×

เจาะภารกิจเปลี่ยนงบประมาณให้โปร่งใสด้วยดิจิทัล กับ ‘เท้ง’ ก้าวไกล เพื่อประเทศไทยที่ไม่เหมือนเดิม

21.11.2023
  • LOADING...

เท้ง-ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ สส. บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล และรองเลขาธิการพรรค ในวัย 36 ปี แม้เขาจะไม่ใช่สายบู๊ในพรรคก้าวไกล หรือย้อนไปในยุคอนาคตใหม่ แต่เขาได้รับการขนานนามว่าเป็นสาย Geek ในเรื่องเทคโนโลยีที่สุดคนหนึ่งในพรรค อย่างไรก็ตาม ในแง่ตัวตนว่าเขาเป็นใครมาจากไหน น้อยคนนักที่จะรู้จักเขา

 

THE STANDARD มีโอกาสพูดคุยกับ ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ ถึงตัวตน ที่มาในการเข้าสู่เส้นทางการเมือง และมุมมองของเขาต่อนโยบายดิจิทัลของประเทศไทย

 

“เท้งนะครับ ไม่ใช่เต้ (ทวิวงศ์) นะครับ แล้วก็ไม่ใช่เอก (ธนาธร) นะครับ” เขาเริ่มแนะนำตัวอย่างอารมณ์ดี ก่อนที่จะเล่าต่อว่าบางคนจะแซวว่าเป็นธนาเท้ง 

 

เท้ง-ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ ก่อนหน้านี้ทำธุรกิจส่วนตัวเป็น Cloud Software เรียนจบวิศวกรรมคอมพิวเตอร์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แล้วก็อยู่ในโลกเอกชนมาโดยตลอด ที่บ้านไม่เคยมีภูมิหลังทางการเมืองมาก่อน ตอนเลือกตั้งปี 2562 เป็นครั้งแรกในตระกูลจริงๆ ที่เกี่ยวข้องกับโลกการเมือง

 

เส้นทางการเมืองของเท้ง

 

ณัฐพงษ์กล่าวถึงจุดเริ่มต้นทางการเมืองของตนเองว่า จริงๆ ไม่ได้มีอะไรมากไปกว่าการรู้สึกอยากเข้ามาช่วย ตอนนั้นสมัยพรรคอนาคตใหม่ เป็นหนึ่งในพรรคการเมืองที่รู้สึกว่าเราถูกจุดประกายขึ้นมา เพราะการเมืองไทยในสองทศวรรษที่ผ่านมาเรารู้สึกว่าผิดหวังหรือว่าหมดหวัง ตั้งแต่ที่มีการรัฐประหารปี 2549 และตามมาด้วยการรัฐประหารปี 2557 

 

พอมาถึงปี 2562 เราได้มีโอกาสติดตามธนาธร ปิยบุตร และพรรณิการ์ ที่ออกมาสื่อสารในเรื่องที่อยากจะทำ ตอนนั้นเราใช้คำว่า ‘การเมืองใหม่’ คือการที่อยากจะทำให้การเมืองเป็นเรื่องของทุกคน การเมืองที่ประชาชนเป็นเจ้าของพรรคจริงๆ จุดตั้งต้นก็เพียงแค่อยากเข้ามาช่วย แต่แล้วก็จับพลัดจับผลูมาลง สส.

 

ที่ใช้คำว่าจับพลัดจับผลูก็คือว่า ตอนแรกที่มาล่มหัวจมท้ายกับอนาคตใหม่เพราะถูกดึงดูดเข้ามาด้วยคำพูดที่ว่าอยากจะทำการเมืองให้ดีขึ้น แล้วเราอยากสนับสนุนอนาคตใหม่ด้วยการเป็นแค่ผู้บริจาคให้กับพรรคการเมือง คืออยากจะจ้างธนาธร ปิยบุตร และพรรณิการ์ไปทำงานในสภา แต่กติกา กกต. สมัยนั้นบอกว่าไม่สามารถบริจาคออนไลน์ได้ 

 

วิธีการเดียวที่จะจ่ายเงินให้กับพรรคอนาคตใหม่คือต้องสมัครสมาชิกพรรค ก็เลยสมัครสมาชิกพรรคตลอดชีพ เพื่อจ้างให้เขาไปทำงานในสภาให้ได้ พอสมัครเป็นสมาชิกพรรคเสร็จก็ได้ยินข่าวจากอาจารย์ปิยบุตรบอกว่า ด้วยกติกาบัตรเลือกตั้งใบเดียว 350 เขต แปลว่าถ้าอนาคตใหม่ไม่ส่ง สส. เขตลงไปที่เขตเลือกตั้งใดเขตเลือกตั้งหนึ่ง อนาคตใหม่จะขาดคะแนนในเขตเลือกตั้งนั้นทันที พูดง่ายๆ คือเป็นเขตฟันหลอ 

 

“ฟังแล้วก็เลยคิดว่าเขาก็ยังมีผู้สมัครไม่ครบ งั้นก็ลองดูแล้วกัน อยากช่วยจริงๆ เพราะตัวเองไม่ได้คิดว่าจะชนะการเลือกตั้งอยู่แล้ว มาลงสมัครครั้งแรก ก็เลยสมัครเป็นผู้สมัคร สส.เขต วันที่เข้าไปสอบสัมภาษณ์ที่ Thai Summit ก็ยังบอกเขาตรงไปตรงมาว่าผมมาสมัคร สส.เขตเพราะเหตุผลนี้” 

 

ณัฐพงษ์เล่าอีกว่า ทุกคนในสมัยนั้น ถ้าเป็นพรรคใหม่ก็จะคิดว่าลงสมัครแบบบัญชีรายชื่อจะมีโอกาสมากกว่า เพราะถ้าลงสมัครแบบเขต กว่าคุณจะไปชนะบ้านใหญ่ บ้านเก่าในพื้นที่ แทบจะไม่มีโอกาส ตัวเองก็เลยบอกกรรมการสัมภาษณ์ว่าตั้งใจมาลงเขต เพราะต้องการมาเก็บคะแนนให้กับพวกเขา แล้วก็ไม่ได้คิดว่าจะชนะการเลือกตั้งจริงๆ แต่ ณ ตอนนั้นเราก็ทำเต็มที่ เป็นเหมือนการเดินทาง เรามีโอกาสได้เข้ามา ได้รับชัยชนะจากการเลือกตั้ง ก็เลยมาถึงวันนี้

 

“เราอยากสนับสนุนอนาคตใหม่ด้วยการเป็นแค่ผู้บริจาคให้กับพรรคการเมือง คืออยากจะจ้างธนาธร ปิยบุตร และพรรณิการ์ไปทำงานในสภา แต่กติกา กกต. สมัยนั้นบอกว่าไม่สามารถบริจาคออนไลน์ได้”

 

 

สส. สมัยแรกของเท้งเป็นอย่างไร 

 

ณัฐพงษ์เล่าว่า เปิดโลกพอสมควร คำว่าเปิดโลกคือแต่ก่อนในฐานะประชาชน เราเรียนจบก็อยู่แต่บ้าน ออฟฟิศ ไม่ก็ห้าง หรือไม่ก็เที่ยวต่างจังหวัด อย่างมากก็ไปเที่ยวต่างประเทศ 

 

แต่สิ่งที่ไม่เคยเห็นจริงๆ คือการลงไปสัมผัสชีวิตชาวบ้าน ถึงแม้เป็นเขตในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งเขตบางแคต้องบอกก่อนว่าเป็นเขตอยู่อาศัยที่เป็นเขตเมือง หลายๆ ครั้งก็บอกว่าเป็น New Business Zone ฝั่งธนฯ ด้วยซ้ำ ก็เป็นเขตกึ่งเมืองกึ่งที่อยู่อาศัย 

 

แต่พอไปลงพื้นที่จริงๆ โดยเฉพาะตามชุมชนต่างๆ มี 40 กว่าชุมชนในเขตบางแค เรายังเห็นว่าชาวบ้านที่ห่างไปจากถนนเพชรเกษมซึ่งเป็นถนนสายหลักเพียงไม่กี่ร้อยเมตร ยังเห็นว่าเขามีปัญหาในเรื่องคุณภาพชีวิต ทั้งในเรื่องผู้ป่วยติดเตียงที่อยู่ในชุมชนต่างๆ หลายๆ คนเป็นพ่อค้าแม่ขายที่ไม่มีรายได้ประจำ แปลว่าถ้าเขาต้องดูแลผู้ป่วยติดเตียง หรือว่าผู้เฒ่าผู้แก่ที่อยู่ที่บ้าน วันหนึ่งสมมติมีโรคประจำตัวต้องพาไปฟอกไต เข้าโรงพยาบาลรัฐต้องไปตั้งแต่ตี 5 หรือ 6 โมงเช้า ต่อคิวทั้งวัน เขาก็เสียรายได้ทั้งวัน ไปขายของไม่ได้ อันนี้ก็เป็นตัวอย่างที่คิดว่าพอเราลงไปแล้วเห็นปัญหา 

 

แล้วเริ่มเปิดโลกอีกด้านหนึ่งที่เราไม่เคยเห็น แต่ก่อนเราก็อยู่ใกล้ๆ เขา ห่างจากเขาไปไม่กี่ร้อยเมตร แต่เราอยู่ใน Bubble อีกแบบหนึ่ง แต่พอได้ทำงาน สส. คือช่วยเปิดโลกว่าในสังคมไทยมีปัญหาอีกหลายอย่างที่เราต้องเข้าไปแก้ ส่วนโลกอีกด้านหนึ่งก็เป็นโลกการเมืองที่แต่ก่อนรู้สึกว่าการเมืองเป็นโลกปิด นักการเมืองดูน่ากลัว เข้าไม่ถึง แต่พอเข้าไปอยู่ในสภาก็คิดว่าได้เห็นอะไรหลายๆ อย่างเหมือนกัน 

 

“เปิดโลกพอสมควร คำว่าเปิดโลกคือแต่ก่อนในฐานะประชาชน เราเรียนจบก็อยู่แต่บ้าน ออฟฟิศ ไม่ก็ห้าง หรือไม่ก็เที่ยวต่างจังหวัด อย่างมากก็ไปเที่ยวต่างประเทศ แต่สิ่งที่ไม่เคยเห็นจริงๆ คือการลงไปสัมผัสชีวิตชาวบ้าน”

 

 

เปิดโลกงานการเมืองในฐานะกรรมาธิการงบประมาณฯ

เมื่อครั้งเป็น สส. สมัยที่ผ่านมา ณัฐพงษ์ได้เป็นกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณในปีต่างๆ แต่เมื่อกลับมาเป็น สส. อีกสมัย เขาขึ้นเป็นประธานคณะกรรมาธิการศึกษาการจัดทำและติดตามการบริหารงบประมาณ สภาผู้แทนราษฎร 

 

ณัฐพงษ์บอกเล่าประสบการณ์การเป็นกรรมาธิการงบประมาณฯ ของเขาว่า เป็นการเปิดโลกอีกด้านคือ ระบบราชการ กระบวนการใช้เงินภาษี แล้วก็เปิดโลกการเมืองเหมือนกัน 

 

ณัฐพงษ์เล่าว่า สิ่งที่เราเข้าไปเห็น เราเห็นว่างบประมาณของประเทศใหญ่มาก ปีละ 3 ล้านล้านกว่าบาท เราเห็นกระบวนการในการพิจารณางบแต่เรายังรู้สึกว่ากว่าเราจะยึดโยงกับงบประมาณในสภาที่ สส. ไปคุยกัน 500 คน ที่เราจะลงไปสู่ปัญหาในพื้นที่ ยังมองไม่ออกว่ามันจะสามารถยึดโยงแล้วมีประสิทธิภาพเพียงพอในการแก้ไขปัญหาได้อย่างไร

 

ทุกวันนี้สำนักงบประมาณก็ยังให้เป็นกระดาษ เป็นไฟล์ PDF ซึ่งให้มาแค่ 2 สัปดาห์ก่อนที่ร่างกฎหมายงบประมาณฯ จะเข้าสภา ก็ไม่คิดว่า สส. คนใดคนหนึ่งในสภาจะสามารถพิจารณางบอย่างมีประสิทธิภาพได้ด้วยเอกสารหลายหมื่นหน้าภายในเวลา 14 วัน ก่อนที่กฎหมายจะเข้าวาระหนึ่ง หรือขั้นรับหลักการ

 

พอเห็นแบบนี้ก็คิดว่าสิ่งที่เข้าไปยกระดับได้ก็คือเอาเครื่องมือทางด้านดิจิทัลเข้าไปเสริม ทำให้งบประมาณมีความโปร่งใส และสามารถวิเคราะห์งบได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น 

 

อีกด้านหนึ่งก็คิดว่าเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง และเชื่อว่างบประมาณ 3 ล้านล้านบาทจะทำให้เปิดเผย โปร่งใส และวิเคราะห์งบประมาณได้มีประสิทธิภาพ แต่ตราบใดที่มีผู้มีอำนาจในการตัดสินใจในการใช้งบประมาณ 3 ล้านล้านบาท ทุกอย่างจะถูกรวมศูนย์อยู่ที่รัฐส่วนกลาง ผมก็คิดว่าการแก้ไขปัญหาประชาชนในพื้นที่จริงๆ ก็จะยังไม่ได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย จนกว่าเราจะการกระจายงบลงไปยังท้องถิ่น ก็คือในเรื่องของการกระจายอำนาจ

 

“ผมก็ไม่คิดว่า สส. คนใดคนหนึ่งในสภาจะสามารถพิจารณางบอย่างมีประสิทธิภาพได้ด้วยเอกสารหลายหมื่นหน้าภายในเวลา 14 วัน ก่อนที่กฎหมายจะเข้าวาระหนึ่ง”

 

 

สส. สมัยที่ 2 ของเท้ง

 

ณัฐพงษ์เล่าผ่านความเชื่อของตัวเองว่า ตั้งแต่อนาคตใหม่จนถึงก้าวไกล ทุกคนมาอยู่พรรคนี้ร่วมกัน มีจุดมุ่งหมายเดียวกันคือต้องการสร้างความเปลี่ยนแปลง แล้วก็เข้าไปชนปัญหาต้นตอคือปัญหาเชิงโครงสร้าง อันนั้นคือแนวคิดอุดมการณ์หลักของพรรคอยู่แล้ว 

 

ถามว่าการเลือกตั้งต่อในสมัยที่สอง จริงๆ ถ้าพูดภาษาคนทั่วไปอาจจะรู้สึกว่าเราอยากจะอยู่ต่อในตำแหน่ง สส. หรือเปล่า แต่เชื่อว่าตัวเองและทุกๆ คนในพรรคเราไม่ได้เอาตำแหน่งเป็นตัวตั้ง 

 

เราเอาเป้าหมายเป็นตัวตั้ง แล้วเรามองว่าตำแหน่ง สส. หรืออำนาจทางการเมืองเป็นแค่เครื่องมือหรือสิ่งที่จะทำให้เรามีอำนาจเพื่อไปสร้างการเปลี่ยนแปลงได้ ส่วนตัวเองจริงๆ ก็ต้องบอกว่าถอยมาลงบัญชีรายชื่อถึงจะถูกต้องกว่า เพราะว่าถ้าย้อนไป ณ ตอนนั้น 

 

พรรคก้าวไกลในการเลือกตั้งแบบใหม่ที่เป็นบัตรสองใบ ก่อนผลการเลือกตั้งจะออกมา กูรูทุกสำนักจะบอกว่าก้าวไกลได้ สส. น้อยลงแน่นอน แล้วงานเขตก็จะยากขึ้น เพราะแต่ก่อนบัตรเลือกตั้งใบเดียวคนอาจไม่มีสิทธิในการเลือก เพราะถ้าอยากเลือกพรรค เขตก็จะได้คะแนนไปด้วย พอเป็นบัตรสองใบกลายเป็นว่าประชาชนได้เลือกเขตเลือกคนที่ใช่ เลือกพรรคที่ชอบได้ อันนี้คือสโลแกนที่หลายๆ พรรคใช้กัน 

 

ก็เลยมีความคิดความเชื่อว่า ก้าวไกลน่าจะได้จำนวนเก้าอี้ในสภาน้อยลง สิ่งที่ก้าวไกลต้องตัดสินใจ ณ ตอนนั้นคือพยายามตรึงพื้นที่ สส. เขตให้มากที่สุด แปลว่า สส. เขตเดิมควรต้องลงต่อเนื่อง เพื่อทำให้พรรคได้พื้นที่เขตมากที่สุด 

 

ณัฐพงษ์​เล่าอีกว่า ส่วนตัวเชื่อว่าเขตบางแคของตัวเอง การทำพื้นที่ของเราแน่น และมีคะแนนค่อนข้างดีอยู่แล้ว การเลือกตั้งปี 2562 จริงๆ ก็คือชนะพรรคเพื่อไทย และพรรคพลังประชารัฐ แม้จะไม่มีพรรคไทยรักษาชาติลง ดังนั้น คะแนนเดิมจริงๆ ถ้าวัดกันเรามีฐานอยู่แล้ว แล้วเราก็เชื่อว่า 4 ปีเราทำเต็มที่ อย่างไรก็ตามน่าจะมีบวกไม่มีลบ การเลือกตั้ง ส.ก. ปี 2565 บางแคก็ชนะการเลือกตั้งด้วย 

 

โดยส่วนตัวคิดว่าเขตบางแคอย่างไรพรรคก็ได้แน่นอน แต่ตัวเองเลือกที่จะถอย แม้เวลาสื่อสารสาธารณะจะต้องบอกว่าลงบัญชีรายชื่อ เพื่อให้พรรครู้สึกว่าเรายังเดินไปข้างหน้า ถามว่าทำไมถึงถอยลงมา จริงๆ ก็มีทั้งความคิดที่เป็นปัญหาส่วนตัวด้วย แล้วก็ในเรื่องของการทำงานในพรรคด้วย 

 

“ผมลองยกตัวอย่าง พี่เจี๊ยบ-อมรัตน์ โชคปมิตต์กุล หรือ พี่จ้อน-พิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ ผมเชื่อว่าหลายคนในพรรคที่บอกว่าเราไม่ได้มาทำการเมืองเพื่ออยากรักษาตำแหน่ง เรามีอะไรหลายอย่างที่ผลักดันให้พรรคได้โดยไม่ต้องอยู่ในหมวก สส. ผมเองก็คิดแบบนั้น อย่างเช่นในเรื่องการผลักดันนโยบายดิจิทัล ทุกวันนี้ก็เข้ามามีส่วนร่วมเกี่ยวกับดิจิทัลในพรรคมากขึ้น 

 

“เมื่อก่อนเป็น สส. เขตไม่มีเวลา ลงพื้นที่ตลอด วันหยุดตรงข้ามกับชาวบ้าน วันที่ชาวบ้านหยุดเราทำงาน วันที่เราหยุดชาวบ้านก็ไปทำงานเหมือนกัน ตรงข้ามกัน 

 

“พอกลายมาเป็น สส. บัญชีรายชื่อ ภารกิจมันก็เปลี่ยนไป เรามีเวลามาทำงานอย่างอื่นให้กับพรรคมากขึ้น อันนี้ก็เป็นเหตุผลหนึ่งที่เราคิดว่าเราไม่ลงเขตต่อ เราไม่ทำให้เขาเสียหาย เพราะผมเชื่อว่าพื้นที่บางแคเราแข็งแล้ว และช่วยผลักดันให้เขาชนะการเลือกตั้งได้ 

 

“ผมเชื่อว่าถ้าเราถอดมาเป็นบัญชีรายชื่อ เราทำภารกิจอย่างอื่นให้กับพรรคได้ดียิ่งขึ้น งานในสภาผมก็เชื่อว่าไม่เสีย เพราะว่าทุกวันนี้ก็รู้จักข้าราชการสภาพอสมควร สมมติต้องมีการร่างกฎหมายอะไรใหม่ๆ กรรมการธิการวิสามัญใหม่ ผมเชื่อว่าการเข้าไปคุยก็จะได้รับฟังเสียงของเราในเวทีสภาอยู่แล้ว เพราะทุกคนก็รู้จักเรามาก่อนหน้านี้ 4 ปี 

 

“ดังนั้น จึงเป็นที่มาที่ไม่ลงสมัคร สส.​เขตต่อ เพราะมีเรื่องส่วนตัวด้วย แล้วก็เรื่องของอุดมการณ์ธงนำว่าเราอยากผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองมากกว่าจะยึดติดกับตำแหน่ง มันก็เลยเป็นการถอยเพื่อให้คนอื่นเข้ามาเติมเต็ม แล้วเราก็ทำเรื่องอื่นให้ดีขึ้นด้วย”

 

“ผมว่าทุกคนมาอยู่พรรคนี้ร่วมกัน มีจุดมุ่งหมายเดียวกันคือต้องการสร้างความเปลี่ยนแปลง แล้วก็เข้าไปชนปัญหาต้นตอคือปัญหาเชิงโครงสร้าง…ถามว่าการเลือกตั้งต่อในสมัยที่สอง จริงๆ ถ้าพูดภาษาคนทั่วไปอาจรู้สึกว่าเราอยากจะอยู่ต่อในตำแหน่ง สส. หรือเปล่า แต่เราไม่ได้เอาตำแหน่งเป็นตัวตั้ง”

 

 

เฉียดเก้าอี้รัฐมนตรี?

 

ช่วงการจัดตั้งรัฐบาลที่นำโดยพรรคก้าวไกล ณัฐพงษ์คือหนึ่งในชื่อที่ปรากฏในหน้าข่าวว่าเขาจะได้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ ดีอีเอส ในโควตาของพรรคก้าวไกล

 

ณัฐพงษ์​เปิดใจว่า “ก็มีความหวังครับ หัวใจฟูเหมือนกับหลายๆ คน แต่ว่าไม่ได้ฟูในเรื่องที่ว่าเราจะเข้าไปเป็นรัฐมนตรี แต่เรารู้สึกว่าเรากำลังจะสร้างการเปลี่ยนแปลงจากการเลือกตั้งครั้งนี้ได้จริงๆ”

 

ณัฐพงษ์เล่าอีกว่า หลังชนะการเลือกตั้ง ก่อนการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีรอบแรก เป็นช่วงที่การเรียนรู้ของตนเองสูงมาก ได้เข้าไปคุยกับหลายๆ หน่วยงาน ทุกประตูเปิดหมด ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานของรัฐ ข้าราชการ หรือหน่วยงานเอกชน แล้วก็ได้รับฟังฟีดแบ็กหลายๆ อย่าง 

 

จะเห็นได้ว่าการอภิปรายแถลงนโยบายของรัฐบาลในรัฐสภาเมื่อไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา มีหลายๆ อย่างที่ตัวเขาเองลุกขึ้นมานำเสนอ โดยที่ไม่ได้เป็นนโยบายหาเสียงของพรรคด้วยซ้ำ สิ่งต่างๆ เหล่านั้นเกิดขึ้นในช่วง 2 เดือนแห่งการเลือกตั้ง

 

อาจเป็นเพราะว่าก่อนหน้านี้ที่เราอยู่ในฐานะพรรคฝ่ายค้าน จะเข้าไปคุยกับใครก็ลำบาก จะเข้าไปคุยกับข้าราชการบางทีเขาอาจมีข้อจำกัดบางอย่างที่ไม่สะดวกใจคุยกับเรา แต่พอมีภาพว่าเรากำลังจะไปเป็นรัฐบาล ทุกคนช่วยกันระดมความคิดเข้ามามาก 

 

“ก็มีความหวังครับ หัวใจฟูเหมือนกับหลายๆ คน แต่ว่าไม่ได้ฟูในเรื่องที่ว่าเราจะเข้าไปเป็นรัฐมนตรี แต่เรารู้สึกว่าเรากำลังจะสร้างการเปลี่ยนแปลงจากการเลือกตั้งครั้งนี้ได้จริงๆ”

 

 

บทบาทประธาน กมธ. ติดตามงบฯ สภาผู้แทนราษฎร

การกลับมาเป็น สส. อีกสมัยของณัฐพงษ์ เขายังได้นั่งเก้าอี้ประธานคณะกรรมาธิการศึกษาการจัดทำและติดตามการบริหารงบประมาณ สภาผู้แทนราษฎร อีกด้วย

 

ณัฐพงษ์บอกว่า กรรมาธิการชุดนี้เป็น 1 ใน 3 กรรมาธิการที่โดยส่วนตัวคิดว่าในอำนาจที่ สส. มี เราสามารถผลักดันได้เต็มที่ เพราะสุดท้ายสภาคือที่อนุมัติงบประมาณ หรือตัดงบประมาณ

 

ถามว่าทำไมเราถึงไม่เลือกกรรมาธิการการสื่อสาร โทรคมนาคม และดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เพราะว่าหลายๆ ข้อเสนอเชิงนโยบายที่เราเสนอไป ถ้าไม่มีอำนาจฝ่ายบริหารก็ไม่ได้จริง เรานั่งกรรมาธิการได้อย่างมากก็เรียกว่าคอมเมนเตเตอร์ ซึ่งการที่เราคอมเมนต์หรือแสดงความคิดเห็น เราสามารถทำได้ผ่านการตั้งกระทู้หรืออภิปรายในสภาอยู่แล้ว

 

เพราะฉะนั้น เวทีกรรมาธิการถ้ามีไว้เพื่อเสนอประเด็นต่างๆ คิดว่าใช้เวทีอื่นได้ เลยพยายามที่จะเลือกกรรมาธิการศึกษาการจัดทำและติดตามการบริหารงบประมาณเป็นหลัก เพราะเราเชื่อว่าเป็นแก่นที่ทำให้เปลี่ยนประเทศได้จริงๆ ก็คือเปลี่ยนในเรื่องกระบวนการงบประมาณ 

 

“เราเห็นมาว่ามันขาดประสิทธิภาพ เราเชื่อว่าถ้าเปลี่ยนได้ครั้งนี้ครั้งเดียวเราก็จะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป อย่างเช่น การทำให้งบประมาณมีความโปร่งใส ทุกวันนี้ที่เราเห็นร่างงบประมาณออกมา 3 ล้านล้านบาท ก่อนหน้านี้จริงๆ คือ 5 ล้านล้านบาท

 

“5 ล้านล้านบาทคืออะไร 5 ล้านล้านบาทคือคำของบประมาณที่ทุกหน่วยงานส่งเข้ามา แต่สิ่งที่ประชาชนไม่เคยเห็นเลย หรือแม้แต่ สส. ในสภาไม่เคยเห็นเลยของพรรคฝ่ายค้านก็คือ การใช้หลักคิดในการตัดจาก 5 ล้านล้านบาท เป็น 3 ล้านล้านบาท ว่าใช้หลักคิดอะไรใช่ไหมครับ อะไรที่ควรจะหยิบเข้า อะไรที่ควรจะหยิบออก ยกตัวอย่างเช่น การอภิปรายปี 2566 ที่ผ่านมาล่าสุด

 

“อันนี้ก็มีที่มาจากที่เราเปิดเผยงบประมาณ 3 ล้านล้านบาทแล้วก็มี สส. พรรคก้าวไกล ก็คือ สส. สุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ ไปอภิปรายงบประมาณกระทรวงคมนาคม ก็จะเห็นว่างบสร้างและซ่อมถนนทำไมมันไปกระจุกตัวอยู่บางจังหวัดที่เป็นฐานเสียงรัฐมนตรี ทั้งๆ ที่พื้นที่อื่นๆ ทั่วประเทศควรจะไปซ่อมหรือสร้างถนนก่อนด้วยไหม 

 

“อันนี้ก็เป็นแค่ตัวอย่างเดียวที่เราเปิดเผยงบประมาณ 3 ล้านล้านบาทให้อยู่ในรูปแบบที่เราวิเคราะห์ได้ง่าย ผมเชื่อว่าถ้าเราเปิด 5 ล้านล้านบาทได้ด้วย การพิจารณางบประมาณของประเทศจะมีประสิทธิภาพมากกว่านี้ แล้วประชาชนจะช่วยตั้งคำถามได้ว่า หน่วยงานเขาก็ขอขึ้นมานะ รัฐบาลเอาหลักคิดอะไรมาเลือกหยิบอันนี้เข้า หรือตัดอันนี้ออก อันนี้ก็คิดว่าเป็นภารกิจแรกที่คิดว่าต้องอยู่ในภารกิจของกรรมาธิการศึกษาการจัดทำและติดตามการบริหารงบประมาณ จะพยายามผลักดันให้มีข้อมูล 5 ล้านล้านบาทให้ได้”

 

“เราเห็นมาว่ามันขาดประสิทธิภาพ เราเชื่อว่าถ้าเปลี่ยนได้ครั้งนี้ครั้งเดียวเราก็จะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป”

 

 

อ่านเพิ่มเติม: https://thestandard.co/natthaphong-advice-review-anti-fake-news-center/

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X