วันนี้ (17 เมษายน) ที่อาคารรัฐสภา ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ สส. แบบบัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคประชาชน ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงกรณีที่วุฒิสภาตั้งคณะทำงานศึกษาเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร หรือ Entertainment Complex โดยใช้เวลา 180 วัน มองว่าทาง สส. ควรต้องรอผลการศึกษาของวุฒิสภาก่อนหรือไม่
ณัฐพงษ์ให้ความเห็นว่า เรื่องระยะเวลาคงไม่มีตัวเลขเฉพาะเจาะจง สิ่งที่สำคัญที่สุดคือทำให้สังคมตกผลึกในเรื่องนี้กับการลงรายละเอียดและศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ รวมถึงความชัดเจนในมาตรการการฟอกเงินและการป้องกันการทุจริตคอร์รัปชัน ถ้าเรื่องต่างๆ เหล่านี้มีความชัดเจนและสังคมให้การยอมรับมากยิ่งขึ้นโดยไม่ต่อต้าน เนื่องจากมีการทำความเข้าใจอย่างเพียงพอแล้ว คิดว่าจังหวะนั้นรัฐบาลจะมีความชอบธรรมในการเดินหน้าต่อ แต่สิ่งที่ขาดความชอบธรรมในช่วงที่ผ่านมา โดยเฉพาะในส่วนของพรรคเพื่อไทยที่อาจจะมีความเร่งรีบในการดำเนินการเรื่องนี้มากเกินไป
ณัฐพงษ์ยังมองว่า ผลการศึกษาของคณะกรรมาธิการวิสามัญสภาผู้แทนราษฎร ยังลงรายละเอียดไม่มากเพียงพอ และใช้ระยะเวลาในการศึกษาน้อยเกินไป ดังนั้น การศึกษาของวุฒิสภาก็เป็นส่วนหนึ่งที่มาช่วยประกอบมากกว่า ซึ่งคิดว่าสิ่งสำคัญในเรื่องนี้นอกจากวุฒิสภาแล้ว คือการทำความเข้าใจในสังคม
รวมถึงข้อเสนอของภาคประชาชนที่เสนอเข้ามาคือเรื่องการทำประชามติ ณัฐพงษ์มองว่า คิดว่าไม่ใช่กฎหมายทุกเรื่องจะต้องทำประชามติก่อนเสนอเข้าสภา แต่อย่างน้อยการทำประชามติก็จะเป็นเวทีในการเปิดพื้นที่รณรงค์ ทำความเข้าใจ ก่อนที่จะนำไปสู่คำถามในการทำประชามติ ซึ่งจังหวะที่เหมาะที่สุดเพื่อเป็นการประหยัดงบประมาณ เช่น อาจจะทำประชามติพร้อมการเลือกตั้งครั้งหน้า ก็เป็นไปได้ เพราะเรื่อง Entertainment Complex ไม่ได้มีความจำเป็นเร่งด่วน
“ผมคิดว่าไม่มีความจำเป็นที่กฎหมายฉบับนี้จะต้องผ่านในรัฐบาลชุดนี้ หรือรัฐบาลชุดหน้า ถ้าเราไม่ได้มองในเรื่องผลประโยชน์ที่เกี่ยวข้องกับผู้มีอำนาจรัฐเป็นหลัก แต่มองเรื่องของการแก้ไขปัญหาในสังคมเป็นหลัก การเปิดพื้นที่อย่างกว้างขวาง ทำความเข้าใจเต็มที่ก่อนจะมีการออกเสียงประชามติ ซึ่งเป็นทางเลือกหนึ่งและมีความเป็นไปได้ ผมคิดว่าจะเป็นทางออกของสังคมที่จะทำให้ทุกคนยอมรับ” ณัฐพงษ์กล่าว
สำหรับท่าทีระหว่าง ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และพรรคภูมิใจไทย เกี่ยวกับเรื่อง Entertainment Complex ณัฐพงษ์กล่าวว่า เรื่องนี้ อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ก็ออกมาพูดแล้วว่า อาจจะเป็นความคิดเห็นของ ไชยชนก ชิดชอบ สส. บุรีรัมย์ เลขาธิการพรรคภูมิใจไทย แต่เรื่องนี้คิดว่าเป็นสิ่งที่พรรคเพื่อไทยต้องไตร่ตรองดูให้ดี ก่อนจะเร่งผลักดันอะไร เพราะเห็นได้ชัดว่าพรรคร่วมรัฐบาลก็อาจจะไม่เห็นด้วยกับความรีบเร่งในการผลักดันร่างกฎหมายดังกล่าว เรื่องนี้จึงกลับมาที่จุดยืนเดิมคือ การสื่อสารทำความเข้าใจกับสังคมให้เป็นที่ยอมรับมากที่สุดก่อน
ส่วนพรรคเพื่อไทยกับพรรคภูมิใจไทยยังไปด้วยกันได้ตลอดรอดฝั่งหรือไม่ เพราะอายุของสภาผู้แทนราษฎรยังเหลือเวลาอีก 2 ปี ณัฐพงษ์ระบุว่า ถ้าดูจากสมการทางการเมืองปัจจุบัน จำนวน สส. ของแต่ละพรรคก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า อย่างไรทางพรรคภูมิใจไทยกับพรรคเพื่อไทยก็ยังจำเป็นต้องไปต่อด้วยกัน เว้นแต่ว่าอาจจะมีการตัดสินใจจากพรรคเพื่อไทยคือนายกรัฐมนตรีในการยุบสภา ซึ่งส่วนตัวอาจจะแสดงความคิดเห็นในเรื่องนี้ไม่ได้ เพราะอำนาจอยู่ที่นายกรัฐมนตรีเพียงผู้เดียว