×

ณัฐพงษ์แนะ ปฏิรูประบบงบประมาณ ชี้ปัจจุบันเหมือนผลตรวจสุขภาพ แต่ไม่ได้เห็นค่าเลือดและผลแล็บ

โดย THE STANDARD TEAM
22.06.2024
  • LOADING...

วันนี้ (21 มิถุนายน) ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 2 (สมัยวิสามัญ) วาระการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 วาระแรก เป็นวันที่ 3 ซึ่งเป็นวันสุดท้าย ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ สส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายถึงภาพรวมของการจัดสรรงบประมาณปี 2568 

 

ณัฐพงษ์ยก 3 คุณสมบัติของระบบงบประมาณที่พึงปรารถนา ประกอบด้วย

 

  1. โปร่งใส ตรวจสอบได้

 

ระบบงบประมาณปกติเปรียบเสมือนผลการตรวจสุขภาพที่ค่าเลือดและผลแล็บเป็นสิ่งที่ประชาชนและรัฐสภามองไม่เห็น ทุกวันนี้ในเล่มขาวคาดแดงเรายังไม่เห็น ‘ข้อมูลสุขภาพการคลัง’ อย่างครบถ้วนชัดเจนจากเอกสารการจัดสรรงบ และยังขาดข้อมูลที่ครบถ้วนครอบคลุมในบางด้าน เช่น ภาระทางการคลัง ตัวเลขหนี้สินที่รัฐบาลควรจะต้องชดเชย ยังเหลือค้างชำระคืนอยู่อีกเท่าใด ซึ่งไม่ได้รายงานในระบบงบประมาณปกติ

 

ส่วนในประมาณการรายรับประจำปี หรือเล่มขาวคาดเขียว ก็ไม่ปรากฏรายได้ที่สูญเสียไปจากมาตรการของรัฐที่มีมูลค่าถึง 5 แสนกว่าล้านบาทในปี 2565 ที่ชวนให้นึกถึงงบประมาณดำเนินโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ปัจจุบันประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศไม่เคยรู้มาก่อนว่าปัจจุบันเรามีค่าใช้จ่ายทางอ้อมที่รัฐต้องสูญเสียไปเนื่องมาจากมาตรการของรัฐเองเท่าไร

 

“ถึงเวลาแล้วที่รัฐสภาและสาธารณชนต้องมองเห็นค่าเลือด ผลแล็บ และตัวเลขต่างๆ เหล่านี้ เพื่อมาพิจารณาร่วมกันได้ว่าแหล่งเงินในการใช้ดำเนินนโยบายแหล่งใดมีความเหมาะสมและคุ้มค่าที่สุด ระหว่างการกู้เงินที่ลูกหลานของเราในอนาคตต้องมาแบกรับ กับแหล่งเงินที่มาจากการยกเลิกมาตรการหรือสิทธิประโยชน์ทางภาษีของรัฐ บางอย่างที่มีคนกลุ่มน้อยในสังคมเท่านั้นที่ได้ประโยชน์” ณัฐพงษ์กล่าว

 

ส่วนรายงานสถานะและแผนการใช้เงินนอก หรือเล่มขาวคาดชมพู หรือเงินนอกงบประมาณ ซึ่งมีอยู่ประมาณ 3.3 ล้านล้านบาทที่สะสมกันมาหลายปี เป็นงบที่หน่วยงานของรัฐต้องนำส่งคลัง แต่ไม่ต้องนำส่งเพราะมีกฎหมายยกเว้น เช่น เงินหมุนเวียนในธุรกิจกองทัพ เงินค่าเทอมมหาวิทยาลัย หรือโรงพยาบาลรัฐต่างๆ ที่ประชาชนไม่เคยเห็นรายละเอียดภายใน และรัฐบาลนำมาสมทบกับงบประมาณได้เพียง 9 แสนล้านบาท

 

ณัฐพงษ์ชี้ว่า 9 แสนล้านบาทเป็นจำนวนที่สอดคล้องกับการอภิปรายที่ผ่านมาของ ศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล ว่าตรงกับตัวเลขพื้นที่ทางการคลังในงบประมาณปี 2568 พอดี ผู้กำหนดนโยบายต้องคำนึงว่าเรายังมีส่วนต่างเป็นเงินแผ่นดินเหลืออยู่มาใช้ดำเนินนโยบายได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

“ถ้าเรายังคงหวังพึ่งแต่เงินในงบประมาณ จัดสรรได้จำกัดจำเขี่ยปีละแค่ 2 พันกว่าล้านบาท อีกกี่ปีน้ำประปาทั่วประเทศถึงจะสะอาดให้พี่น้องประชาชนได้”

 

ดังนั้นถ้ามีมาตรการจากรัฐบาลมาจูงใจส่วนท้องถิ่น ให้นำเงินสะสมนอกงบประมาณของตนเองออกมาสมทบ จะสามารถช่วยเหลือการดำเนินนโยบายของรัฐบาลได้ด้วย

 

  1. ประสิทธิภาพเชื่อมโยงอย่างมียุทธศาสตร์

 

เปรียบเสมือนอุปกรณ์หรือยาที่นำมารักษาโรค แต่ทุกวันนี้ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี แต่ละฉบับเป็นงบที่คนทำไม่ได้จัด คนจัดไม่ได้ทำ เพราะสำนักงบประมาณเป็นผู้จัดสรรงบประมาณให้หน่วยงานต่างๆ เป็นเหตุให้เราได้งบประมาณที่ไร้ทิศทางและขาดยุทธศาสตร์

 

ณัฐพงษ์เสนอให้คำแถลงงบประมาณของรัฐบาลมีกระบวนการมาชี้แจงต่อรัฐสภาตั้งแต่ต้นปีงบประมาณ ให้ สส. แสดงความเห็น เพื่อที่ผู้แทนราษฎรจะได้มีส่วนร่วมในการแก้ไขงบประมาณได้มากขึ้น รวมถึงให้รัฐบาลกำหนดกรอบงบประมาณตามยุทธศาสตร์การบริหารของรัฐบาล แล้วให้สำนักงบประมาณจัดทำคำขอเข้ามาต่ำกว่ากรอบงบประมาณนั้น

 

“ด้วยวิธีนี้คณะรัฐมนตรีทุกท่านที่มาจากประชาชน พวกเราที่มาจากประชาชน ท่านจะมีปากมีเสียงเพียงพอในการกำหนดงบประมาณปีนี้ว่าจะให้ความสำคัญกับเรื่องอะไร ไม่ใช่ให้ระบบราชการประจำมามีปากมีเสียงหรือคิดแทนประชาชนในการจัดสรรงบประมาณ” ณัฐพงษ์ระบุ

 

ณัฐพงษ์ยังกล่าวถึงค่าใช้จ่ายของรัฐวิสาหกิจในแต่ละปีที่มีมูลค่าถึง 4.54 ล้านล้านบาท สูงกว่าจำนวนเงินในงบประมาณ ซึ่งมีชื่อเล่นว่า ‘เงินนอกนอกงบประมาณ’ แต่งบส่วนนี้รัฐธรรมนูญก็ยังกำหนดว่าเป็นเงินแผ่นดิน โจทย์ของเราคือ หาวิธีรวมเงินแผ่นดินเข้าด้วยกัน เพื่อการใช้จ่ายอย่างคุ้มค่าทุกบาท ทุกสตางค์ ในส่วนนี้สามารถใช้การจัดซื้อจัดจ้างอย่างมียุทธศาสตร์ได้

 

  1. รับผิดรับชอบ ตรวจสอบ ถ่วงดุลได้

 

ณัฐพงษ์ย้ำว่า ไม่มีใครสามารถคาดการณ์ประมาณการรายได้หรือเหตุการณ์ในอนาคตได้ แต่หากเป็นการดำเนินการบางอย่างที่รัฐบาลจงใจหรือเลือกกระทำเอง ทำให้รัฐสูญเสียรายได้หรือเพิ่มภาระการคลัง เช่น รัฐบาลนี้ที่มีแนวโน้มนำสิทธิการลดหย่อนภาษีกองทุนรวมหุ้นระยะยาว หรือ LTF กลับคืนมา หรือในอนาคตรัฐบาลทิ้งทวนลดภาษีน้ำมันเอาใจประชาชน ที่จะทำให้รัฐสูญเสียรายได้และต้องกู้เพิ่ม

 

ณัฐพงษ์เสนอให้รัฐบาลต้องเสนอแผนรายได้และแผนการบริหารหนี้มาพร้อมกับการเสนอร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี ให้รัฐสภาพิจารณาไปในคราวเดียวกัน และหากรัฐบาลดำเนินการใดๆ ที่ไม่เคยแจ้งกับรัฐสภามาก่อน รัฐบาลก็ต้องกลับมาชี้แจงต่อสภา พร้อมกันนี้ยังเสนอให้ยกระดับสำนักงบประมาณของรัฐสภาให้สามารถเข้าถึงข้อมูลเศรษฐกิจการคลังของประเทศ เป็นอีกหนึ่งเสาหลักในการตรวจสอบถ่วงดุล

 

ณัฐพงษ์สรุปการอภิปรายว่า ข้อเสนอเหล่านี้จะช่วยให้ระบบงบประมาณของประเทศไทยเป็นระบบที่ทุกคนไม่ใช่เพียงพรรคก้าวไกลพึงปรารถนา ในปี 2570 เราไม่แน่ใจว่าใครจะเป็นรัฐบาล แต่เราจะได้ประโยชน์ร่วมกันหากช่วยกันลงมือทำตั้งแต่ตอนนี้ 

 

“ช่วยแสดงให้ผมเห็นได้ไหมว่า จากอำนาจบริหารของท่านที่แลกมาด้วยความเชื่อใจของประชาชนหลายคนที่เคยสนับสนุนท่าน เหลือแต่ความเชื่อถือของผลงานในอดีต ช่วยกู้ศรัทธาในระบบรัฐสภาให้เรายังเชื่อถือท่านอยู่ว่า ทั้ง 142 นโยบายที่ท่านแถลงไว้ ท่านจริงจังและจริงใจจะทำมันให้สำเร็จ ไม่ได้ละเลยปัญหาอื่นของประเทศ แล้วเอาแต่ผลักดันนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต ซึ่งท่านจะไม่สามารถทำตามสัญญา 142 ข้อให้สำเร็จได้เลย หากท่านไม่ปฏิรูประบบงบประมาณตั้งแต่วันนี้” ณัฐพงษ์ทิ้งท้าย

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising