจ้าหน้าที่ทุกนายยังคงสู้ไม่ถอย ความพยายามในการช่วยชีวิตวาฬเกยตื้นครั้งใหญ่นี้ยังดำเนินต่อไปไม่หยุด หนึ่งในคณะเจ้าหน้าที่กล่าวว่าเราจะทำไปเรื่อยๆ “ตราบเท่าที่มีวาฬที่ยังมีชีวิตอยู่”

 

 

ความยากลำบากของการช่วยวาฬเกยตื้นก็คือ หลังพวกมันรอดตายลงน้ำลึกแล้ว บางตัวก็ยังพยายามแหวกว่ายกลับมาเพื่อเกยตื้นอีก

 

เจ้าหน้าที่ส่วนหนึ่งก็เริ่มขจัดซากของวาฬตามชายหาดที่ตายลงก่อนหน้านี้ วาฬนำร่องครีบยาวนั้นมีความยาวจากหัวถึงหางเกือบ 7 เมตร และหนักถึง 3 ตัน จึงถือเป็นความลำบากของเจ้าหน้าที่ทั้งการพยายามเคลื่อนย้ายตัวมันลงน้ำเพื่อช่วยชีวิต และการขจัดซากขนาดใหญ่ของพวกมันเมื่อตายลง

 

ส่วนสาเหตุของวาฬเกยตื้นไม่ว่าครั้งใดในโลกยังคงเป็นเรื่องลึกลับตลอดมา มีข้อสันนิษฐานหลายข้อตั้งแต่ความเปลี่ยนแปลงของสนามแม่เหล็กโลกที่ส่งผลต่อการระบุทิศของมัน หรือการติดเชื้อบางชนิดในสมอง แม้กระทั่งการว่ายตามฝูงปลาที่เป็นอาหารของมันจนสับสนกับทัศนียภาพแถวชายฝั่ง จากการที่คลื่นโซนาร์ของวาฬไม่สามารถตรวจจับแนวชายฝั่งในน้ำตื้นได้  

 

วาฬนำร่องมักเป็นวาฬที่เกยตื้นบ่อย จากลักษณะความใกล้ชิดในฝูง จนความผิดพลาดของวาฬที่เป็นจ่าฝูงอาจพาให้พวกมันทั้งหมดต้องพบจุดจบ

 

ทั้งสองเหตุการณ์ถือเป็นความสูญเสียที่ไม่อาจเรียกคืนได้ พวกเราเหล่ามนุษย์ที่มีมันสมองฉลาดกว่าสัตว์ใดๆ บนโลกอาจต้องเป็นผู้รับภาระในการลงมือแก้ไขปัญหาให้กับสัตว์ที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้เหล่านี้ ที่แม้มีร่างกายใหญ่โตปานใดอย่างช้างกับวาฬ ก็ยังไม่อาจรอดพ้น ‘กับดัก’ คร่าชีวิตที่ธรรมชาติได้วางเอาไว้  

 

ที่สำคัญคือปัญหาโลกร้อนจากน้ำมือของเราที่ต้องจัดการอย่างเร่งด่วน ไม่ให้ไปเพิ่มปัจจัยในการสร้างความผิดเพี้ยนให้ธรรมชาติต่อไป

 

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X